ผลกระทบมาตราการผ่อนคลายเชิงปริมาณ QE


การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน

การปรับลดมาตรการ QE กับผลกระทบการลงทุนทั่วโลก

จากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำของสหรัฐฯในช่วงวิกฤต sub-prime ในปี 2551 ต่อเนื่องมาจนถึงปัญหาหนี้ในภูมิภาคยุโรปที่กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือที่เรียกกันว่า QE – Quantitative Easing หรือการผ่อนคลายทางการเงินอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ QE1, QE2 จนเรื่อยมาถึง QE3 โดยมาตรการ QE 3 ที่สหรัฐฯ ใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนและปรับเพิ่มวงเงินอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2555 ได้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องผ่านการซื้อตราสารทางการเงิน ทั้งพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีหลักทรัพย์จำนองค้ำประกัน (MBS) เป็นวงเงินรวมกว่า 8.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐต่อเดือน นอกเหนือจากการอัดฉีดเม็ดเงินดังกล่าวแล้ว Fed ยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำที่ 0 – 0.25% อย่างต่อเนื่อง ซึ่งผลทางตรงต่อเศรษฐกิจจากมาตรการ QE ก็คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชน ภาคการผลิต รวมถึงตลาดแรงงานที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

นอกจากผลบวกต่อการขยายตัวเศรษฐกิจแล้ว คงต้องยอมรับว่า ในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกต่างก็ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจากการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจากมาตรการ QE รวมถึงการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำส่งผลให้เม็ดเงินที่ล้นเหลือ ต่างก็หาทางที่จะลงทุนเพื่อให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด จึงส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นสหรัฐฯหรือตลาดหุ้นเกิดใหม่อย่างมหาศาล ส่งผลให้ตลาดหุ้นต่างๆปรับตัวได้ดีในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยนับตั้งแต่ดำเนินมาตรการ QE1 ในต้นปี 2552 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2556 ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นไปกว่า 61% โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดหุ้นเกิดใหม่ ต่างก็ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า อาทิ ตลาดหุ้นไทยหรือฟิลิปปินส์ ซึ่งปรับตัวขึ้นไปเกินกว่า 200% ในช่วงเวลาดังกล่าว

จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯล่าสุดในระหว่างวันที่ 18 – 19 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา แม้ว่าจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในนโยบาย QEเนื่องจาก Fed ยังคงกรอบอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ รวมถึงคงวงเงินที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ไว้เท่าเดิม แต่ Fed กลับได้มีการเปิดช่องเกี่ยวกับโอกาสที่จะยกเลิกมาตรการ QE ไว้ โดยระบุว่า ความกังวลต่อการเติบโตและการจ้างงานของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลงอย่างมีนัย จึงอาจจะมีการปรับลดวงเงิน 8.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐลงมาได้ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงมีโอกาสที่จะยกเลิกมาตรการ QE ในกลางปีหน้า หากภาพรวมการจ้างงานดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและนั่นเอง ก็เป็นจุดที่ทำให้ตลาดการเงินการลงทุนทั่วโลกเกิดความผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา ราคาสินทรัพย์เสี่ยง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเม็ดเงิน QE ที่ไหลเข้ามาดังนั้น การปรับลดและยุติ QE จึงส่งผลทางตรงกันข้ามให้ราคาสินทรัพย์ปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนต่างก็เทขายสินทรัพย์ต่างๆออกมาอย่างถ้วนหน้า ซึ่งส่งผลกระทบกับสินทรัพย์การลงทุนต่างๆดังนี้

หุ้นไทย:

นับตั้งแต่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเพื่อแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่า ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับแรงกดดันและแรงเทขายออกมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งผนวกกับความกังวลในการยุติมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ก็ยิ่งส่งผลให้เกิดแรงเทขายเพิ่มเติม โดยนับตั้งแต่ต้นปีนักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกมาแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยที่เคยปรับตัวขึ้นไปเหนือ 1,600 จุด กลับปรับลงมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับต้นปี ที่ระดับต่ำกว่า 1,400 จุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก แต่ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยเอง ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจไทย
ยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียน ก็ยังคงสามารถขยายตัวและคาดการณ์ว่าจะเติบโตได้กว่า 20% จึงไม่ได้มี
การเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อตลาดหุ้นไทย แม้ว่าในระยะสั้นยังคงมีโอกาสที่จะปรับตัวลงได้อีกจากแรงเทขายของต่างชาติ แต่บลจ.กสิกรไทยเอง
ก็ยังคงเป้าหมายปลายปีไว้เช่นเดิมที่ 1,570 จุด ดังนั้น สำหรับผู้ลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะกองทุน LTF/RMF การที่ตลาดปรับตัวลงมาเช่นนี้ อาจจะถือเป็นโอกาสดีในการทยอยเข้าสะสม อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ลงทุนระยะสั้น หรือรับความผันผวนได้ต่ำ สภาพตลาดปัจจุบันอาจจะยังไม่เหมาะสมนักที่จะเข้าลงทุนเพิ่ม

ทองคำ:
เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่มีการปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาทองคำล่าสุด ณ 24 มิถุนายน 2556 ได้หลุดลงมาต่ำกว่าระดับ 1,300 ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์แล้ว ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี โดยทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปรับลดมาตรการ QE ของสหรัฐฯ
เนื่องจากมาตรการ QE ส่งผลให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดเป็นจำนวนมาก จึงกดดันให้อัตราผลตอบแทนจากพันธบัตรลงมาอยู่ในระดับต่ำ และส่งผลให้
ผลตอบแทนในสินทรัพย์อื่น รวมถึงทองคำมีความน่าสนใจกว่ากว่าตราสารหนี้ ในขณะที่ปริมาณเม็ดเงินที่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ก็กดดันค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐให้อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลดีต่อราคาทองคำ จึงทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นอย่างมากในช่วง 2-3ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อมีแนวโน้มว่าจะยุติมาตรการ ก็ทำให้นักลงทุนหันเข้ามาถือดอลล่าร์สหรัฐเพิ่มขึ้น และผลักดันดอลล่าร์สหรัฐให้แข็งค่ากลับมากดดันราคาทองคำให้ปรับตัวลงมาอย่างแรง
นอกจากนี้ ปริมาณทองคำแท่งที่ถือโดยกองทุน SPDR Gold ก็ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าระดับ 1,000 ตันเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แสดงถึงความต้องการทองคำที่ปรับตัวลดลงของนักลงทุนทั่วโลก

สำหรับมุมมองของราคาทองคำในระยะสั้น ยังคงมองว่ามีโอกาสปรับตัวลงอย่างต่อเนื่องจากค่าเงินดอลล่าร์สหรัฐที่เริ่มแข็งค่าขึ้น และแม้จะมีแรงซื้อ
กลับเข้าไปบ้าง แต่ก็ไม่น่าจะเยอะพอจะทำให้ราคาปรับตัวขึ้นไปสูงมากนัก เนื่องจากปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นไปได้ คือการปรับตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วโลกนั้น ยังคงมองไม่เห็นสัญญาณดังกล่าวอย่างชัดเจน โดยกรอบราคาทองคำในระยะ 1 ปีข้างหน้า น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,100- 1,400ดอลล่าร์สหรัฐต่อออนซ์

น้ำมัน:
ราคาน้ำมัน ได้มีการปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับสินทรัพย์อื่นๆ โดยราคาล่าสุด (24 มิถุนายน 2556) ลงมาอยู่ที่ 95.40 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพราะ
โดนแรงเทขายออกมาถือเงินดอลล่าร์สหรัฐเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี ปัจจัยลบต่อราคาน้ำมัน ยังไม่น่าจะรุนแรงมากเท่ากับทองคำ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้น น่าจะยังช่วยพยุงราคาน้ำมันไว้ได้ โดยยังคงกรอบราคาน้ำมันในรอบ 12 เดือนข้างหน้าที่ 80 - 100 ดอลล่าร์สหรัฐต่อบาร์เรล

ตลาดหุ้นเกิดใหม่:

ดหุ้นเกิดใหม่:ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นจีน อินเดีย ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย หรืออินโดนีเซีย ต่างก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก เนื่องจากการหยุดมาตรการ QE จะทำให้เม็ดเงินไหลจากตลาดเกิดใหม่กลับเข้าไปยังสหรัฐฯ และยิ่งในภาวะผันผวน นักลงทุนต่างก็หันไปถือเงินสดเพื่อลดความเสี่ยง จึงยิ่งทำให้ตลาดหุ้นเกิดใหม่ในภาพรวมต่างก็ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานแล้ว จะพบว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของตลาดเหล่านี้ ยังคงค่อนข้างดี และระดับราคาที่ปรับตัวลงมา ก็ถือว่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับอดีต แต่เนื่องจากตลาดยังคงถูกกดดันจากเม็ดเงินต่างชาติ ในระยะสั้นจึงอาจจะผันผวนและปรับตัวลงได้อีก จึงแนะนำรอดูสถานการณ์ให้ตลาดมีความชัดเจนมากขึ้น

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ:
แม้ว่าการหยุดมาตรการ QE คาดว่าจะทำให้เม็ดเงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่กลับไปยังสหรัฐฯ ซึ่งน่าจะให้ผลในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯเอง กลับปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาเช่นเดียวกับตลาดหุ้นเกิดใหม่ เนื่องจากความผันผวนที่มีมากขึ้นทั่วโลก ทำให้นักลงทุนยังไม่ได้นำกลับเข้าไปซื้อหุ้น หรือสินทรัพย์เสี่ยง แต่ยังคงถือเงินสดเอาไว้ ดังนั้น ระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐฯจึงยังคงมีแนวโน้มที่อาจจะปรับตัวลงได้ตามทิศทางตลาดหุ้นทั่วโลก แต่ในระยะปานกลางถึงยาว น่าจะได้รับปัจจัยบวกจากการที่ยุติมาตรการ QE เมื่อเม็ดเงินไหลกลับคืนไปเข้าตลาดสหรัฐฯตามทิศทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น

สรุป
โดยภาพรวม การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงทุกสินทรัพย์ นักลงทุนยังอยู่ในภาวะ ของ Risk-Off (กลัวความเสี่ยง) ทำให้สินทรัพย์เกือบทุกประเภทปรับตัวลดลง และนักลงทุนส่วนใหญ่ยังถือเงินสดเอาไว้ ซึ่งเืชื่อว่าจะมีความผันผวน และมีโอกาสที่ราคาสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ปรับตัวลงได้อีกในระยะสั้น สำหรับผู้ลงทุนที่ยอมรับความผันผวนได้ต่ำ จึงแนะนำให้ชะลอดูสถานการณ์เพื่อให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนระยะยาว อาจจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นหากต้องการถือโอกาสที่ตลาดปรับฐานในช่วงนี้เข้าลงทุนเพิ่ม โดยต้องติดตามสถานการณ์ในตลาดโลกอย่างใกล้ชิด


หมายเลขบันทึก: 602742เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2016 17:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2016 17:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท