​ชีวิตที่พอเพียง 2613. เคมีพิศวง



ภาพยนตร์สารคดี บีบีซี เรื่อง Chemistry : A Volatile Historyเล่าเรื่องธาตุอย่างน่าสนุกน่าสนใจ นี่คือเรื่องราวของส่วนหนึ่งของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการปฏิวัติใหญ่ของมนุษยชาติครั้งที่ ๓ (Scientific Revolution) เริ่มเมื่อห้าร้อยปีมาแล้ว โดยครั้งที่ ๑ คือ การปฏิวัติพลังสมอง (Cognitive Revolution) เริ่มเมื่อสองแสนปีมาแล้ว ครั้งที่ ๒ การปฏิวัติเกษตรกรรม เริ่มเมื่อหนึ่งหมื่นปีมาแล้ว (Agricultural Revolution)

พิธีกร คือ Jim Al-Khalili เป็นศาสตราจารย์ทางนิวเคลียร์ฟิสิกส์ พาเราย้อนกาลเวลาไปเกือบสี่ร้อยปี สู่การค้นพบธาตุฟอสฟอรัส จากปัสสาวะของคน โดยที่นักเคมีในสมัยนั้นต้องการกลั่นปัสสาวะเป็นทอง

ผมดูหนังตอนที่ ๑ แล้วบอกตัวเองว่า มนุษย์เราเพิ่งเข้าใจธรรมชาติอย่างถูกต้องเมื่อสองสามร้อยปีมานี้เอง โดยที่เริ่มจากหลายพันปีก่อน เราชื่อว่าสิ่งต่างๆ ในโลกเกิดจากธาตุสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ เวลานี้เรารู้ว่าธาตุมีมากกว่านั้นมาก คือมี ๙๒ ธาตุที่เกิดตามธรรมชาติ และมีธาตุที่มนุษย์สร้างขึ้นอีก ๒๔ อ่านเรื่องราวของธาตุย่อๆ ได้ ที่นี่

ความสนุกในการดูหนังสารคดีแบบนี้อยู่ที่วิธีนำเสนอ ที่ได้ทั้งความรู้ ได้เที่ยว ได้เข้าไปชมการทดลองทางเคมี และได้สังเกตวิธีนำเสนอให้น่าสนใจ

ได้รับรู้เรื่องราวการค้นพบธาตุ อ็อกซิเจน ที่ Joseph Priestley นักเคมีชาวอังกฤษกับ Lavoisier ชาวฝรั่งเศสแย่งกันอ้างว่าเป็นผู้ค้นพบ ซึ่งดูหนังแล้วหากให้ผมตัดสินรางวัลตามเรื่องในหนัง ผมให้ได้รับรางวัลคู่กัน เพราะขาดคนใดคนหนึ่งก็ไม่พบอ็อกซิเจน แต่เรื่องในหนังมีส่วนที่น่าสนใจอีกมากมายนะครับ

ตอนที่ ๒ เป็นเรื่องการค้นพบ The Periodic Table of the Elementsและค้นพบโครงสร้างของอะตอม ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างเคมีและฟิสิกส์ ที่โครงสร้างของอะตอมของแต่ละธาตุอธิบายคุณสมบัติทางเคมีของธาตุนั้น รวมทั้งค้นพบพลังงานที่ซ่อนอยู่ในอะตอมของธาตุต่างๆ

เป็นการเรียนประวัติศาสตร์การค้นพบธาตุที่เชื่อมโยงกับเรื่องราวอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลกในขณะนั้น ทำให้เป็นความรู้ที่มีบริบท รวมทั้งมีการทดลองให้เห็นในภาพยนตร์ ผมจินตนาการว่า หากสมัยผมเป็นเด็ก ได้เรียนวิทยาศาสตร์จากภาพยนตร์แบบนี้ประกอบ ผมคงจะเข้าใจง่ายขึ้นมาก และอาจสร้างความพิศวง จูงใจให้ผมเบนเข็มไปเรียนสายวิทยาศาสตร์พื้นฐานก็ได้

ตอนที่ ๓เป็นเรื่องราวของการที่ธาตุมีปฏิกิริยาเคมีต่อกัน เกิดเป็นสารประกอบในธรรมชาติ และการค้นพบโครงสร้างของอะตอม ส่วนนิวเคลียสว่าประกอบด้วยโปรตอนและนิวตรอน ค้นพบ chemical bond ค้นพบการจัดเรียงตัวของสารประกอบที่แตกต่างกัน มีคุณบัติแตกต่างกัน เรียกว่า isomer ค้นพบธาตุที่อะตอมไม่เสถียร ปล่อยกัมมันตรังสีออกมา และกลายเป็นอีกธาตุหนึ่ง ค้นพบการแยกนิวเคลียสของธาตุ ออกเป็นครึ่ง กลายเป็นอีกธาตุหนึ่ง และมวลหายไปนิดหนึ่ง กลายไปเป็นพลังงาน เกิดการค้นพบพลังงานนิวเคลียร์ ที่ตามมาด้วยการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ และตามมาด้วยการสร้างธาตุใหม่ด้วยการยิงนิวตรอนเข้าไปในธาตุเดิม ได้ธาตุใหม่ที่ไม่เสถียร คงตัวอยู่แค่เป็นวินาที ที่จริงตอนที่ ๓ นี้ น่าจะเป็นเรื่องนิวเคลียร์ฟิสิกส์ มากกว่า

ต้องดูหนังเองนะครับ จึงจะสนุก ได้เรียนเคมีและฟิสิกส์แบบใหม่ ที่เข้าใจง่าย แถมด้วยหนังที่บอกประโยชน์ หรือการใช้งานธรรมชาติหรือปรากฏการณ์นั้นๆ

ขอบคุณ อ. หมอปรีดา มาลาสิทธิ์ ที่กรุณามอบหนังเรื่องนี้


วิจารณ์ พานิช

๑๒ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 603107เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2016 08:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2016 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท