ผลสอบโอเน็ตกับความเป็นธรรมทางการศึกษา



บทความ O-Net scores rise, students still failing ใน นสพ. บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๕๕๙ บอกโรคเรื้อรังทางการศึกษาของประเทศ คือความไม่เป็นธรรม (inequity) ทางการศึกษา

อ่านรายละเอียดคะแนนเฉลี่ยแต่ละวิชาในนักเรียนทั้งประเทศ นักเรียนของโรงเรียนสาธิต นักเรียนในโรงเรียนในเมือง และนักเรียนของโรงเรียนในชนบทเอาเองนะครับ จะเห็นภาพความไม่เป็นธรรม ทางการศึกษา บทความบอกว่า ความรู้ของนักเรียนในชนบท ล้าหลังกว่านักเรียนในเมืองถึง ๓ ปี

บทความ National education plan needs new implementation approach ใน นสพ. เดอะเนชั่น ฉบับวันเดียวกัน บอกว่าสำนักงานสภาการศึกษาได้ยกร่างแผนพัฒนาการศึกษา ๑๕ ปี และเลขาธิการสภาการศึกษาบอกว่า ในอดีต เพียงร้อยละ ๑๕ ของแผนฯ เท่านั้น ที่มีการนำไปปฏิบัติ

บทความนี้แนะนำวิธีบริหารแผนเป็น ๓ ขั้นตอนตามแบบมาเลเซีย ซึ่งผมเห็นด้วยว่า การบริหารแผน ที่ถูกต้องมีความสำคัญยิ่ง

ผมมีความเห็นว่า แผนและการบริหารแผนการศึกษาแห่งชาติ ในเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมามีความผิดพลาด และยิ่งแก้ยิ่งเละ เพราะเป้าหมายผิด หลงไปจัดการที่โครงสร้างการบริหารที่กระทรวง ไม่ได้เข้าไปจัดที่ห้องเรียน ไม่ได้พุ่งเป้าที่ผลลัพธ์การเรียนรู้แบบบูรณาการของผู้เรียน เวลานี้ก็ยังหลงจัดการเพื่อยกระดับคะแนนสอบโอเน็ต เท่านั้น

ยิ่งแก้ไข ผู้ได้รับประโยชน์ยิ่งเป็นผู้บริหารในกระทรวง และผู้เสียประโยชน์ยิ่งเป็นเด็กไทย เพราะหลงมุ่งเน้นเป้าหมายที่ผิด

ผมขอเสนอให้ผู้บริหารของสภาการศึกษา และของกระทรวงศึกษาธิการอ่านหนังสือ โรงเรียนบันดาลใจ แล้วจะเข้าใจว่า แผนและการบริหารการศึกษาไทยหลงทางอย่างไร



วิจารณ์ พานิช

๒๒ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 605131เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2016 16:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2016 16:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท