ข้อคิดเห็นและมุมมอง ต่อการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2559


ข้อคิดเห็นและมุมมอง

ต่อการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2559
*************
.....เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559 ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะทำงานและปฏิบัติงานโครงการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2559 ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 9 จังหวัดพิษณุโลก ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบไปด้วยหัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต,หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ ของสำนักงานเกษตรจังหวัดในเขต 9 ทีมงานของเขต และคณะทำงานเมื่อปี 2558 ร่วมประชุม โดยมีท่านไพรัช หวังดี ที่ปรึกษาอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรเป็นประธานในการประชุม
ผมเข้าร่วมประชุมในบทบาทที่เคยเป็นทีมวิทยากรผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ในหลักสูตรนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2558 และในปี 2559 นี้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้กำหนดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรเพิ่มเติมอีก 3 หลักสูตร รวมเป็น 4 หลักสูตร คือ

1. หลักสูตรการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (หลักสูตรเดียวกันกับปี 2558)
2. หลักสูตรการพัฒนานักสอนงาน (coaching)
3. หลักสูตรการพัฒนานักยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร
4. หลักสูตรการพัฒนามิสเตอร์พืช

.....ข้อคิดเห็นของผมต่อกระบวนการทำงานที่ผ่านมา กับแนวคิดที่อยากเห็นต่อไปในอนาคต ที่ส่วนหนึ่งผมได้สะท้อมุมมองในที่ประชุมไปแล้ว แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้นำเสนอ เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงขอบันทึกไว้ ส่วนการจะนำไปสู่การปรับปรุงหรือพัฒนาหรือไม่นั้นไม่เป็นไรเป็นเรื่องของความคิดเห็น เจตนาจริงแท้ที่มุ่งหวังก็เพียงเพื่อการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตร ให้มีความสามารถไปขับเคลื่อนงานส่งเสริมการเกษตรได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมีข้อคิดเห็นต่อกระบวนการพัฒนาฯ ดังนี้
-------------------------------------------------------------
1. หลักสูตรการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ
-------------------------------------------------------------
หลักสูตรนี้ ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่า เป็นกระบวนการที่เหมาะสมกับการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งในแต่ละเขตอาจมีกระบวนการพัฒนาทั้งที่เหมือนและแตกต่าง แต่สุดท้ายเราพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรไปสู่เป้าหมายเดียวกัน
ในฐานะที่ได้ร่วมกระบวนการพัฒนามาตั้งแต่เริ่มแรก และจากประสบการณ์ตรงการพัฒนาตัวเอง และจากการที่เคยเป็นผู้สอนงานนักส่งเสริมการเกษตรที่บรรจุใหม่ ได้สรุปเป็นบันใด 6 ขั้น ของการก้าวไปสู่การเป็นนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพไว้เป็นบทความ สรุปได้ดังนี้
1. การปรับแนวคิด (การคิด/คิดเป็น) ซึ่งภาษาสมัยใหม่เขาเรียกว่าการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) และคิดเป็น
2. การพัฒนาตนเอง (รู้ว่าตัวเองรู้/ไม่รู้อะไร และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา)
3. การสร้างทีมงานและเครือข่ายการทำงาน
4. การสร้างระบบการทำงานในองค์กร (คิด/บูรณาการและทำงานอย่างเป็นระบบ)
5. การปรับกระบวนการทำงานในพื้นที่
6. การบันทึกและรายงานผลการปฏิบัติงาน (การเขียนเป็น พูดเป็นและนำเสนอเป็น)
ซึ่งการจัดกระบวนการเรียนรู้หลักสูตรการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2558 ที่ผ่านมา ผมมีหลักในการจัดกระบวนการ ดังนี้
• ผมยึดบันใด 6 ขั้นนี้เป็นแนวทาง ซึ่งเป็นทั้งวิธีการและเป้าหมาย
• ส่วนหลักสูตรที่กำหนดไว้ ก็ใช้เป็นขอบเขตเบื้องต้น เพื่อสื่อสารกับทีมงานและผู้เข้าร่วมกระบวนการเรียนรู้
• การจัดกระบวนการนั้นต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
• มีการปรับวิธีการและเครื่องมืออยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถระบุ/กำหนดไว้ตายตัวได้เสมอไป
• เน้นการปรับเปลี่ยนผู้ร่วมกระบวนการเรียนรู้จากภายในสู่ภายนอก
• ปรับเปลี่ยนวิธีคิด แล้วค่อยปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติ
• ให้มีการปฏิบัติจริง ควบคู่ไปกับการรู้หลักการ และหลักวิชา/ทฤษฎี
• ระหว่างการจัดกระบวนการเรียนรู้ ก็จะพัฒนาและสร้างทีมงานไปพร้อมๆ กัน
• ฯลฯ

----------------------
ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม
---------------------
1) ในการทำงานส่งเสริมการเกษตรนั้น ต้องยอมรับว่ามีองค์ความรู้และวิธีการปฏิบัติที่แตกต่างหลากหลายมากมาย ที่แต่ละคนอาจถนัดหรือเก่งไปคนละด้าน คงไม่มีใครที่เก่งไปในทุกๆ เรื่อง ดังนั้น ทุกคนต้องเปิดใจและเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้เป็นผู้เรียนรู้ ไปพร้อมๆ กับผู้เข้ารับการอบรม เพื่อพัฒนาตนเองให้ยกระดับ เช่น จากนักส่งเสริมการเกษตร สู่การเป็นมืออาชีพ พัฒนาต่อไปเป็นพี่เลี้ยงผู้สอนงาน และก้าวไปสู่การเป็นวิทยากรฯ เป็นต้น
2) ผู้จัดการอบรม/สัมมนา เพื่อการพัฒนาฯ เขตฯ ต้องทำในหลายบทบาท นอกจากการเป็นผู้จัดฝึกอบรมแล้ว สิ่งที่อยากเห็นก็คือการเข้าสู่กระบวนการพัฒนาไปสู่การเป็นมืออาชีพในบทบาทและภารกิจของตนเองไปพร้อมๆ กันกับจังหวัดและอำเภอ เพราะในอนาคตจะได้เป็นที่พึ่งให้แก่สำนักงานเกษตรจังหวัด/อำเภอได้
3) รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ ควรเป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งวิชาการ และการลงมือปฏิบัติ และการสรุปบทเรียนไปพร้อมๆ กัน (เหตุผลตามภาพปิรามิดการเรียนรู้ ประกอบ)
4) “คนที่จะสอน ต้องทำเป็นและสอนเป็น” คนที่จะมาร่วมจัดกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละศาสตร์ ควรพิจารณาจากคนที่ “ต้องทำเป็นและสอนเป็น” (ไม่ใช่ท่องตำราแล้วมาสอน) เพราะบางคนทำเป็นแต่สอนไม่เป็นก็มี และในทางกลับกันบางคนสอนเป็นแต่ทำไปเป็นก็มีเช่นกัน
5) จากประเด็นที่ว่า “ต้องทำเป็นและสอนเป็น” ดังนั้น ให้ลืมรูปแบบการฝึกอบรมแบบเดิม ที่เป็นเพียงการเชิญวิทยากรนอก มาบรรยายเป็นรายวิชาๆ ตามหลักสูตรไปได้เลย เพราะมันจะไม่เกิดผลอะไรกับกระบวนการเรียนรู้และพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรของเรามากนัก
6) วิทยากรบางส่วนหรือส่วนใหญ่ ควรพิจารณาจาก คนที่เคยทำงานส่งเสริมการเกษตรมาก่อนในเบื้องต้น เพราะเชื่อว่านักส่งเสริมการเกษตรที่มีความรู้ความสามารถยังมีในพื้นที่อีกมาก เพราะงานส่งเสริมการเกษตรเป็นงานที่ต้องทำงานกับคน เพื่อให้คนไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรม คนที่เคยลงมือปฏิบัติมาแล้วย่อมชี้ทางสว่าง มีแนวทางหรือเทคนิควิธีให้กับนักส่งเสริมการเกษตรที่เริ่มทำงานใหม่ๆ ได้ดี และตรงกับสิ่งที่จะนำไปใช้ในการทำงานได้มากที่สุด เพราะในความเป็นจริง
o คนที่เข้าใจงานส่งเสริมการเกษตรมากที่สุดก็คือคนที่ทำงานส่งเสริมการเกษตร
o เมื่อมีคนมาทำงานใหม่ ที่ผ่านมาก็อาศัยนักส่งเสริมการเกษตรรุ่นพี่นั่นเหละ เป็นคนชี้แนะ และสอนวิธีการทำงานก่อนใครอื่น
o หากการทำงานในพื้นที่มีปัญหาแล้วจะถามใคร ? น้องๆ ก็คงจะจะสะดวกที่จะสอบถามหาคำตอบได้จากพวกพี่ๆ เพราะอยู่ใกล้ชิด และปฏิบัติงานอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนหรือใกล้เคียงกัน

7) จะต้องมีทีมงานหลัก/วิทยากรหลัก ที่คอยดูแลทั้งกระบวนการ/ตลอดหลักสูตร ตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อที่จะทำการประเมิน 360 องศา ทุกๆ ด้าน ทุกมิติ แล้วพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนที่ขาด/ ตกหล่น เพื่อเติมเต็มในทุกโอกาสที่เอื้ออำนวย
8) ไม่ปฏิเสธวิทยากร/ความรู้จากภายนอก หากพิจารณาแล้วว่ามีความจำเป็นและขาดแคลนในด้านนั้นๆ แต่เราต้องมีแนวทางที่จะพัฒนาคนใน(ทีมวิทยากร) ให้มีความรู้และความสามารถขึ้นมาทดแทนให้รวดเร็ว (เราต้องพึ่งตนเองได้ในด้านความรู้ หากไม่มีก็ต้องสร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาใช้)

-------------------------------------------------
2. หลักสูตรการพัฒนานักสอนงาน (coaching)
--------------------------------------------------
ในการพัฒนาในหลักสูตรนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2558 เราจัดกระบวนการฯร่วมกันระหว่างทีมวิทยากร กับทีมพี่เลี้ยง เพราะหลายท่านทำหน้าที่ทั้งสองบทบาท
o ทีมวิทยากร คือ ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้
o ทีมพี่เลี้ยง คือ ผู้สนับสนุนทีมวิทยากรในการจัดกระบวนการเรียนรู้ และให้คำแนะนำการเรียนรู้และพัฒนารายบุคคล/กลุ่มให้แก่นักส่งเสริมการเกษตรในการเรียนรู้จากการปฏิบัติงานพื้นที่

.....จากรูปแบบการพัฒนาในหลักสูตรนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ ปี 2558 ที่ผ่านมา ไม่ได้จัดหลักสูตรสำหรับการพัฒนานักสอนงาน (coaching) แยกออกมา แต่การพัฒนานักสอนงานจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับการจัดกระบวนการเรียนรู้ของนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ
.....ดังนั้น พอจะสรุปได้ว่า รูปแบบของการนำพี่เลี้ยงมาร่วมวงเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับน้องๆ นักส่งเสริมการเกษตร เป็นวิธีการหนึ่งในการพัฒนานักสอนงาน (coaching) และน่าจะนำมาปรับใช้ในปี 2559 ต่อไป เพราะพี่เลี้ยงจะได้เรียนรู้และทบทวนการใช้เครื่องมือ เข้าใจในบทบาทและกระบวนการในการพัฒนาฯ และเกิดเครือข่ายการเรียนรู้และพัฒนา ทั้งนักส่งเสริมการเกษตรที่เข้าร่วมเรียนรู้ในหลักสูตร และนักสอนงาน(coaching)
นอกเหนือจากนี้ ่ รูปแบบและวิธีการเรียนรู้อื่นๆ ก็คงจะต้องพัฒนากันต่อไป............
----------------------------------------------------------------------
3. หลักสูตรการพัฒนานักยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร และ
4. หลักสูตรการพัฒนามิสเตอร์พืช
----------------------------------------------------------------------
.....ทั้งหลักสูตรที่ 3 และหลักสูตรที่ 4 เนื่องจากยังไม่ได้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติ จึงยังจะไม่มีข้อสรุปหรือเสนอแนะ แต่มีข้อคิดเห็นที่มองทั้ง 2 หลักสูตรไว้ ดังนี้
1)รูปแบบและกระบวนการจัดการเรียนรู้ เบื้องต้น น่าจะนำรูปแบบและกระบวนการจัดในหลักสูตรนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพมาใช้เป็นแนวทาง (ตามข้อคิดเห็นเพิ่มเติม)
2)หากมองทั้ง 4 หลักสูตรเป็นสิ่งที่นักส่งเสริมการเกษตรควรมี/ควรเป็น ในการทำงานส่งเสริมการเกษตร นั่นก็หมายความว่า ทั้ง 4 ประเด็นนั้น เป็นส่วนหนึ่งของสมรรถนะหรือขีดความสามารถของนักส่งเสริมการเกษตรที่จะต้องพัฒนาตนเองให้มี/ให้เป็น สรุปก็คือ นักส่งเสริมการเกษตรทุกคนควรจะผ่านกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาไปสู่เป้าหมายของทั้ง 4 หลักสูตร จะด้วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือเข้ารับการฝึกอบรม
3)นอกเหนือจาก 4 หลักสูตรที่จะพัฒนาในปี 2559 นี้ (อาจมีหลักสูตรเพิ่มเติมตามช่วงระยะเวลาและสถานการณ์) ดังนั้น ขั้นตอน/ลำดับการของการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตร อาจจัดลำดับของการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถทุกหลักสูตร หรือวางขั้นตอนตามลำดับ (ตามลำดับต่อไปนี้) หรืออาจจัดควบคู่กันไป

3.1 หลักสูตรการพัฒนานักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพ (หลักสูตรพื้นฐาน)
3.2หลักสูตรการพัฒนามิสเตอร์พืช (ฯ พัฒนา)
3.3หลักสูตรการพัฒนานักยุทธศาสตร์ส่งเสริมการเกษตร (ฯ พัฒนา)
3.4 ……………………..…….?
3.5หลักสูตรการพัฒนานักสอนงาน (coaching) (ฯ ยกระดับ)
3.6......................................... ?

5) หากมองในเชิงการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ทั้ง 2 หลักสูตร ควรนำไปต่อยอดการพัฒนาให้แก่ผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรนักส่งเสริมการเกษตรมืออาชีพของปีที่ผ่านมาที่สมัครใจและต้องการพัฒนาตนเองก่อนเป็นลำดับแรก เพราะได้ผ่านการการปรับกระบวนทัศน์และมีทักษะการใช้เครื่องมือมาแล้ว
6) หากมองในเชิงกลยุทธ์ ทั้ง 2 หลักสูตรๆ ละ 15 คน รวม 30 คน สามารถบูรณาการหลักสูตรร่วมกัน เพราะคนทั้ง 2 กลุ่มจะได้เรียนรู้ทั้ง 2 หลักสูตร และการจัดการจะทำได้ง่ายมีทีมช่วยทำงานมากขึ้น และจำนวนคน 30 คนเป็นจำนวนที่เหมาะสมกับการจัดกระบวนการเรียนรู้
7) หากมองในเชิงเนื้อหาหลักสูตร จะมีบางเนื้อหาที่สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันได้ และบางส่วนที่ต่างก็อาจใช้การแบ่งกลุ่มลงลึกในเนื้อหาแบบเฉพาะเจาะจง ฯ
8) ฯลฯ

ทุกหลักสูตรล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายนักจัดกระบวนการเรียนรู้ ว่าจะพัฒนา/จัดกระบวนการเรียนรู้รูปแบบใด ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและบรรลุวัตถุประสงค์ที่แท้จริง่ ที่ไม่ใช่เพียงการผ่านหลักสูตร ฯ ได้รับใบประกาศ เท่านั้น แต่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนตนเองของนักส่งเสริมการเกษตรจากภายใน เกิดการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน พัฒนาองค์กร พัฒนาเกษตรกร อย่างไม่มีที่สิ้นสุด สมกับการเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง....

วีรยุทธ สมป่าสัก
สำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร

หมายเลขบันทึก: 602910เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2016 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มีนาคม 2016 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบแนวคิดในการพัฒนาคนกันเองแบบนี้จังเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท