Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รัฐไทยยอมรับหรือรับรองหรือบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ? แค่ไหนกัน ? : ข้อคำนึงเกี่ยวกับกรณีความร่วมมือในการใช้อำนาจอธิปไตยทางตุลาการของรัฐ


รัฐไทยยอมรับหรือรับรองหรือบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ? แค่ไหนกัน ? : ข้อคำนึงเกี่ยวกับกรณีความร่วมมือในการใช้อำนาจอธิปไตยทางตุลาการของรัฐ

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔

--------------------------------------------------------------

๑. แนวคิดพื้นฐาน : จากอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบดั้งเดิมสู่อำนาจอธิปไตยที่เป็นจริงเมื่อประชาคมระหว่างรัฐเป็นความจริงที่ปฏิเสธมิได้

---------------------------------------------------------------

เมื่อโครงการสัมมนาเรื่องการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อระดมความรู้และความคิดตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของไทย มิใช่เพียงจะพูดคุยถึงกรณีที่อยู่ในกระแสสังคมเท่านั้น ผู้เขียนถึงเห็นว่า เราควรจะศึกษาถึงแนวคิดพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

๑.๑. แนวความคิดอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบดั้งเดิมแบบชาตินิยม

เมื่อเราพิจารณาถึง “คำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” เราคงต้องมีแนวคิดพื้นฐานว่า สิ่งนี้ก็คือส่วนหนึ่งของการกระทำของรัฐ ซึ่งหากมองจากมุมของทฤษฎีการกระทำของรัฐดั่งเดิมหรือ Act of State Theory สิ่งนี้ก็คือ “การกระทำทางตุลาการของรัฐ (Judicial Act of State) ซึ่งเป็นการกระทำของรัฐอันเป็นผลมาจากการแสดงอำนาจอธิปไตยของรัฐทางตุลาการ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรมบนดินแดนและแก่ประชากรของตน ทั้งนี้ เพราะรัฐอธิปไตยย่อมมีอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร

ในแนวความคิดอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบดั้งเดิมแบบชาตินิยม นักคิดมักมีความเป็นสุดโต่งที่จะคิดว่า รัฐยอมมีอำนาจที่เด็ดขาดและไม่มีเงื่อนไข แม้ในบริบทที่มีความเกี่ยวข้องกับอำนาจอธิปไตของรัฐอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แนวคิดแบบดั้งเดิมก็จะอธิบายว่า การประนีประนอมระหว่างอำนาจอธิปไตยของรัฐที่เข้ามาทับซ้อนกันนั้นมีความขัดกันถูกมองว่า เป็นไปไม่ได้ ยอมรับไม่ได้ การยอมรับคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศถูกมองว่า เป็นการเสียเอกราชของรัฐ (State Independence) และเมื่อการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยของรัฐเกิดขึ้น ความขัดแย้งระหว่างรัฐจึงหลีกเลี่ยงมิได้ ในหลายสถานการณ์จึงนำไปสู่การใช้กำลังต่อกัน และนำมาซึ่งการเสียสันติภาพในประชาคมระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์อันดีระหว่างดินแดนและประชากรระหว่างรัฐสิ้นสุดลง

๑.๒. แนวความคิดอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบดั้งเดิมแบบระหว่างประเทศนิยม

การถอดบทเรียนของนานารัฐต่อความไม่ถูกต้องของแนวคิดว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบสุดโต่งเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดังที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติ (United Nations Charter) ค.ศ.๑๙๔๕/พ.ศ.๒๔๘๘ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/ค.ศ.๒๔๙๑ ด้วยความรุนแรงที่รัฐมีต่อกันระหว่างสงครามโลกทั้งสองครั้งที่ผ่านไป นานารัฐบนโลกได้ถอดบทเรียนว่า อำนาจอธิปไตยของรัฐจะมีประสิทธิภาพสูงสุดและสร้างสรรค์ก็ต่อเมื่อรัฐเจ้าของอำนาจอธิปไตยยอมรับความเป็นจริงที่ว่า ไม่มีเพียงรัฐอธิปไตยเดียวบนโลก และอำนาจอธิปไตยเริ่มอ่อนแรงลงเมื่อเผชิญกับการขัดกันแห่งอำนาจอธิปไตยของรัฐ การถอดโจทย์แห่งข้อด้อยของอำนาจอธิปไตยของรัฐดังกล่าวมาประสบความสำเร็จเมื่อนักคิดในสายระหว่างประเทศนิยม (Internationalism) ได้ปรากฏตัวขึ้นมาอธิบายทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐบนความเป็นจริงของโลก รัฐอาจแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากรได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนเมื่อนานารัฐอธิปไตยนั้นร่วมมือกันในการใช้อำนาจอธิปไตย ยิ่งความร่วมมือระหว่างรัฐมีคุณภาพ ยิ่งศักยภาพของอำนาจอธิปไตยของรัฐยิ่งมั่นคงและยั่งยืน

๑.๓. บทสรุปแนวความคิดอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบสัจจนิยม (Realism) และเหตุผลนิยม (Rationalism)

หากเราจะใช้แนวคิดภาวะวิสัยในการจัดการกิจการของมนุษย์บนโลกนี้ซึ่งมีกระแสโลกกาภิวัฒน์อย่างเป็นปกติ การเป็นชาตินิยมแบบสุดโต่งย่อมจะอยู่รอดมิได้ การตีความอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบชาตินิยมอย่างไร้เหตุผลจึงเป็นเรื่องตลก หรือการตีความอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบระหว่างประเทศนิยมอย่างไร้เหตุผลก็เป็นเรื่องที่เพ้อฝันมากไป การจัดการอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบสัจจนิยม กล่าวคือ ตามความต้องการของข้อเท็จจริงของสถานการณ์ของสังคมนั้นเผชิญ และตามความถูกต้องของเหตุผลในแต่ละช่วงเวลาและสถานที่ ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดได้จริงและพัฒนาไปได้สำหรับมนุษย์และรัฐ เมื่อย้อนกลับมาถามถึง “คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” เราจึงไม่อาจตอบว่า ไม่ยอมรับในทุกกรณีหรือยอมรับในทุกกรณี

หากให้นักกฎหมายระหว่างประเทศตอบคำถามว่า “รัฐยอมรับหรือรับรองหรือบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศหรือไม่ ? แค่ไหนกัน ?” คำตอบในทางเทคนิคกฎหมาย ก็คือ

ในประการแรก หากนิติสัมพันธ์มีลักษณะภายใน กล่าวคือ มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเดียว คำพิพากษาของศาลภายในของรัฐหรือศาลระหว่างประเทศก็ตาม ย่อมจะต้องใช้กฎหมายของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเหนือนิติสัมพันธ์ในการตัดสินคดี และคำสั่งหรือคำพิพากษาที่เป็นผลผลิตย่อมมีผลในทางระหว่างประเทศ ไม่มีรัฐใดปฏิเสธที่จะรับรอง ไม่มีรัฐใดปฏิเสธที่จะบังคับตาม นี่คือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปซึ่งทุกรัฐย่อมรับ กล่าวคือ หลักอำนาจอธิปไตยของรัฐที่ไม่ถูกท้าทายหรือทับซ้อนโดยรัฐอื่นใด ศาลฎีกาไทยใน ฎ.๕๘๕/๒๔๖๑ ก็เคยยืนยันความชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศของคำพิพากษาของศาลเวียดนามที่ใช้กฎหมายเวียดนามตัดสินคดีระหว่างโจทก์และจำเลยสัญชาติเวียดนามและมีภูมิลำเนาเวียดนาม โดยมีหนี้เกิดและมีผลบนดินแดนของรัฐเวียดนาม

--------------------------------------------------------------

๒. รูปแบบของความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตย

--------------------------------------------------------------

๒.๑. พัฒนาการของแนวคิดเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐร่วมกัน

เราคงปฏิเสธมิได้ว่า แนวคิดระหว่างประเทศนิยมที่เข้ามาตีความทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐเสียใหม่เกิดขึ้นในโลกตะวันตก โดยเฉพาะระหว่างรัฐที่เคยขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในการแย่งชิงดินแดนระหว่างกัน กล่าวคือ ระหว่างประเทศเยอรมันและประเทศฝรั่งเศส การตีความอำนาจอธิปไตยของรัฐแบบระหว่างประเทศนิยมนำมาซึ่งบรรยายกาศของความเชื่อว่า การกระทำของรัฐอธิปไตยหนึ่งย่อมอาจได้รับการยอมรับบนดินแดนของอีกรัฐหนึ่งและต่อประชากรของอีกรัฐหนึ่ง หากว่าการกระทำของรัฐนั้นชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ด้วยแนวคิดระหว่างประเทศนิยมในทฤษฎีอำนาจอธิปไตยของรัฐอันนี้เองที่ทำให้การกระทำของรัฐอธิปไตยของรัฐหนึ่งมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ในอีกรัฐหนึ่ง ยิ่งรัฐยอมรับการกระทำของรัฐอื่น ยิ่งความสัมพันธ์ระหว่างกันยิ่งแนบแน่น ยิ่งมั่นคง และยิ่งเจริญงอกงาม วิวัฒนาการของการตีความอำนาจอธิปไตยของรัฐใหม่ระหว่างรัฐที่เคยขัดแย้งกันย่อมเริ่มต้นจากความร่วมมือแบบไม่มีองค์กรรองรับ มาสู่ความร่วมมือที่มีองค์กรรองรับ

องค์กรที่นานารัฐสร้างขึ้นเพื่อรองรับความร่วมมือนี้ถูกเรียกด้วยหลายชื่อ ตัวอย่างขององค์กรเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐที่ทำหน้าที่รักษาสันติภาพที่เราไม่อาจปฏิเสธได้นับแต่ ค.ศ.๑๙๔๕/พ.ศ.๒๔๘๘ จนถึงวันนี้ ก็คือ “องค์การสหประชาชาติ (United Nations Organization หรือ UNC) หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือ “สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) หรืออีกตัวอย่าง ก็คือ “สมาคมแห่งชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ซึ่งเพิ่งมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนในการทำงานร่วมกันที่มีชื่อว่า “กฎบัตรอาเซียน (ASEAN Charter) เมื่อการประชุมสุดยอดอาเซียน (the 13th ASEAN Summit) ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐

บทเรียนจากโลกตะวันตกบอกเราว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยมีอยู่ ๓ รูปแบบแนวนอน และ ๓ รูปแบบแนวตั้ง

๒.๒. การจำแนกรูปแบบของความร่วมมือ “แนวนอน” ระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ

ประสบการณ์ของประชาคมระหว่างรัฐในความร่วมมือแนวนอนในการใช้อำนาจอธิปไตยมีอยู่ ๓ รูปแบบ กล่าวคือ (๑) อำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ (๒) อำนาจอธิปไตยทางบริหารหรือปกครอง และ (๓) อำนาจอธิปไตยทางตุลาการ

เราสังเกตเห็นในประการแรกว่า นานารัฐมีความร่วมมือในการออกกฎหมายร่วมกันทั้งในทางแพ่งหรือาญาร่วมกัน อาทิ อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยสัญญาซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ ค.ศ.๑๙๘๐/พ.ศ.๒๕๒๓ ซึ่งเปิดให้รัฐทุกรัฐบนโลกเข้าเป็นภาคี หรืออนุสัญญาแห่งกรุงเฮกว่าด้วยความมีผลในทางระหว่างประเทศของคำพิพากษาทางอาญา (European Convention on the International Validity of Criminal Judgments) โดยที่ประชุมประเทศสมาชิกของคณะมนตรียุโรป (Council of Europe) ลงนามอนุสัญญานี้ ณ กรุงเฮก เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ค.ศ.๑๙๗๐/พ.ศ.๒๕๑๓ จะเห็นว่า แม้จะไม่มีรัฐสภาโลก ก็มีความเป็นไปได้ที่จะมีกฎหมายระหว่างประเทศมาทำหน้าที่ “กฎหมายโลก” ในหลายสถานการณ์

จะเห็นว่า เมื่อมีการนิติบัญญัติระหว่างประเทศ การบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศทั้งโดยฝ่ายบริหารระหว่างประเทศ หรือฝ่ายตุลาการระหว่างประเทศ

แม้รัฐบาลโลกในความหมายที่แท้จริงจะยังเกิดขึ้นไม่ได้ แต่ก็คงจะปฏิเสธบทบาทของสหประชาชาติหรือสหภาพยุโรปหรือสมาคมแห่งชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้หรือองค์การการค้าโลกที่พยายามจะ “ทำหน้าที่” ของรัฐบาลโลก กล่าวคือ ความพยายามระหว่างรัฐที่จะใช้อำนาจอธิปไตยทางบริหารร่วมกัน

เหลือให้เราได้จินตนาการถึง “การตุลาการระหว่างประเทศ” ซึ่งอาจจะขึ้นเกิดทั้งในระดับระหว่างประเทศหรือระดับภายในประเทศ

ในยุคปัจจุบันนี้ เรามีประสบการณ์ของความพยายามระหว่างรัฐที่จะมี “ศาลหรืออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ” เพื่อทำหน้าที่ของ “ศาลโลก” หรือ “อนุญาโตตุลาการโลก” อาทิ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ก่อตั้งโดยรัฐสมาชิกของสหประชาชาติใน ค.ศ.๑๙๔๕/ค.ศ.๒๔๘๘ หรือ

๒.๓. การจำแนกรูปแบบของความร่วมมือ “แนวตั้ง” ระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ

ส่วนประสบการณ์ของประชาคมระหว่างรัฐในความร่วมมือแนวตั้งในการใช้อำนาจอธิปไตยมีอยู่ ๓ รูปแบบ กล่าวคือ (๑) การรับรอง หรือ recognition โดยรัฐอธิปไตยหนึ่งต่อการกระทำของรัฐอธิปไตยอีกรัฐหนึ่ง (๒) การคุ้มครองหรือบังคับตาม หรือ protection or execution โดยรัฐอธิปไตยหนึ่งต่อการกระทำของรัฐอธิปไตยอีกรัฐหนึ่ง และ (๓) การส่งเสริม หรือ promotion โดยรัฐอธิปไตยหนึ่งต่อการกระทำของรัฐอธิปไตยอีกรัฐหนึ่ง

--------------------------------------------------------------

๓. ความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ

--------------------------------------------------------------

ประชาชนในประชาคมโลกมีแนวโน้มที่จะเชื่อในหลักการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) ดังนั้น เราจึงพบว่า นานารัฐล้วนแต่มีกฎหมายภายในของตนเพื่อกำหนด “แนวคิดและวิธีการ” ในการแสดงอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและประชากร

ความซับซ้อนของโลกาภิวัฒน์ทำให้บนดินแดนอาจประชากรจากรัฐต่างประเทศอื่น หรือประชากรของรัฐหนึ่งอาจไปปรากฏตัวบนดินแดนของรัฐต่างประเทศก็ได้ ความเป็นระหว่างประเทศของมนุษย์หรือนิติสัมพันธ์ของมนุษย์หรือทรัพย์สินของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างปกติและบ่อยครั้งจนเป็นเรื่องธรรมดา

การปกครองโดยกฎหมายของรัฐหนึ่งบนดินแดนของตนจึงไม่อาจก่อให้เกิดสุขภาวะแก่ดินแดนและประชากรของรัฐได้ สังคมของมนุษย์ไม่อาจจะเป็นสังคมปิดได้อีกต่อไป ยิ่งมีความเป็นระหว่างประเทศ ยิ่งเปิดรับคคนต่างด้าว การพัฒนาประเทศย่อมไปได้เร็วมากขึ้น ความเป็นระหว่างประเทศที่ก่อความเจริญให้แก่สังคมของมนุษย์มีอยู่ ๔ ประกาศ กล่าวคือ (๑) คน (๒) สินค้า (๓) บริการ และ (๔) เงินและทุน เมื่อความเคลื่อนไหวเปิดประเทศหรือตลาดในประเทศเป็นไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง กฎหมายที่จะใช้รับรองหรือคุ้มครองหรือส่งเสริมความเป็นระหว่างประเทศของประเทศหรือเรียกในภาษาธุรกิจว่า “การเปิดตลาดเสรี” ย่อมจะต้องมีลักษณะเป็น “ระหว่างประเทศ” มากขึ้น

เมื่อกฎหมายมีลักษณะระหว่างประเทศมากขึ้น กระบวนการยุติธรรมก็ย่อมจะต้องมีลักษณะระหว่างประเทศมากขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องสร้าง “กฎหมายวิธีพิจารณาความระหว่างประเทศ” ซึ่งโดยทั่วไป กฎหมายดังกล่าวจะกำหนดประเด็นที่สำคัญ ๕ เรื่อง กล่าวคือ (๑) เขตอำนาจของศาล (๒) การส่งหมายและเอกสารเมื่อมีการรับคดีขึ้นสู่ศาล (๓) การสืบพยานในศาล (๔) กฎหมายที่มีผลในการตัดสินของศาล และ (๕) การบังคับคดี ขั้นตอนทั้ง ๕ ประการนี้ในสาระสำคัญก็จะไม่แตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นคดีตามกฎหมายเอกชน หรือคดีตามกฎหมายมหาชน ซึ่งอาจจะเป็นคดีอาญา หรือคดีปกครอง หรือคดีการเมือง

ในอดีตซึ่งแนวคิดชาตินิยมยังครอบงำกระแสคิดของรัฐ กฎหมายจัดตั้งศาลหรือกฎหมายวิธีพิจารณาความในศาลจะไม่ค่อยมีรายละเอียดเกี่ยวกับมูลคดีที่มีองค์ประกอบต่างด้าวหรือการทำงานของกระบวนการยุติธรรมในรัฐต่างประเทศ แต่ในยุคปัจจุบันซึ่งลักษณะข้ามชาติ (Transnational) เป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธมิได้ กฎหมายของรัฐหรือระหว่างรัฐย่อมจะต้องมีบทบัญญัติที่เอื้อต่อกลไกที่มีประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมสำหรับการข้ามชาติของมนุษย์

ย้อนมาพิจารณาสถานการณ์ด้านความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ กฎหมายไทยเองก็มีพัฒนาการที่น่าพึงพอใจเพื่อรองรับกระแสระหว่างประเทศของสังคมข้ามชาตินี้ อาทิ

มาตรา ๔ ตรี แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง บัญญัติว่า

“คำฟ้องอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔ ทวิ ซึ่งจำเลยมิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรและมูลคดีมิได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักร ถ้าโจทก์เป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักร ให้เสนอต่อศาลแพ่งหรือต่อศาลที่โจทก์มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล

คำฟ้องตามวรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยมีทรัพย์สินที่อาจถูกบังคับคดีได้อยู่ในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะเป็นการชั่วคราวหรือถาวร โจทก์จะเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในเขตศาลก็ได้”

หรือมาตรา ๑๔๑ วรรค ๔ แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า

“ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศ ให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา”

หรือมาตรา ๓๔ แห่ง ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งบัญญัติว่า

“ถ้าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งเรื่องหรือแต่บางส่วน โดยทางอาศัยหรือโดยร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ในเมืองต่างประเทศ เมื่อไม่มีข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้สำหรับเรื่องนั้นแล้ว ให้ศาลปฏิบัติตามหลักทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศ”

หรือ มาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ บัญญัติว่า

“เมื่อใดไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยามที่จะยกมาปรับกับกรณีขัดกันแห่งกฎหมายได้ ให้ใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล”

หรือมาตรา ๖๕ แห่ง พระราชบัญญัติการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ. ๒๕๔๘

“คู่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบอาจตกลงกันให้ศาลในประเทศใดประเทศหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีแพ่งที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิดตามกฎหมายของประเทศนั้น เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี โดยระบุไว้ในใบตราส่งต่อเนื่องหรือสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบก็ได้

ในกรณีที่มิได้มีการระบุศาลในการฟ้องคดีแพ่งที่มีมูลกรณีจากสัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบหรือละเมิด โจทก์มีสิทธิเลือกฟ้องคดีในศาลใดศาลหนึ่งที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นได้ ดังต่อไปนี้

(๑) ศาลในประเทศที่เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือภูมิลำเนาของจำเลย

(๒) ศาลในประเทศที่สัญญาขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบได้กระทำขึ้น ซึ่งต้องปรากฏว่าจำเลยมีสำนักงาน สำนักงานสาขาหรือตัวแทนอยู่ในประเทศนั้นด้วย

(๓) ศาลในประเทศที่เป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องรับมอบของหรือส่งมอบของ

อย่างไรก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงกันเป็นหนังสือให้ฟ้องคดีในศาลใดๆ ที่มีเขตอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวตามกฎหมายของประเทศนั้นก็ได้ ถ้าการตกลงนั้นได้กระทำขึ้นภายหลังจากเกิดสิทธิเรียกร้องแล้ว”

นอกจากนั้น ประเทศไทยยังมีส่วนร่วมในกฎหมายระหว่างประเทศในหลายลักษณะที่สร้างระบบความร่วมมือระหว่างประเทศในการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐ อาทิ การยอมรับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ซึ่งเรามักเรียกสั้นๆ ว่า UDHR อันนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมในการทำกติการะหว่างประเทศเพื่อรองรับแนวคิดสิทธิมนุษยชนในปฏิญญาดังกล่าวในเวลาต่อมา ๒ ฉบับ กล่าวคือ (๑) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง (พลเมือง) และทางการเมือง (International Covenant on Civil and Commercial Rights) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งเรามักเรียกสั้นๆ ว่า ICCPR และ (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งเรามักเรียกสั้นๆ ว่า ICESCR ซึ่งเอกสารทั้ง ๓ ฉบับย่อมทำหน้าที่ “แม่บทของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” ที่กำหนด “กรอบแนวคิดและวิธีการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐต่อมนุษย์” อย่างมีประสิทธิภาพ

หลายองค์การระหว่างประเทศถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อตอบคำถามนี้ องค์การที่สำคัญในระดับโลก ก็คือ (๑) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการทำกฎหมายเอกชนให้เป็นเอกรูป (International Institute for the Unification of private law) ซึ่งมักถูกเรียกสั้นๆ ว่า UNIDROIT สถาบันนี้มีหน้าที่ศึกษาความจำเป็นที่จะมีกฎหมายเอกรูปสาระบัญญัติ สำหรับนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ ตลอดจนผลักดันการยกร่างสนธิสัญญาหรือกฎหมายแม่แบบ (Model Law) ในเรื่องที่พบว่า จำเป็น (๒) ที่ประชุมแห่งกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law) รับหน้าที่ศึกษาความจำเป็นที่จะมีกฎหมายขัดกันสำหรับชีวิตของเอกชนในทางระหว่างประเทศ (๓) คณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ (United Nations Commission on International Trade Law) ซึ่งเรียกสั้นๆ ว่า UNCITRAL และ (๔) คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission) ซึ่งมักถูกเรียกสั้นว่า ILC ขอให้ตรหนักว่า ประเทศไทยยังไม่มีส่วนร่วมใน ๒ องค์การแรก แต่มีส่วนร่วมใน ๒ องค์กรหลังเพราะประเทศไทยเป็นสมาชิกสหประชาชาติ

ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ความพยายามในการสร้างกรอบกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อการใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐร่วมกันมักเกิดในพื้นที่ของกฎหมายเอกชนและกฎหมายปกครอง มากกว่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายอาญา

แต่ก็ยังมีคำถามมายังประเทศไทยอีกว่า ยังมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องมีทั้ง “กฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายไทย” เพื่อประสิทธิภาพที่จะใช้อำนาจอธิปไตยในโลกาภิวัฒน์อีกหรือไม่ ?

--------------------------------------------------------------

๔. ความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยทางบริหารและตุลาการเพื่อบังคับใช้กฎหมาย

--------------------------------------------------------------

โดยหลักการทางนิติศาสตร์ และโดยเฉพาะในรัฐที่มีการปกครองโดยกฎหมาย (The Rule of Law) เมื่อมีกฎหมายผูกพันรัฐในเรื่องใด ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเป็นกฎหมายภายในหรือกฎหมายระหว่างประเทศ องค์กรของรัฐทางบริหารหรือตุลาการย่อมมีหน้าที่ที่จะบังคับการตามกฎหมายนั้นอย่างเคร่งครัด อีกทั้งด้วยแนวคิดอำนาจอธิปไตยของรัฐที่ลงตัวแล้วสำหรับยุคโลกาภิวัฒน์ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความร่วมมือระหว่างรัฐในการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งทางบริหารและตุลาการ

ตัวอย่างที่ชัดเจนของความร่วมมือในการใช้อำนาจอธิปไตยทางบริหาร ก็คือ INTERPOL ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐในงานตำรวจ ดังนั้น ความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจึงเกิดขึ้นผ่านเครือข่ายระหว่างตำรวจของรัฐภายใต้ INTERPOL

นอกจากนั้น โดย พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือทางอาญาระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่เป็นผู้ประสานงานกลางในการพิจารณาขอและให้ความร่วมมือทางอาญาระหว่างไทยกับประเทศต่างๆ

ประเทศไทยที่มีความตกลงหรือมีสนธิสัญญาความร่วมมือทางอาญากับไทย ๗ ประเทศ กล่าวคือ (๑) สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๖ (๒) แคนาดา ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗ (๓) สหราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๐ (๔) ฝรั่งเศส ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๓ (๕) นอร์เวย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๓ (๖) สาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๘ และ (๗) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๘

คำถามที่ ๒ จึงย้อนกลับมายังประเทศไทยว่า ประเทศนี้มีความร่วมมือระหว่างรัฐอันจำเป็นเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยทางบริหารและตุลาการหรือไม่ ?

--------------------------------------------------------------

๕. ความเป็นไปได้ที่จะปฏิเสธการยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

--------------------------------------------------------------

หากจะถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ศาลของรัฐหนึ่งจะปฏิเสธการรับรองและบังคับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะแนวคิดชาตินิยมอาจปรากฏตัวเพื่อตีความการใช้อำนาจอธิปไตยทางตุลาการได้เสมอ หากผู้พิพากษามิได้คำนึงถึงหลักความยุติธรรมระหว่างประเทศและหลักต่างตอบแทน แต่อย่างไรก็ตาม การศึกษานิติศาสตร์เปรียบเทียบทำให้ทราบว่า ศาลภายในของรัฐมักมีแนวคิดแบบระหว่างประเทศนิยมมากกว่า แต่ก็ไม่มีความเป็นสุดโต่งในการยอมรับการกระทำทางตุลาการของรัฐต่างประเทศ

เราพบในทางปฏิบัติของนานารัฐว่า คำว่า “การยอมรับคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” ประกอบด้วยขั้นตอน ๒ ขั้นตอน กล่าวคือ (๑) การรับรองคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ และ (๒) การบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ

“การรับรองคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” อันเป็นขั้นตอนแรกนั้น เป็นขั้นตอนภายใต้ตรรกวิทยาของกฎหมายระหว่างประเทศโดยแท้ หรือบางทีเรียกว่า “กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง (Public International Law)” อันหมายความว่า รัฐย่อมรับรองการกระทำของรัฐทางตุลาการ หากฟังข้อเท็จจริงได้ว่า รัฐเจ้าของการกระทำนั้นมีข้อเท็จจริงครบองค์ประกอบแห่งความรัฐ (Statehood) ซึ่งเป็นบุคคลหรือผู้ทรงสิทธิตามกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐเจ้าของการกระทำย่อมต้องได้รับรองความเป็นรัฐของรัฐโดยข้อกฎหมายในประเทศที่จะมีการบังคับตามดัง จะเห็นว่า “รัฐโดยข้อเท็จจริง (de facto State)” อาจไม่มีสถานะเป็น “รัฐโดยข้อกฎหมาย (de jure State)” ตัวอย่างที่ชัดเจน ก็คือ นานาศาลของรัฐ รวมถึงศาลไทยไม่อาจรับรองคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลไต้หวัน ทั้งที่ไต้หวันจะมีลักษณะเป็นรัฐโดยข้อเท็จจริงโดยไม่มีใครอาจโต้แย้ง แต่ไต้หวันไม่อาจมีสถานะเป็นรัฐโดยข้อกฎหมายในสายตาของศาลของรัฐที่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่เราเรียกสั้นๆ ว่า “จีนแดง” หรือ “จีนแผ่นดินใหญ่”

ส่วน“การบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ” อันเป็นขั้นตอนที่สองนั้น เป็นขั้นตอนที่ต้องเกิดขึ้นต่อเนื่องจากขั้นตอนการรับรอง หากไม่มีการรับรอง ก็จะไม่มีการบังคับตาม หากจะมีการบังคับ ก็หมายความว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นย่อมได้รับการรับรองแล้ว แต่ที่สำคัญก็คือ การบังคับตามนี้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐผู้บังคับตาม อาทิ หากประเทศไทยจะต้องบังคับตามคำพิพากษาของศาลของรัฐต่างประเทศ แนวคิดและวิธีการบังคับตามคำพิพากษาของศาลไทยย่อมเป็นไปตามกฎหมายวิธีพิจารณาความไทย มิใช่กฎหมายของรัฐต่างประเทศผู้ออกคำพิพากษา ซึ่งแนวคิดและวิธีการดังกล่าวเป็นที่ยอมรับกันในสถานะของ “กฎหมายวิธีพิจารณาความระหว่างประเทศ” ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล (Private International Law)

การรับรองและบังคับตามคำสั่งและคำพิพากษาของศาลต่างประเทศย่อมจะเป็นไปอย่างรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น หากมีความตกลงระหว่างประเทศ

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ก็คือ การยอมรับแลกเปลี่ยนตัวนักโทษกับรัฐต่างประเทศ ซึ่งก็หมายความว่า รัฐไทยยอมรับที่จะจองจำผู้กระทำความผิดอาญาตามคำพิพากษาของศาลอาญาต่างประเทศ ดังปรากฏแนวคิดและวิธีการใน พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การปฏิบัติเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศในการดำเนินการตามคำพิพากษาคดีอาญา(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๐ กฎหมายนี้กำหนดมาตรการในการโอนตัวผู้กระทำความผิดอาญาให้ได้รับโทษต่อในประเทศที่ผู้นั้นมีสัญชาติได้ กฎหมายนี้จึงมีกฎเกณฑ์ทั้งในกรณีของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในต่างประเทศเนื่องจากกระทำความผิดในต่างประเทศ และในกรณีของบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งรับโทษอยู่ในประเทศไทยเนื่องจากกระทำความผิดในประเทศไทย

นอกจากนั้น ยังมีสนธิสัญญาหลายฉบับที่ผูกพันประเทศไทยกับนานาประเทศในเรื่องของการแลกเปลี่ยนนักโทษ กล่าวคือ (๑) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.๒๕๒๕ (๒) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส พ.ศ. ๒๕๒๖ (๓) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศแคนาดา พ.ศ.๒๕๒๖ (๔) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศสเปน พ.ศ.๒๕๒๖ (๕) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศอิตาลี พ.ศ.๒๕๒๗ (๖) สนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศโปรตุเกส พ.ศ.๒๕๒๘ และ (๗) ความตกลงระหว่างประเทศไทยกับสหราชอาณาจักรแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิดและความร่วมมือในการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาในคดีอาญา พ.ศ.๒๕๓๓

ศาลฎีกาไทยใน ฎ.๒๒๐๓/๒๕๓๙ ก็เคยนำเอาสนธิสัญญาการโอนตัวนักโทษระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ.๒๕๒๕ มารับรองสิทธิของจำเลยสัญชาติอเมริกันในศาลอาญาไทยที่จะร้องขอโอนตัวไปรับโทษอาญาตามคำพิพากษาขอศาลอาญาไทยในประเทศสหรัฐอเมริกา สถานการณ์นี้ ก็คือ การที่ศาลฎีกาไทยยอมรับให้ประเทศสหรัฐอเมริกาบังคับตามคำพิพากษาอาญาแทนศาลไทย

ส่วนการบังคับตามคำพิพากษาของศาลแพ่งและพาณิชย์ต่างประเทศโดยศาลไทยนั้น แม้ไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรไทยทั่วไปกำหนดแนวคิดและวิธีการปฏิบัติ แต่ก็มีแนวคิดที่ปรากฏใน ฎ.๕๘๕/๒๔๖๑ ซึ่งศาลไทยได้ประกาศยอมรับหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่จะรับรองและบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ หากคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งอาจสรุปได้เป็น ๔ เงื่อนไข กล่าวคือ (๑) ศาลต่างประเทศนั้นต้องมีเขตอำนาจที่จะรับคดีตามกฎหมายวิธีพิจารณาความของรัฐเจ้าของศาล (๒) กระบวนการพิจารณาคดี อันได้แก่ การส่งหมายและการสืบพยานย่อมจะต้องเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความของรัฐเจ้าของศาล (๓) ศาลจะต้องเลือกกฎหมายเพื่อตัดสินคดีโดยชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย และ (๔) คำพิพากษาที่จะได้รับการบังคับตามนั้นย่อมจะต้องถึงที่สุด กล่าวคือ ไม่อาจรื้อฟื้นคดีได้ จะเห็นว่า แนวคิดการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศโดยศาลไทยจึงเป็นแนวคิดในสายระหว่างประเทศนิยมแบบเหตุผลนิยม

ในที่สุด จึงอาจสรุปได้ว่า การตอบว่า คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศไม่มีผลผูกพันประเทศ ย่อมไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงของวิชาการนิติศาสตร์ไทย เพราะนิติศาสตร์ไทยไม่เคยมีแนวคิดแบบชาตินิยมสุดโต่งในการตีความอำนาจอธิปไตยทางตุลาการ แต่อย่างไรก็ตาม การบังคับตามคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศในประเทศไทยย่อมมีแนวคิดและวิธีการที่กำหนดโดยกฎหมายไทยและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะต้องพิจารณาตามสถานการณ์แห่งปัญหาที่พิจารณาเป็นครั้งเป็นคราวไป แนวคิดระหว่างประเทศนิยมและเหตุผลนิยมไม่เคยถูกละเลยการพิจารณาในวิชานิติศาสตร์ไทย ความเป็นไปได้ที่จะปฏิเสธคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลต่างประเทศนั้นย่อมเป็นไปได้หากคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นไม่เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ กล่าวคือ ไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความระหว่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีลักษณะเป็น “กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ” หรือ “หลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศ” หรือ “สนธิสัญญาระหว่างประเทศ” ก็ได้

--------------------------------------------------------------

๖. ความเป็นไปได้ที่จะให้ความคุ้มครองมนุษย์ที่ถูกปฏิเสธสิทธิในความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐต่างประเทศ

--------------------------------------------------------------

อีกประเด็นซึ่งผู้เขียนอยากจะหยิบยกขึ้นมาในวงสัมมนาที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจัดขึ้น ก็คือ มีความเป็นได้ที่จะให้ความคุ้มครองมนุษย์ที่ถูกปฏิเสธสิทธิในความยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐต่างประเทศ ซึ่งตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศปัจจุบัน รัฐหนึ่งอาจให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่มนุษย์ หากปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวถูกปฏิเสธความยุติธรรมบนดินแดนของรัฐต่างประเทศ

โดยหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ นักนิติศาสตร์เรียกความคุ้มครองระหว่างประเทศลักษณะนี้ว่า “ความคุ้มครองทางทูต (Diplomatic Protection)” ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีความตกลงระหว่างประเทศแต่อย่างใด เป็นทางปฏิบัติที่นานาประเทศยอมรับกันมายาวนาน แต่หลักความคุ้มครองทางทูตนี้จำกัดให้เพียงคนสัญชาติของรัฐ และอำนาจในการแทรกแซงของรัฐเพื่อคุ้มครองคนสัญชาติของตนย่อมจำกัดในกรณีที่รัฐต่างประเทศนั้นมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศและมีการใช้กระบวนการยุติธรรมของรัฐต่างประเทศนั้นจนครบถ้วนแล้ว (Exhaustion of Local Remedy) บุคคลก็ยังเข้าไม่ถึงความยุติธรรม

ตัวอย่างของการแทรกแซงของรัฐเพื่อคุ้มครองคนสัญชาติของตนที่ชัดเจนที่เพิ่งเกิดขึ้น ก็คือ กรณีที่รัฐบาลฟิลิปปินส์เพิ่งร้องขอประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนให้ระงับโทษประหารชีวิตแก่จำเลยในคดีอาญาในศาลจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งศาลนี้ตัดสินให้ลงโทษประหารชีวิตเพราะฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติธรรมว่า ค้ายาเสพติดบนดินแดนของสาธารณรัฐประชาชนจีน ขอให้สังเกตว่า ฟิลิปปินส์มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลจีนแผ่นดินใหญ่ ฟิลิปปินส์ยอมรับความมีผลของการกระทำทางตุลาการของรัฐจีนต่อคนสัญชาติฟิลิปปินส์ แต่ก็ขอให้สาธารณรัฐประชาชนจีนตระหนักในความไม่ชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนของโทษประหารชีวิต

--------------------------------------------------------------

๗. ข้อเสนอแนะต่อการจัดการปัญหาสิทธิมนุษยชนของจำเลยสัญชาติไทยในกระบวนการยุติธรรมในศาลต่างประเทศ

--------------------------------------------------------------

มีหลายแนวคิดซึ่งผู้เขียนใคร่ขอเสนอวงสัมมนา

ในประการแรก การทบทวนแนวคิดและวิธีการที่ใช้ในการจัดการปัญหาทั้งหมดย่อมจำเป็น สำหรับผู้เขียน การพุ่งเป้าไปที่ศาลกัมพูชาและการโต้แย้งความมีผลของคำพิพากษาของศาลกัมพูชาแต่เพียงอย่างเดียวน่าจะมิใช่แนวคิดที่ถูกต้อง ในสถานการณ์ที่มีการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่เดียวกันจนเกิดการทับซ้อนของอำนาจอธิปไตยนั้น ศาลของรัฐใดก็ย่อมจะต้องมีท่าทีตามผลประโยชน์ของชาติตน สาเหตุของปัญหาอยู่นอกศาล มิใช่ในศาล

ในประการที่สอง การยอมรับบทบาทของรัฐศาสตร์ย่อมจะเหมาะสมมากกว่าในสถานการณ์นี้ การยืนยันหลักนิติศาสตร์ในเรื่องเขตแดนอาจนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างรัฐ และความเป็นไปไม่ได้เลยที่จะช่วยเหลือคุณวีระ สมความคิด และคุณราตรี คนสัญชาติไทย ๒ คนที่ยังติดคุกอยู่

ในประการที่สาม เกิดคำถามในสมองของผู้เขียน ทุกองค์กรของรัฐไทยได้ใช้ความพยายามที่จะคุ้มครองคนสัญชาติไทย ซึ่งยังถูกจำคุกในทัณฑ์สถานของรัฐกัมพูชาอย่างเต็มที่แล้วหรือยัง ? การคุ้มครองอาจมิใช่การผลักดันการปล่อยตัวโดยพลัน แต่อาจหมายถึงการผลักดันให้คุณวีระและคุณราตรีที่ยังต้องขังในคุกกัมพูชาได้รับการดูแลคุณภาพชีวิตในลักษณะที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำด้านสิทธิมนุษยชน การแทรกแซงของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไทยกับ AICHR อาจจะเหมาะสมในสถานการณ์นี้

ในประการที่สี่ การทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิในความยุติธรรมของมนุษย์ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐนั้น เป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรจะนำมาถอดบทเรียน ในส่วนของประเทศไทยเอง เราอาจไม่มี know – how มากนัก และในส่วนของรัฐต่างประเทศคู่กรณี การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อสิทธิมนุษยชนย่อมจะเป็นไปไม่ได้ หากยังไม่เคยมีการสร้างบรรยากาศดังกล่าวในภาคประชาสังคมระหว่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจจะต้องใช้กรณีศึกษานี้เพื่อเตรียมความพร้อมในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของมนุษย์ที่มีสัญชาติไทยที่ตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัฐ งานเครือข่ายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านน่าจะจำเป็นที่จะต้องนับหนึ่ง ดูเหมือนเราจะมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศที่มีพรมแดนไกลจากเรามากกว่ากับประเทศที่มีพรมแดนประชิดติดเรา

ในประการที่ห้า การแทรกแซงของบุคคลที่สามอาจจะเป็นเงื่อนไขที่ดี หากเป็นบุคคลที่สามที่ทั้งประเทศไทยและประเทศกัมพูชายอมรับ หากเราพิสูจน์ถึงการเข้าไม่ถึงสิทธิมนุษยชนของทั้งคุณวีระและคุณราตรี

ในประการที่หก การจัดการปัญหากรณีความไม่ชัดเจนของแนวเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเป็นปัญหาหนึ่งที่จะต้องจัดการ และการจัดการย่อมจะต้องทำที่สาเหตุของปัญหา ข้อคิดที่ควรจะมี ก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้แนวเขตแดนชัดขึ้นว่า ? การทำแผนที่ใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการทำแผนที่ดูเป็นข้อเสนอหนึ่งที่น่าคิดต่อ ?

ในประการที่เจ็ด มีความจำเป็นที่จะต้องสำรวจและเข้าใจผลกระทบของความขัดแย้งเรื่องเส้นเขตแดนต่อสิทธิของประชาชนทั้งสองประเทศ และแสวงหาแนวคิดในการจัดการผลกระทบ การศึกษาช่องทางตามกฎหมายกัมพูชาที่จะช่วยเหลือคุณวีระและคุณราตรีย่อมเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องศึกษา แต่คนที่ได้รับผลกระทบอื่นล่ะ เป็นใคร ? เสียหายอย่างไร ? ควรจัดการผลกระทบอย่างไร ?

ในประการที่แปด ประเด็นค่าบังคับตามกฎหมายไทยของคำพิพากษาของศาลกัมพูชาต่อสถานะแห่งสิทธิในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคุณพนิตนั้น ก็เป็นปัญหาปรัชญากฎหมายที่ควรแลกเปลี่ยนกันให้ชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อผลประโยชน์ของพัฒนาการของกฎหมายรัฐธรรมนูญไทยนั่นเอง สำหรับผู้เขียน โดยพิจารณาความเห็นของกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕ ปรัชญาของการห้ามผู้ต้องคำพิพากษาของศาลอาญาเป็นผู้แทนทางการเมือง ก็เพราะเราไม่ต้องการคนที่มีความประพฤติชั่วมาทำหน้าที่ในรัฐสภาในสถานะผู้แทนราษฎร เพียงแต่กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕ สื่อความประพฤติชั่วนั้นผ่านอัตราโทษที่บุคคลได้รับ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผล และโดยผ่านความเห็นของศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ปรัชญาของนักนิติศาสตร์ท่านนี้น่าจะอยู่ที่ “การป้องกันการแทรกแซงของอำนาจอธิปไตยของรัฐต่างประเทศในการเมืองของรัฐไทย” ดังนั้น หากพิจารณาที่ผลของความเห็น การร่วมทางระหว่างแนวคิดทั้งสองย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่หากพิจารณาที่เป้าหมายของความเห็น การร่วมทางระหว่างแนวคิดทั้งสองย่อมเป็นไปได้

ในประการสุดท้าย ผู้เขียนขอสนับสนุน “คณะอนุกรรมการปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” ที่จะถอดบทเรียนเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระดับต่างประเทศ มีหลายประเด็นที่ควรคิดต่อ มีหลายประเด็นที่ไม่ควรคิดต่อ การตั้งวงสัมมนาเพื่อระดมสมองย่อมเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อความคิดที่เหมาะสมที่สุด

--------------------------------------------------------------

END Note

บทความนี้เขียนขึ้นในโอกาสที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเชิญผู้เขียนเป็นวิทยากรในโครงการสัมมนาเรื่องการยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ ในวันศุกร์ที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๕๔ ระหว่างเวลา ๑๓.๐๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๗๐๙ ชั้น ๗ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อาคารบี (ประตูทิศใต้) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ จึงยังมิใช่บทความทางวิชาการที่มุ่งนำเสนอผลงานทางวิชาการอย่างเต็มรูป ผู้เขียนยังไม่มีเวลาที่จะใส่เอกสารอ้างอิงทางวิชาการตามสมควร บทความนี้ทำหน้าที่เพียงเป็นสื่อตัวอักษรที่แสดงความเข้าใจของผู้เขียนต่อประเด็น “การยอมรับคำพิพากษาศาลต่างประเทศ” และนอกจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังจำกัดขอบเขตที่จะหารือในประเด็นที่มีคนสัญชาติไทยตกเป็นจำเลยในคดีอาญาในศาลกัมพูชาในช่วงปลาย พ.ศ.๒๕๕๓ จนถึง ณ เวลาที่เขียนบทความ เพราะเข้าไปในพื้นที่ที่มีการอ้างอำนาจอธิปไตยทับซ้อนกันระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา บทความนี้จึงทำหน้าที่สื่อสารถึง “ความคิดเห็นส่วนตัว” ของผู้เขียนในการจัดการปัญหาสิทธิมนุษญชนของจำเลยซึ่งเป็นราษฎรไทยในกระบวนการยุติธรรมโดยศาลต่างประเทศ

http://www.unidroit.org

http://www.hcch.net/index_en.php

http://www.uncitral.org

http://www.un.org/law/ilc

http://www.interpol.int

http://www.mfa.go.th/web/202.php

ใน:ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๓๒ ฉบับพิเศษ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๗ หน้า ๑

ใน:ราชกิจจานุเบกษา ฉบับพิเศษ เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๒๐ ฉบับพิเศษ ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๐ หน้า ๑

มาลินี รุ่งอรุณศิริ, การโอนตัวนักโทษ, วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, คณะนิติศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๓๔; หน้า ๒๒๖; พงศธร บุญอารีย์, กฎหมายระหว่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญา, กทม., วิญญูชน, ๒๕๔๐, หน้า ๒๔๖

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยกรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ ๕ ได้เคยตอบข้อหารือของกระทรวงมหาดไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๕ เกี่ยวกับบุคคลที่ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๒๑ มาตรา ๙๖ (๕) ที่บัญญัติว่า “เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้จำคุกตั้งแต่สองปีขึ้นไป......” ไว้ว่า ให้หมายความรวมถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของศาลต่างประเทศด้วย

ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น ได้มีบันทึกความเห็นไว้ว่า “คำพิพากษาของศาล” หรือ “คำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๖ (๕) นั้น หมายถึงเฉพาะ “คำพิพากษาของศาลและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย” ของศาลไทยและองค์กรของประเทศไทยเท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย

หมายเลขบันทึก: 606381เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2016 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2016 12:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท