​ชีวิตที่พอเพียง 2638. คุณของความทุกข์ยากวัยเด็ก



บทความ Could Childhood Adversity Boost Creativity?ในนิตยสาร Scientific American Mind ฉบับเดือนมีนาคม - เมษายน ๒๕๕๙ เล่าผลงานวิจัย ที่บอกว่าแทนที่ ความทุกข์ยากวัยเด็กจะก่อบาดแผลทางใจ และเป็นผลลบต่อพัฒนาการด้านความคิดอ่าน อาจมีผลตรงกันข้าม กลับส่งเสริมความสร้างสรรค์ก็ได้

เขาบอกว่าคนที่เผชิญความเครียดในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้นความจำมักไม่ดี และ IQ ต่ำ รวมทั้งความสามารถในการยับยั้งชั่งใจก็มักไม่ดี ทำให้โอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตต่ำ

แต่ผลการวิจัยชิ้นใหม่ ที่มีวิธีวัดความยับยั้งชั่งใจ (inhibition) และความยืดหยุ่นของความคิด (cognitive flexibility) ของผู้ใหญ่ ๑๐๓ คน นำมาเทียบกับประวัติวัยเด็กที่บ่งชี้ว่ามีความเครียดสูง โดยแยกออกเป็นสภาพ ยากลำบาก กับสภาพที่ไม่แน่นอน วิธีการสู่ข้อสรุปประวัติวัยเด็กเหล่านี้มีวิธีการทางเทคนิคมาก ผมไม่ได้เอามาเล่า

ผลคือ คนที่ในวัยเด็กเผชิญสภาพไม่แน่นอน แต่ไม่ยากลำบาก ระดับความยับยั้งชั่งใจต่ำ แต่ระดับความยืดหยุ่นดีกว่า

เป็นครั้งแรกที่มีผลการวิจัยที่บอกว่าชีวิตลุ่มๆ ดอนๆ วัยเด็ก อาจมีผลดีอยู่ด้วย แต่ก็ยังต้องการผลการวิจัยชิ้นอื่นมายืนยัน (หรือแย้ง)

บทความนี้กระทบใจผมอย่างแรง เพราะชีวิตวัยเด็กของผมอยู่ในสภาพที่มีความเครียดสูงมาก จากความเข้มงวดและอารมณ์ร้ายของแม่ ที่ถูกยั่วยุด้วยความดื้อของผม ผมสงสัยตลอดมาว่าชีวิตของผม ได้ดีถึงขนาดนี้ได้อย่างไร มาอ่านบทความนี้ ก็พอจะมีคำอธิบาย ว่ามนุษย์เรามีคุณสมบัติที่สมองยืดหยุ่นได้มาก และตอนผมเป็นเด็กชีวิตครอบครัวไม่แร้นแค้นหรือยากลำบาก แต่ผมต้องเผชิญอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ ของแม่อย่างรุนแรงมาก โดยที่ตอนนั้นผมไม่เข้าใจว่าผมเองนี่แหละที่ยั่วโมโหแม่ ด้วยความคิดที่เป็นตัวของตัวเอง ทำให้ผู้ใหญ่มองว่าเป็นเด็กดื้อด้านสอนไม่จำ เฆี่ยนแรงแค่ไหนก็ไม่หลาบจำ

การเผชิญอารมณ์ไม่แน่นอนของแม่ ในวัยเด็กของผม มีคุณต่อชีวิตของผมจริงหรือ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่แม่ เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ผมจึงเข้าใจว่าแม่เฆี่ยนตีผมด้วยความรัก น้องๆ และคนในครอบครัวต่างก็พูดกันว่า ในจำนวนลูก ๗ คนนั้น แม่รักผมมากที่สุด ซึ่งผมตีความต่างออกไป ว่าแม่ภูมิใจมากที่สุด



วิจารณ์ พานิช

๑๖ มี.ค. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 604945เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2016 15:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2016 15:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท