วิชาภาวะผู้นำ : สร้างห้องสุขา (ง่ายงามตามความต้องการของชุมชน)


ถึงแม้นิสิตจะไม่มีประสบการณ์ด้านการสร้างห้องสุขา (ห้องน้ำ) แต่ก็ได้ทำงานในสถานะของการเป็น “ลูกมือ” ให้กับชาวบ้านอย่างน่ารักน่าเอ็นดู และการเป็นลูกมือที่ว่านั้นก็ถือเป็นความโชคดีที่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาด้านช่างจากชาวบ้านไปในตัว

วิชาภาวะผู้นำ เป็นวิชาเลือกเสรีในหมวดศึกษาทั่วไปที่ต่อยอดมาจากวิชา “การพัฒนานิสิต” โดยยังคงกรอบแนวคิดและกระบวนการเรียนการสอนในแบบเดียวกัน คือ บันเทิงเริงปัญญาผ่านหัวใจการเรียนรู้ 3 มิติ คือ ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เรียนรู้ผ่านกิจกรรม/โครงการ โดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียน

ภายใต้แก่นสารการเรียนรู้ทั้ง 3 มิติได้ยึดโยงแนวคิดอีกหลายแนวคิดเข้ามาเกี่ยวโยง เช่น การเรียนรู้คู่บริการ การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ การบริหารโครงการในแบบ PDCA ภาวะผู้นำ การสื่อสารสร้างพลัง ฯลฯ




โครงการ “นิสิตอาสาสร้างห้องน้ำวัดป่าปัญญาธโร” เป็นอีกหนึ่งในหลายๆ โครงการจากวิชาภาวะผู้นำที่ดูเหมือนจะปรากฏภาพการเรียนรู้ตามหลักคิดข้างต้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้วัตถุประสงค์สำคัญๆ คือการบำเพ็ญประโยชน์ด้วยการสร้างห้องสุขาให้กับวัดป่าและปลูกฝังเรื่องจิตสาธารณะและการทำงานอย่างเป็นทีมแก่นิสิต

โครงการดังกล่าวจัดขึ้น ณ วัดป่าปัญญาธโร (บ้านหนองแข้) ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นสำนักสงฆ์ในเขตชุมชนขามเรียงที่กำลังได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากผู้คน ปัจจุบันวัด/สำนักสงฆ์ดังกล่าวมีพระอาจารย์อาทิตย์ อภิปุณโญ เป็นเจ้าอาวาส เน้นการพัฒนาคนและสังคมผ่านการปฏิบัติธรรมอย่างจริงๆ จังๆ






ไม่ได้ทำกัน "ตูมเดียว" และไม่ได้เลือกเพราะ "ไม่มีทางเลือก"

กิจกรรมครั้งนี้นิสิตมีกระบวนการ “เสาะหาพื้นที่” ที่หลากหลายผ่านระบบและกลไกการทำงานแบบมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การมอบหมายให้สมาชิกแต่ละคนนำเสนอพื้นที่ที่ต้องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คู่บริการร่วมกัน

และเท่าที่สังเกตดูข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมดต่างล้วนเป็นพื้นที่ในเขตชุมชนขามเรียง มีทั้งที่เป็นโรงเรียนและหมู่บ้าน โดยเฉพาะที่เป็นหมู่บ้านนั้นจะมีความโดดเด่นในเรื่องภูมิปัญญาการจักสานและการทอผ้าไหม แต่จนแล้วจนรอดก็มาลงเอยกันที่ประเด็นการสร้างห้องสุขาที่วัดป่าปัญญาธโร-




สำหรับเหตุผลของการเลือกวัดป่าปัญญาธโรเป็นพื้นที่การเรียนรู้คู่บริการนั้น นายณัฐพล ศรีโสภณ หนึ่งในแกนนำกลุ่มบอกเล่าประมาณว่า

  • “...เป็นพื้นที่ที่ผมและเพื่อนๆ เคยติดตามรุ่นพี่ไปทำบุญและปลูกต้นไม้ ประทับใจเจ้าอาวาสที่แสดงธรรมได้อย่างชัดเจน ลึกซึ้งและเข้าใจง่าย เป็นพระสายวัดป่าที่เน้นการปฏิบัติธรรมคู่กับการพัฒนาคนและชุมชน อีกทั้งท่านยังเข้าใจความเป็นนิสิต สามารถให้ข้อคิดได้อย่างหลากหลาย ทั้งที่เป็นการเรียน กิจกรรม หรือการใช้ชีวิตที่เหมาะสมกับยุคสมัย...”

นอกจากนั้นนิสิตยังเล่าให้ฟังเพิ่มเติมประมาณว่า

  • “... พระเจ้าอาวาส ไม่ใช่พระที่เอาแต่จะร้องขอจิตศรัทธาให้ช่วย “ทำโน่นทำนี่ หรือสร้างโน่นสร้างนี่” ท่านมีจุดยืนที่หนักแน่นและเสมอต้นเสมอปลายมาโดยตลอดว่าไม่ต้องการอะไร ขอเพียงให้นิสิตมาเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน มาช่วยงานชาวบ้านก็พอ อยากรู้อะไรก็ให้ถามและเรียนรู้จากชาวบ้าน...”




ใช่ครับ- ฟังจากปากคำของนิสิต เห็นได้ชัดว่าเป็นปากคำที่สะท้อนภาพการทำงานในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” อย่างเด่นชัด แนวคิดเช่นนั้นทำให้เราชัดเจนว่า “ชุมชนคือห้องเรียน” หรือ “ชุมชนคือคลังความรู้” ที่พร้อมรองรับการเรียนรู้และสร้างสรรค์ร่วมกันระหว่าง “นิสิตกับชุมชน” หรือ “ชุมชนกับนิสิต”

และที่สำคัญคือกิจกรรมครั้งนี้ไม่ได้จัดขึ้นในแบบ “ตูมเดียว-วันเดียวจบ” แต่มีกระบวนการขับเคลื่อนเป็นระยะๆ ตามครรลองที่ได้ร่ำเรียนภาคทฤษฎีในชั้นเรียน โดยเริ่มตั้งแต่การลงพื้นที่เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ จากนั้นก็วิเคราะห์บริบทเพื่อพัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชน (วันที่ 2-3 เมษายน 2559) มีการปรับความคาดหวังและวางแผนการทำงาน จนนำไปสู่การปฏิบัติการจริง (วันที่ 9-10 เมษายน 2559)

ถัดจากนั้นก็ทิ้งช่วงไว้สักระยะแล้วจึงกลับเข้าไปประเมินผลการใช้ประโยชน์อีกครั้ง (วันที่ 23 เมษายน 2559) รวมถึงการนำเสนอผลการดำเนินงานอย่างเป็นทางการ (วันที่ 25 เมษายน 2559) เรียกได้ว่าครบกระบวนการต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ แถมยังมีกระบวนการประเมินผลที่เป็นรูปธรรมผ่านแบบสอบถาม ผ่านการสัมภาษณ์ ผ่านการสังเกตการณ์ และอื่นๆ อย่างน่าประทับใจ





หนุนเสริมงานเดิมในชุมชน และเรียนรู้คู่บริการ

เดิมทางวัดและชุมชนมีแผนที่จะสร้างห้องสุขาขึ้นภายในวัดอยู่แล้ว แต่ยังขาดกำลังคนและงบประมาณในบางส่วน ประกอบกับวันเวลายังไม่ลงตัว เนื่องจากแกนนำแต่ละคนยังคงมีภารกิจชีวิตอย่างต่อเนื่อง บรรจบกับการที่นิสิตเข้าไปปรึกษาเกี่ยวกับความประสงค์ที่จะเข้ามาจัดกิจกรรม จึงเห็นพ้องที่จะหยิบจับเรื่องห้องสุขามาเป็นวาระ “งานบุญ” ร่วมกันให้เสร็จสิ้นสักที

ดังนั้นทั้งนิสิต คณะสงฆ์และชาวบ้าน จึงเห็นพ้องที่จะลงมือสร้างห้องสุขาร่วมกัน โดยชุมชนจะเป็น “พ่อช่าง” สอนงานแก่นิสิตในแบบ “สอนลูกสอนหลาน” พร้อมๆ กับการที่ชาวบ้านแสดงเจตนารมณ์ด้วยการระดมทุนในชุมชนเป็นหัวใจหลักโดยไม่ให้นิสิตได้เดือดร้อนในเรื่องงบประมาณ –




ครับ-ผมว่านี่คือภาพสะท้อนของหลักคิดการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือการแสดงความเป็นเจ้าของที่น่าสนใจของชุมชน และนี่คือหลักฐานสำคัญที่สื่อให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสำคัญกับชุมชนแค่ไหน เป็นความต้องการของชุมชนโดยแท้จริง มิใช่เป็นสิ่งที่นิสิต หรือมหาวิทยาลัยฯ คิดเอง เออเองและหยิบยื่นให้กับชุมชนโดยไม่คำนึงว่าจริงๆ แล้วตรงกับความต้องการของชุมชนหรือไม่

กิจกรรมที่เกิดขึ้นไม่ได้มุ่งเน้นแต่เฉพาะการสร้างห้องสุขาเท่านั้น นิสิตยังได้เรียนรู้เรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างสนุก ได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำเกี่ยวกับการ “ร่อนทราย ผสมปูน ก่ออิฐ ขนอิฐ วัดระดับน้ำ ฉาบปูน” หรือกระทั่งการป้องกันสัตว์มีพิษที่ซ่อนตัวอยู่ในอิฐมอญ รวมถึงเรื่องสมุนไพรที่ใช้รักษาเยียวยาเมื่อถึงคราวเคราะห์ที่ต้องโดนสัตว์มีพิษต่อย

นอกจากนั้นยังได้ร่วมทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรมรับศีลรับพรและเสวนาพาทีอย่างไม่เป็นทางการกับชาวบ้านในเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิตจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวบ้านเองก็ให้ความเมตตาบอกเล่าอย่างเป็นกันเองต่อนิสิต ราวกับการบอกเล่าเรื่องราวต่อลูกหลานดีๆ นั่นเอง

ไม่เฉพาะเท่านั้นหรอกนะครับ นิสิตยังได้จัดแบ่งหน้าที่ให้ “คนสมดุลกับงาน” ผ่านกิจกรรมหน้างานอย่างน่ายกย่อง เช่น แบ่งคนไปทำอาหาร แบ่งคนไปทำความสะอาดวัด ปัดกวาดใบไม้ ปลูกต้นไม้และล้างห้องน้ำ เรียกได้ว่าไม่ปล่อยให้มี “คนว่างงาน” หรือกรีดกรายเปื้อนฝุ่นไปอย่างไร้สาระ การบริหารจัดการคนเช่นนี้ ผมมองว่าไม่ใช่แค่ช่วยกระตุกกระตุ้นให้นิสิตตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเองและทีมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการป้องกันมิให้ชุมชนมองว่า ”นิสิตมาทำกิจกรรมเล่นๆ เพื่อแลกเกรด” !






เรียนรู้หน้างาน เรียนรู้จากสถานการณ์จริง

โดยรวมแล้ว ผมมองว่ากิจกรรมครั้งนี้นิสิตได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างน่าสนใจ เป็นการเรียนรู้งานผ่านการสอนสั่งจากชาวบ้านและพระอาจารย์ฯ อย่างชัดแจ้งในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการ “สร้างห้องสุขา” นั้นถือว่า “ชัดเจนมาก”

มิหนำซ้ำ พระอาจารย์ฯ ยังแนะนำให้นิสิตได้เข้าร่วมกิจกรรม “รดน้ำดำหัว” ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ “ศาลากลางบ้าน” ด้วยอีกต่างหาก เป็นการบอกย้ำถึง “ฮีตคองประเพณีของคนไทย” และการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน หรือกระทั่งเป็นกุศโลบายให้นิสิตได้เข้าสู่หมู่บ้านอย่างแยบยล มิใช่เอาแต่ก้มหน้าก้มตาทำกิจกรรมอยู่แต่ภายในวัด โดยไม่สนใจหลักคิดของความเป็น “บวร”

ยิ่งไปกว่านั้นนิสิตทั้งหมดยังได้ “บทเรียนชีวิต” ผ่านการจัดกิจกรรมอย่างน่าทึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ขณะที่มีการลำเลียงอิฐมอญไปสู่การก่อฉาบ บังเอิญมีนิสิตท่านหนึ่งโชคร้ายถูกแมงป่องต่อย ชาวบ้านจึงได้แนะนำเกี่ยวกับการป้องกันตัวเองแบบง่ายๆ โดยเริ่มจากการเคาะอิฐมอญให้เกิดเสียงดังไปเรื่อยๆ ซึ่งเสียงที่เกิดขึ้นจะช่วยไล่แมลงหรือสัตว์มีพิษออกจากก้อนอิฐไปโดยปริยาย

ถัดจากนั้นก็นำเข้าสู่การปฐมพยาบาลผ่านการดูแลอย่างใกล้ชิดจากชาวบ้าน เช่น ประคบเย็นด้วยน้ำแข็ง ทาหรือราดด้วยน้ำมะนาว (พิษเย็นสยบพิษร้อน) จากนั้นก็ทาทับด้วยยาหม่องอีกรอบ ส่งผลให้นิสิตท่านนั้นไม่มีอาการคัน หรือกระทั่งอาการปวด-บวม

สิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียนที่แลกมาจากความเจ็บปวด และเป็นบทเรียนที่เชื่อมโยงให้เห็นความรู้ของชาวบ้านบนฐานภูมิปัญญาที่ไม่ตกยุค





โดยสรุปแล้ว

ผมมองว่าโครงการ/กิจกรรมนี้สะท้อนภาพการเรียนรู้คู่บริการอย่างชัดเจน นับตั้งแต่การค้นหาโจทย์อันเป็นความต้องการของชุมชน ถึงแม้นิสิตจะไม่มีประสบการณ์ด้านการสร้างห้องสุขา (ห้องน้ำ) แต่ก็ได้ทำงานในสถานะของการเป็น “ลูกมือ” ให้กับชาวบ้านอย่างน่ารักน่าเอ็นดู และการเป็นลูกมือที่ว่านั้นก็ถือเป็นความโชคดีที่ได้เรียนรู้ภูมิปัญญาด้านช่างจากชาวบ้านไปในตัว

  • กิจกรรมครั้งนี้ได้สร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีหลายมิติ ยกตัวอย่างเช่น นำพาให้ชาวบ้านได้เข้ามาทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกันโดยมีวัด หรือสำนักสงฆ์เป็นพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกัน เป็นหนึ่งในกระบวนการสร้างความสามัคคีในชุมชน สร้างสุขภาวะที่ดีแก่ชุมชน
  • กิจกรรมครั้งนี้สะท้อนเจตนารมณ์ชุมชนเรื่องการมีส่วนร่วมที่เด่นชัด ทั้งการลงขันงบประมาณ (มากกว่านิสิต) การนำทรัพยากรทั้งความรู้และอื่นๆ มาสร้างงานอย่างไม่เกี่ยงงอน สื่อให้เห็นถึงการมองประโยชน์ส่วนรวมของชุมชนเป็นที่ตั้ง
  • กิจกรรมครั้งนี้สะท้อนกระบวนทัศน์การทำงานของนิสิตชั้นปีที่ 1 ที่หลากหลายสาขาในมิติ “เรียนรู้คู่บริการ” อย่างน่าทึ่ง เช่น การคัดเลือกพื้นที่ คัดกรองปัญหาและความต้องการของชุมชน การประสานชุมชน การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การทำงานโดยใช้ความเป็นทีมและชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ หรือกระทั่งการระดมทุนผ่านอินเทอร์เน็ต เพื่อนำไปสมทบกับชาวบ้าน



ครับ-ง่ายงามบนความต้องการของชุมชน และง่ายงามโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ หรือเกินศักยภาพของการเรียนรู้คู่บริการที่นิสิตพึงกระทำได้

ส่วนนิสิตทำกิจกรรมครั้งนี้แล้วได้เรียนรู้อะไร หรือก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงสร้างสรรค์อย่างไร ไว้ให้นิสิตมาบอกเล่าด้วยตัวเอง จะดีกว่า (ถึงผมรู้แล้ว แต่ก็ขออนุญาตที่จะไม่บอกเล่าด้วยตนเอง-นะครับ)


หมายเหตุ ภาพโดยนิสิตวิชาภาวะผู้นำ 2/2558

หมายเลขบันทึก: 607468เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2016 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2016 21:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ง่าย งาม ตามความต้องการของชุมชน ... ดีจริงๆ ค่ะ ... ชื่นชมมากๆ ค่ะ


"มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กับการเรียนรู้คู่บริการ นิสิตกับการช่วยเหลือสังคมเเละชุมชน

ในการเรียนและทำกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เรามีชุมชนเป็นแหล่งสร้างองค์ความรู้

เป็นห้องเรียนที่ดีระดับหนึ่งของการเรียนรู้ในมหาลัย การมีจิตสาธารณะ

เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเข้าใจ วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจของชุมชน

ทำให้ผมได้ประสบการณ์ ได้งาน ได้ความรู้ ได้ธรรมะ

ได้บำเพ็ญประโยชน์ ได้ทำบุญ"


ใช้สัดส่วนทรัพยากรของชุมชนมากกว่าจากภายนอก

นี่คือ การพัฒนาจากรากฐานของชุมชนที่งดงาม

มีภูมิปัญญาชาวบ้านเต็มไปหมดให้นิสิตได้ค้นหาการเรียนรู้นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท