โครงการพัฒนาผู้นำนักบริหารเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัยทักษิณ (ช่วงที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2559)


สวัสดีครับชาว Blog และลูกศิษย์ห้องเรียนผู้นำของมหาวิทยาลัยทักษิณ

วันนี้เข้าสู่ช่วงที่ 6 ของการเรียนรู้สำหรับห้องเรียนผู้นำของมหาวิทยาลัยทักษิณ ผมขอเรียนว่า "TSU Leader Class" ซึ่งในช่วง 6 วันนี้ เราจะเน้นเรื่อง

จากแนวคิดทางการตลาด.. สู่การปรับใช้กับการทำงานของมหาวิทยาลัยทักษิณ Case Studies and Intensive Management Workshop (5): TSU Positioning in Thailand and ASEAN+6 และกิจกรรม CSR: Public Spirit - Enlarge your networks ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการเรียนรู้ร่วมกันในช่วงนี้ ลูกศิษย์ของผมจะได้รับมุมมองที่เป็นประโยชน์มาปรับใช้กับการพัฒนาตนเอง องค์กร และสังคมของเรา

ผมขอใช้ Blog นี้ เป็นคลังความรู้สำหรับกิจกรรมในช่วงที่ 6 ของเราครับ


โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่ออ่านข่าวโครงการ

http://www.gotoknow.org/posts/604250

ที่มา:FIHRD-Chira Academy Newsletter รายปักษ์. ประจำวันที่ 29 มีนาคม-12 เมษายน 2559

http://www.gotoknow.org/posts/605086
ที่มา: FIHRD-Chira Academy Newsletter รายปักษ์. ประจำวันที่ 18 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2559

โปรดคลิกที่ลิ้งค์นี้เพื่อดูข่าวโครงการ

https://www.youtube.com/watch?v=7W0s7Yqdy2A&feature=youtu.be

ที่มา: รายการ คิดเป็นก้าวเป็น กับ ดร.จีระ ตอน: กรณีศึกษา CSR มหาวิทยาลัยทักษิณกับการเรียนรู้อยู่คู่ชุมชน ออกอากาศวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2559


โครงการพัฒนาผู้นำและนักบริหารเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัยทักษิณ

สรุปการบรรยายวันที่ 31 มีนาคม 2559

วิชาที่ 25 กิจกรรมรักษ์กาย-รักษ์ใจ

การระบายสีน้ำ

อาจารย์สาโรจน์ อนันตอวยพร

ละลายพฤติกรรมโดย คุณเอ

การเรียนในวันนี้จะเป็นลักษณะ Learning by sharing

ผู้ชายส่วนมากเมื่ออายุมากขึ้นจะใช้สมองซีกซ้ายมากกว่าซีกขวา เป็นลักษณะการใช้เหตุผล และตรรกะ

ผู้หญิงจะใช้สมองซีกขวามากกว่าซีกซ้าย จะชอบจินตนาการไปก่อน

ดังนั้นจึงควรพยายามปรับให้สมดุลกัน

การเป็นผู้นำที่ดีจะสอนใครก็ตาม แต่ถ้าไม่ทำเป็นตัวอย่างจะไม่ประสบความสำเร็จ เรียกว่าตัวอย่างที่ดี มีค่ามากกว่าคำสอน

กิจกรรมคลายเครียด

- จับส่วนที่เป็นเอว หายใจเข้าลึก ๆ พุงป่อง หายใจออกพุงยุบ

- ให้จับพุงแล้วหายใจเข้าพูดโอ๋ และออก โอ๊ะ ๆ ๆ ๆ

- ยืนแยกขาแล้วหายใจเข้าพูดโอ๋แล้วสะบัดมือ

- เอามือจับหน้าอก หายใจเข้าแล้วพูดอ๋า หายใจออกพูด อ๊ะ ๆ ๆ ๆ

- เอามือจับคอ หายใจเข้าแล้วพูดอู๋ หายใจออกแล้วพูดอุ๊ ๆๆๆๆ

- เอามือจับกระหม่อม หายใจเข้าแล้วพูดเอ๋ หายใจออกพูดเอ๊ะ ๆๆๆๆ

- กางขา กางมือ หายใจเข้าแล้วพูดอ๋า หายใจออกพูด อ๊ะ ๆๆๆๆ

- เอานิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลาง ของมือทั้งสองข้างชี้นิ้วไปข้างหน้าอยู่ข้างตัวเองแล้วพูด อู๋ หายใจออกพูด อุ๊ ๆ ๆ ๆ

- จับคู่แล้วเอาสองมือแบที่หู หายใจเข้าแล้วพูดเอ๋ หายใจออกแล้วพูดเอ๊ะ ๆ ๆ ๆ

การบริหารเพื่อคลายเครียด

- การพูดโอ๋เป็นการบริหารส่วนท้อง

- การพูดอ๋าเป็นการบริหารส่วนทรวงอก

- การพูดอู่เป็นการบริหารอวัยวะภายในที่เป็นลำคอ รวมต่อมไร้ท่อต่าง ๆ

- การพูดเอ๋ เป็นการบริหารสมองส่วนหน้า หรือเรียกว่าขมับ

สรุปคือถ้าบริหารในสิ่งเหล่านี้ได้จะช่วยคลายเครียดได้อย่างดี

การบรรยายสีน้ำ

โดย อาจารย์สาโรจน์ อนันตอวยพร

สีน้ำ ต้องเรียน ต้องรู้ ต้องเข้าใจและต้องปฏิบัติ สีน้ำจะว่ายากก็ยาก ง่ายก็ง่าย ระหว่างสีน้ำ สีน้ำมัน สีอคริลิก อยู่ที่พื้นฐานเท่ากัน แต่สำคัญอยู่ที่ความคิดสร้างสรรค์มากกว่า

สิ่งสำคัญที่จะต่อคือ การใส่อารมณ์ ความรู้สึกไป ต้องหาสไตล์ตัวเองให้ได้

ศิลปะบางทีเห็นว่าใช่ แต่บางทีเอาไม่อยู่

ศิลปะเพื่อบำบัด

1 การเรียนคลาสแรกของศิลปะอาจเครียด แต่จะช่วยบำบัดได้เมื่อเรียนคลานที่สองหรือสามแล้ว

2. ศิลปะขึ้นอยู่กับรสนิยม คนจะเชยหรือไม่เชยเป็นเรื่องของเขา แต่ความเป็นรสนิยมขอให้เป็นสไตล์ เป็นสไตล์ใครสไตล์มัน รสนิยมใครรสนิยมมัน อาร์ตได้แต่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้

โดยปกติศิลปะจะรู้เรื่องแสง เงา และน้ำหนัก ข้อดีหรือเด่นอยู่ที่กระบวนการหรือเทคนิคพื้นฐานที่ให้

ประวัติความเป็นมา

  • ศิลปินชาวจีนรู้จักเขียนสีน้ำก่อนชาติใดในโลก จากการเขียนตัวหนังสือตามลีลาพู่กัน (Calligraphy)
  • ศิลปินจีนนิยมใช้สีน้ำบรรยายธรรมชาติตามความเชื่อ
  • ต่อมาญี่ปุ่นได้รับสื่อสีน้ำจากจีนจึงนำมาถ่ายทอดรูปแบบธรรมชาติ และออกแบบภาพพิมพ์สี
  • สำหรับประเทศไทยเริ่มรู้จักราว พ.ศ. 2456 เมื่อตั้งโรงเรียนเพาะช่าง เป็นการใช้สีน้ำเสริมแต่งการออกแบบสถาปัตยกรรมให้มีลักษณะคล้ายของจริง
  • สำหรับตะวันตก สื่อสีน้ำมีบทบาทและรู้จักสมัยฟื้นฟูโดยศิลปินชาวเยอรมันที่สนใจและแสดงออกทางสีน้ำคนแรกคือ ออลเบรท ดูเรอ (Albrecht Durer) บิดาแห่งสีน้ำคนแรก
  • ต่อมาเข้าสู่อังกฤษ จนเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าถ้ากล่าวถึงสีน้ำจะนึกถึงอังกฤษก่อนเสมอ อีกทั้งอังกฤษผลิตวัสดุ อุปกรณ์จนรู้จักดี
  • ศิลปินที่เป็นบิดาแห่งสีน้ำของอังกฤษคือ พอล แซนด์บี (Paul Sandby)

วิธีการรักษาภาพเขียนสีน้ำ

1. ต้องมีกระจกหรือพลาสติกกั้น

2. ต้องใช้กระดาษดี

การเขียนสีน้ำ

  • สีน้ำเป็นวัสดุสำหรับถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะสม เพราะอุปกรณ์ที่จำเป็นน้อย ราคาไม่แพงเกินไป
  • สามารถควบคุมให้แห้งช้าหรือเร็วได้ด้วยการใช้กลีเซอรีนหรือ อัลกอฮอล์ผสมน้ำ

สีน้ำไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานทางการวาดเขียนมาก่อน

การเขียนสีน้ำจะเขียนด้วยวิธีใครแล้วแต่คน

อาจขึงเปียกหรือไม่ขึงเปียก

กระดาษอัดร้อนหรือเย็น

สีน้ำใช้อะไรก็ได้ แต่อย่าใช้สีตราม้าเหมือนที่เด็ก ๆ ใช้จะใช้แล้วไม่นิ่ง

วัสดุอุปกรณ์ในการระบายสีน้ำ วัสดุที่จำเป็น

  • กระดานรองเขียน (Drawing Board) ควรมีน้ำหนักเบา
  • กระดาษวาดเขียน (Paper)
    • ขนาดมาตรฐาน 22 x30 นิ้ว
    • ความหนาตั้งแต่ 80 - 400 ปอนด์
    • กระดาษอัดเย็น (Cold Press) ทำด้วยมือคุณภาพดีกว่ากระดาษอัดร้อน (Hot Press)
  • ขาหยั่งรองเขียน (Easel) ใช้ควบคุมการระบายโดยการเอียงหรือตั้ง ปกตินิยมวางกระดาษรองเขียน 15 องศา
  • สีน้ำ (Water Color) แบ่งประเภทเป็น ประเภทสีเหลือง, สีเขียว, สีเทาและน้ำตาล มีหลายชนิดและหลายขนาด

5. จานระบายสี (Palette)คือภาชนะแบนมีแอ่งสำหรับใส่สี ควรมีสีขาว

6. พู่กันสีน้ำ (Brush) มีลักษณะ คือกลมพอง กลมปลายแหลม และ แบนปลายตัด

7. ภาชนะใส่น้ำ (Water Container) ควรมี 2 ใบ สำหรับน้ำผสมสีและใส่น้ำล้างพู่กัน

8. อุปกรณ์เสริม เช่น ฟองน้ำ ผ้าเช็ดมือ ฯลฯ

ความเข้าใจเกี่ยวกับสีน้ำ

1. จิตรกรรมสีน้ำ เป็นพฤติกรรมตอบสนองจากการรับรู้ของมนุษย์ด้วยมือและสมองผสมกับความคิดสร้างสรรค์ที่ติดตัวมา ก่อให้เกิดเป็นรูปแบบศิลปะประเภทหนึ่ง

2. สีน้ำมีคุณสมบัติคือ

  • ลักษณะโปร่งใส (Transparent Quality)
  • ลักษณะเปียกชุ่ม (Soft Quality)
  • แห้งเร็ว(Quick Dry)
  • รุกรานและยอมรับ (Advance Recede)

3. สีน้ำมีคุณค่าของความเรียบง่ายและด้านความรู้สึกของบรรยากาศ

เทคนิคและวิธีการระบายสีน้ำ

  • การระบายแบบเปียกบนเปียก (Wet into Wet)
  • การระบายแบบเปียกบนแห้ง (Wet into Dry)
  • การระบายแบบแห้งบนแห้ง (Dry on Dry)
  • การระบายแบบเทคนิคพิเศษ(Special Technique)

เทคนิคมี 4 อย่างแต่ส่วนใหญ่ใช้ 2 อย่างคือแบบเปียกบนเปียก หรือเปียกบนแห้ง

1. การระบายแบบเปียกบนเปียก (Wet into Wet)

หมายถึงการระบายน้ำลงบนกระดาษก่อนแล้วจึงระบายสีตามที่ต้องการลงไป

เทคนิคนี้จะให้ความรู้สึกกลมกลืนและมีเทคนิคสำคัญ 2 ประการ คือ

- การไหลซึม (Mingling)

- การไหลย้อย (Dripping)

2. การระบายแบบเปียกบนแห้ง (Wet into Dry)

หมายถึงการระบายสีบนกระดาษที่ไม่ต้องลงน้ำก่อนเป็นวิธีระบายทั่วไป

มีเทคนิคสำคัญ 3 ประการ คือ

การระบายเรียบสีเดียว (Flat Wash)

การระบายอ่อนแก่เรียบสีเดียว (Grade Wash)

การระบายเรียบหลายสี (Color Wash)

3. การระบายแบบแห้งบนแห้ง (Dry on Dry)

หมายถึงการระบายสีที่ใช้พู่กันจุ่มสีน้อยแล้วระบายอย่างรวดเร็วบนกระดาษ วิธีนี้ศิลปินจีนและญี่ปุ่นชำนาญมากเพราะคล้ายคลึงกับตัวอักษรของเขา เทคนิคนี้มีประโยชน์ในการเน้นส่วนใดส่วนหนึ่งเพื่อให้เด่น

มีเทคนิคสำคัญ 3 ประการ คือ

การแตะ (Stamping)

การป้าย (Splashing)

การผสม (Mixed Technique)

4. การระบายแบบเทคนิคพิเศษ

หมายถึงการระบายโดยการใช้สารเคมี วัตถุหรือสื่อวัสดุอื่นๆร่วมกับการระบายสีแบบปกติ

เพื่อให้เกิดผลที่แปลกและน่าสนใจ

สรุป

  • การระบายสีน้ำ จัดเป็นรูปแบบศิลปะประเภทหนึ่ง ที่เป็นสื่อถ่ายทอดความรู้สึกของมนุษย์ด้วยมือ ตา สมอง ผสมกับความคิดสร้างสรรค์
  • สีน้ำมีคุณสมบัติโปร่งใส เปียกชุ่ม แห้งเร็ว รุกรานและยอมรับ นิยมระบายลงบนกระดาษขาว
  • ชนชาติแรกที่รู้จักการเขียนสีน้ำคือ จีน ซึ่งใช้การถ่ายทอดความเชื่อเกี่ยวกับธรรมชาติ
  • ต่อมาญี่ปุ่นรับจากจีนซึ่งมีทัศนคติเกี่ยวกับสีน้ำคล้ายกันรวมทั้งนำมาใช้ในการออกแบบภาพพิมพ์สี
  • สำหรับตะวันตกเริ่มมีบทบาทในสมัยฟื้นฟู โดยศิลปินชาวเยอรมันผู้สนใจสีน้ำเป็นพิเศษ คือ ออลเบรท ดูเรอ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสีน้ำคนแรก และมารุ่งเรืองในอังกฤษทั้งด้านศิลปินและการผลิตสีน้ำ จนได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
  • สำหรับประเทศไทยเริ่มรู้จักสีน้ำราว พ.ศ. 2456 เมื่อจัดตั้งโรงเรียนเพาะช่าง
  • ในการระบายสีน้ำนั้นวัสดุอุปกรณ์ใช้จำนวนน้อย และราคาไม่แพงนัก สำหรับอุปกรณ์ที่สำคัญ เช่น กระดาษรองเขียน กระดาษ สี พู่กัน เป็นต้น
  • การระบายสีน้ำนั้นต้องฝึกระบายตามลำดับขั้นตอน ต้องมีวินัย และตั้งใจจริง โดยมีเทคนิคและวิธีการระบาย 4 อย่าง คือ
  • ซึ่งเทคนิคต่างๆเหล่านี้เมื่อฝึกปฏิบัติแล้วก็นำมาถ่ายทอดตามทฤษฎีพื้นฐาน 3 ทฤษฎี คือทฤษฎีแสงและเงา ทฤษฎีรูปและพื้น ทฤษฎีการสร้างสรรค์
  • สุดท้ายการชื่นชมสีน้ำนั้นควรให้ผู้สนใจสั่งสมพฤติกรรมต่างๆตามลำดับ คือแสดงความสนใจ แสดงความชอบ แสดงความเข้าใจ และในที่สุดจึงแสดงความชื่นชมซึ่งเป็นพฤติกรรมสุดท้ายได้

วัสดุอุปกรณ์

- สีควรมีอย่างน้อย 8-10 สี (สีดี ๆ ส่วนใหญ่หลอดเป็นร้อย ถ้าต่ำกว่า 50 บาทส่วนใหญ่เป็นสีไม่ดี)

- วัสดุหรือสีดีจะช่วยได้

- พู่กันต้องมีแบบกลม แบน และยาว ใครถนัดใหญ่ใช้ใหญ่ ใครถนัดเล็กใช้เล็ก

- กระดาษในสารบบจะไม่แนะนำร้อยปอนด์ เหมือนตอนที่เคยเรียนตอนเด็ก แต่อยากให้ลองใช้กระดาษอาร์ต 100 จะดีกว่า

- เปียกบนเปียกไม่มีขอบ เปียกบนแห้งจะมีขอบ

- สีที่บีบให้พอใช้ให้บีบขนาดยาสีฟัน สีที่มากหน่อยคือสีน้ำเงิน สีอุลตร้ามารีน

อุปกรณ์

กระดาน กระดาษอาร์ต 100 กระดาษกาวน้ำ พู่กัน 3 แท่ง ถังพร้อมน้ำ สี ภาพตัวอย่าง ดินสอ ผ้าขนหนูชุบน้ำ

วิธีการเริ่มเขียนสีน้ำ

- เอากระดาษกาวน้ำติดมุมข้างบน ฝั่งยาวสองสั้นสอง เพื่อขึงกระดาษกับแผ่นกระดาน

- เห็นรูปแล้วเริ่มถอดแบบ เช่น สีเข้มทับสีอ่อน แบ่งส่วนกระดาษเป็น 1 ใน 3

- แจกดินสอ หรือพู่กันแบ่งเศษ 1 ส่วน 3 ส่วนบนมากกว่าล่างนิดหน่อย ขีดเส้นตรง

- การบีบสีให้เรียงจากสีเข้มไปสีอ่อน ให้เรียงสีไว้ ให้ดูวงจรสี (จานสีควรซื้อแบบปิดฝา)

- เลือกสัดส่วนสีที่ผสมว่าอยากไปโทนสีไหนมากกว่าให้ใช้สีนั้นมากกว่า ค่อย ๆ ผสมไปดูว่าออกไปโทนไหน ค่อย ๆ ผสมในจานสีให้ได้สีที่ชอบ


รูปภาพเกาะหมูเกาะแมว

ขั้นที่1 ระบายฟ้า

ใช้เทคนิคเปียกบนเปียก

- วางกระดาษแนวนอน ระบายฟ้าบนกระดาษที่ขนาด 2 ใน 3 ด้วยพู่กันแบบใหญ่

- เตรียมสีไล่สีจากสีอ่อนไปสีเข้ม ให้ดูตัวอย่างจากวงจรสี (จานสีอาจควรซื้อแบบปิดฝา)

- ทากระดาษด้วยน้ำตรงส่วนที่จะให้เป็นฟ้า เลือกสีอ่อน จุ่มน้ำ แล้วระบายบนกระดานที่แนวนอนเปียกฉ่ำ ๆ แล้วเอียงกระดานไปมา เช่นเลือกสีเหลือง สีส้มสำหรับทำให้สว่าง

- เลือกสีเข้มขึ้น จุ่มน้ำ แล้วระบายส่วนที่เหลือหรือส่วนที่ทับเดิม เช่นเลือกก้อนเมฆสีม่วง สามารถทำเป็นสายฝนโดยเอียงกระดานให้เหมือนเมฆมีสายฝน

- เลือกสีน้ำเงิน (อความารีน) ซึ่งเป็นสีเข้ม เพื่อคุมโทนให้เป็นสีน้ำเงินหลักอีกที แล้วเอียงกระดานไปมา

- ถ้าน้ำมากสีจะอ่อน น้ำน้อยสีจะเข้ม และเราสามารถระบายสีทับอีกทีเพื่อแก้ไข)

เริ่มต้นวางกระดานแนวนอนก่อนแล้วค่อยเอียงกระดาน

ขั้นที่ 2 ระบายทะเลและทราย

ใช้เทคนิคเปียกบนแห้ง

- ทำทะเล โดย ผสมสีฟ้า สีเขียว สีน้ำเงิน

- เลือกพู่กันขนาดกลมกลาง จุ่มสีที่ผสมระบายต่อเนื่องจากส่วนติดกับท้องฟ้าเป็นเส้นประมาณ 1 นิ้วไล่ลงมาจนเต็มในส่วนที่ต้องการให้เป็นทะเล และจะเห็นขอบสีที่ไหลลงมาก็ระบายสีต่อเพื่อให้สีเรียบ

- ทำพื้นทราย โดยผสมสีเหลือง ส้ม น้ำตาล อยู่ด้านล่างซ้ายตามแบบ

- เทคนิคการทำคลื่นโดยใช้กระดาษทิชชู่ม้วนแห้งเป็นก้อน ๆ ซับส่วนที่เปียกตรงส่วนที่ระบายสีน้ำเงินที่เป็นทะเล ถ้าซับหนักจะเป็นคลื่นสีขาว ซับอ่อนจะเป็นสีเทา ๆ

ขั้นที่ 3 ทำโขดหินกลางทะเลที่มีต้นไม้ และโขดหินไกล ๆ

ใช้เทคนิคระบายแบบเปียกบนแห้ง

ส่วนที่ 1 ทำโขดหินที่มีต้นไม้อยู่บนฝั่งขวาของกระดาษ

- เอียงกระดานประมาณ 5-10 องศาตามความต้องการรูปภาพ

- ใช้พู่กันกลมผสมสีทำโขดหินใช้สีน้ำเงินและสีม่วง ทำเป็นโขดหิน สีถ้าบางผสมให้เข้มนิดนึงแต่ แต่อย่าเข้มเกินและอย่าใช้สีเพียว ระบายเป็นโขดหินกลางทะเล (มุมขวา)

- ทำพุ่มต้นไม้ใช้สีน้ำเงินผสมสีเขียวทำเป็นพุ่มไม้โดยระบายเป็นพุ่ม ๆ ต้นไม้ พุ่ม ๆ

- ทำใบมะพร้าว นำสีที่ผสมวาดเป็นต้นมะพร้าว เป็นแฉก ๆ ใช้วิธีสะบัดพู่กันขึ้นเป็นแฉกจากจุดตรงกลางไปปลายใบมะพร้าว ทำหลายต้น แต่ไม่ให้เบียดกันมาก เพราะต้นมะพร้าวอ่อน ๆ ทำไฮไลต์เข้ม ๆ สีเขียวเข้มขึ้น เพื่อเป็นเงาตรงใบมะพร้าวให้เหมือนมีแสงส่อง

- ใช้พู่กันไฮไลต์จุ่มสีน้ำตาลผสมทำก้านมะพร้าว

ส่วนที่ 2 ทำโขดหินไกล ๆ ตรงสุดทะเล

- ใช้สีม่วงผสมสีน้ำเงินทำเป็นเกาะสองเกาะ

ขั้นที่ 4 ทำโขดหินที่ทราย ทิศทางคลื่นและองค์ประกอบภาพ

ใช้เทคนิคระบายแบบเปียกบนแห้ง

ส่วนที่ 1 ทำโขดหินที่ทราย

- ร่างโขดหินที่เราต้องการ

- ใช้สีน้ำตาลผสมระบายเป็นก้อนหิน

- ใช้สีน้ำตาลผสมสีม่วงสีน้ำเงินระบายก้อนหินเป็นเงา

- ใช้สีน้ำตาล แต้มตรงทรายทำเป็นเงา

ส่วนที่ 2 ทำทิศทางคลื่น

- ใช้สีน้ำเงินอุลตร้ามารีน ระบายเป็นทิศทางคลื่น

ส่วนที่ 3 ตกแต่ง

ใช้เทคนิคระบายแบบแห้งบนแห้ง

- ขีดเส้นตกแต่ง ระบายเป็นเสากระโดงเรือ รอยแตกของหิน และเม็ดกรวดทรายต่าง ๆ


ชิ้นงานที่ 2 วาดภาพวิว

- กระดาษที่แจกจะเขียนได้ 2 ด้าน (เป็นกระดาษดีหน่อย กระดาษบอกกิ้งฟอร์ด)

- ให้ลูบน้ำที่กระดาษให้เปียกฉ่ำทั้ง 2 ด้าน แล้วทิ้งไว้ 2 นาที

- ติดกระดาษกับกระดานด้วยกระดาษกาวน้ำ โดยให้ติดด้านที่ไม่เป็นลอนก่อน แล้วพยายามรีดกระดาษให้เรียบ

วิธีการ
1. แบ่งกระดาษเป็น 1ใน 3

2. การระบายสีครั้งแรกให้ชุ่มน้ำฉ่ำ ๆ ตรงส่วนที่จะวาดท้องฟ้า

หมายเหตุ : การลดความหนืดและเป็นมันของสีให้ผสมกับสีอื่นด้วย

ขั้นตอนที่ 1 วาดท้องฟ้า วาดต้นไม้

วาดท้องฟ้า

1. วางแสงสว่าง วางก้อนเมฆ (เวลาฝึกให้ฝึกก้อนเมฆเข้มก่อนก้อนเมฆขาว)

2. ลงสีอ่อน ๆ ก่อน อย่างสีเหลือง สีส้ม ชมพู แต่ขออย่าลงสีเขียวไปลงบนท้องฟ้าเพราะจะดูไม่สวย

3. วาดเมฆ

ลงสีม่วง สีน้ำเงิน ทับ แล้วเอนกระดานไปมาให้สีค่อนข้างแห้ง

วาดต้นไม้

1. ผสมสีม่วง น้ำเงิน เขียว วางเป็นต้นไม้พุ่ม ๆ

2. วาดต้นไม้เป็นต้น ๆ เช่น มะพร้าว ต้นสน ใช้สีเขียวเข้มขึ้น และทำให้ดูภาพมีมิติ

ขั้นตอนที่ 2 วาดหญ้า และวาดน้ำสะท้อน

วาดหญ้า

ใช้เทคนิคเปียกบนแห้ง

1. เริ่มจากสีเหลืองตรงกลาง มีมิติ และวาดสีเขียวอ่อนเป็นพื้นหญ้า ตัดระหว่างพุ่มไม้ไกล

วาดพื้นน้ำ

ใช้เทคนิคเปียกบนเปียก

1. ตีเส้น พื้นน้ำ

2. ใช้สีเหลืองอ่อนเป็นพื้นน้ำ และวาดให้เหมือนสะท้อนกับท้องฟ้า และต้นไม้

3. ทำลายน้ำกระเพื่อมใช้กระดาษชุบน้ำบางส่วนเป็นเส้น ๆ หรือพู่กันแห้งเขียนเป็นเส้น

ขั้นตอนที่ 3 วาดดอกไม้

ใช้เทคนิคเปียกบนแห้ง

1. ลากเส้นดินสอเป็นแปลงดอกไม้ทำเป็นขั้น ๆ แบบไม่ต้องตรง

2. ใช้พู่กันจิ้มสีชมพูทำเป็นดอกไม้ในแปลงหนึ่งเป็นดอก ๆ เล็ก ๆ มีสีอ่อนและสีแก่ (พู่กันลากดอกขึ้นหรือลงแล้วแต่ถนัด)

3. จิ้มสีเขียวทำเป็นใบหรือก้านห่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องทุกดอกแค่แซม ๆ

ขั้นตอนที่ 4 วาดต้นไม้ใหญ่

ใช้เทคนิคเปียกบนแห้ง

1.ใช้วิธีปัดพู่กันขึ้นเป็น 3 เส้น ทำเป็นโทนสีเขียวอ่อน เขียวแก่ และทำเป็นพุ่ม ๆ เว้นตรงช่วงกลางเพื่อทำลำต้นเป็นสีขาว (พู่กันลากขึ้นหรือลงแล้วแต่ถนัด)

2. ตรงไหนที่ทำสีแก่ ในชั้นที่สองที่ทำอีกครั้งให้แซมเป็นสีอ่อน ตรงไหนทำสีอ่อน ในส่วนแซมให้เป็นสีแก่

3.ลากเส้นสีที่ยังไม่แห้งเป็นลำต้นมาสู่พื้นดิน (สีจะสอดคล้องกับต้นไม้)

4. ใช้บัตรแข็งขูดตรงต้นไม้ที่ยังหมาด ๆ จะเป็นกิ่ง

คำถาม

1. สิ่งที่ได้วันนี้สอดคล้องกับอะไรที่ไปใช้ในอนาคต

- การใช้ภาวะผู้นำมีความจำเป็นในการต้องใช้หัวสมองฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ผู้นำต้องมีความจำเป็นที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์คือใช้สมองซีกซ้ายในการบริหาร และใช้สมองซีกขวาในการครองใจคน


หมายเลขบันทึก: 604339เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2016 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2016 10:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

การได้เรียนรู้ศิลปะทำให้ทุกคน (ไม่เฉพาะแค่ผู้นำ) เกิดภาวะผ่อนคลาย สามารถปรับสมดุลย์ทั้งร่างกายและจิตใจให้เกิดภาวะสงบ เป็นการฝึกสมาธิในขณะที่ได้ผ่อนคลายไปด้วย งานศิลปะไม่มีถูกผิด ทำให้ไม่เกิดความกดดันต่อผู้รังสรรค์งาน จากภาวะการทำงานของผู้บริหารที่ค่อนข้างมีตารางการทำงานที่ใช้สมองเยอะ และมีตารางเวลาแน่น อาจจะทำให้เกิดโรคที่มีสาเหตุจากความเครียดได้ การหาสมดุลย์ให้ชีวิตด้วยการมีงานอดิเรก จะทำให้ผู้บริหารได้อยู่กับตนเอง เกิดความสุขภายในใจ ไม่วุ่นวายกับความคิดที่แล่นเข้ามาในหัวอยู่ตลอดเวลา สรุปคือผู้บริหารควรมีกิจกรรมที่ตนเองชอบและแบ่งเวลาจากการทำงาน และจากสถานที่ทำงาน มาปรับสมดุลย์ให้ตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกาย หรือการบริหารสมองด้วยศิลปะ

ศิลปะเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราได้ใช้ความรู้ทางวิชาการร่วมกับจินตนาการ การวาดภาพด้วยสีน้ำในวันนี้เป็นเรื่องใหม่มาก แตกต่างจากการะบายสี การลงสีบนกระดาษด้วยเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้ทดลองทำ เกิดการเรียนรู้ปแบบใหม่โดยการเลียนแบบ เป็นสิ่งที่แปลงเพราะไม่มีใครวาดได้เหมือนกับต้นฉบับ แม้กระทั่งตัวศิลปินเอง อาจเป็นเพราะในขณะที่วาด เราได้ใส่ความรู้สึก จินตนาการ และความสร้างสรรค์ลงไปด้วย ซึ่งเกิดขึ้นแบบไดนามิค

การฝึกสมองซีกสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนที่ถนัดการใช้เหตุผล สิ่งที่รู้สึกได้คือ หากเราใช้สมองฝั่งเหตุผลบ่อย ๆ จะรู้สึกล้า ในขณะที่การใช้สมองอีกด้าน กลับรู้สึกผ่อนตลาย จึงถือเป็นเรื่องดีที่เราได้เรียนรู้ศิลปะโดยการใช้สีน้ำ น้ำเป็นสิ่งมหัศจรรย์ แต่งเติม ผสม สิ่งที่มีอยู่ให้เกิดสีใหม่ ๆ เหมือนกันที่เราต้องปรับเปลี่ยน สร้างความกลมกลืนของจิตและอารมณ์ รักษาจิตใจให้มีสมาธิ เพื่อให้จิตเกิดปัญญาในการดำเนินชีวิต

บางเรื่องของชีวิตก็ต้องมองให้เป็นศิลปะ ใช้ใจในการตัดสิน คงต้องเรียนรู้ให้มากกว่านี้ และฝึกเพื่อให้เกิดทักษะ ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายในช่วงเวลาที่ทำงานหนัก ๆ

จากการได้ร่วมโครงการพัฒนาผู้นำและนักบริหารเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัยทักษิณ รุ่นที่ 1 (ช่วงที่ 6 ระหว่างวันที่ 31มีนาคม - 1 เมษายน 2559) ได้รับความรู้ทางด้านศิลปะ การเขียนสีน้ำ เทคนิคต่างๆ ทำให้รู้ว่าวิธีการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอน มีการวางแผน ต้องคิดว่าจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง กว่าชิ้นงานจะสำเร็จ ต้องใช้สมาธิ ใจเย็น ค่อยๆทำไป ก็จะได้ชิ้นงานที่สวยงาม เช่นเดียวกับการทำงานในด้านการบริหารที่เราต้องมีความคิดสร้างสรรค์ มีการวางแผนที่ดี และลงมือทำ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

จิดาภา สุวรรณฤกษ์

การวาดรูปด้วยสีน้ำ เป็นสิ่งที่ชอบมากและฝันว่าวันนึงจะได้เรียนกับอาจารย์ที่เก่งๆ ในที่สุดความฝันเล็กๆเป็นความจริง มีความสุข ได้รับรู้ถึงความนิ่ง สงบ ในท่ามกลางความวุ่นวาย และได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ขอบคุณมากค่ะ

โครงการพัฒนาผู้นำนักบริหารเพื่ออนาคตของมหาวิทยาลัยทักษิณ (ช่วงที่ 6 ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน 2559)นั้นกระผมมีความรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับความรู้ทางด้านศิลปะ การเขียนสีน้ำด้วยเทคนิคและวิธีการต่างๆ ซึ่งสามารถทราบได้ว่าในการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้นมีกระบวนการที่เป็นขั้นตอน มีกระบวนการวางแผน ว่าควรจะทำอะไรก่อนและอะไรหลัง ต้องใช้สมาธิ ใจเย็น ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการทำงานว่าคนเราจะต้องมีกระบวนการวางแผน มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้งานนั้นสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ตลอดจนการลงพื้นที่ตะโหมดนั้น ส่งผลให้เข้าใจถึงบริบทของพื้นที่และได้ช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าที่สุด คือน้ำ เพราะได้มีโอกาสร่วมสำรวจฝาย

บทสรุปการเรียนรู้ (31มีนาคม - 1 เมษายน 2559)

การเป็นผู้นำที่ดี ต้องใช้สมองทั้งซีกซ้ายและขวา ศิลปะสีน้ำเป็นการพัฒนาความคิดด้วยสมองซีกสร้างสรรค์ ผู้นำที่ดีต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์

การวาดภาพสีน้ำทำให้ความรู้สึกผ่อนคลาย และสนุกสนานกลับมาอีกครั้ง เพราะครั้งหลังสุดที่จับพู่กันก็คงจะเป็นในวิชาศิลปะตอน ม.ปลาย การได้ฟื้นฟูความรู้ด้านศิลปะในวันนี้ตอนเช้าเริ่มต้นด้วยความกังวล แต่จบตอนบ่ายด้วยความผ่อนคลายและสนุกสนาน แถมได้ผลงานสวยๆกลับบ้านด้วย

ระวีวัฒน์ ไทยเจริญ

ศิลปะมีมากมายหลายสาขา มนุษย์สามารถเสพได้หลายทาง ส่วนใหญ่ก็เป็นการรับรู้ทางสายตา นอกจากนี้ศิลปะแขนงอื่นอาจเป็นการรับรู้ทางหู อย่างเช่น ดนตรี หรือบางสาขาอาจเป็นการรับรู้ร่วมกันระหว่างตาและหูอย่าง เช่น ศิลปะการแสดงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมประเภท รำ โนรา ลิเก รวมไปถึงภาพยนตร์ เป็นต้น

ศิลปะการเขียนสีน้ำก็เป็นสาขาหนึ่งของทัศนศิลป์ซึ่งนอกจากเป็นการกระตุ้นให้สมองได้ทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยผ่อนคลายความเครียดจากการทำงาน การชื่นชมผลงานอย่างมีความสุขไม่ว่าผลงานจะมีความสวยงาม แค่ไหนก็ตาม

มหาวิทยาลัยควรมีช่องทางให้บุคลากร นิสิตได้มีประสบการณ์สุนทรียะ เพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์ ทำให้จิตใจอ่อนโยน สมองได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ทำให้ทำงานและเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถใช้ศิลปะมาบำบัดจิตใจตนเองได้เมื่อมีปัญหาในการเรียน หรือการใช้ชีวิต

การบริหารจำเป็นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์
ดังนั้นผู้บริหารในศตวรรษที่ 21 ต้องมีทักษะของศาสตร์การบริหารที่แท้จริงและทักษะของศิลป์การบริหารที่ลึกซึ้ง

วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์

ศิลปะเป็นการสร้างสมดุลของการใช้ชีวิต ปกติผู้บริหารมักจะต้องใช้สมองส่วนใหญ่ในการคิด วิเคราะห์ วางแผน กำกับ ติดตามและแก้ปัญหาในองค์กรอาจจะส่งผลทำให้เกิดความเครียด การใช้ศิลปะเข้ามาช่วยให้เกิดการผ่อนคลาย การปล่อยวางและขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างสมาธิในช่วงของการทำงานศิลปะ ทำให้เป็นการปลุกพลังให้เกิดขึ้นพร้อมที่จะทำงานต่อไป

ผศ.ดร.อมลวรรณ วีระธรรมโม

สรุปบทเรียนช่วงที่ 6 กิจกรรมรักษ์กาย-รักษ์ใจ

เรียนเรื่องนี้มีความสุข สนุก ชีวิตมีความสุขมาก ได้มีกิจกรรม ได้เขียนภาพระบายสี เป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ และที่สำคัญคือ ฝึกอยู่กับตัวเอง ศิลปะทำให้คนมีสุนทรียะ มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์มากขึ้นมหาวิทยาลัยควรมีช่องทางให้บุคลากร นิสิตได้มีประสบการณ์สุนทรียะ เพื่อเติมเต็มความเป็นมนุษย์ ทำให้จิตใจอ่อนโยน สมองได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ทำให้ทำงานและเรียนอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถใช้ศิลปะมาบำบัดจิตใจตนเองได้เมื่อมีปัญหาในการเรียน หรือการใช้ชีวิต

การเป็นผู้นำต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ โดยศิลปะช่วยให้มีความใจเย็นมากขึ้น มีการคิดและวิเคราะห์สาเหตุและทราบถึงผลลัพธ์ การผสมมีและผลลัพธ์ที่ได้จากการผสมสี การลงสีบนกระดาษ การทาน้ำลงในกระดาษ ทุกอย่างล้วนต้องใช้สมาธิในการทำงานทั้งสิ้น การเป็นผู้นำ การบริหารคนก็ไม่แตกต่างกัน ผู้นำต้องรู้จังหวะ ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกล่าวยกย่องชมเชย หรือกล่าวตำหนิทีมงาน เพื่อให้ความเป็นทีมและความทุ่มเทให้กับทีมยังคงอยู่ต่อไป

อ.ดร.ธีรพร ทองขะโชค

สรุปบทเรียนช่วงที่ 6 กิจกรรมรักษ์กาย-รักษ์ใจ

กิจกรรมในวันนี้ รู้สึกสนุกสนานมาก การวาดรูปสีนำ้ในวันนี้ทำให้เรียนรู้ว่าการทำงานทุกอย่างต้องอาศัยการเรียนรู้ สิ่งไหนที่ไม่เคยทำไม่ได้แปลว่าจะทำไม่ได้ งานชิ้นแรกอาจไม่ใช่งานที่ดีที่สุด แต่เป็นงานที่ความประทับใจเสมอ การลงสีน้ำบางครั้งเราไม่สามารถลงสีตามใจเราได้ ต้องคำนึงถึงเงื่อนไขหลายๆอย่าง เช่น ต้องรอคอยกระดาษที่เปียกกำลังดี การเลือกใช้สี การระบายสี เทคนิคการใช้พู่กัน หรือแม้กระทั่งความกล้าที่จะจรดพู่กันลงไปบนกระดาษในครั้งแรก ภาพที่วาดอาจไม่เหมือนดังใจเราที่วางแผนเอาไว้ เพราะปัจจัยหลายๆอย่างที่กล่าวมา แต่ไม่ได้แปลว่าภาพนั้นจะไม่มีคุณค่า เพราะยังคงความงามในแบบของมัน

ศิลปะในการเป็นผู้นำก็เช่นกัน อาจไม่มีรูปแบบการบริหารใดที่ทำให้ถูกใจคนทุกคน ทุกที่ ทุกสถานการณ์ เนื่องด้วยเหตุปัจจัยแตกต่างกันตามสภาวะ ดังนั้น ผู้ที่จะเป็นผู้นำต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่เสมอให้สามารถบริหารงานและคนได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์เพื่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันในองค์กรได้อย่างมีความสุข

ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน แล้วแต่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ว่าเมื่อไรจะถูกใช้หรือนำมาใช้....นั้นคือความสมดุลในวิถีชีวิต....การวาดรูปหรือการระบายสีน้ำ เป็นวิธีหนึ่งในการฝึกสมาธิ...ฝึกให้เราได้อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...เริ่มตั้งแต่ การวางแผน การออกแบบ การลงมือปฎิบัติ และการทบทวนในสิ่งที่เกิดขึ้น.... เป็นวิธีการที่เราสามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานและการดำเนินชีวิต....

การเรียนในช่วงนี้เป็นการเรียนที่รู้สึกว่าสบายและผ่อนคลายที่สุด แต่มากด้วยสาระ เพราะเป็นการเรียนผ่านกิจกรรม ทั้งกิจกรรมคลายเครียด กิจกรรมวาดภาพระบายสี เป็นการบอกและเชื่อมโยงสิ่งที่ได้เรียนรู้มาจากช่วงที่ผ่านมาว่า ผู้นำไม่ใช่อยู่กับความเครียดตลอดเวลา แต่ควรมีบางช่วงเวลาที่ต้องได้รับการผ่อนคลาย ซึ่งจะช่วยให้สามารถพัฒนาความคิด และกระบวนการทำงานได้ดียิ่งขึ้น เป็นการรีเฟรชทุกอย่าง ทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสมอง

กิจกรรมระบายสีน้ำ ฝึกให้ผู้นำเรียนรู้และเข้าใจการทำงานที่ต้องการความละเอียดอ่อน ความสุนทรีในอารมณ์และความรู้สึก การฝึกฝนและความอดทน และที่สำคัญคือฝึกความคิดสร้างสรรค์ และการจินตนาการ

สรุปได้ว่าผู้นำต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์อย่างสมดุล จึงจะเป็นผู้นำที่ดี


ในช่วงที่ 6 ได้มีโอกาสเรียนรู้และลงมือปฏิบัติการวาดภาพสีน้ำ ซึ่งเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่จะช่วยฝึกฝนให้ผู้นำมีความสุนทรียมากขึ้น ด้วยศิลปะไม่มีพรมแดน ไม่มีถูกผิด ไม่มีกฏเกณฑ์ตายตัว ไม่มีสวยหรือไม่สวย ขึ้นอยู่กับมุมมอง ที่สำคัญคืองานศิลปะจะมีคุณค่ากับผู้ที่เข้าใจศิลปะ

ไม่ได้วาดภาพสีน้ำมานานไม่คิดว่าจะต้องใช้สมาธิมากขนาดนั้นในช่วงเวลานั้นทำให้เข้าใจว่าในการทำงานมีความจำเป็นที่จะต้องนิ่งในบางสถานการณ์ก็จะทำงานได้ดี การทำงานจึงเป็นศิลปะอีกอย่างหนึ่งที่ต้องใช้ศาสตร์หลาย ๆ อย่างประกอบกันจึงจะสามารถนำไปใช้ได้ดี แม้ว่าจะวาดรูปออกมาตัวเองยังไม่พีงพอใจแต่ก็คิดว่าทำได้ที่สุดแล้ว ทำให้ได้ข้อคิดว่าคนเราจะเก่งทุกเรื่องคงไม่ได้ถ้าเรารู้ทักษะฝีมือเราว่าทำได้ไม่ดี เราก็ต้องขอช่วยคนอื่นให้มาทำแทนได้ในบางเรื่อง ชอบการผสมสีของอาจารย์มันเข้าก้ันได้ดี แต่เวลาเราทำบ้างออกมาไม่สวยเหมือนของอาจารย์ ทำให้รู้อีกว่าจังหวะของการทำงานต้องกะเกณฑ์และตัดสินใจให้ดี อะไรหนัก อะไร เบา วิชานี้ไม่น่าเชื่อเรื่องง่ายแต่ยาก บางวิชายากแต่เราว่าง่าย ก็เหมือนกับการเป็นผู้นำที่มีผู้ตามที่ต้องคอยดูแล สนุกและไม่เครียดชอบมาก ๆ ทำให้เริ่มรักศิลปสีน้ำครับ

การได้เขียนภาพระบายสี เป็นการฝึกสมาธิ ฝึกความคิดสร้างสรรค์ ทำให้จิตใจอ่อนโยน

การใช้ภาวะผู้นำมีความจำเป็นในการต้องใช้หัวสมองฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ผู้นำต้องมีความจำเป็นที่ต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์คือใช้สมองซีกซ้ายในการบริหาร และใช้สมองซีกขวาในการครองใจคน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท