ข้อสังเกตราคาหนังสือจากสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


    ต้นเดือนเมษายน 2559 ว่างจากงานสอนหนังสือหนึ่งเดือน ผมหลบร้อนจากกรุงเทพฯไปบางแสน จังหวัดชลบุรี เดินเข้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ มหาวิทยาลัยบูรพา กะหาหนังสือไว้อ่านหย่อนใจสักเล่มสองเล่มไว้อ่านคลายร้อนในช่วงสงกรานต์

    มาสะดุดที่หนังสือ "คติชนข้ามพรมแดน งานปอยไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่" และ "พระพุทธรูปตามคติล้านนา" เล่มแรกราว 250 หน้า ราคา 350 บาท เล่มสองราว 250 หน้า ราคา 360 บาท ทั้งสองเป็นพ๊อคเก็ทบุ๊กค์ กระดาษสีขุ่น แบบสันกาว ปีที่พิมพ์ 2558 และทั้งสองเป็นหนังสือค่ายสำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

    แม้ผมจะชอบอ่านหนังสือแนวประวัติศาสตร์ศิลปะและคติชนเป็นชีวิตจิตใจ แต่พอเห็นราคาแล้วไม่สามารถทำใจซื้อได้ ทำได้เพียงเปิดดู วางลง แล้วถอนหายใจ!

    หนังสือจากค่ายจุฬาฯ พักหลังมานี้ตั้งราคาสูงมาก แปลกที่หนังสือจากค่ายของตนเองวางขายในร้านของตนเองกลับตั้งราคาสูง แน่ละแม้จะมีคุณค่า แต่ราคานั้นคนอย่างผมถึงจะมีเงินเดือน (อันน้อยนิด) ก็ยังไม่กล้าควักจ่าย ไม่ต้องนึกถึงนักเรียนนักศึกษาที่ยังแบมือขอเงินพ่อแม่ หากเขาอยากได้มาครอบครองคงเป็นเรื่องลำบาก

    แล้วอย่างนี้องค์ความรู้จะแพร่กระจายอย่างทั่วถึงได้อย่างไร แม้แต่โรงเรียนคงคิดแล้วคิดอีกที่จะซื้อเข้าห้องสมุด จะจำกัดเพียงเฉพาะกลุ่มเป้าหมายหรอกหรือ

    เข้าใจได้ว่าต้นทุนการทำหนังสือนั้นแพง และยังต้องสู้กับสภาวะที่คนไทยเสพหนังสือน้อยลงหันไปเสพสื่ออิเล็กโทรนิคมากขึ้น การตั้งราคาสูงจึงเป็นทางออกเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้เพื่อคุ้มค่ากับต้นทุน แต่ผมมีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่ง รวมถึงประสบการณ์ในการตัดสินใจควักเงินซื้อหนังสือในแต่ละครั้งว่า ยิ่งแพงคนยิ่งไม่กล้าซื้อ

    กราบขออภัยอย่างสูง ไม่ได้มีเจตนาตำหนิแต่อย่างใด แต่นี่คือความในใจอันขัดข้องต้องสงสัยของผมอันเป็นการส่วนตัวซึ่งเป็นแฟนศูนย์หนังสือจุฬาฯมานานแสนนาน และมีข้อเสนอว่าหากปรับราคาลงมาได้ เฉลี่ยหน้าละ 1 บาท 250 หน้า / 250 บาท ก็ยังพอจะทำใจซื้อได้ และหากปรับราคาได้อีกนิด ผมเชื่อว่าหนังสือจะขายได้ง่ายขึ้น เพราะคนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการก็สนใจความรู้ด้านนี้มิใช่น้อยเลยทีเดียว

    วาทิน ศานติ์ สันติ รายงาน

    1/4/2559

    หมายเลขบันทึก: 605007เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2016 02:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 19:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


    ความเห็น (2)

    ผมมีความคิดเห็นเช่นเดียวกับอาจารย์

    ในช่วงหลัง ๆ สำนักพิมพ์จุฬาฯ มีการตั้งราคาหนังสือที่สูงขึ้นจริง ๆ
    สูงขึ้นจนน่าตกใจ ทำให้ผมตัดสินใจในการนำเงินออกจากกระเป๋ายากขึ้น
    เพราะรู้สึกเสียดายตังค์ขึ้นมาอย่างนั้น แม้จะได้ลดจากร้านหนังสือแล้วก็ตาม

    ราคากลายเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงหนังสือดี ๆ จากนักวิชาการดี ๆ

    ฤาอาจจะเป็นค่าตรวจผลงานจากผู้ทรงคุณวุฒิก็มิทราบ
    ที่ทำให้ต้นทุนมันสูงขึ้น นอกจากค่าวัสดุต่าง ๆ

    นั่นคงเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัว

    ขอบคุณครับที่เขียนเรื่องนี้ ;)...

    • ขอบพระคุณเช่นกันครับ อยากให้ทางสำนักพิมพ์มาอ่านเช่นกัน
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท