ชีวิตที่พอเพียง ๒๖๐๘. แพทย์บำบัดโรคหรือแพทย์เพื่อสุขภาพ



ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ๒๕๕๘ สาขาสาธารณสุขคือ Sir Michael Gideon Marmotจากผลงานด้านการขับเคลื่อนปัจจัยทางสังคมที่มีผลต่อสุขภาพ (Social Determinants of Health) ดังเคยบันทึกไว้ ที่นี่

บ่ายวันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ ผมไปฟังการบรรยายพิเศษโดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลปี ๒๕๕๘ ทั้งสองท่านที่ศิริราช ฟังแล้วได้รับความรู้และอิ่มเอม จากการบรรยายของทั้งสองท่าน แต่วันนี้จะสะท้อนความคิดในส่วนของ Sir Michael

ดั้งเดิมท่านเป็นนักระบาดวิทยา ทำงานวิชาการเพื่อสนองความอยากรู้ของตนเอง ที่ท่านเรียกว่าเป็น curiosity-driven research ได้ผลงานก็นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ตามจารีตวิชาการ แต่เมื่อทำวิจัยใน คือ Whitehall Study และ Whitehall IIก็พบเองว่าสุขภาพของผู้คนขึ้นกับปัจจัยด้านที่เรียกว่า health sector น้อยกว่าปัจจัยด้านสังคม ซึ่งตัวสำคัญที่สุดสองตัวคือ ระดับการศึกษา และเศรษฐฐานะ และต่อมาท่านพบว่า ลักษณะงานเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในหมู่คนกลุ่มอายุเดียวกัน อัตราตายใน ๒๕ ปี ต่ำที่สุดในกลุ่มคนที่ทำงานเป็นผู้บริหารระดับสูง สูงขึ้นในผู้บริหารระดับกลางและคนในกลุ่มวิชาชีพ สูงขี้นอีกในกลุ่มเสมียน และสูงขึ้นอีกในกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่คงจะเป็นกลุ่มใช้แรงงาน

ท่านจึงค่อยๆ ผันตัวไปทำงานวิชาการเชิงระบบ/นโยบาย และต้องพัฒนาทักษะในการขายความคิด (advocate) หรือชักจูงใจ ของนักการเมือง หรือผู้บริหารประเทศ ท่านกลายเป็นทำงาน application-driven research

หนังสือ Social Determinants of Health : The Solid Factsบอกเราว่าสภาพแวดล้อมในการดำรงชีวิตของ คนเรา ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน มีส่วนกำหนดสภาพสุขภาวะของคนเราแต่ละคน มีรายละเอียดและความซับซ้อนมากมาย ให้เห็นว่า สุขภาวะไม่ใช่เรื่องตื้นๆ แค่เชื้อโรค และพันธุกรรม การจะให้คนมีสุขภาวะดี ต้องมีการจัดการความซับซ้อนอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ เช่นบุหรี่ สุรา การเลี้ยงสัตว์โดยปนฮอร์โมนและยาปฏิชีวนะในอาหาร เป็นต้น

ในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนมีนาคม ๒๕๕๙ มีเรื่อง The Disease of Poverty : Helping parents to help their children can close the rich-poor health gapเขียนโดย Sir Michael Marmot เล่าเรื่องปัจจัยด้านสังคม ที่มีผลต่อสุขภาพของคน

พอดีวันนี้คุยกับ “เลขา” เรื่องที่เธอเดินทางไปสัมภาษณ์นักเรียนที่ขอทุนการศึกษาที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน สภาพครอบครัวที่เธอไปพบมาสะท้อนสภาพสังคมที่น่าสงสารสำหรับนักเรียน ซึ่งคนนี้เป็นนักเรียนชั้น ปวส. ชาวกะเหรี่ยง ที่ตัวนักเรียนกลายเป็นผู้หารายได้หลักของครอบครัว สภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัวของนักเรียนที่ “เลขา” เล่า ทำให้ผมตระหนักว่า ในโลกนี้ยังมีคนที่เกิดมามีชีวิตที่ยากลำบากอีกมากมาย เปิดโอกาสให้เราได้ทำงานเพื่อประโยชน์ ของคนเหล่านั้น โดยเราไม่หวังผลตอบแทน



วิจารณ์ พานิช

๒๐ ม.ค. ๕๙ เพิ่มเติม ๒๔ ก.พ. ๕๙


หมายเลขบันทึก: 602714เขียนเมื่อ 2 มีนาคม 2016 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 มีนาคม 2016 11:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท