ตายดีมีสุข - บทเรียนจิตวิญญาณที่มีคุณค่า


ศึกษาเพิ่มเติมที่ www.visala.org www.semsikkha.org www.budnet.org https://www.facebook.com/peacefuldeath2011

กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ไพศาล วิศาโล และพี่กานดาวศรี ตุลาธรรมกิจ ผู้นำถ่ายทอดวิชาชีวิตที่เราควรเรียนรู้ไว้เพื่อเผชิญความตายอย่างสงบทั้งทางโลกและทางธรรม รวมทั้งกราบขอบพระคุณพี่เล็กกับพี่น้อง คู่กระบวนกรที่เป็นไอดอลผู้มีความดีงามของผมเสมอ

บางส่วนบางตอนผมถอดบทเรียนและขออนุญาตนำคำสอนของพระอาจารย์ไพศาลและพี่กานดาวศรีมาไว้ให้กัลยาณมิตรทุกท่านได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดังนี้:-

  1. วิชาทางโลกเรียนมามากมายแล้วไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง วิชาเตรียมตัวตายไม่ได้แยกจากวิชาเตรียมชีวิตผาสุก คือ อยู่สบายตายสงบ
  2. ความตายไม่น่ากลัว ความกลัวตายน่ากลัวกว่า ขอให้มีชีวิตอยู่ด้วยความไม่ประมาทและความตั้งใจดี ถ้าตายให้เป็นต้องอยู่ให้เป็น ควรขอบคุณกับความทุกข์ ให้เห็นความจริงจากความทุกข์เพื่ออริยมรรค และยอมรับ 3 ประการได้แก่ ยอมรับความจริง ยอมรับความเป็นไป และยอมรับความตาย
  3. ภาวะใกล้ตายคือนาทีทองของชีวิตในการบรรลุธรรมสูงมาก ได้ปล่อยวาง ลดละตัวตน ใจสบายๆทั้งที่กายป่วย ทำให้เรายิ้มเมื่อสิ้นลม ขณะที่หลายคนอยู่แบบคนลืมตาย ใจไม่วาง แสร้งสุข ติดสุข ใจปรุงแต่ง ตายทั้งเป็นเมื่อรู้ว่าป่วยโรคร้าย ไม่มีชีวิตชีวา กินไม่ได้ นอนไม่หลับ
  4. ลองทบทวนตัวเองและตอบคำถาม “ถ้าต้องตายใน 1 เดือนนี้ รู้สึก ... เพราะ ... ความตายที่เราออกแบบได้คือ... เพราะ...
  5. คนใกล้ตาย แม้หลับตา แต่จิตรับรู้ได้ ฟังเสียงไวมากกว่าทั่วไปถึง 7 เท่า เราควรสื่อสารความดีงามที่ทำให้คนใกล้ตายรู้สึกภาคภูมิใจ ให้นึกถึงภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือแล้วนำพาให้เดินทางไปสู่ชีวิตอันสดชื่น สวยงาม สบาย สงบ และสว่าง เกิดปัญญาในการลดละอัตตาและเห็นความจริงจากความทุกข์ที่กำลังเผชิญเป็นไตรลักษณ์
  6. ขณะที่แพทย์หรือญาติตัดสินใจบอกข่าวร้ายแก่ผู้ป่วย ควรประชุมญาติก่อนวางแผนเพื่อจะบอกหรือไม่บอกข่าวร้ายด้วยเหตุผลใด แนะนำให้ทำการบอกเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับและมีโอกาสวางแผนชีวิตก่อนตาย โดยเฉพาะการทำความดีในช่วยเวลาสุดท้าย ควรสื่อสารด้วยความเห็นอกเห็นใจและรับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วย ประเมินพร้อมใช้คำถามปลายเปิดชวนให้ผู้ป่วยคิดตัดสินใจเพื่อหยอด (ผลตรวจไม่ค่อยดีนะ ต้องตรวจซ้ำ โรคนี้ยากนะ) และหยั่งเชิง (รู้สึกอย่างไร) ถ้าผู้ป่วยรับได้ ก็ค่อยบอกว่าเป็นมะเร็ง – ไม่ต้องบอกระยะสุดท้าย ถ้าผู้ป่วยรับไม่ได้ ก็ค่อยๆคลายเครียด (จัดการเรื่องไม่สบายใจเป็นห่วงก่อน) และเพิ่มใจที่มั่นคงแล้วประเมินซ้ำถึงการตอบสนองทางอารมณ์บวกหรือลบ (กลไกป้องกันทางจิต) ในการยอมรับภาวะโรคของผู้ป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ เน้นใจที่ให้และรับพลังความเมตตาและกรุณาในการฝึกสมาธิภาวนาแบบทองเลน สัมผัสไม่จำเป็น แต่สัมผัสเป็นตัวช่วยเพิ่มความมั่นใจในพลังจิต และสร้างความไว้วางใจระหว่างผู้ป่วย ญาติ และสหวิชาชีพทางการแพทย์ที่กำลังให้การรักษาแบบประคับประคอง ควรฟังลึกซึ้งตั้งคำถามให้ผู้ป่วยและญาติคิดทำให้มั่นใจในศักยภาพที่แก้ไขปัญหาชีวิตด้วยตนเอง (เช่น มีเหตุผลอะไรที่คิดอย่างนั้น บอกได้มั้ย มีอะไรจะให้ช่วยมั้ย) ไม่ใช้คำแนะนำสั่งสอน ไม่ใช้คำบังคับแม้ปรารถนาดีจากบุคลากรทางการแพทย์ และไม่ใช้คำปลอบใจ (เช่น สู้ๆ อย่ากังวล ไม่เป็นไร ทุกคนทำใจได้ - คำเหล่านี้จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยคิดมาก)
  7. ขณะที่คนใกล้ตายมีสติ ควรเขียนพินัยกรรมชีวิต และควรมีโอกาสได้รับการสื่อสารจากคนที่เค้ารักและห่วง ให้คลายความกังวล (ความรู้สึกผิดที่ข่มใจไว้และ/หรือคิดร้ายกับคนขัดแย้ง ซึ่งตรงข้ามกับการสำนึกผิดที่อยากเปลี่ยนแปลงตนเอง) และจัดการสิ่งต่างๆที่ห่วงบนโลกนี้ ให้คนที่รักได้พูดขอขมาลาโทษ/ขอโทษ/ขออโหสิกรรม กอดกับบอกรักด้วยความจริงใจ บอกความในใจ และขอบคุณคุณงามความดีของคนใกล้ตาย และสามารถสื่อจิตภาวนาด้วยโพวาเน้นความศรัทธาในสิ่งที่คนใกล้ตายเชื่อถืออย่างสบายใจ
  8. กระบวนการเดินทางไปสู่ความตายแบบแก่หมดอายุขัยกับโรคที่ค่อยๆไป เริ่มจากอ่อนล้า อ่อนเพลีย ง่วงซึม กรดด่างเสียสมดุล ผู้ป่วยเอาแต่นอนแต่ได้ยินเสียง ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้สะอาดสงบ กอดสัมผัสให้ผู้ป่วยเกิดความสว่างในใจ จากนั้นกินน้อยลง ไตเสื่อม น้ำเยอะ บวมน้ำ น้ำท่วมปอด ไม่ควรบังคับให้อาหาร ถ้าให้ยาขับน้ำออก เกลือแร่ก็จะออกด้วยจนตายเปียก (ตายแห้งดีกว่า) ต่อด้วยปาก-ตาแห้ง แสงแจ้งทำให้ตาแห้ง ใช้มือปิดตาได้ ต่อมามีอาการปวดลดลง สังเกตว่าปวดกายและ/หรือปวดใจ ดูสีหน้ากระสับกระส่าย จากยาลดปวด จากนั้นหายใจแบบปลาทองดูดอากาศ มีเสียงครืดคราดของน้ำมูกน้ำลายไหลเพราะประสาทอัตโนมัติคลายตัว จับตะแคงหน้า/นอนกึ่งคว่ำใช้ลูกยางแดงดูดเสมหะได้ ถ้าดูดด้วยเครื่องจะเจ็บมาก ตามมาด้วยมือเท้าเย็น เล็บสีคล่ำ เลือดไปเลี้ยงน้อยลง หัวใจทำงานติดขัด สุดท้าย 24-48 ชม. ก็จะหลับไป มีพลังเฮือกสุดท้าย ในทางการแพทย์ก็ถือว่าถ้าหัวใจหยุดเต้นและสมองหยุดทำงานก็อยู่ในภาวะตาย ในทางธรรมจิตยังคงรับรู้เกิดปรากฎการณ์กรรมอารมณ์ หวนระลึกเหตุการณ์อดีต กรรมนิมิต นึกถึงภาพเสียงที่ประทับใจ มีกิริยาแปลกที่เป็นกรรมอกุศล คตินิมิต จะเห็นภาพไปไหน (ไฟหรือเทพ) ไม่ชี้ขาดเพราะจิตน้อมนำไปได้ในช่วงอาสันนกรรม จิตสุดท้ายหน่วงอารมณ์กุศลหรืออกุศล
  9. เราควร “ทำจิตทำกิจ” ทำจิตคือปล่อยวางสิ่งที่เรายึดติด (คนรัก ภาระงานหน้าที่ ตัวเรา) ทำกิจคือทำพินัยกรรมคลี่คลายความกังวล
  10. เราทุกคนตายแน่ ภาพคนใกล้ตายที่เราไปเยี่ยมด้วยใจแบบจิตอาสาข้างเตียง คือ อนาคตของเรา ในความแน่ไม่รู้จะตายเมื่อไร เราพร้อมหรือยังในหน้าที่ที่ควรทำเสร็จสิ้นหรือยัง ทำดีพอหรือยัง พร้อมจะปล่อยวางหรือยัง แนะนำให้ฝึกนอนท่าศพ ปิดไฟมืด แล้วฟังมรณานุสตินี้

ตัวอย่างพินัยกรรมชีวิต (ร่าง) ของผม

ตัวอย่างการทำสมาธิจินตนาภาพให้บอกขอโทษ ขอบคุณ และบอกรักแก้ผู้ที่ผมรักและจากไปเมื่อสมัยผมอายุ 6 ขวบ

หมายเลขบันทึก: 604509เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2016 09:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 เมษายน 2016 15:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณค่ะ ช่วยให้กลับมาเตือนตนอีกครั้ง

รวดเร็วและครบถ้วนในสาระสำคัญเลยค่ะ ขอบคุณ อ.ป๊อปที่สรุปและแบ่งปันให้เพื่อนๆ ผู้สนใจได้นำไปทบทวนและใคร่ครวญค่ะ

ขอบคุณครับ คุณป๊อป

อ่านแล้วได้เตือนสติตัวเองไปด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะอ.ดร.ป๊อป ^^

รู้สึกดีมากๆครับ กระตุ้นเตือนสติสัมปชัญญะให้ตื่นรู้อีกครั้งครับ

ขอบพระคุณมากครับ พี่ดารณี อ.จิรวรรณ คุณกิ๊ก พี่ณัฐพัชร์ อ.วินัย พี่โอ๋ คุณเพชรน้ำหนึ่ง พี่นงนาท อ.แอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท