จีนลดค่าเงินหยวน กับผลกระทบที่ไทยต้องตั้งรับ


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจธนาคารกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การลดค่าเงินหยวนว่ามีผลกระทบต่อไทยอย่างไร

ในงานวิจัยบอกว่า การอ่อนค่าลงอย่างมีนัยสำคัญของเงินหยวนเป็นประเด็นที่น่าจับตามองในฐานะที่จีนเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 12 ของการส่งออกทั้งหมด และหากพิจารณาโครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีน พบว่า การส่งออกกระจุกตัวอยู่ในสินค้าโภคภัณฑ์กว่าร้อยละ 50 เป็นสินค้าชั้นกลางอีกร้อยละ 10 สินค้าส่งออกหลักที่ไทยส่งไปจีนไม่ว่าจะเป็นยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพารา เม็ดพลาสติก ตลอดจนเคมีภัณฑ์ ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ในขณะที่การส่งออกสินค้าประเภทชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ก็มีแนวโน้มไม่สดใส จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปจีนในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ติดลบร้อยละ 7

ทางด้านภาคการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจีนถือได้ว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากเป็นอันดับที่ 1 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายรายได้การท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย แต่จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวเท่าใดนัก เพราะการตัดสินใจในการเดินทางมาท่องเที่ยวนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยดูจากในช่วงที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวไทยกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเติบโตในอัตราที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยสูงถึง 4.78 ล้านคน เติบโตประมาณร้อยละ 113.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2557 (ที่หดตัวลงร้อยละ 20.6) และสูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยตลอดทั้งปี 2557 ที่มีจำนวน 4.62 ล้านคน

ในขณะที่ EIC (Ecomomic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์เรื่องนี้ว่า ผลกระทบจากการที่เงินหยวนอ่อนค่า ไม่มีผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยมากนัก เพราะประเทศไทยยังมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่ดีอยู่ โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลได้ราว 6% ของ GDP ในปีนี้ อีกทั้งยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงที่ 40% ของ GDP

ทางด้านการส่งออกของไทย EIC มองว่า การส่งออกสินค้าของไทยไปยังจีนอาจติดลบได้อีก เพราะว่าราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าจากประเทศไทยอาจลดลง ถึงอย่างไรก็ตาม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูสีกันอยู่ในช่วงนี้

ทางด้านภาคการท่องเที่ยวของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ดูจากในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน

ส่วนในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนนั้น EIC มองว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก ตามทิศทางค่าเงินหยวน โดยเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวบวกกับการส่งออกที่ยังไม่กระเตื้อง อีกทั้งภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้ก็มีผลเช่นกัน

อ้างอิง : http://money.kapook.com/view126727.html


คำสำคัญ (Tags): #เศรษฐกิจ
หมายเลขบันทึก: 605795เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2016 00:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท