สร้างแรงจูงใจให้ไม่กลัวการเข้าสังคมกับการร้องเพลง...หมอกจางๆและควัน


ขอบคุณกรณีศึกษา และความใจดีของ อ.ป๊อบ ที่ได้สละเวลาอันมีค่า เพื่อให้ดิฉันได้เรียนรู้ การสัมภาษณ์เพื่อสร้างแรงจูงใจ Motivational interviewing (MI) เพื่อการทบทวนตนเองและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง กรณีศึกษาชาย วัยรุ่น กลัวการเข้าสังคม น้อง A พบกันเป็นครั้งที่สอง ครั้งนี้น้องยังดูตื่นเต้นอยู่เล็กน้อย ยังจำชื่อดิฉันไม่ได้เช่นเดิม และยิ้มอย่างเขินๆ

ดิฉันทักทายสร้างปฏิสัมพันธ์กับน้อง A ขณะยืนพูดคุย และถามเขาว่ากำลังทำอะไร น้องA พึ่งนั่งสมาธิและกำลังรวบรวมความคิดเพื่อเขียน Mind map จึงถามน้องต่อว่าจะเขียนเกี่ยวกับอะไร น้องคิดอยู่สักครู่และบอกว่าจะเขียนเกี่ยวกับงานอดิเรก เพลงที่ชอบ และประวัติของตนเอง ลองให้น้องเลือกหัวข้อที่อยากเขียนที่สุดมาหนึ่งหัวข้อ น้องเอเลือก งานอดิเรก

จากนั้นถามคำถามให้น้อง A คิดต่อ ว่าจะเขียนงานอดิเรกอะไรบ้าง และจะเขียนกี่หัวข้อย่อย น้อง A ใช้ความคิดสักพัก และบอกจะเขียนหกหัวข้อ และใช้เวลาในการแตกรากย่อยของ Mind map เป็นอีกหกด้านย่อย คือ กีฬา ศิลปะ ไหว้พระสวดมนต์ จัดบ้าน ร้องเพลง และอ่านหนังสือ น้องเขียนรายละเอียดรากย่อยเพิ่มเติมด้วยตัวเขาเอง ดิฉันให้น้อง A เรียงลำดับความชอบในกิจกรรมที่น้องเขียนมาจากหกกิจกรรมนี้ น้องเลือกการร้องเพลงเป็นอันดับแรก และให้น้องให้คุณค่าในกิจกรรมว่ากิจกรรมไหนสำคัญสำหรับเขา น้อง A เลือกการร้องเพลง เช่นกันค่ะ

แต่ กิจกรรมนี้มีเวลาแค่เพียงสามสิบนาที น้อง A มีกีตาร์และเพลงที่ฝึกซ้อมมาเล่นในวันนี้ และต้องออกไปซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนช่วยดิฉันและ อ.เดียร์ นอกสถานที่ด้วยในวันนี้ค่ะ

อ.ป๊อบจึงแนะนำว่า ชวนน้อง A เล่นกีตาร์และร้องเพลงที่เตรียมมาได้เลย

การร้องเพลงหมอกและควันและเล่นกีตาร์รอบแรก

น้อง A ดูประหม่า ตื่นเต้นเล็กน้อย จับกีตาร์เล่น ร้อง หยุดเป็นช่วงๆ จึงได้ Break State ตามคำแนะนำของ อ.ป๊อบ น้อง A มีความรู้สึกหนักส่วนศรีษะ จึงได้ฝึกหายใจ ออกเสียง อา เอ อี โอ อู ท่าทางที่ไม่มั่นใจปรับด้วยการสบตา อ.แต่ละคนจนมั่นใจ สอบถามความมั่นใจในการร้องเพลง (10/10) ความสามารถ (10/10)

การร้องเพลงหมอกและควันและเล่นกีตาร์รอบที่สอง(หลังจากพัก ซ้อมร้องร่วมกับ อ.) ห้านาที

น้อง A ร้องเพลงได้นานขึ้น ทำได้ต่อเนื่องมากขึ้น แต่ยังดูไม่มีชีวิตชีวาและไร้ความรู้สึก การสบตาดีขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 5 ครั้ง อ.ป๊อบ สอบถามความมั่นใจในการร้องเพลง (10/10) ความสามารถ (10/10) ในความเป็นจริงน้องยังร้องได้ไม่ได้ตามความสามารถมากนักนะคะ อ.ป๊อบแนะนำให้เคสพักเบรก และออกไปช่วยพวกเราซื้อของทำกิจกรรมวันพรุ่งนี้ค่ะ พร้อมกับให้เคสสำรวจความรู้สึกของตนเองขณะทำกิจกรรมนี้ด้วย

ดิฉันและ อ.เดียร์ ขับรถพาน้อง A ไปร้านเครื่องเขียน ที่ห่างจากมหาวิทยาลัยไปประมาณสิบกิโลเมตร น้อง A บอกว่าการเจอดิฉัน รอบที่สองในครั้งนี้ตื่นเต้นน้อยลง ยิ่งวันนี้ได้มานอกสถานที่ด้วยกันกับพี่ๆ ยิ่งสนิทมากขึ้น ขณะอยู่ที่ร้านเครื่องเขียน น้อง A ดูประหม่าเล็กน้อย คอยช่วยซื้อของ และสามารถสอบถามคนขายสินค้าได้ ในสถานการณ์ที่มีคนมาซื้อของในร้านและมีพนักงานอยู่จำนวนหนึ่ง ดิฉันสอบถามน้อง A ว่ามาซื้อของวันนี้ รู้สึกอย่างไรบ้าง? น้องบอกตื่นเต้นเกินสิบ

เรากลับมาที่ห้องกิจกรรมบำบัด อีกครั้ง น้อง A พูดคุยกับ อ.ป๊อบ สักพักเพื่อเตรียมตัวร้องเพลงรอบสุดท้าย แสดงให้ อ. สามท่าน และผู้ชมที่มารับบริการทางกิจกรรมบำบัดอีกสามท่านฟัง การร้องเพลงในครั้งสุดท้ายนี้ น้อง A ทำได้ดีกว่าครั้งที่สอง ร้องได้จนจบ สบตา และกอดคุณแม่ในช่วงจบการแสดง

การฝึกทวนสอบปฏิบัติหัวข้อ MI ในวันนี้ทำให้ดิฉันประเมินตนเองได้ว่า ความมั่นใจของตนเองในการใช้เทคนิคนี้ยังอยู่ในระดับ (4/10) ความสามารถ (5/10)

เทคนิค Motivational interviewing ต้องอาศัยการสร้าง Rapport ด้วยความเข้าอกเข้าใจ (empathy) สนใจในสีหน้า ท่าทาง การสบตา การทรงท่าทาง ฯลฯ และนักกิจกรรมบำบัด ต้องไว และใช้เทคนิค mirror and match เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึกในตอนนั้น เช่น ท่าทางการนั่ง การไม่สบตาของเขาในตอนนั้นหมายถึงอะไร ต้องสวมเป็นเหมือนตัวเขาเพื่อรับรู้ความรู้สึกนั้นให้ได้

การใช้คำถามปลายเปิด ให้ตัวเลือก การใช้ Ruler เพื่อให้บอกระดับ เช่น คุณตื่นเต้น จาก 0-10 ตอนนี้ตื่นเต้นเท่าไหร่ การทวนคำพูด การฟังแบบตั้งใจ ผู้บำบัดพูดน้อยกว่าน้อง A (20:80) ใช้ภาษาท่าทาง ฯลฯ

Credit: https://www.pinterest.com/pin/309411436873201308/

หัวใจของ MI คือ เมื่อผู้รับบริการท่านนี้ น้อง A

มีความตั้งใจ (Intention) ที่จะร้องเพลง

มีความสนใจ (Interest) ที่จะร้องเพลง

เกิดมีเป้าหมาย (Purpose) ในการทำกิจกรรมร้องเพลงที่ได้เตรียมมา เป็นเพลงที่ตนเองชอบ มีความสำคัญ

ทำให้เขาเกิดการรับรู้ศักยภาพในตัวเอง (Self-efficacy) บอกความมั่นใจ บอกความสามารถได้ ในกิจกรรมการร้องเพลง

สุดท้ายคือเกิด (Self-value) จากการทำกิจกรรมการร้องเพลง(meaningful activity) เกิดเป้าหมายและคุณค่าในการทำกิจกรรม (purpose and meaning) ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต (occupation)มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มทักษะทางสังคมด้วยตัวเอง และมีบทบาทเป็นนักดนตรีร้องเพลงให้ผู้ชมอย่างพวกเราฟัง


ขอบคุณสำหรับการเรียนรู้ครั้งนี้กับ กรณีศึกษา ดร.ป๊อบ อ.เดียร์ ในวันนี้มากค่ะ

หมายเลขบันทึก: 606337เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2016 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2016 17:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท