มรณานุสสติในวันคล้ายวันเกิด


Life story คือ I am , I have and I can ฉันเป็น ฉันมี ฉันสามารถ ตราบใดที่เรายัง "เล่าเรื่อง" สามประการนี้ได้อยู่ ชีวิตดูเหมือนจะ OK และในทำนองกลับกัน หากเรื่องใดเรื่องหนึ่งเริ่มติดขัด ฝืดเคือง หรือเล่าแล้วมันไปต่อยาก สุขภาวะก็จะเริ่มสั่นคลอน

"ฉันเป็น" นั้นก็เป็นได้หลายสาเหตุ บางสถานะก็มาจากการเกิด เช่น เป็นคนไทย เป็นผู้ชาย บางอย่างก็ขวนขวายได้มา เช่น เป็นหมอ บางอย่างได้พ่วงมาเป็น package เช่น เป็นสามี จู่ๆก็กลายเป็นพ่อ ที่น่าสนใจคือบางสถานะที่ได้มาเพราะ "คนอื่น" เรียก เช่น เป็นครู เป็นอาจารย์ เป็นเพื่อนรัก (แน่นอน มีอีกหลายสถานะที่เป็นโดยคนที่ไม่ได้ชอบเราแต่งตั้งให้ก็มี เป็นธรรมดา) ซึ่งสะท้อนถึงว่าเราใช้ชีวิตอย่างไร กับผู้อื่น กับสิ่งแวดล้อม

"ฉันมี" ก็มีหลายบริบท หลายที่มา บางอย่างก็มีมาแต่แรก ไม่ค่อยจะลงทุนเท่าไหร่ เช่น มีชีวิต มีแขน ขา ตา จมูก บางอย่างก็ตั้งใจทำ เช่น มีภรรยา มีลูก มีรถ บางอย่างไม่ได้ตั้งใจนัก แต่ก็มีจนได้ เช่น มีพุง มีเจ็บเข่า ปวดหลัง ตาสั้นผสมยาว บางอย่างก็เป็น lifetime achievement (และ lifetime maintenance) เช่น มีครอบครัว มีเพื่อน มีกัลยาณมิตร

"ฉันสามารถ" นั้นเป็นการ "ตกผลึก" ของการใช้ชีวิตที่ผ่านมา ตั้งแต่พื้นฐาน สามารถเห็น ชิม สัมผัส ได้ยิน โอบกอด ประคับประคอง หรือซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ การรักษาผู้คน สั่งยา ขับรถ กินข้าว กินขนม กินโค้ก กินไอติม กินบะหมี่เป็ด บะหมีปู (รู้สึกความสามารถด้านนี้จะเยอะ.... ไปหน่อย) ความสามารถบางอย่างก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ หรือดีใจที่ทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น สามารถฟัง สามารถห้อยแขวนไม่ด่วนตัดสิน สามารถเห็นรอยยิ้มทั้งภายนอกและภายในของคน สามารถเห็นน้ำตาทั้งภายในและภายนอกของคน สามารถเห็นความฝันของคน (บางคน)

ฉันเป็น ฉันมี และฉันสามารถ ยิ่งมีความหมายและมีความสำคัญมากขึ้นเป็นทวีคูณ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงชั่วคราว และจะหมดไปเมื่อเราหมดลมหายใจ จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เห็นอยู่ทุกวี่วัน ทำให้เราถามตัวเองได้บ่อยขึ้นว่า

"วันนี้ฉันได้ทำอะไรกับสิ่งที่ฉันเป็น ฉันมี และฉันสามารถไปบ้าง?"
"เราได้ใช้สิ่งเหล่านี้เต็มที่แล้วหรือยัง?"
"มีคนมีความสุขเพราะทั้งสามประการกี่คน มีคนทุกข์เพราะทั้งสามประการกี่คน?"
"เราได้ขอบคุณ คน สัตว์ สิ่งแวดล้อม ที่มีพระคุณต่อเราไปแล้วหรือไม่?"
"เราได้ขออภัย เราได้ให้อภัยไปหมดแล้วหรือยัง?"

หากยังพบว่าเรายังคง "สามารถ" สะเทือนใจที่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงชั่วคราว ก็เป็นข่าวดี และเป็นข่าวดียิ่งขึ่นอีกถ้าเราสะเทือนใจแล้ว เกิดความมุ่งมั่นมานะที่จะ "ทำให้ดีที่สุด" ทุกๆครั้งที่เห็นชีวิตที่เปราะบางอยู่เบื้องหน้า ต้องน้อมจิตคารวะต่อชีวิตนั้นๆที่ส่งสัญญานเตือนเราเสมอว่า เราได้ทบทวนสามประการของชีวิตเราไปแล้วหรือไม่ และอย่างไร

ขอบคุณทุกๆความตายที่ประจักษ์ และให้พื้นที่ให้เราเข้าไปดูแล และเรียนรู้

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๑๕๕๙ เวลา ๙ นาฬิกา ๔ นาที
วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๓ ปีมะแม
วันละม้ายคล้ายกับวันเกิด ตกฟาก ๒๓ นาฬิกา ๒๔ นาที (ยังอีกหลายชั่วโมง)

คำสำคัญ (Tags): #มรณานุสสติ
หมายเลขบันทึก: 601800เขียนเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2016 09:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท