​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๔ : งานเป็นทีมควรจะเรียนเป็นทีม (ไหม?)


อาทิตย์ที่แล้วมีงานนำเสนอโครงการสร้างเสริมสุขภาพของนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ ๔ ที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นบล็อกพิเศษที่อุทิศเวลาถึง ๕ สัปดาห์ในการทำความรู้ ความเข้าใจ และทักษะในการสร้างเสริมสุขภาพในระดับชุมชน (ในระดับปัจเจกบุคคลจะแทรกอยู่ในการปฏิบัติงานในหอผู้ป่วยต่างๆ) ลักษณะการเรียนในบล็อกนี้มีการปรับเปลี่ยนแทบจะทุกปีมาสิบกว่าปีแล้ว เพราะมันยังไม่ลงเอยเสียทีว่าวิธีไหนน่าจะดีที่สุด

แต่ที่ทำมาในระยะหลัง สิ่งหนึ่งที่คงที่คือเป็นการเรียนแบบ project-based นักศึกษาทำงานเป็น small group ประมาณ ๘ คน ทำโครงการอะไรก็ได้แล้วแต่โจทย์ของกลุ่มที่อยากจะทำ ในอดีตเคยมีตั้งแต่โครงการเท้าเหม็น (ถุงเท้า) ในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ โครงการเปลี่ยนฟูกเตียงเพื่อลดการสะสมไรฝุ่น ไปจนถึงโครงการสร้างรถไฟฟ้าในหาดใหญ่เพื่อลดปัญหาจราจร ปีหนึ่งจะมีนักศึกษาสองกลุ่มใหญ่ และกลุ่มละ ๘ โครงการ ดังนั้นทุกๆปีเราจะได้โครงการเช่นนี้มา ๑๖ โครงการ ในรอบหลังนี่เราก็มีโครงการครัวโรคไต (เมนูอาหารคนโรคไตเรื้อรัง) โครงการจิตอาสาในคนสูงอายุ โครงการรณรงค์เรื่องการยืน (เป็นเวลา) นานในบุคลากรสุขภาพ โครงการสวนสุขภาพในเมือง เป็นต้น

นักศึกษาต้องทบทวนวรรณกรรมตามหลักการแพทย์เชิงประจักษ์ (evience-based medicine) เพื่อตั้งโจทย์ปัญหาทางสุขภาพ และใช้หลักพฤติกรรมศาสตร์โมเดลต่างๆในการออกแบบการแก้ปัญหา รวมทั้งลองหาตัววัดสัมฤทธิผลของโครงการที่ตรงกับปัญหาที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งก็ทำได้ดีมากทีเดียว (ประเด็นนี้จัดอยู่ในหมวดเรื่อง "อภิชาติศิษย์" หรือศิษย์ที่เหนือกว่าครู The Series ที่ผมเขียนไว้อีกที่หนึ่ง)

แต่สิ่งหนึ่งที่ถ้าอาจารย์ท่านไหนได้เข้ามาฟังการนำเสนอ นั่นคือ "นักศึกษาดูจะมีความสุขที่ได้ทำ ได้นำเสนอ ได้ถกเถียงตอบคำถามเพื่อนๆ" และเกิดความประทับใจหลายๆประการต่อเพื่อนร่วมกลุ่ม ที่ไม่เคยทราบเรื่องบางเรื่อง วิธีคิดบางอย่างมาก่อนเลย รวมทั้งประสบการณ์ในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการลงมือทำงานจริงๆ (เกือบจริงบ้าง อะไรบ้าง)
"ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเพื่อนคนนี้ เค้าจะมีความคิดแบบนี้"
"เห็นปกติก็เฉยๆ แต่พึ่งทราบว่ากล้าแสดง กล้าเต้น กล้าร้อง และทำได้ดีด้วย"
"ถ้าไม่ได้เพื่อนคนนี้ช่วยเรื่อง IT เรื่องตัดต่อคลิป โครงการเราก็คงไม่สำเร็จ"
"ตอนเจอปัญหา เราพบว่าพวกเราทุกคนช่วยกันแก้ ช่วยกันออกความเห็น"
"เรานั่งทำสไลด์ เพื่อนๆก็มานั่งรอเป็นเพื่อนจนตีสอง ไม่ทิ้งกัน"

ความที่เป็นโครงการ นอกเหนือจากความ "เสมือนจริง" แล้ว ที่นักศึกษาต้องออกไปสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือเด็กอนุบาล เจอปัญหาอุปสรรคต่างๆในชีวิตจริง แต่เรื่องของ "ทีม" ที่นักศึกษาจะได้เห็นทักษะที่หลากหลาย นอกเหนือจากทฤษฎีความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำงานให้สำเร็จ เห็นความสำคัญของเครือข่าย ของงานหน้าที่นอกเหนือจากวิชาชีพเดียวกัน ยังมีผู้ช่วย อาทิ พยาบาล อาจารย์เทคนิกการแพทย์ ชมรมคนสูงอายุ นักสิทธิประโยชน์ พี่ที่แผนกโภชนาการ เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา

นี่คือลักษณะของโจทย์ทางสุขภาวะ ที่ไม่ได้เป็นแค่โรคเท่านั้น แต่เป็นองค์รวม ที่การแก้ปัญหา ก็ไม่ได้ใช้แค่ ยา ผ่าตัด ฉายรังสี แต่ต้องใช้ความเป็นองค์รวม

ถ้าหากงานของเราเป็นแบบนี้ ถ้าหากในอนาคตเราต้องทำงานในลักษณะนี้ ทำไมตอนเราเรียน เราไม่ได้เรียนแบบทีม ทำไมการดูแลคนไข้ตอนเรียน ไม่ถือเป็น "โครงการ (project)" หนึ่งๆ ที่ต้องอาศัยนักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพยาบาล นักศึกษากายภาพบำบัดหรืออาชีวบำบัด มาช่วยกันทำโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง

ทำไมไม่มี "ปริญญาเป็นทีม" ทั้งๆที่สัมฤทธิผลต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม? เราจะได้ทั้งงานที่สำเร็จ ความรู้ที่ผสมกลมกลืนเป็นน้ำกับน้ำนม และความสัมพันธ์ตั้งต้นแบบมิตร แบบเพื่อนมาตั้งแต่เริ่มต้น?

รำพึงรำพัน (อีกแล้ว)

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เวลส ๑๐ นาฬิกา ๗ นาที
วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 601848เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2016 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2016 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท