ศาสตราจารย์ผู้เชื่องช้า



บทความเรื่อง The Slow Professor ซึ่งอ่านได้ ที่นี่ วิจารณ์หนังสือ Slow Professor : Challenging the Culture of Speed in the Academy ที่ยุยงให้นักวิชาการต่อต้านวัฒนธรรมความเร็ว

สมัยนี้กิจการต่างๆ มันเร็วจนน่าเวียนหัว เกิดกระแสต้าน เป็นกระแสสู่ความเชื่องช้า (slow movement) ด้านต่างๆ ตอนนี้ก็ถึงคราว ความเชื่องช้าด้านวิชาการ

ในปี ค.ศ. 2013 เว็บไซต์ CareerCast ระบุว่าอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นอาชีพที่เครียดน้อยที่สุด จึงถูกนิตยสาร Forbes วิพากษ์คัดค้าน ว่า โลกเปลี่ยน มหาวิทยาลัยก็เปลี่ยน ชีวิตอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ถูก กระทบ จากความคาดหวังที่สูงขึ้น ที่นักศึกษากลายเป็นลูกค้า การที่จะต้องตอบสนองการติดต่อสื่อสารจาก เพื่อนร่วมงานและนักศึกษาตลอด ๒๔ ชั่วโมง และ ๗ วันในสัปดาห์ และการต้องมีผลงานวิจัยที่มี impact factor สูง รวมทั้งการที่อาจารย์ที่ยังไม่ได้รับการจ้างงานถาวรขาดความมั่นคง ทำให้ในปี 2016 เว็บไซต์ CareerCast ระบุว่าอาชีพอาจารย์เครียดสูงเป็นอันดับที่ ๓

เรื่องแบบนี้เถียงกันได้ไม่มีจบ

หนังสือ Slow Professor เขียนโดยสองศาสตราจารย์ชาวแคนาดา เสนอมุมมองตรงกันข้ามกับกระแส การทำให้มหาวิทยาลัยเป็นสถานประกอบการ (corporatization) และกระแสเพิ่มประสิทธิภาพ ที่อำนาจใน มหาวิทยาลัยถ่ายจากคณาจารย์ไปสู่ฝ่ายจัดการ และเหตุผลด้านเศรษฐกิจ และการเงิน มีอิทธิพลเหนือการเรียน การสอน และผลทางปัญญา

Slow Professor เสนอให้มุ่งเน้นคุณค่าของ ความรอบคอบ (deliberation) เหนือความรีบเร่ง (acceleration) โดยมีรายละเอียดต่างๆ มากมาย

ผมอ่านบทความ (ไม่ได้อ่านหนังสือ) แล้วรู้สึกว่า ข้อถกเถียงเน้นที่ผลประโยชน์ของอาจารย์ มากกว่าที่คุณค่าต่อสังคมของอาจารย์ ผมอยากให้คนเป็นอาจารย์คิดเรื่องประโยชน์ส่วนรวมมากกว่า ประโยชน์ส่วนตน แต่ก็เห็นด้วยว่า ควรมีการศึกษาภาพใหญ่ว่า สภาพชีวิตการทำงานอาจารย์มหาวิทยาลัย ในปัจจุบันมีแรงดึงดูดคนดีและเก่งเข้ามาเป็นอาจารย์แค่ไหน หากแรงดึงดูดน้อยลง ต่อไปบ้านเมืองก็จะมีแต่ อาจารย์ระดับสมองชั้นสอง บ้านเมืองก็จะอ่อนแอลง

สรุปว่า ผมไม่เห็นด้วยกับความคิดสุดโต่งไปด้านช้าหรือด้านเร็ว เราต้องเดินทางสายกลาง ที่ยังประโยชน์ส่วนรวมของสังคมมากที่สุด

ขอขอบคุณ ศ. ดร. เจตนา นาควัชระ ที่ส่งบทความนี้มาให้



วิจารณ์ พานิช

๒๑ เมษายน ๒๕๕๙


คำสำคัญ (Tags): #590526#slow movement#slow professor
หมายเลขบันทึก: 607240เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2016 13:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2016 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เรียน ท่านอาจารย์หมอวิจารณ์..

ผมมองว่า โลกของทุนนิยม และวัตถุนิยม เข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในวิถีชีวิตของคนไทย ด้วยความคาดหวังที่สูงขึ้นของคนในสังคม กระทบกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตอาจารย์ ให้ต้องรีบเร่งทางด้านวิชาการ

แนวทางหนึ่ง คือ เสนอผลประโยชน์ให้อาจารย์ (แรงจูงใจ) ด้วยค่าตอบแทน ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจารย์ก็ต้องตอดเหยื่อ (โดยที่บางท่านก็ติดเบ็ด บางท่านก็ไม่ติดเบ็ด)

ผลประโยชน์ของอาจารย์มีมหาศาล หากขาดสติ ก็จะติดอยู่ใน ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข (โดยลืมเรื่องตรงกันข้าม)

ทางหนึ่งของมหาวิทยาลัย (จุดประสงค์) คือ แข่งขันกันหาและผลิตนิสิต นักศึกษา (ลูกค้า) ให้กลายเป็นสินค้า มากกว่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของสังคม (ที่เต็มไปด้วยกิเลส และตัณหา) อาจารย์คิดเรื่องผลประโยชน์ส่วนตัวด้านรายได้ (เพราะรายจ่ายรออยู่) มากกว่า ผลประโยชน์ของลูกศิษย์

ความมีคุณค่า (ในความเป็นมนุษย์) ของอาจารย์ลดลง ซึ่ง ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต่อ ศิษย์ ต่อสังคม ต่อวงการศึกษา ในภาพรวม

การมีแนวคิดที่ตรงกันข้าม อาจจะกระตุก (ต่อมคิด) ให้อาจารย์ (บางส่วน) กลับมามีแนวคิดเดินสายกลาง และหันมามอง ลูกศิษย์ และสังคม (รวมทั้งประเทศชาติ ที่มีภาระด้านการคลังและหนี้สิน) มากขึ้น มากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

หมายเหตุ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวครับ ไม่มีผิด ไม่มีถูก



ขอบคุณ อ. บีแมนครับ

ความเห็นของอาจารย์ช่วยเติมเต็มข้อความในบันทึกนี้ได้เป็นอย่างดี

หากท่านอื่นมีความเห็นที่แตกต่างไปจากนี้ หรือเพิ่มเติม ก็จะเป็นประโยชน์หากช่วยกันออกความเห็นครับ

วิจารณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท