มุมมองเรื่องความรู้และการจัดการความรู้


วงจรการเรียนรู้และการจัดการความรู้ได้นำมาเรียบเรียงให้เป็นขั้นตอนแบบเรียบง่ายตามความเข้าใจ มี 4 ขั้นตอนคือ Go To Know, Go To Think, Go To Do, Go To Share

มุมมองเรื่องความรู้และการจัดการความรู้

Learning and Knowledge Management Perspective

พันเอก มารวย ส่งทานินทร์

[email protected]

9 มีนาคม 2559

บทความเรื่อง มุมมองเรื่องความรู้และการจัดการความรู้ (Learning and Knowledge Management Perspective) นี้ เป็นเอกสารประกอบคำบรรยายเรื่อง “เรียนรู้ทุกขณะจิต เพื่อพิชิตการพัฒนา” ในการประชุม 17th HA National Forum ในวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2559 ณ ห้องประชุม Saphire 101, Impact Forum เมืองทองธานี

ผู้ที่สนใจเอกสารในการบรรยายแบบ PowerPoint (PDF file) สามารถ Download ได้ที่ http://www.slideshare.net/maruay/maruay-17th-ha-forum-59177380

Simple KM Cycle

จากชื่อ เว็บไซต์ Go To Know ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมความรู้ด้านต่าง ๆ ของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายให้ผู้ที่สนใจใฝ่หาความรู้ ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำให้เกิดความคิดว่า ชื่อของเว็บไซต์นี้ น่าจะใช้สื่อความหมายแบบง่าย ๆ เกี่ยวข้องกับวงจรการเรียนรู้และการจัดการความรู้ได้ จึงนำมาเรียบเรียงให้เป็นขั้นตอนแบบเรียบง่ายตามความเข้าใจ มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนคือ

  • Go To Know ในขั้นแรกเราได้รับรู้หรือความรู้ โดยใช้ประสาทสัมผัสต่าง ๆ เช่น ตา ใช้ดู สังเกต อ่าน หูใช้ฟังเสียง จมูกใช้ดมกลิ่น ลิ้นใช้รับรสชาดต่าง ๆ กายหรือมือใช้สัมผัส ถูกต้อง ลูบ คลำ (ที่ยังไม่ได้ระบุคือ ใจ ว่าจะรวมเป็นการรับรู้ด้วยหรือไม่ เพราะชาติตะวันตกอาจยังไม่มีความลึกซึ้งเพียงพอ โดยเฉพาะเรื่องปัญญาที่เกิดจากการทำสมาธิ)
  • Go To Think เมื่อเราได้เรียนรู้จากสิ่งกระตุ้นภายนอกต่าง ๆ ผ่านทางประสาทสัมผัสแล้ว จะต้องมาทำการประมวลเข้ากับความรู้เดิมที่เรามีอยู่หรือยังไม่เคยมี บวกกับความรู้ใหม่ที่ได้รับเข้ามา แล้วคิดพิจารณาให้ลึกซึ้งถึงรายละเอียด (เชิงลึก) ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมข้างเคียง (เชิงกว้าง)รวมถึงผลกระทบหรืออิทธิพลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย (เชิงไกล)
  • Go To Do เดิมจะใช้คำว่า Action ที่หมายถึงการกระทำ แต่เนื่องจากต้องการความเรียบง่ายและสอดคล้องกับขั้นตอนอื่น ๆ จึงใช้คำว่า Do ที่แปลว่ากระทำได้เช่นกัน คือหลังจากได้พินิจพิจารณาถึงหลักวิชาการ และหลักปฏิบัติที่เป็นไปได้ คำนึงถึงความเหมาะสม ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย แล้วทดลองปฏิบัติ โดยอาจทำเป็นโครงการนำร่อง ได้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีการทบทวนผลการกระทำหลังการปฏิบัติ ซึ่งเป็นการเรียนรู้จากการกระทำ อาจได้ผลเหมือนกันหรือต่างกันจากที่รับรู้มาก็ได้
  • Go To Share เมื่อเราได้มีประสบการณ์จริงจากการปฏิบัติ มีการเรียนรู้จากของจริง ขั้นต่อไปคือการได้เผยแพร่สิ่งที่เราได้เรียนรู้ ให้กับผู้ที่มีความปรารถนาจะเรียนรู้เช่นเดียวกับเรา เราสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างมั่นใจ ว่าสิ่งนี้ถูกสิ่งนี้ควรทำ สิ่งนี้ทำแล้วเกิดโทษไม่สมควรทำ แต่แนะนำเขาว่าอย่าเชื่อเลยทันทีที่รับฟัง ควรใคร่ครวญด้วยตนเองก่อนถึงประโยชน์และโทษแล้วจึงจะเชื่อ

Learn How To …

  • คำว่า Go To แปลว่าไป... เช่น go to school แปลว่าไปโรงเรียน go to sleep แปลว่าไปนอน ก่อนหน้านี้มักจะใช้คำว่า Learn How To… ที่แปลว่าเรียนรู้ที่จะ... เช่น Learn How To Learn แปลว่าเรียนที่จะเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงการเรียนรู้ (Learning)
  • Learn How To Connect แปลว่าเรียนรู้ที่จะติดต่อกัน ก็คือ ชุมชนนักปฏิบัติ (Community of Practice: CoP) และ Learn How To Share หมายถึงเรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน คือการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM)

ผลลัพธ์ของการจัดการความรู้

  • การจัดการความรู้ทำให้เกิดการเรียนรู้ของบุคคลและขององค์กร (Personal Learning & Organization Leaning) ส่งผลเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization: LO)
  • ผลขององค์กรแห่งการเรียนรู้ ส่งผลต่อไปคือ Learn How To Innovate คือเรียนรู้ในการสร้างนวัตกรรม (Innovation) การสร้างนวัตกรรมจะส่งผลในการสร้างคุณค่า (เพิ่มรายได้) ให้กับองค์กร
  • และนำความรู้ที่ได้ ไปใช้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรม และใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ (ตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติใหม่ล่าสุด)

เกณฑ์ TQA 2559-2560 ถามว่า

  • 4.2ก(1) การจัดการความรู้ (Knowledge Management) องค์กรมีวิธีการอย่างไรในการจัดการความรู้ขององค์กร
    • รวบรวมและถ่ายทอดความรู้ของบุคลากร
    • ผสาน/หาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ (Big Data) เพื่อสร้างความรู้ใหม่
    • ถ่ายทอดความรู้ระหว่างองค์กรกับลูกค้า ผู้ส่งมอบ พันธมิตร และผู้ให้ความร่วมมือ
    • รวบรวมและถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการสร้างนวัตกรรมและกระบวนการวางแผนเชิงกลยุทธ์
  • 4.2ก(2) การเรียนรู้ระดับองค์กร (Organizational Learning) องค์กรมีวิธีการอย่างไรในการใช้องค์ความรู้และทรัพยากรต่างๆ เพื่อให้การเรียนรู้ฝังลึกลงไปในวิถีการปฏิบัติงานขององค์กร

ความสัมพันธ์ของ อินเตอร์เน็ตของสิ่งต่าง ๆ ข้อมูลขนาดใหญ่ และ การจัดการความรู้

  • ในอนาคตอันใกล้ อินเตอร์เน็ตของสิ่งต่าง ๆ (Internet of Things: IoT) จะมีบทบาทกับการดำเนินชีวิตประจำวันและการทำงานของเรา เช่น Smart Phone, Smart Cars, Smart Home, และ Smart City เป็นต้น
  • อินเตอร์เน็ตของสิ่งต่าง ๆ แต่ละสิ่ง จะมีการผลิตข้อมูลและติดต่อสื่อสารกับสิ่งอื่น ๆ ผ่านทางเครือข่าย ด้วยจำนวนของอินเตอร์เน็ตของสิ่งต่าง ๆ ที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมหาศาล ทำให้เกิดเป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)
  • ข้อมูลขนาดใหญ่จะก่อเกิดประโยชน์ขึ้นมาเป็นความรู้ (Knowledge) ได้ จะต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองออกมาด้วยกระบวนการทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการประมงลผล ที่สามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้อย่างเหมาะสม
  • ความรู้ที่ได้มาต้องมาเข้ากระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ขึ้นในองค์กร เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระดับบุคคลและระดับองค์กร จนเกิดเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization)
  • เมื่อองค์กรเกิดการเรียนรู้ ก็มีการนำความรู้มาใช้ประโยชน์คือ การสร้างนวัตกรรม (Innovation) ของผลิตภัณฑ์และบริการ และนำความรู้ขององค์กร ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนกลยุทธ์ด้วย
  • นวัตกรรมและแผนกลยุทธ์ขององค์กร ที่มีเหนือกว่าคู่แข่งขัน ทำให้เกิดความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ (Strategic Advantages) สามารถใช้เพิ่มคุณค่า (ประโยชน์ รายได้ ผลกำไร) ให้กับองค์กร ทำให้มีผลประกอบการที่เป็นเลิศ (Performance Excellence)

สรุป

  • การเรียนรู้ หมายถึง ความรู้หรือทักษะใหม่ ที่ได้รับจากการประเมิน การศึกษา ประสบการณ์ และนวัตกรรม
  • การจัดการความรู้ หมายถึง กระบวนการของการดักจับ การพัฒนา การแบ่งปัน และการใช้ความรู้ขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิผล
  • การสร้างนวัตกรรม หมายถึง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์ บริการ แผนงาน กระบวนการ การปฏิบัติการ และรูปแบบทางธุรกิจขององค์กร เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • KM 2.0 หมายถึง การจัดการความรู้ที่นำเครื่องมือสื่อสังคมมาใช้ (E 2.0) เพื่อปรับปรุงการเชื่อมต่อ สร้างความสัมพันธ์ และความไว้วางใจ มีผลทำให้การสื่อสารและการถ่ายทอดความรู้ดีขึ้น
  • Big Data หมายถึง สินทรัพย์ทางสารสนเทศที่มีปริมาณสูง ความเร็วสูง และความหลากหลายสูง ต้องอาศัยประสิทธิภาพและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ของการประมวลผลข้อมูล เพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น และใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจ
  • Internet of Things (IoT) หมายถึง เครือข่ายของวัตถุทางกายภาพ ที่มีการฝังอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซอฟแวร์ เซ็นเซอร์ และมีการเชื่อมต่อกับเครือข่าย ทำให้วัตถุเหล่านี้ สามารถเก็บรวบรวม และแลกเปลี่ยนข้อมูลได้

*************************************

คำสำคัญ (Tags):
หมายเลขบันทึก: 603143เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2016 18:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2016 18:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท