ชีวิตที่พอเพียง ๒๖๗๔. ทางเท้า


วัฒนธรรมทางเท้าดูจะถูกกัดกร่อน ไม่เฉพาะโดยรถมอเตอร์ไซคล์ ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า แต่ยังถูกกัดกร่อนโดย เจ้าของห้องแถวที่เข้าครอบครองทางเท้า รวมทั้งกัดกร่อนโดยผู้รับผิดชอบตามกฎหมายที่ไม่เอาใจใส่ตรวจสอบดูแลทำความเข้าใจ และห้ามปราม


วันจันทร์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๙ เป็นวันที่ผมไม่มีนัด จึงอยู่บ้าน สาวน้อยบอกให้ไปซื้อกับข้าวที่ร้านเจ้าประจำในตลาด หมู่บ้านเอื้ออาทร โดยบอกให้ผมไปคนเดียว ผมจึงเดินไป เวลาเกือบ ๘ น. แดดเริ่มร้อน ผมจึงเดินบังร่มไปจนเข้าถนน เข้าหมู่บ้านเอื้ออาทร ตอนแรกผมเดินไปบนทางเท้าหน้าห้องแถว และคิดจะเดินหลบแดดบนทางเท้าไปเรื่อยๆ แต่พอผ่านสองสามห้องแรกก็พบว่าเจ้าของห้องแถวเข้าครองทางเท้าหน้าห้องแถวหมด พื้นที่หน้าห้องแถวไม่ใช่ทางเท้า แต่เป็นพื้นที่ครอบครองของเจ้าของห้องแถว แถมยังรุกเข้าไปครอบครองถนนส่วนหนึ่งด้วย โปรดดูรูป จะเห็นชัดเจนว่า เจ้าของของแต่ละห้องแถวยกระดับทางเท้าหน้าห้องของตน เข้าใจว่าเพื่อหนีน้ำท่วมปี ๒๕๕๔

ผมไม่ทราบกฎหมาย จึงลองค้นด้วยคำว่า “กฎหมายเกี่ยวกับทางเท้า” พบ พระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ ระบุในมาตรา ๔ ว่าถนนหมายรวมถึงทางเท้าและขอบทาง และมีหลายมาตราบอกว่าถนนเป็นที่สาธารณะ ผู้ใดจะเข้ายึดครองใช้ทำกิจการต่างๆ ที่มิใช่การสัญจรมิได้ (ข้อสรุปของผมเอง)

ทำให้ผมสงสัยว่า ที่ห้องแถวทางเข้าหมู่บ้านเอื้ออาทรวัดกู้นี้ ผู้คนจะถือว่าพื้นที่หน้าห้องแถวไม่ใช่ทางเท้า เป็นที่ครอบครองของเจ้าของห้องแถว ซึ่งหากตอนซื้อห้องแถว ระบุไว้เช่นนั้น ก็หมายความว่าถนนเส้นนี้ไม่มีทางเท้า แต่ถ้าหากตอนซื้อ ซื้อเฉพาะส่วนตัวอาคารไม่รวมส่วนด้านหน้า พื้นที่หน้าอาคารก็เป็นทางเท้า

วัฒนธรรมทางเท้าดูจะถูกกัดกร่อน ไม่เฉพาะโดยรถมอเตอร์ไซคล์ ที่ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้า แต่ยังถูกกัดกร่อนโดย เจ้าของห้องแถวที่เข้าครอบครองทางเท้า รวมทั้งกัดกร่อนโดยผู้รับผิดชอบตามกฎหมายที่ไม่เอาใจใส่ตรวจสอบดูแลทำความเข้าใจ และห้ามปราม ผู้รับผิดชอบตามกฎหมายเป็นใครอ่าน พรบ. เอาเองนะครับ


วิจารณ์ พานิช

๒๕ เมษายน ๒๕๕๙


หมายเลขบันทึก: 607626เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2016 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบันทึกที่ 10,161 ของอาจารย์แล้วนะคะ ขอบคุณค่ะอาจารย์ที่ให้ความรู้แก่สังคมไทยมาโดยตลอดค่ะ

เรียน อาจารย์

เป็นสาเหตุหนึ่งที่หนีออกจากชุมชนเมืองหลวงและปริมณฑลค่ะ อันตรายเหลือเกิน เดินไปตลาดนัด ไปขึ้นรถประจำทาง เกือบถูกมอเตอร์ไชด์รับจ้างชนอยู่บ่อย เราต้องหลบเขานะ ไม่ใช่เขาหลบเรา ทางเท้าที่ปูอิฐตัวหนอน ก็แตกพัง เพราะรับน้ำหนักผิดประเภท

ในทุกชุมชนที่เป็นตลาดสมัยใหม่ เจ้าของร้านค้าจะยึดพื้นที่ไว้ ทุกรูปแบบ เพื่อประโชน์ตน เช่นอำนวยความสะดวกการค้า หรือ เก็บค่าหัวคิวแม่ค้าจรที่มาขายของ บ้างก็กันพื้นที่ไว้ มีแบบถาวรและชั่วคราว เราจะไม่สามารถจอดรถถนนหน้าร้าน หรือแม้แต่เดินบนทางเท้า เพื่อไปซื้อสินค้า ก็ทำให้เราไม่อยากไปตลาดอีก แม่ค้าตลาดก็บ่นว่าคนนิยมไปตลาดนัด แต่ลืมมองการกระทำของตนเอง

นโยบายการจัดการขอพื้นที่ทางเท้าคืนของรัฐฯ ครั้งนี้ ไม่แน่ใจว่ารวมมอเตอร์รับจ้างด้วยหรือไม่ และครอบคลุมทุกรายละเอียดปัญหาหรือยัง


ขอแสดงความนับถือ

คุณลิขิต


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท