อยากแฮกเครื่องลูกคนเก่า


เขาต้องการแฮกเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูก เพื่อจะติดตามพฤติกรรมของคนที่เขารักอย่างใกล้ชิด เพราะลูกสาวใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์กับหนุ่มเมืองกรุงมากเกินกว่าที่ควร จึงพยายามหาข้อมูล ขอคำแนะนำจากแฮกเกอร์ทั้งใน และต่างประเทศ
 
รับโทรศัพท์จากเพื่อนชาวไทยคนหนึ่งที่มีลูกสาวเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยปี 2 เขาต้องการแฮกเครื่องคอมพิวเตอร์ของลูก เพื่อจะติดตามพฤติกรรมของคนที่เขารักอย่างใกล้ชิด เพราะลูกสาวใช้คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์กับหนุ่มเมืองกรุงมากเกินกว่าที่ควร จึงพยายามหาข้อมูล ขอคำแนะนำจากแฮกเกอร์ทั้งใน และต่างประเทศ แต่ก็ยังไม่พบทางใดที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ จึงโทรมาปรึกษาหารือ เพราะพบบทความที่ผู้เขียนเคยบันทึกประสบการณ์การถูกแฮก และเรียนรู้ที่จะป้องกันตนเองจากแฮกเกอร์
เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว และเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย จึงนำปัญหานี้มาเล่าสู่กันฟัง โดยผู้เป็นพ่อที่ต้องการแฮกเครื่องลูกให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีเพียงตัวเดียวในบ้านวางอยู่ในห้องรับแขก แต่ถูกย้ายเข้าไปในห้องนอนลูก เพราะมีปากเสียงเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตเกินเวลาระหว่างพ่อกับลูก ปัจจุบันแอบเข้าห้องลูกไม่ได้ เพราะประตูถูกล็อกด้วยกุญแจที่ลูกหามาเอง ภายในบ้านไม่ได้เชื่อมต่อเป็นเครือข่าย และใช้บริการเอดีเอสแอลสำหรับออกสู่อินเทอร์เน็ต ปัญหาใหญ่ในการแฮกเครื่องลูกคือ ลูกสาวเรียนด้านคอมพิวเตอร์ในสถาบันอันมีชื่อ จึงเชื่อได้ว่าลูกสาวคนนี้คงไม่ถูกใครล้วงข้อมูลได้โดยง่าย
ผู้เป็นพ่อมีความรู้ไม่น้อย เพราะรู้จักโปรแกรมประเภทสนิฟเฟอร์ การรับส่งอีเมล สปายแวร์ จุดบกพร่องของระบบปฏิบัติการ การติดกล้องวงจรปิด หรือการตามช่างทำกุญแจไปสะเดาะกุญแจ เพื่อเข้าไปวางโปรแกรมดักจับรหัสผ่าน ผู้เขียนได้สืบค้น และแนะนำโปรแกรมประเภท Key Capture ที่ใช้ดักจับการกดแป้นพิมพ์ ถ้าผู้เป็นพ่อขอให้ลูกส่งอีเมลผ่านเครื่องที่วางโปรแกรมดักจับแป้นพิมพ์ไว้ ก็อาจได้รหัสผ่าน และแอบเข้าไปอ่านอีเมลในภายหลัง โดยหวังว่าจะดับไฟแต่ต้นลมได้ ถ้าพบเรื่องไม่ชอมมาพากลในอีเมล
มีคำกล่าวว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ผู้เขียนคิดว่าผู้เป็นพ่อคงจะอ่านหนังสือเรื่องสามก๊กมาแล้ว และให้ความห่วงใยใส่ใจพฤติกรรมของลูกสาวอย่างมาก ในโลกแห่งความเป็นจริง ครอบครัวที่อบอุ่นก็อาจพบปัญหานี้ได้เช่นกัน การให้เวลาซึ่งกันและกันในครอบครัว เป็นสิ่งที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (http://www.m-society.go.th) ให้ความสำคัญ ถ้าผู้เป็นพ่อให้ความใกล้ชิด และเปิดอกคุยกันในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เชื่อว่าปัญหาจากลูกที่คิดว่ามีคนอื่นรัก และห่วงใยตนมากกว่าคนในครอบครัวก็จะน้อยลง ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับผู้เป็นพ่ออีกครั้ง ก็จะย้ำว่าต้องให้เวลา ให้ความรัก และความเอาใจใส่กับลูกมากที่สุด ทำให้เขารู้ว่าพ่อรักเขา มากเท่าที่พ่อคนหนึ่งจะรักลูกคนหนึ่งได้ ท้ายที่สุดก็จะเตือนให้เผื่อใจไว้ว่ามนุษย์ยุควัตถุนิยมเลี้ยงได้แต่ตัว หัวใจไม่เกี่ยว

หมายเลขบันทึก: 60238เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท