วิกฤติทางการเงินของประเทศไทย


ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามปกป้องค่าเงินบาท มีผลทำให้ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลง

ประกอบกับ มูดี้ห์ซึ่งเป็นบริษัทจัดอันดับเครดิตทางการเงินของประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย ส่งผลทำให้เม็ดเงินไหลออกอย่างต่อเนื่อง ปัญหาหนี้เสียเริ่มขยายวง เสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินเริ่มสั่นคลอน เกิดการเรียกหนี้คืนจากนักลงทุนต่างประเทศ จนกระทั่งในที่สุด รัฐบาลชวลิตและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตัดสินใจประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัว เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 และส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศไทยหดตัว มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจติดลบต่อเนื่อง 2 ปีติดต่อกัน คือ ในปี พ.ศ. 2540 และ 2541 และ หลังจากนั้นเศรษฐกิจไทยก็มีอัตราการเติบโตไม่สูงนักเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่องกันอันเป็นผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินปี พ.ศ. 2540

ความเชื่อมโยงของวิกฤตการณ์ทางการเงิน กับ วิกฤตการณ์ระบบสถาบันการเงิน

ภายหลังการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง ความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน เกิดกระแสเงินทุนไหลออก การโจมตีค่าเงินบาท การดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูงเพื่อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โอกาสในการระดมทุนของธุรกิจไทยจากตลาดเงินและตลาดทุนต่างประเทศได้หดตัวลงอย่างมาก ปัญหาทางการเงินเหล่านี้นำมาสู่ปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงินและวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในที่สุด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ คุณภาพของสินเชื่อลดต่ำลงจากความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลง ภาระหนี้ต่างประเทศไม่ได้รับการต่ออายุ ภาระในการจ่ายสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น รายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมลดลงเพราะปัญหาวิกฤติสภาพคล่อง โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของเอกชนมีอัตราผลตอบแทนที่ลดต่ำลงอย่างชัดเจน สถาบันการเงินขาดเงินกองทุนที่เพียงพอ ประสบปัญหาโยกย้ายการฝากเงินของประชาชนมาก เป็นต้น ในที่สุด สถาบันการเงินและธนาคารก็เริ่มประสบปัญหาฐานะทางการเงิน ทางการจึงได้สั่งลดทุนธนาคารพาณิชย์ 4 แห่ง การสั่งลดทุนของธนาคารสี่แห่งไม่ได้ทำให้สถานการณ์วิกฤตการณ์สถาบันการเงินดีขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโดยภาพรวมไม่ดีนักประกอบกับนักลงทุนยังมีข้อสงสัยต่อมาตรฐานของธนาคารแห่งประเทศไทยในด้านการจัดชั้นสินทรัพย์และความเพียงพอของขนาดเงินกองทุนว่าได้มาตรฐานดีพอรองรับปัญหาเศรษฐกิจหรือไม่ ความเชื่อมั่นต่อฐานะความมั่นคงของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในสถานะที่ดีนักในช่วงเวลาดังกล่าว มีการแก้กฎหมายธนาคารพาณิชย์ตามคำแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (พระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2541)

สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินของธนาคารหลายแห่งได้ร้ายแรงลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี พ.ศ. 2540-2542 บริษัทมูดี้ส์และบริษัทจัดอันดับเครดิตรายอื่นๆ ได้ประกาศลดอันดับเครดิตพันธบัตรระยะยาวของประเทศไทยรวมทั้งเครดิตของสถาบันการเงินหลายแห่งลง เพื่อให้ความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินของประเทศยังคงดำรงอยู่ต่อไป ธนาคารแห่งประเทศจึงได้ตัดสินใจเข้าแทรกแซงธนาคารที่มีฐานะล่อแหลมต่อการประกอบกิจการด้วยการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการธนาคารและผู้บริหารระดับสูง เข้าเพิ่มทุนและส่งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศเข้ากำกับดูแลธนาคารเหล่านี้อย่างใกล้ชิด ในสภาวะที่สถาบันการเงินมีความอ่อนแอ ฐานะทางการเงินไม่มั่นคงมีความจำเป็นต้องควบรวมกิจการและเพิ่มทุน ทำให้ประเทศต้องมีกฎหมายเพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยความเร่งด่วน

ธนาคารพาณิชย์ที่ต้องหยุดดำเนินการตามมาตรการ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2541 คือ ธนาคารมหานคร ธนาคารแหลมทอง ธนาคารสหธนาคาร และ ธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ

วิกฤตการณ์ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ก่อนวิกฤติปี 2540

ธุรกิจอุตสาหกรรมเงินทุนหลักทรัพย์ได้เกิดวิกฤตการณ์ขึ้น 2 ครั้งก่อนที่จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ใหญ่ในปี พ.ศ. 2540 โดยสามารถสรุปปัญหาวิกฤตการณ์สองครั้งมีรายละเอียดดังนี้

วิกฤตการณ์ครั้งที่ 1 วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2522 เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2520 เริ่มมีการฟื้นตัวหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 โดยในช่วงปี พ.ศ. 2521 กิจการจำนวนมากเริ่มมีการเพิ่มทุน มีผลทำให้ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อุปสงค์ของการลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นผลให้ราคาหลักทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้น เริ่มมีกิจกรรมเก็งกำไรหุ้นและมีการปั่นราคาหุ้นจนสูงเกินปัจจัยพื้นฐาน ต่อมาปลายปี พ.ศ. 2521 เกิดภาวะเงินตึงตัวและเกิดวิกฤตการณ์น้ำมัน ราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นจากการมาตรการลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคเพื่อกดดันชาติตะวันตกหลังเกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งและสงครามในตะวันออกกลาง อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการมีปัญหาตามแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาและมีกรณีพิพาททางพรมแดนระหว่างเวียดนามกับจีน ราคาหุ้นและหลักทรัพย์ได้ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้บริษัทหลักทรัพย์บางแห่งโดยเฉพาะ บริษัทราชาเงินทุน ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปั่นราคาหุ้นและกิจกรรมเก็งกำไร การบริหารงานก็ขาดประสิทธิภาพ ทำให้บริษัทราชาเงินทุนขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถฟื้นฟูกิจการได้ มีการออกพระราชบัญญัติควบคุมธุรกิจเงินทุนในปี พ.ศ. 2522 และมีการเข้าควบคุมกิจการและถอนใบอนุญาตในที่สุด

ปัญหาดังกล่าวสร้างความตื่นตระหนกให้กับผู้ฝากเงินและนักลงทุน มีการแห่ถอนเงินออกจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์จนบริษัทเงินทุนหลายแห่งประสบปัญหาสภาพคล่อง จากปัญหาวิกฤตการณ์ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ดังกล่าว ทางการได้แก้ไขวิกฤตการณ์โดยการจัดตั้ง 3 กองทุน ได้แก่กองทุนพัฒนาตลาดทุน กองทุนช่วยสภาพคล่องธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุนแก้ไขปัญหาธุรกิจหลักทรัพย์ กองทุนทั้งสามจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ เสริมและสร้างสภาพคล่องให้กับธุรกิจหลักทรัพย์ นอกจากนี้ยังมีการช่วยเหลือด้วยการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากต่างประเทศ มีการจัดตั้งตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase Market) ระหว่างธนาคารต่างๆ อันประกอบไปด้วยธนาคารพาณิชย์ และ ธนาคารของรัฐ และยังอนุญาตให้บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเงินทุน สามารถลงทุนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรได้

วิกฤตการณ์ครั้งที่ 2 วิกฤตการณ์ธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ครั้งที่สองก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 นี้เป็นผลมาจากการดำเนินงานที่มีปัญหาและความล้มเหลวของธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์และพัฒนาเงินทุนหลายแห่ง เกิดความสูญเสียความเชื่อมั่นของสาธารณชนและความหวั่นไหวของนักลงทุนและผู้ฝากเงิน โดยเริ่มจากปัญหาฐานะทางการเงินของกลุ่มตึกดำ อันประกอบไปด้วย บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์พัฒนาเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บ้านและที่ดินไทย บริษัทเครดิตฟองซิเอร์บ้านและที่ดินไทย จำกัด ต่อมา ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2526 มีการเพิกถอนใบอนุญาต รายแรก คือ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์เสรีสากลธนกิจ จำกัด และเพิกถอนอีก 5 บริษัทในปลายปี พ.ศ. 2526 การเพิกถอนใบอนุญาตเป็นสัญญาณอย่างชัดเจนถึงวิกฤตการณ์ในธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ หลังจากนั้นปัญหาได้ลุกลามเป็นลูกโซ่ทำให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ถูกเพิกถอนใบอนุญาตถึง 20 บริษัทดังมีรายชื่อตามตารางข้างล่าง ดังนี้

ช่วงปี พ.ศ. 2524-2525 เศรษฐกิจโลกตกต่ำและมีปัญหาวิกฤตการณ์ราคาพลังงานเกิดขึ้นด้วย ธนาคารหลายแห่งและบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หลายแห่งประสบปัญหาทางการเงิน เช่น ธนาคารเอเชียทรัสต์ ธนาคารนครหลวงไทย ธนาคารมหานคร เป็นต้น จนกระทั่ง ทางการไทยจำเป็นต้องมีโครงการ 4 เมษายน พ.ศ. 2527 เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ดังกล่าว ต่อมาทางการได้เข้าไปฟื้นฟูกิจการธนาคารกรุงไทยและธนาคารเอเชียอีกด้วย เจ้าของและผู้ที่เกี่ยวข้องในบริษัทที่มีปัญหายินยอมโดยความสมัครใจให้ทางการโดยกระทรวงการคลังมีส่วนในการถือหุ้นของกิจการไม่น้อยกว่า 25% รวมทั้งให้โอนสิทธิการออกเสียงเพื่อให้ทางการมีเสียงร้อยละ 75 ของหุ้นทั้งหมดให้จัดหาทรัพย์มาค้ำประกันเงินที่บริษัทให้กิจการในเครือกู้ยืมไปแล้วและผู้ถือหุ้นใหญ่จะยังคงรับผิดชอบภาระต่างๆ ของบริษัทที่มีอยู่เดิมก่อนเข้าร่วมโครงการซึ่งอาจจะปรากฏขึ้นมาในภายหลัง

เจ้าของจะต้องยอมรับเงื่อนไขและให้ความร่วมมือในสิ่งที่ทางการกำหนด และทางการจะตอบแทนด้วยการช่วยเหลือด้านการเงิน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยประเภท Soft loan จากธนาคารแห่งประเทศไทย สินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากธนาคารกรุงไทย เป็นต้น ทางการจะมีหลักประกันต่อเจ้าหนี้ ผู้ฝากเงิน ผู้ถือตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทว่าจะยังได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยตามพันธสัญญา

กรณีปัญหาธนาคารกรุงเทพพาณิชยการได้ส่งผลกระทบต่อระบบสถาบันการเงินมากและเป็นลางร้ายว่ามีปัญหาแบบเดียวกันนี้ซ่อนอยู่ในระบบจำนวนมาก ปัญหาวิกฤตการณ์สถาบันการเงินในปี พ.ศ. 2524-2525 นั้น มีหลายสถาบันการเงินได้รับผลกระทบรวมทั้งธนาคารกรุงเทพพาณิชยการ แต่ธนาคารแห่งนี้เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่เข้าโครงการ 4 เมษายน เดือนกันยายน พ.ศ. 2535 ธนาคารเริ่มมีปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้นจำนวนมาก นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ ได้เข้ารับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการและได้เลือกพนักงาน ธปท. 2 คน เข้าไปรับตำแหน่งบริหารของธนาคารและแต่งตั้ง นายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการบริษัท จากผลการตรวจสอบฐานะการเงินของธนาคารก่อนธนาคารแห่งประเทศเข้ากำกับควบคุมกิจการ ธนาคารมีทรัพย์สินที่มีปัญหาสูงถึง 26.73% คิดเป็น 3.6 เท่าของอัตราเฉลี่ยของทั้งระบบธนาคาร (ตรวจสอบ เมษายน 2534) สินทรัพย์ที่มีปัญหาหรือสินทรัพย์จัดชั้น (หนี้เสีย) เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 39.57% ของสินทรัพย์รวมคิดเป็น 38.5 พันล้านบาท (ตรวจสอบ กุมภาพันธ์ 2537)

ต่อมามีการตรวจสอบเพิ่มเติมอีกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2538 พบว่า มีการปล่อยสินเชื่ออย่างหละหลวมเป็นเงินทุนเพื่อใช้ในการครอบงำกิจการในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการประเมินหลักทรัพย์ค้ำประกันเกินความเป็นจริงมากๆ เช่นการให้กู้ยืมกิจการที่นายราเกซ สักเสนาและผู้บริหารบางคนมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก การให้เบิกเงินเกินบัญชีโดยไม่มีหลักประกันหรือสัญญา มีการอนุมัติเกินอำนาจ เป็นต้น ธปท. เห็นว่าเป็นการดำเนินงานที่ไม่เหมาะสม จึงได้สั่งการในเรื่องดังกล่าว และได้สั่งการมิให้ นายราเกซ สักเสนา ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของธนาคาร และสั่งให้เพิ่มทุน 3 พันล้านบาทในปี พ.ศ. 2539 แต่กระบวนการเพิ่มทุนมีความล่าช้าและนักลงทุนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจต่อฐานะของธนาคารแห่งนี้ เมื่อมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในสมัยนั้นในช่วงเดือน พฤษภาคม พ.ศ. 2539 ได้มีการพาดพิงถึงปัญหาหนี้เสียและฐานะทางการเงินของธนาคาร มีผลทำให้เกิดความแตกตื่นในหมู่ประชาชนผู้ฝาก แห่ถอนเงินฝากออกจากธนาคารจนทางการต้องเข้าควบคุมธนาคาร โดยได้ตั้งคณะกรรมการธนาคารชุดใหม่เข้าไปดูแลและมีการปลดกรรมการผู้จัดการใหญ่ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ออกจากตำแหน่ง และมีกล่าวโทษทางคดีต่อผู้บริหารของธนาคารบางท่าน

มาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการแก้ปัญหาธนาคารกรุงเทพพาณิชยการไม่เพียงพอ ไม่เด็ดขาด และไม่ตอบสนองรวดเร็วเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการลุกลามไปยังสถาบันการเงินทั้งระบบ นอกจากนี้ยังมีข้อสงสัยในเรื่องความโปร่งใสของมาตรการการช่วยเหลือธนาคารจากการศึกษาของคณะกรรมการการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยกระทรวงการคลังหลังวิกฤตการณ์ปี พ.ศ. 2540

อ้างอิง:หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

หมายเลขบันทึก: 602036เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2016 10:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท