โจทย์วิจัยใหม่ เรื่องการวางแผนกำลังคน ด้านบุคลากรสุขภาพ



การประชุมศึกษาดูงาน “การดำเนินความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการด้านสุขภาพ” ที่โรงพยาบาลบางพลี จังหวัดสมุรปราการ เช้าวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๙ เปิดกระโหลกผมอย่างแรง

ผมได้รู้จัก พระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งผมคิดว่า เป็นกฎหมายที่มีคุณค่ามาก เป็นการเปิดกระบวนทัศน์ใหม่ในการทำกิจกรรมสาธารณะให้ลุล่วง ได้ผลดี และมีประสิทธิภาพ แต่เห็นได้ขัดเจนว่า ต้องมีการดำเนินการในรายละเอียดภาคปฏิบัติอีกมาก จึงจะใช้กติกานี้ได้อย่างแท้จริง

โรงพยาบาลบางพลี ภายใต้การนำของ นพ. นำพล แดนพิพัฒน์ ผู้อำนวยการโรงพยบาล เป็นผู้นำด้านการสร้างระบบความร่วมมือรัฐ-เอกชนในการให้บริการสุขภาพที่ดีแก่ประชาชน ภายใต้ข้อจำกัดสารพัดด้าน บริการที่เปิดมาไม่นาน แต่ชื่อเสียงโด่งดัง คือ ศูนย์หัวใจ ๒๔ ชั่วโมง โดยในทางวิชาการ หรือหลักการด้านระบบสุขภาพคือ ช่วยให้ประชาชนเข้าถึง (access) การรักษาได้ทันท่วงที

เป็นความร่วมมือรัฐ-เอกชน แบบที่ไม่ใช้ พรบ. ร่วมลงทุน เพราะมันใช้ไม่ได้ผล แม้ว่าความร่วมมือนี้จะช่วยให้ภาครัฐลดการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าลงไป คือลงทุนผลิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสุดๆ ที่เรียกว่า cardiac intervention แล้วใช้ไม่คุ้ม ในที่สุดเขาก็ลาออก จ่ายเงินใช้ทุน แล้วไปทำงานในภาคเอกชน ในที่ที่ใช้เขาคุ้ม และจ่ายเงินเดือนสูงอย่างเหมาะสม

จึงนำมาสู่ประเด็นการวางแผนกำลังคน ที่เรายึดหลักการวางแผนให้ (๑) จำนวนเพียงพอ ในสัดส่วน ระหว่างวิชาชีพต่างๆ ที่เหมาะสม (quantity) (๒) คุณภาพ หรือสมรรถนะ เหมาะสม (quality/competency) (๓) มีการกระจายไปทั่วประเทศอย่างเหมาะสม (distribution) และอยู่ทำงานในชนบท (rural retention) ซึ่งตามหลักการนี้ ในภาพใหญ่ ประเทศไทยทำได้ดีพอสมควร เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีระดับพัฒนาการทางสังคมเศรษฐกิจ ในระดับเดียวกัน

แต่ไปฟังสาระจากการประชุมครั้งนี้แล้ว ผมคิดว่า ต้องเพิ่มมิติใหม่ในการวิจัยเพื่อการพัฒนากำลังคน ในวิชาชีพสุขภาพอีก ๒ ด้าน คือ (๔) ประสิทธิภาพในการใช้บุคลากรสุขภาพ และ (๕) การผลิตเพื่อหนุนการส่งออก อุตสาหกรรมบริการสุขภาพของไทย


วิจารณ์ พานิช

๒๘ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605743เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2016 17:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท