ชื่นชมเทศบาลนครภูเก็ต



ดังเล่าแล้วในบันทึกเมื่อวานนี้ ผมไปร่วมการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อออกแบบพิมพ์เขียวการศึกษา นครภูเก็ต จัดโดยเทศบาลนครภูเก็ตร่วมกับ สสค. เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ โดยที่การประชุมนี้จัด ๓ วัน (๒๕ - ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙) แต่ผมมีเวลาว่างไปร่วมวันเดียว หรือจริงๆ แล้วเพียงครึ่งวัน

อ่านข่าวการประชุมนี้ ที่นี่

เทศบาลนครภูเก็ตดูแลสถานศึกษา ๘ แห่ง คือ ๗ โรงเรียน กับ กศน. ได้ประกาศเป้าหมายของการจัดการศึกษาอย่างชัดเจน ดังนี้

เทศบาลนครภูเก็ตมุ่งดูแลและพัฒนาการเรียนรู้ประชาชนทุกคนตลอดทุกช่วงวัยอย่างมีคุณภาพตามวิถีนครภูเก็ต เพื่อให้เด็กเยาวชนภูเก็ตทุกคนเป็นคนดีมีสุขภาพกายสุขภาพจิตใจและค่านิยมนครภูเก็ตที่สมบรูณ์ และมีคุณธรรมความรับ ผิดชอบและเสียสละต่อนครภูเก็ต รวมทั้งมีทักษะด้านวิชาการที่สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ สถานศึกษาของ เทศบาลนครภูเก็ตทุกแห่งสามารถดึงและขัดเกลาทักษะความสามารถของผู้รียนทุกคนเป็นรายบุคคลให้เป็นเลิศใน ระดับชาติได้ ผู้สำเร็จการศึกษาจากเทศบาลนครภูเก็ตทกุคนมีทักษะการทำงานเป็นมืออาชีพตรงตามความต้องการใน ตลาดแรงงาน ภูมิใจในความเป็นคนนครภูเก็ต และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ผมขอแสดงความชื่นชมคณะผู้ร่วมกันทำงานวางยุทธศาสตร์ ที่จัดอันดับความสำคัญของสมรรถนะ หรือคุณภาพคนภูเก็ตไว้ที่ความเป็นคนดี มาก่อนความเก่ง

ที่จริงเราต้องการคุณภาพคนหลายมิติพร้อมๆ กัน แต่การศึกษาไทยหลงทาง มุ่งแต่ผลสอบทางวิชาการ ละเลยการฝึกฝนด้านจิตใจ และฝึกอุปนิสัย ไปพร้อมๆ กันกับด้านวิชาการ ทั้งๆ ที่นโยบายระบุชัดว่าจะจัด การศึกษาแบบบูรณาการ แต่ในทางปฏิบัติกลับปฏิบัติในทางตรงกันข้าม

โชคดี ที่เรามี สสค. ทำหน้าที่ตัวเร่งปฏิกิริยา (catalyst) การเปลี่ยนแปลง มีการนำเครื่องมือ เอื้อความคิดอย่างมีข้อมูลหลักฐาน คือระบบข้อมูล ที่พัฒนาโดย ดร. วรลักษณ์ คงเด่นฟ้า แห่ง มน. ไปพัฒนา ทำให้คนภูเก็ต และคนในวงการศึกษาภูเก็ตเห็นภาพการศึกษาในโรงเรียน และในจังหวัดของตน ตาม เว็บไซต์ http://alphaedu.azurewebsites.net/PublicPart/Page/Overall.html ที่จะเห็นว่าเป็นข้อมูลที่ไม่ยุ่งยาก หากโรงเรียนกรอกข้อมูลจริงจังครบถ้วน ก็จะได้ข้อมูลเอาไว้พัฒนาระบบและพัฒนาตนเอง ผมเข้าใจว่าข้อมูลส่วนที่ใช้ภายในโรงเรียนมีรายละเอียดมากกว่าที่เปิดเผยต่อสาธารณะ

การร่วมกันกำหนดเป้าหมาย หรือความมุ่งมั่น (purpose) ของแต่ละภาคี เอามาเป็นคำมั่นสัญญาต่อกัน เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยสำเร็จตัวจริง

ปัจจัยสร้างความสำเร็จคือพฤติกรรมของครูในชั้นเรียน และในการจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ให้แก่ศิษย์ รวมทั้งการตรวจสอบประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน ที่เรียกว่า embedded formative assessment ตามด้วยการสะท้อนกลับแบบสร้างสรรค์ (constructive feedback) แก่ศิษย์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง และเชื่อมโยง ในนักเรียนทุกคนย้ำคำว่าทุกคน

ผมบอก ดร. ไกรยส เจ้าของงานส่วนของ สสค. ว่าทางภูเก็ตยังต้องการการฝึกทักษะใหม่ให้แก่ครู ให้มีทักษะในการทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นโดยจะต้องหาทาง embed ระบบ PLC เข้าไปในชีวิตการทำงานประจำวันของครู


วิจารณ์ พานิช

๓๐ เมษายน ๒๕๕๙

590603, การศึกษา, ภูเก็ต, คุณภาพการศึกษา, สสค.

หมายเลขบันทึก: 607758เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 15:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท