Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

บุตรที่เกิดในประเทศไทยจากมารดาสัญชาติไทยและบิดาตามข้อเท็จจริงที่ถือสองสัญชาติ (ไทย+สวีเดน) มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ? อย่างไร ?


กรณีศึกษานายสุวิทย์ วิตเตอร์

: บุตรซึ่งเกิดในประเทศไทยของหญิงสัญชาติไทยและชายสองสัญชาติ กล่าวคือ ไทยและสวีเดน แต่มีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรขึ้นต้นด้วยเลข ๘

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙

https://www.gotoknow.org/posts/607736

--------------

ข้อเท็จจริง

---------------

นายสุวิทย์ วิตเตอร์ เกิด ณ โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔ จากนางผกา แสงทอง ซึ่งถือสัญชาติไทย และนายชมิท วิตเตอร์ ซึ่งถือทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติสวีเดน บิดาและมารดาของนายสุวิทย์มิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย

นายสุวิทย์เล่าถึงปัญหาของเขาว่า

“แต่มีเหตุที่ว่าพ่อของผมได้ไปอยู่ประเทศสวีเดนตั้งแต่เด็กจนได้รับสัญชาติสวีเดน ต่อมา พ่อผมกลับมาประเทศไทยได้เจอกับแม่ผมจนผมได้เกิดมา ตอนนั้นแม่ของผมยังไม่แข็งแรงพ่อก็เลยเป็นคนไปแจ้งเกิด ซึ่งตอนนั้น พ่อผมไม่มีบัตรประชาชนของไทย และเนื่องด้วยอยู่ต่างประเทศนานทำให้ไม่รู้กฎหมายหรือระเบียบต่างๆ และการสื่อสารภาษาไทยก็ไม่ชำนาญ ทางอำเภอก็เลยลงในใบเกิดของผมว่า “ไม่ได้สัญชาติไทย” อาจจะเป็นเพราะไม่มีหลักฐานไปแสดงหรือข้อผิดพลาดประการใดไม่ทราบ

ต่อมา แม่ผมได้ไปติดต่อขอให้ผมได้มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในไทย และพ่อแม่ก็เป็นคนไทยซึ่งทางอำเภอก็ได้ดำเนินการให้ผมได้มีสัญชาติไทยโดยมีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๘ ทั้งที่พ่อและแม่บัตรประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข ๓

ผมเลยมีข้อสงสัยอยากจะถามดังนี้ ครับ (๑) กรณีของผมถือว่าได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ครับ”

อนึ่ง เราพบว่า มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขแลเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ “เลขประจำตัว” หมายความว่า เลขประจำตัวประชาชนที่นายทะเบียนออกให้แก่บุคคลแต่ละคน” และมาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ.นี้บัญญัติว่า

“ในการดำเนินการจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดเลขประจำตัวแก่บุคคลที่อยู่ในราชอาณาจักรคนละหนึ่งเลขโดยไม่ซ้ำกัน

การยกเว้นการให้เลขประจำตัวแก่บุคคล ให้กำหนดในกฎกระทรวง

โดยข้อ ๑๕๒ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ คนที่ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๓ ก็คือ ได้แก่ คนไทยและคนต่างด้าวที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนบ้านก่อนวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ในขณะที่คนที่ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๘ ก็คือ บุคคลต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยหรือบุคคลที่ได้รับสัญชาติไทยตามกฎหมาย

ปรากฏว่า บุคคลที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกับเขาจะถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๑ หากแจ้งการเกิดภายในกำหนด แต่หากเป็นคนที่เกิดในช่วงนี้ แต่แจ้งการเกิดเกินกำหนด ก็จะถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๒ ทั้งนี้ เพราะข้อ ๑๕๒ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ คนที่ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๑ ย่อมหมายถึง คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด ในขณะที่คนที่ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๒ ย่อมหมายถึง คนที่เกิดและมีสัญชาติไทย ได้แจ้งการเกิดเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด

---------

คำถาม

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นายสุวิทย์ วิตเตอร์ ย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[1]

---------

แนวคำตอบ

---------

กรณีตามคำถามเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับการกำหนดสิทธิในสัญชาติของรัฐเพราะมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับรัฐเจ้าของสัญชาติ ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของสัญชาติ ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น ดังนั้น นายสุวิทย์จะมีสิทธิในสัญชาติไทยหรือไม่ ? และอย่างไร ? ย่อมจะต้องเป็นไปภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติที่มีผลในขณะเขามีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย และกฎหมายอื่นใดที่ผูกพันประเทศไทย

เมื่อปรากฏว่า นายสุวิทย์เกิด ณ โรงพยาบาลวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔ จากนางผกา แสงทอง ซึ่งถือสัญชาติไทย และนายชมิท วิตเตอร์ ซึ่งถือทั้งสัญชาติไทยและสัญชาติสวีเดน จึงสรุปได้ว่า เขาจึงมีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทยใน ๓ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) เขาเกิดในประเทศไทย (๒) มารดาเป็นคนสัญชาติไทย และ (๓) บิดาเป็นคนสัญชาติไทย ซึ่งแม้บิดาจะถือสัญชาติสวีเดนอีกด้วย ก็ไม่เป็นเหตุให้ตัดสัมพันธภาพระหว่างเขาและประเทศไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา

ด้วยจุดเกาะเกี่ยวระหว่างนายสุวิทย์และประเทศไทยเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิด กฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยที่กำหนดการจัดการสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดของนายวิทย์จึงได้แก่ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ประกอบกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ ซึ่งมีผลในวันที่เขาเกิด กล่าวคือ วันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๔

โดยพิจารณาบทบัญญัติว่าด้วยการกำหนดสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดตาม พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ประกอบกับประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ อันได้แก่ (๑) มาตรา ๗ และ ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ตลอดจน (๒) ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เราก็อาจจะสรุปได้ว่า บุคคลจะมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดได้ภายใต้ ๔ สถานการณ์กล่าวคือ

สถานการณ์แรก ก็คือ สถานการณ์ที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดา ตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม หากบุคคลดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ๒ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) บิดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุคคลนั้นเกิด และ (๒) บิดาดังกล่าวเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น บุคคลที่เกิดจากบิดาสัญชาติไทย แต่บิดาเป็นบิดาตามข้อเท็จจริง จึงไม่อาจใช้สิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ในขณะที่เกิด แต่บุคคลดังกล่าวจะเริ่มใช้สิทธินี้ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๑[2] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมุ่งคืนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาสัญชาติไทยตามข้อเท็จจริงที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑

สถานการณ์ที่สอง ก็คือ สถานการณ์ที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดา ตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม หากบุคคลดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) มารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่บุคคลนั้นเกิด (๒) เกิดนอกในประเทศไทย และ (๓) ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้นไร้สัญชาติ ดังนั้น ในขณะที่เกิด บุตรของมารดาสัญชาติไทยที่เกิดในประเทศไทย และบุตรของมารดาสัญชาติไทยที่เกิดในต่างประเทศโดยปรากฏมีบิดาตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่มีรัฐมีสัญชาติ ย่อมไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยประเภทนี้ แต่อย่างไรก็ตาม แต่บุคคลดังกล่าวจะเริ่มใช้สิทธินี้ได้ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ โดยผลของมาตรา ๑๐[3] แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งมุ่งคืนการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาสัญชาติไทยที่เกิดก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ แต่ไม่อาจมีสิทธิเพราะข้อจำกัดข้างต้น

สถานการณ์ที่สาม ก็คือ สถานการณ์ที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลอัตโนมัติของกฎหมาย ตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม หากบุคคลดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) เกิดในประเทศไทย (๒) ไม่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่กำหนดในมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม และ (๓) ปรากฏมีบิดาตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถาวร หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาตามกฎหมาย มารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถาวร ซึ่งทำให้ไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕

สถานการณ์ที่สี่ ก็คือ สถานการณ์ที่ทำให้บุคคลเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ จะใช้สิทธิได้เมื่อมีคำสั่งอนุญาตให้ใช้สัญชาติไทยนี้โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ตามวรรคท้ายของข้อ ๒ แห่ง ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หากบุคคลดังกล่าวมีข้อเท็จจริง ๓ ประการดังต่อไปนี้ กล่าวคือ (๑) เกิดในประเทศไทย (๒) ไม่มีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ซึ่งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีเอกสิทธิและความคุ้มกันตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่กำหนดในมาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม และ (๓) ปรากฏมีบิดาตามกฎหมายเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไม่ถาวร หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏบิดาตามกฎหมาย มารดาเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองไม่ถาวร

เมื่อกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงของนายสุวิทย์ จึงสรุปได้ว่า

ในประการแรก เขาไม่อาจมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาตามมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะเขาไม่มีข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการตามที่กฎหมายกำหนด เพราะบิดาและมารดามิได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย นอกจากนั้น เราตั้งข้อสังเกตว่า การที่บิดาของเขาไม่ได้ถือบัตรประชาชนตามกฎหมายไทย ก็อาจหมายความว่า บิดาของเขาอาจจะ “ถูกถือเป็นคนต่างด้าว” ในขณะที่ไปแจ้งการเกิดให้แก่เขา แต่อย่างไรก็ตาม เขาย่อมเริ่มใช้สิทธิในสัญชาติไทยนี้ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๒๑ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ดังกล่าวมาแล้ว

ในประการที่สอง เขาย่อมไม่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตามมาตรา ๗ (๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ในขณะที่เกิด ทั้งนี้ เพราะ (๑) เขามีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และ (๒) เขาเกิดในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม โดยผลของมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ นายสุวิทย์ย่อมได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นต้นมา ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา ๑๐ ดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ สัญชาติไทยในสถานการณ์นี้ก็ถือเป็นสัญชาติไทยโดยการเกิด

ในประการที่สาม เขาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนตามมาตรา ๗ (๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ฉบับดั้งเดิม ตั้งแต่เกิด ทั้งนี้ เพราะเขาเกิดในประเทศไทย และแม้ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มารดา ซึ่งเป็นบุพการีตามกฎหมาย ไม่มีสถานะเป็นคนต่างด้าว จึงไม่อาจตกอยู่ภายใต้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ อันทำให้ตกเป็นคนต่างด้าวในขณะที่เกิด

นอกจากนั้น ยังอาจตอบให้ชัดไปอีกว่า การที่สำนักทะเบียนตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎรไม่ได้รับรองเลขประจำตัวประชาชนในลักษณะที่เหมือนคนอื่นที่เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน ก็ไม่ทำให้เขาเสียไปซึ่งสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่อย่างไรก็ตาม หากเขาจะร้องขอให้สำนักทะเบียนเปลี่ยนเลขประจำตัวประชาชนให้เป็นไปในลักษณะเดียวกับบุคคลในสถานการณ์เดียวกับ สำนักทะเบียนดังกล่าวก็มีหน้าที่จะต้องแก้ไขให้ มีแนวปฏิบัติของสำนักทะเบียนเพื่อการแก้ไขนี้อย่างชัดเจน

คนสัญชาติไทยโดยการเกิดจำนวนมากที่ได้รับการบันทึกเลขประจำตัวประชาชนผิดไปจากคนส่วนใหญ่ในสถานการณ์เดียวกัน ก็จะกังวลใจเช่นเดียวกับนายสุวิทย์ว่า จะถูกเข้าใจผิดว่า เป็นคนสัญชาติไทยภายหลังการเกิด และเสียสิทธิของคนสัญชาติไทยโดยการเกิด ทั้งที่คนที่ถือเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก ขึ้นต้นด้วย ๘ ก็อาจจะหมายถึงคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดเช่นกัน ซึ่งในทางปฏิบัติของกรมการปกครองมักจะใช้เลขประจำตัวประชาชนในลักษณะนี้ต่อ (๑) คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ซึ่งเป็นบุคคลบนพื้นที่สูงและตกหล่นจากการแจ้งการเกิดในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย (๒) คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนโดยผลของมาตรา ๒๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมุ่งเยียวยาคนที่เสียสิทธิในสัญชาติไทยนี้เพราะตกอยู่ภายใต้ ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ โดยตนเองหรือโดยบุพการี และ (๓) คนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดเพราะเป็นคนไทยพลัดถิ่น ตามมาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕ ตลอดจน มาตรา ๙/๖ และมาตรา ๙/๗ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕

ในประเด็นที่อยากย้ำมากที่สุด ก็คือ ความเป็นคนที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดนั้นเป็นไปตามกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติ มิใช่กฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร นายสุวิทย์จึงมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด แม้เขาจะถือเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่ผิดไปจากคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในสถานการณ์เดียวกัน

โดยสรุป เขาย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิดใน พ.ศ.๒๕๓๔ แม้จะเพิ่งใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาได้เพียงตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕ และแม้จะเพิ่งใช้สิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาเพียงตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ จึงสรุปอีกครั้งในวันนี้ว่า โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ทุกข้อเท็จจริงที่แสดงถึงจุดเกาะเกี่ยว “โดยการเกิด” ระหว่างเขาและรัฐไทยที่ได้ก่อตั้งสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่เขาอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่เขาเกิด เพียงแต่จุดเกาะเกี่ยวนั้นมีผลไม่พร้อมกันตามวิวัฒนาการของกฎหมายไทยว่าด้วยสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดา







[1] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปีการศึกษา ๒๕๕๘ ภาคที่ ๒

[2] ซึ่งบัญญัติว่า “บทบัญญัติวรรคสองของมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

[3] ซึ่งบัญญัติว่า บทบัญญัติมาตรา ๗() แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ..๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย


หมายเลขบันทึก: 607736เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2016 08:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2016 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท