ชีวิตที่พอเพียง ๒๖๔๕. คนที่ทำให้เราอ้วน


มนุษย์ถูกอุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อกำไรของธุรกิจ ทำมาหากินบนโรคอ้วน ของผู้คน โดยอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า ที่อ้วนเพราะไม่รู้จักบังคับตัวเองในเรื่องการกิน


หนัง บีบีซี ชุด The Men Who Made Us Fatบอกสิ่งที่เวลานี้ใครๆ ก็รู้ ว่าอาหารสำเร็จรูปที่เราซื้อกิน มักเป็นอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ และแค่อ่าน episode guide ตามลิ้งค์ข้างบน ผมก็เกิดความคิดว่า สมัยโบราณ มนุษย์ต้องหลบหลีกอันตรายจากสัตว์ร้าย และความอดอยาก แต่สมัยนี้ เราต้องหลบหลีกอันตรายจากสิ่งเย้ายวน และสิ่งที่มีมากเกินพอดี

กล่าวใหม่ ความยากลำบากของมนุษย์โบราณ มาจากความไร้ระบบ ความยากลำบากของมนุษย์ ในสมัยปัจจุบัน มาจากระบบที่เราสร้างขึ้นเอง ... ระบบทุนนิยม ระบบนี้มันไร้หัวใจ ไร้ความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดี มันหิวกำไรอยู่ทุกวินาที

กล่าวอย่างนี้อาจจะผิด เพราะวงการธุรกิจ ก็พยายามคิดระบบ CSR และระบบมาตรฐานสินค้า ฯลฯ ออกมาบังคับใช้ เพื่อไม่ให้มนุษย์ต้องตกเป็นเหยื่อของธุรกิจไร้จริยธรรม

หนังบอกเราว่า จำเลยคืออุตสาหกรรมอาหาร ผ่านอาชญากรรมที่ทำได้อย่างถูกกฎหมาย คือหลอกขายอาหารที่ทำให้อ้วน หลอกให้หลงคิดว่าเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เราอยู่ในโลก ในสังคมที่มายา เต็มบ้านเต็มเมือง ต้องดูหนังเองนะครับ จึงจะเห็นว่าฉลากอาหารมันหลอกผู้ซื้ออย่างไร นักธุรกิจอาหารที่มา ออกรายการบอกว่า ยิ่งฉลากให้รายละเอียดมาก ราคาจะยิ่งแพง ผมตีความว่า นอกจากหลอกให้หลงให้ซื้อแล้ว ยังหลอกให้เต็มใจจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย จ่ายเพิ่มเพื่อเพิ่มความอ้วนของตนเอง เท่ากับโดนหลอกสองต่อ โดยที่ตอนซื้อเราดีใจมากที่ได้เลือกซื้ออาหารเพื่อสุขภาพของตนเอง และคนที่เรารัก

แปลกมากสำหรับผม ที่วงการโฆษณา สื่อสารมุสาวาทกันจนเป็นวัฒนธรรมประจำวงการ โกหกเป็นประจำจนไม่รู้สึกว่าโกหก เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษมาแล้ว (กว่า ๖๐ ปี) ตอนผมเป็นเด็กอยู่ที่จังหวัดชุมพร ไปดูหนังฟรีที่โรงหนังเฉลิมพร ซึ่งเป็นของปู่ (ปู่น้อย ชื่อเนื่อง สุวรรณเมนะ) ก่อนจะเริ่มฉายหนังเรื่องก็มีโฆษณา จำได้ติดตาอยู่เรื่องหนึ่งคือการโฆษณาสบู่ลักซ์ โดยดาราใหญ่ ลิซ เทเลอร์ นอนในอ่างอาบน้ำถูสบู่ฟองฟอด ผิวขาวเนียนสวยงาม มีข้อความบอกว่าฉันใช้สบู่ลักซ์ แม้จะเป็นเด็ก ผมก็ตั้งคำถามกับตนเอง ว่าโฆษณานี้จริง หรือโกหก ผมสรุปกับตนเองว่าโกหก

เมื่อสองสามปีมานี้ มีญาติที่ทำธุรกิจขายผลิตภัณฑ์สุขภาพ เขาคิดว่าผมเป็นผู้ใหญ่ที่มีคนเชื่อถือมาก หากช่วยโฆษณาให้เขาหน่อย ก็น่าจะช่วยให้ธุรกิจของเขาดี ผมหนีแทบแย่ จนเดี๋ยวนี้ผมเดาว่าเขาคงยังโกรธผมอยู่ ที่ไม่ช่วย เหตุผลของผมคือ การทำเช่นนั้นเป็นมุสาวาท ผมปลงใจทำไม่ลง

กลับมาที่อาหาร ยิ่งดูหนัง ก็ยิ่งเห็นมายา และมุสาวาท ในการโฆษณา ใช้คำที่ดึงดูใจ เช่นอาหาร ออร์แกนิก อาหารสุขภาพ ทางธุรกิจอาหารและธุรกิจโฆษณา ร่วมกันสร้างความรู้สึก (perception) ว่าหากบริโภค อาหารนั้นแล้ว จะเป็นผลดีต่อร่างกาย แต่ผลจริงๆ คือ ทำให้อ้วน เพราะกินแคลอรีเข้าไปมากเกิน

หนังบอกว่า นักการเมืองมีแนวโน้มจะร่วมมือกับอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมโฆษณา เพื่อตกลงกันว่าจะหาทางแก้ปัญหาการระบาดของโรคอ้วนอย่างไร มีการเชิญนักวิชาการเข้าไปร่วมเป็นคณะ กรรมการเพื่อให้ดูดี ในการประชุมคณะกรรมการก็ให้เกียรติและฟังหลักฐานจากนักวิชาการอย่างดี แต่ข้อสรุป ก็ออกมาในลักษณะที่ไม่บังคับให้อุตสาหกรรมอาหารปิดป้าย ไฟแดงต่ออาหารไม่ดีต่อสุขภาพในด้านนั้นๆ

เมื่อผู้ดำเนินรายการไปสัมภาษณ์ไล่ต้อนรัฐมนตรีสาธารณสุข รัฐมนตรีก็ยืนกรานไม่บังคับติดป้ายไฟแดงต่อ อาหารอันตรายต่อสุขภาพ น่าสนใจมากว่าในอังกฤษ สถานีโทรทัศน์ บีบีซี ออกรายการนี้ได้ หากไทย พีบีเอส ออกรายการไล่ต้อนรัฐมนตรีแบบนี้ จะเกิดอะไรขึ้น บันทึกนี้ คือคำตอบ

จะเห็นว่า ผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมมีอิทธิพลต่อภาคการเมืองอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมบุหรี่ข้ามชาติมีอิทธิพลต่อประเทศไทยแค่ไหน อ่านได้ที่ ,

ต้นเหตุของการระบาดของโรคอ้วนเริ่มจากสหรัฐอเมริกา สมัย ปธน. นิกสัน อาหารแพง นิกสันตั้ง รมต. เกษตร ที่ดำเนินการให้เกิดเกษตรกรรายใหญ่ ผลิตอาหารได้มาก ผู้คนแซ่ซ้องสรรเสริญ มีการขยายฟาร์มปลูกข้าวโพดเอาไปเลี้ยงวัว และผลิต corn syrup ทำให้เกษตรกรร่ำรวย เขาบอกว่า การผลิตข้าวโพดมากเกิน ในช่วงปี 1970s (ใน สรอ.) นำมาสู่การบริโภคอาหารมากเกิน (ทั่วโลก) ในปัจจุบัน

ในปี 1984 corn syrup เข้าไปแทนน้ำตาลในเครื่องดื่ม เช่นเป๊บซี่ โค้ก และอื่นๆ เข้าไปเพิ่มแคลอรี ที่คนบริโภค

ผลงานวิจัยบอกว่า น้ำตาลที่เปลี่ยนเป็นไขมันง่ายที่สุดคือฟรุกโต๊ส มันไปทำให้ฮอร์โมน Leptin หมดแรง ฮอร์โมน เล็ปติน ทำหน้าที่กระตุ้นสมอง ว่า “พอแล้ว กินอิ่มแล้ว” ทั้งน้ำตาลจากข้าวโพด และจากอ้อย ต่างก็มีฟรุกโต๊ส การกินอาหารหวาน ทำให้เรากินไม่ยั้ง ทำให้อ้วน กินเก่ง กินอาหารหวาน เสพติดอาหารหวาน เป็นวงจรชั่วร้าย สู่การระบาดของโรคอ้วน

กลับมาที่อังกฤษ พร้อมๆ กันกับการผลิตน้ำตาลข้าวโพดปริมาณมหึมา และนำมาใช้เป็นสารหวานในอาหาร และขนมในสหรัฐ มีขบวนการส่งเสริมวัฒนธรรมกินจุบจิบในอังกฤษ ที่เรียกว่าอาหารว่าง (snack) โดยวงการสื่อ และอุตสาหกรรมอาหาร เวลานี้ในร้านสะดวกซื้อจะเต็มไปด้วยขนมสำเร็จรูปเหล่านี้ ทำหน้าที่ส่งเสริมนิสัยกินจุบจิบ และส่งเสริมการระบาดของโรคอ้วน

ปี 1974 ร้านอาหารแดกด่วน แม็กโดแนลด์ ร้านพิซซ่า ก็ไปถึงอังกฤษ ยิ่งอำนวยความสะดวกในการกิน อาหารระหว่างมื้อ

John Yatkin เป็นคนแรกที่ชี้ว่า สาเหตุสำคัญของโรคอ้วนคือน้ำตาลในอาหาร โดยเขียนหนังสือ Pure, White and Deadly ตีพิมพ์ในปี 1972 ก่อศัตรูมากมาย ทั้งจากอุตสาหกรรมน้ำตาล และจากอุตสาหกรรมอาหาร

ต่อมาจุดสนใจสาเหตุของโรคอ้วน ไปที่สมอง ว่าสมองเป็นจุดรับการกระตุ้นให้อยากกินอหารแบบนั้นแบบนี้ และอุตสาหกรรมอาหารมีความชำนาญในการใช้ประโยชน์สมองของผู้บริโภค โดยภาพอาหารในป้ายโฆษณา กระตุ้นการบริโภค และกระตุ้นการระบาดของโรคอ้วน ป้ายโฆษณาอาหารกระตุ้น heidonic response

1976 George McGovern พยายามควบคุมนิสัยการกินของคนอเมริกัน เพื่อแก้ปัญหาการระบาด ของโรคอ้วน มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมายกร่างกฎหมายควบคุมอุตสาหกรรมอาหาร มีการประชุมร่วมกับตัวแทน สมาคมน้ำตาล และอุตสาหกรรมอาหาร ที่ประท้วงอย่างหนัก ในที่สุดไม่มีกฎหมายออกมา แต่ปลุกให้ อุตสาหกรรมอาหารเห็นโอกาสผลิตสินค้าไขมันต่ำ ออกมาโฆษณาขาย เป็นที่นิยมมาก แต่ผลคือคนกินอาหาร สำเร็จรูปไขมันต่ำ ที่ใส่น้ำตาลมากขึ้น และกินในปริมาณมากขึ้น โรคอ้วนจึงยิ่งระบาดมากขึ้น ระบาดไปทั่วโลก

นักวิชาการด้านโรคอ้วนพุ่งเป้าไปที่น้ำตาล อุตสาหกรรมอาหารของสหรัฐ รวมทั้ง รมต. สาธารณสุข ต่อสู้ไม่ให้องค์การอนามัยโลกออกข้อเสนอให้ประเทศสมาชิกออกข้อบังคับการจำกัดการบริโภคน้ำตาล ล็อบบี้ยิสต์ของอุตสาหกรรมอาหารเข้มแข็งไม่ต่างกับอุตสาหกรรมบุหรี่

เราถูกเล่ห์ของธุรกิจ เริ่มจากอเมริกา ในการส่งเสริมขนาดของสินค้าอาหารว่าง เพื่อขายได้มากขึ้น ผู้ซื้อก็พอใจว่าของถูก เริ่มจากป็อบคอร์น สำหรับเอาไปกินในโรงหนัง และต่อมาอาหารแดกด่วนต่างก็ส่งเสริม การขายอาหารขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อขายได้มากขึ้น ร้านหนึ่งถึงกับขายเมนูพุงแตก ที่มีกติกาต้องกินคนเดียว กินในร้าน ให้เวลากินเพียง ๑ ชั่วโมง ขนาดมากในระดับ พอดีๆ กับคนกิน ๕ คน

เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง ที่มนุษย์ตกเป็นเหยื่อของความฉลาดของตนเอง ความฉลาดนำไปสู่ความสามารถ ในการผลิต เมื่อผลิตได้มากก็ต้องหาทางขาย เพื่อให้ขายได้มาก ก็ต้องส่งเสริมให้บริโภคมาก ผลลัพธ์คือการระบาด ของโรคอ้วน

มนุษย์ถูกอุตสาหกรรมอาหารเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน เพื่อกำไรของธุรกิจ ทำมาหากินบนโรคอ้วน ของผู้คน โดยอุตสาหกรรมอาหารอ้างว่า ที่อ้วนเพราะไม่รู้จักบังคับตัวเองในเรื่องการกิน

ระบบทุนนิยม บริโภคนิยม คือฆาตกร หรือเชื้อโรค พาหะนำโรคคือสื่อโฆษณา ใช้วิธีการสร้างความเชื่อ (perception) ที่อาจจะถูกหรือผิดก็ได้ ที่จะชักจูงให้เราบริโภคให้มากที่สุด เพื่อกำไรสูงสุดของเขา

ดังนั้น มนุษย์ในยุคปัจจุบัน จึงต้องมีทักษะเพื่อชีวิตที่ดี ที่ไม่ถูกล่อหลอกให้ลุ่มหลงจนตกเป็นเหยื่อ มีทักษะในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่เชื่อง่าย แสวงหาข้อมูลหลักฐานและตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเชื่อ เพื่อชีวิตที่พอดี ทางสายกลาง ชีวิตที่พอเพียง

ภาพยนตร์ชุดนี้สร้างแรงบันดาลใจให้ผมเลิกกินอาหารระหว่างมื้อ ที่เรียกว่าอาหารว่าง ผู้สูงอายุที่อายุเกิน ๙๐ ยังสุขภาพดีท่านหนึ่ง คือ นพ. บรรลุ ศิริพานิช มีวัตรปฏิบัตินี้


วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๕๙

บนเครื่องบินจากดอนเมืองไปเชียงใหม่


หมายเลขบันทึก: 605196เขียนเมื่อ 21 เมษายน 2016 09:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 เมษายน 2016 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ประชุมที่มีการพักรัปประทานอาหารว่าง

ทำให้อ้วนค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท