ชมรมรุ่นสัมพันธ์ : จุดประกายไฟใส่สีความฝัน (ปิดเรื่อง)


เป็นการนำวันหยุดเพียงไม่กี่วันมาปรุงแต่งสู่การรับใช้สังคมอย่างน่ายกย่อง และถึงแม้จะเป็นค่ายอาสาพัฒนาเชิงวิชาการเล็กๆ ก็เถอะ แต่นี่ก็เป็นความง่ายงามในครรลองของคนหนุ่มสาวที่เพียรพยายามจะค้นหาความหมายการใช้ชีวิตด้วยมุมมองของเขาเอง




สืบเนื่องจากบันทึกก่อนหน้านี้ จุดประกายไฟใส่สีความฝัน (เปิดเรื่อง) ถือโอกาสเขียนบอกเล่าต่อเนื่องอีกสักบันทึก



โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน มีกระบวนการคัดเลือกพื้นที่ของการ “ออกค่าย” หรือ “จัดกิจกรรม” คล้ายคลึงกับหลายๆ กิจกรรมขององค์กรนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวคือ เริ่มต้นจากการมอบหมายให้สมาชิกในชมรมฯ ได้ทำการเสาะแสวงหาพื้นที่มานำเสนอต่อคณะกรรมการและสมาชิกในองค์กรเพื่อพิจารณาลงมติร่วมกัน

กรณีคุณสมบัติของพื้นที่ จะประกอบด้วยเกณฑ์สำคัญๆ คือ เป็นโรงเรียนที่ยังไม่ค่อยได้รับโอกาสในด้านการแนะแนวการศึกษา มีเปอร์เซ็นต์การศึกษาต่อของนักเรียนค่อนข้างน้อย คณะผู้บริหาร คณะครูและชุมชนมีความสนใจและให้ความสำคัญกับกิจกรรมที่จะจัดขึ้น

ว่าไปแล้ว – ถึงแม้พื้นที่ส่วนใหญ่ที่ถูกนำเสนอล้วนมาจากพื้นที่อันเป็น “โรงเรียนเดิมของสมาชิกในชมรม” ก็เถอะ กระนั้นผมก็ไม่ได้อะไรมากมายกับที่มาที่ไปเช่นนั้น เพราะดูเหมือนแนวทางของการได้มาซึ่งค่ายในระยะหลังๆ ก็เป็นไปในทำนองนี้แทบทั้งสิ้น

ตรงกันข้าม- สำหรับโครงการนี้ผมกลับรู้สึกชื่นชอบวิธีการพิจารณาคัดเลือกเสียมากกว่า เนื่องเพราะมีกระบวนการเปิดโอกาสให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ ไม่ใช่การ “ปิดลับ” หรือให้อำนาจแต่เฉพาะคณะกรรมการบริหารชมรมเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ


กระบวนการที่ว่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงกรอบแนวคิดอันเป็นทฤษฎี “การมีส่วนร่วม” ที่ควรค่าต่อการสืบต่อและยกฐานะเป็น “วัฒนธรรมองค์กร” เป็นที่สุด





กระบวนการบูรณาการกิจกรรมแบบบันเทิงเริงปัญญา

การจัดกิจกรรมแนะแนวการศึกษาในโครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน เป็นกิจกรรมที่บูรณาการบนฐานคิด “บันเทิงเริงปัญญา” ที่ประกอบด้วยสาระและความสนุกสนานเป็นหัวใจหลัก

เริ่มต้นจากกิจกรรมเปิดตัวในเวทีอย่างเป็นทางการต่อหน้าโรงเรียนและชุมชน มีการร้องเพลงประจำมหาวิทยาลัย แนะนำสมาชิก หรือคณะทำงานจากมหาวิทยาลัย ซึ่งเรียกกันว่า “พี่ค่าย” ไม่ว่าจะเป็นพี่บอร์ด พี่กลุ่ม พี่สัน (สันทนาการ) พี่พิธีกร –พี่พิธีการ พี่ประสานงาน พี่ทะเบียน พี่เบื้องหลัง (โดยเฉพาะกลุ่มห้องครัวที่เสียสละปักหลักในครัวอย่างจริงจังจนแทบจะไม่มีโอกาสโผล่ออกมาเยี่ยมชมหรือเข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ กับเพื่อนพ้องน้องพี่)

ถัดจากนั้นจึงเริ่มเข้าโหมดการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการเปิดวีดีทัศน์แนะนำมหาวิทยาลัยฯ ให้คณะครู นักเรียน หรือกระทั่งชุมชนได้รับรู้และรับชมร่วมกัน

ต่อเนื่องด้วยการบรรยายให้เข้าใจถึงแนวทางการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมหาสารคามผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการรับตรง-รับผ่านส่วนกลาง หรือโครงการพิเศษอื่นๆ เช่น โครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม โครงการเด็กดีมีที่เรียน หรืออื่นๆ ผูกโยงถึงระบบทุนการศึกษาที่มีในมหาวิทยาลัย ทั้งทุนกู้ยืม ทุนให้เปล่า อันเป็นสวัสดิการของการเล่าเรียน





นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมหนุนเสริมอีกจำนวนหนึ่ง เช่น

  • แบบทดสอบจิตวิทยาความถนัดด้านวิชาชีพ
  • GAT/PAT


ถัดจากนั้นจึงแบ่งนักเรียนเข้าสู่ฐานต่างๆ อันเป็นกระบวนการของการแนะแนวการศึกษา ซึ่งมี “พี่บอร์ด” เป็นหัวใจหลักของการสื่อสาร โดยแต่ละกลุ่มจะมี “พี่กลุ่ม” คอยดูแลพานักเรียนเข้าฐาน รวมถึงการทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวต่อการเรียนรู้และการเกิดมิตรภาพในกลุ่ม

กรณีกิจกรรมในแต่ละฐาน จะเน้นกิจกรรมในแบบ “บันเทิงเริงปัญญา” มุ่งให้ได้ทั้งความสนุกและความรู้คู่กันไป โดยเน้นการสื่อสารถึงคุณลักษณะสำคัญๆ ของวิชาชีพต่างๆ ผ่านกิจกรรมและสื่อต่างๆ ที่มีในฐาน ตลอดจนการสื่อสารผ่านการแต่งกายที่บ่งบอกวิชาชีพนั้นๆ รวมถึงการสอดแทรกกิจกรรมเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีให้กับนักเรียนในกลุ่มไปในตัว เพื่อก่อให้เกิดทักษะของการอยู่ร่วมกัน มิใช่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเรียนรู้

ยิ่งมาพิจารณาหยั่งลึกลงจริงๆ จะเห็นว่ากระบวนการทั้งปวงได้ซ่อนเรื่องของการบ่มเพาะเรื่องจิตสาธารณะ (จิตอาสา) ให้แก่นักเรียนไปในตัวด้วยเหมือนกัน



ขณะที่กระบวนการแนะแนวการศึกษา ก็ถูกออกแบบเป็นฐานๆ ดังนี้

  • ฐานกลุ่มวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ฐานกลุ่มวิทยาศาสตร์และสุขภาพ
  • ฐานกลุ่มศิลป์ (ศิลปกรรมศาสตร์ ดุริยางคศิลป์ สถาปัตยกรรมฯ)
  • ฐานกลุ่มบริการ (คณะการบัญชีและการจัดการ)
  • ฐานกลุ่มมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์

กรณีการจัดฐานการเรียนรู้นั้น ผมเปิดใจเรียนรู้กับนิสิตว่า “ทุกกิจกรรมมีเหตุผลและครรลองของตัวเอง” จึงไม่ได้โต้แย้งอะไรมากมาย ตรงกันข้ามกลับให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับนิสิตเกี่ยวกับกลุ่มวิชาชีพในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดังว่า

  • ปกติมหาวิทยาลัย จะแบ่งวิชาชีพออกเป็น 3 กลุ่ม คือ “วิทย์-เทคโน,วิทย์-สุขภาพ,มนุษย์และสังคม”
  • กรณีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยจะจัดอยู่ในกลุ่มวิทย์-เทคโน

ส่วนกรณีคณะการบัญชีและการจัดการที่นิสิตจัดอยู่ในกลุ่มมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ซึ่งก็พอเข้าใจได้ว่าคณะดังกล่าวมีสาขา หรือหลักสูตรเป็นจำนวนมาก นิสิตจึงจัดแยกออกเป็นอีกฐานหนึ่งโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถเจาะลึกถึงสาขาต่างๆ อย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้

ด้วยเหตุนี้ผมจึงฝากประเด็นให้คิดต่อยอดว่า การแบ่งกลุ่มเช่นนี้ก็ไม่ได้ผิดเพี้ยนอันใด แต่ก็อดไม่ได้ที่จะฝากประเด็นเพิ่มเติมให้ไปคิดต่อประมาณว่า “หากสามารถเปลี่ยนชื่อกลุ่มของคณะการบัญชีและการจัดการใหม่โดยไม่ใช้คำว่า “บริการ” ก็น่าจะดี เพราะสาขาวิชาชีพที่มีในคณะก็หาใช่จะสุดโต่งไปในด้านบริการเสียทั้งหมด”






กิจกรรมภาคกลางคืน : เติมฟืนไฟใส่สีสันชีวิต


ถึงแม้ค่ายครั้งนี้จะไม่ใหญ่โตเป็นมหกรรมชวนตื่นตาตื่นใจ เพราะใช้เวลาเพียง 2 วันกับ 1 คืน แต่ก็ถือว่าเป็นการนำวันหยุดเพียงไม่กี่วันมาปรุงแต่งสู่การรับใช้สังคมอย่างน่ายกย่อง และถึงแม้จะเป็นค่ายอาสาพัฒนาเชิงวิชาการเล็กๆ ก็เถอะ แต่นี่ก็เป็นความง่ายงามในครรลองของคนหนุ่มสาวที่เพียรพยายามจะค้นหาความหมายการใช้ชีวิตผ่านมุมมองของเขาเอง

นั่นคือสิ่งที่ผมมองว่าเราทุกคนต้องเข้าใจ เห็นใจ และให้กำลังใจกันอย่างจริงจัง

สำหรับผมแล้ว - กิจกรรมฐานการเรียนรู้ในภาคกลางวันนั้น หากไม่นับประสิทธิภาพในด้านการแนะแนวการศึกษาแก่นักเรียน ผมชื่นชอบการออกแบบฐานการเรียนรู้ในแบบ “นอกห้องเรียน” มากเป็นพิเศษ เพราะช่วยให้นักเรียนได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการเรียนในห้องเรียนมาสู่การเรียนนอกห้องเรียนกันอย่างจริงๆ จังๆ ได้ดูได้ชมสถานที่ต่างๆ ในโรงเรียนของตนเอง

กรณีดังกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าดีไม่ดีนักเรียนบางคนอาจไม่เคยได้ใส่ใจกับสถานที่เหล่านี้เลยด้วยซ้ำไป ต่อเมื่อต้องมาเข้าฐานตามร่มไม้และหย่อมหญ้า จึงอาจเริ่มให้ความสนใจกับบริบทสถานศึกษาของตนเองมากยิ่งขึ้นด้วยก็เป็นได้



ในส่วนกิจกรรมภาคกลางคืน งานค่ายครั้งนี้ก็รังสรรค์กิจกรรมให้สอดรับกับวันวัยแห่งการเรียนรู้ของนักเรียนได้เป็นอย่างดี โดยหนุนเสริมกิจกรรมบันเทิงเริงปัญญาเข้าไปคำรบหนึ่ง ประกอบด้วยกิจกรรม ระหว่างนักเรียนกับพี่นิสิต เป็นต้นว่า การแสดงของแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มได้หยิบยกเอาเรื่องราวอันเป็นประเด็นทางสังคมมาสื่อแสดง ขณะที่บางกลุ่มมุ่งสู่ความเฮฮาไปตามห้วงวัยของเขาเอง หรือกระทั่งการหยิบจับเรื่องราวชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยมาเป็นโจทย์เพื่อสะท้อนกลับสู่นิสิตและนักเรียนอย่างแยบยล มิหนำซ้ำก่อนเข้านอน ยังมีกิจกรรม “พิธีเทียน” มากล่อมเกลาจิตใจทั้งนักเรียนและนิสิตอีกต่างหาก

โดยส่วนตัวผมมองว่ากิจกรรมทั้งหมดล้วนเป็นเสมือนการเติมเชื้อเพลิงชีวิตให้แต่ละคนได้มีความหวังและมุมมองสร้างสรรค์ในการที่จะใช้ชีวิตในวันรุ่งขึ้น หรือกระทั่งในวันเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณค่าและความหมาย (ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น) มิใช่การกรีดกรายไปมาโดยไม่รู้ว่าวันนี้คิดอะไร และจะเดินทางไปในทิศทางใด !





เตรียมคนสู่โครงการใหม่


กิจกรรมครั้งนี้มีนักเรียนเข้าร่วมในราว 200 คน ขณะที่นิสิตเข้าร่วมในราว 80 คน

โดยหลักๆ แล้วนิสิตที่เป็นแกนหลักจะเป็นชั้นปีที่ 2 โดยมีนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้ามาเป็นฟันเฟืองช่วยพี่ปี 2 อย่างเต็มสูบ ส่วนนิสิตชั้นปีที่ 3-4 จะรับบทเป็น “พี่เลี้ยง” คอยดูแลให้คำปรึกษา และทำหน้าที่ “ประเมินผลการทำงาน” อย่างใกล้ชิด

การนำนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้ามาเป็นฟันเฟืองหลักหนุนเสริมนิสิตชั้นปีที่ 2 เช่นนี้ คืออีกหนึ่งกระบวนการเชิงวัฒนธรรมของชมรมฯ ที่วางหมุดรองรับการ “สร้างคน” หรือ “เตรียมคน” สู่อีกโครงการไปในตัว กล่าวคือ ใช้โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝันเป็นสนามชีวิตให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ได้เรียนรู้และทำจริงร่วมกับพี่ปี 2 เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจในปรัชญาชมรม ปรัชญากิจกรรม หลอมรวมความสามัคคีและทักษะการทำงานอย่างเป็นทีม จากนั้นจึงขยับขึ้นสู่สถานะของการเป็นผู้รับผิดชอบหลักในโครงการ “ความรู้นี้พี่ให้น้อง” อันเป็น “ค่ายใหญ่” ที่จะมีขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนที่ 2

เรียกได้ว่า ใครไม่ผ่านโครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝันก็ยากไม่ใช่ย่อยกับการสถาปนาเป็นขุนกระบี่ในค่ายความรู้นี้พี่ให้น้อง

ครับ-นี่เป็นอีกครรลองหนึ่งของชมรมรุ่นสัมพันธ์ที่ออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างคนมาเกิน 1 ทศวรรษ ซึ่งผมมองว่าไม่มีความจำเป็นใดที่จะไปประเมินว่าแนวคิดหรือกระบวนการเช่นนี้ “ผิด หรือ ถูก” เพราะในทุกกิจกรรมย่อมมีเหตุผลและครรลองของมันเอง ตราบเท่าที่ทุกอย่างยังเดินทางได้ด้วยตนเองและไม่ทำร้ายใคร สิ่งนั้นแหละคือคำตอบที่ดีที่สุด เป็นคำตอบที่ไม่จำเป็นต้องประเมินว่า “ดี หรือ ไม่ดี”

นั่นคือสิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากโครงการนี้





เสียงสะท้อนการเรียนรู้จากนิสิต

ด้วยความที่โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน เป็นโครงการที่ไม่ซับซ้อนซ่อนปม ใช้เวลาการทำงานเพียงไม่กี่วัน แถมยังเป็นพื้นที่ของศิษย์เก่าในชมรมที่นำมาซึ่งความร่วมมือจากคณะครูและชุมชน ทั้งในด้านข้อมูลนักเรียน หรืออาหารการกินต่างๆ ยังผลให้โครงการบรรลุเป้าประสงค์ได้อย่างไม่ยากเย็น

กระนั้นก็ยังพบว่ามีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ที่ผ่านเข้ามาให้เรียนรู้ร่วมกัน เช่น กำหนดการที่เลื่อนไหลไม่ตรงเวลา โดยเฉพาะกิจกรรมในแต่ละฐานที่ไม่สามารถยุติได้ตามเวลาที่กำหนดไว้ หรือกระทั่งปัญหานักเรียนที่มีข้อทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่แล้ว ครั้นบังเอิญได้มาอยู่ในกลุ่มเดียวกัน พลอยให้เกิดภาวะงี่งอนต่อการเรียนรู้ ส่งผลให้ทีมงานค่ายจำต้องปรับเปลี่ยนหน้างานกันอย่างละมุมละม่อม

นี่ก็เป็นมนต์เสน่ห์ของกิจกรรมนอกหลักสูตรที่ท้าทายให้นิสิตได้เรียนรู้เพื่อความแกร่งของชีวิต



เหนือสิ่งอื่นใด กิจกรรมในครั้งนี้มีกระบวนการประเมินผลการเรียนรู้ของนักเรียนด้วยเช่นกัน หากแต่ในที่นี้ผมจะหยิบยกเฉพาะผลการเรียนรู้ของนิสิตมานำเสนอ ยกตัวอย่างเช่น

  • นิสิตรู้จักความเป็นวิชาชีพของแต่ละคณะและความเป็นมหาวิทยาลัยมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำกัดการรับรู้อยู่แต่ในสาขา หรือวิชาชีพตนเอง
  • นิสิตได้เรียนรู้หลักการสืบค้นข้อมูลหลากวิธี ทั้งการการสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต การสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการจากอาจารย์ บุคลากร และนิสิต
  • นิสิตได้รู้จักอาจารย์และนิสิตต่างคณะเพิ่มมากขึ้น
  • นิสิตได้ทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสู่สาธารณะ
  • นิสิตได้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าร่วมกันอย่างเป็นทีม
  • นิสิตได้เรียนรู้ระบบการทำงานอย่างเป็นทีม และการยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
  • นิสิตเข้าใจปรัชญาการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมของการบริการสังคมที่สัมพันธ์กับปรัชญา (ผู้มีปัญญาพึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน) เอกลักษณ์ (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) อัตลักษณ์นิสิต (ช่วยเหลือสังคมและชุมชน)
  • นิสิตได้พัฒนาทักษะการสื่อสาร ทั้งพูดและฟัง รวมถึงบุคลิกภาพทั่วไป
  • นิสิตได้ทบทวนความเป็นมหาวิทยาลัยและสาขาวิชาชีพตนเอง
  • นิสิตได้ทบทวนความรู้ตัวเอง ทั้งในวิชาชีพ และ GAT/PAT
  • นิสิตได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับบุคลากรของมหาวิทยาลัยในเรื่องการแนะแนวการศึกษาและการพัฒนาบุคลิกภาพ





ส่งท้าย

สำหรับผมแล้ว โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน เป็นค่ายอาสาพัฒนาเล็กๆ ในมิติ “ง่ายงามตามนิยามของตนเอง” โดยเฉพาะนิยามการสร้างทักษะการเรียนรู้ของนิสิตผ่านกิจกรรมการแนะแนวการศึกษาที่กำหนดให้แต่ละคนได้พูดในสิ่งที่ไม่ใช่วิชาชีพตนเอง เพียงเพื่อสร้างพื้นที่ หรือสังคมใหม่ของการเรียนรู้ให้กับนิสิต ซึ่งช่วยให้นิสิตได้มีมณฑลใหม่ของการเรียนรู้ ช่วยให้นิสิตได้เรียนรู้วิธีการของการได้มาซึ่งความรู้ผ่านกระบวนการต่างๆ อย่างหลากหลาย

ทั้งยังออกแบบไว้เพื่อเป็นฐานในการบ่มศักยภาพของคนในองค์กรเพื่อป้อนขึ้นสู่สายงานอื่นๆ หรือโครงการอื่นๆ เสมือนการบ่มจากเรื่องง่ายๆ ไปสู่เรื่องยากๆ โดยใช้วัฒนธรรมองค์กรเป็นเครื่องนำพาในแบบ “พี่สอนน้อง” อันเป็นหัวใจหลักของความเป็น “รุ่น” หรือ “รุ่นสัมพันธ์”

  • ผมว่าจะดีมากๆ หากโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองบริการการศึกษา เพราะปกติกองบริการการศึกษาก็ท่องสัญจรไปแนะแนวการศึกษาด้วยตนเองอยู่แล้ว หากสามารถสนับสนุนชมรมฯ ให้ทำงานในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ก็นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการช่วยพัฒนานิสิตให้เป็นบัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัยและสังคม


  • เช่นเดียวกับกองกิจการนิสิต ก็อาจต้องหันมาให้การสนับสนุนชมรมรุ่นสัมพันธ์ในการจัดโครงการนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะอย่างน้อยว่าด้วยโครงการส่งเสริมเยาวชนดีเด่นด้านกีฬาและศิลปวัฒนธรรม (โควตากีฬา-ศิลปวัฒนธรรม) ก็อยู่ภายใต้สังกัดกองกิจการนิสิต หากสนับสนุนทั้งงบประมาณและกำลังคน หรือทรัพยากรอื่นๆ เช่น ส่งนิสิตในโควตาฯ เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่ากิจกรรมนี้จะมีพลังมากกว่าที่เคยเป็นมา


ใช่ครับ- ผมเชื่อเช่นนั้น....

หากแต่เบื้องต้น เอาเป็นว่า ผมชื่นชมและให้กำลังใจกับทีมชมรมฯ และทีมงานโครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝันอย่างจริงจัง และจริงใจ



หมายเหตุ

ภาพ : ชมรมรุ่นสัมพันธ์
กิจกรรม : โครงการจุดประกายไฟใส่สีความฝัน ครั้งที่ 14 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2558 ณ โรงเรียนคำสร้อยพิทยาสรรค์ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร

หมายเลขบันทึก: 607353เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2016 10:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2016 13:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมาบอก..ว่า "พี่สอนน้อง".นั้น.เคยมีประสพการณ์นี้..ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ศิลปกร..ตอนนั้น..เป็นรุ่นแรก..ที่มีนักศึกษาในชั้นเรียนช่วงนั้น..ถึงสามสิบกว่าตน..(เดี๋ยวนี้คงเป็นร้อยนะ)...

ครับ คณยายธี

ผมเข้าเรียนอุดมศึกษา ปี 2534 ยุคนั้นในชั้นเรียนก็มีไม่เกิน 30 คนครับ ปัจจุบัน หลักร้อยแล้วครับ เป็นพลวัตการศึกษา และไม่อยากจะบอกว่าเป็นธุรกิจการศึกษา เพราะบางสาขาก็ยังมีจำกัดจำนวนไม่ถึงร้อยเหมือนกัน

แต่วิชาเรียนรู้ประเภทศึกษาทั่วไป ห้องๆ หนึ่งก็มีเปิดรับเข้าเรียนไม่ต่ำกว้าหลักร้อย ครับ แต่วิชาที่ผมดูแล ดีหน่อยจัดการเรียนรู้กึ่งกระบวนการ เลยพอให้ตื่นตัวอยู่พอสมคร เพราะไม่ใช่แค่บรรยายทฤษฎีเท่านั้น แต่มีกิจกรรมให้เรียนรู้อยู่เนืองๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท