ตั้ง สต (สติ) ก่อน สต (ส่งต่อ) (2) - สร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21


เวลาอยู่ใน social media คนเราจะมีนิสัยดี แต่ต้องช่วยกันขัดเกลา อยู่อย่างหนึ่ง คือ นิสัย อยากให้คนอื่นได้รู้เท่ากับที่ตัวเองรู้

โดยมีคติว่า “ส่งต่อดีกว่าไม่ส่ง เท็จจริงคนอ่านพิจารณาเอง”

แต่คติที่ว่า เป็นคติที่ควรยึดถือ จริงหรือ อาจต้องทำความเข้าใจ จิตวิทยาแห่งการเข้าข้างตัวเอง

ถ้าลองสมมมุติว่า เราเป็นเจ้าของข้อมูลที่กำลังจะส่งต่อ (ไม่ได้รับมาจากคนอื่น)

หลายคนอาจจะไม่อยากส่งต่อข้อความ หรือข้อมูลเหล่านั้น

เพราะเราไม่อยากทำให้ตัวเอง ดูไม่ดี ถ้าไปพูดเรื่องที่ “ไม่ดี” หรือ “ไม่จริง”

แต่เวลาส่งต่อข้อความที่มาจากที่อื่น เราไม่สนใจ

เพราะลึกๆเราบอกตัวเองว่า นี่ไม่ใช่ของเรา เป็นของคนอื่น ดีไม่ดี จริงไม่จริง เป็นปัญหาของต้นตอ เราไม่ต้องรับผิดชอบ แถมอาจได้ทำความดี ที่ได้แบ่งปัน

ก่อนส่งต่อข้อความใด จึงควรตั้งสติ และถามคำถามต่อไปนี้กับตัวเอง

คำถามที่ง่ายที่สุด คือ ถ้าเราเป็นเจ้าของข้อมูล/ข้อความที่กำลังคิดจะส่งต่อ เราจะส่งต่อไหม

แต่ถ้าอยากลองแยกแยะให้ละเอียดก็ลองใช้หลัก วจีสุจริต ผสมกับ หลัก ปิยวาจา ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้นานแล้ว มีคนนำมาประยุกต์ ตีความมากมาย

  1. เป็นความจริง
  2. ไม่ส่อเสียด
  3. ไม่ใช่คำหยาบ
  4. ไม่เพ้อเจ้อ
  5. เป็นประโยชน์
  6. ถูกกาละเทศะ
  7. เป็นธรรมกับผู้ถูกพูดถึง

สมเด็จพระญาณสังวร ท่านแจกแจงโดยละเอียดไว้น่าสนใจ เอามาประกอบการพิจารณา สำหรับคนชอบส่งต่อ (ด้วยความหวังดีจะให้ผู้อื่นได้รับข้อมูล/ความรู้เพิ่ม) ได้น่าสนใจ ตามนี้

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=18799

มีอย่างน้อย 3 มุมที่สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ เป็นตัวกรอง การส่งต่อ ไล่จากง่ายไปหายาก

การพูดคำหยาบ แม้จะไม่ตั้งใจหลอกลวง (คนพูดเชื่อเช่นนั้น) ก็ไม่ควรพูด (ข้อความส่วนใหญ่แยกแยะไม่ยาก ว่าบรรจุคำหยาบหรือไม่ แต่คนส่วนใหญ่มักส่งต่อ ถ้าเห็นด้วยว่าเป็นความจริง ไม่ได้หลอกลวง แต่ท่านก็วินิจฉัยว่า ไม่ควรพูด แปลว่า ก็ไม่ควรส่งต่อ จะได้ไม่กลายเป็นผู้ร่วมกล่าววจีไม่สุจริต)

การพูดให้เกิดความแตกกัน เข้าลักษณะส่อเสียด แม้จะเป็นความจริงก็ไม่ควรพูด (ถ้าไม่จริง หรือไม่แน่ใจว่าจริง แต่ถ้าส่งต่อแล้วทำให้แตกกัน ยิ่งไม่น่าส่ง)

การพูดที่เป็นการกด ทำให้เขาเลวลง แม้ไม่ได้ตั้งใจหลอก แต่เป็นการพูดด้วยความโกรธ ด้วยความเหยียดหยาม ก็ไม่ควรพูด

ลองทบทวนดูจะพบว่า เราเคยได้รับข้อความที่ส่งต่อ มีเนื้อหา แฝงการเหยียดหยามดูถูก คนบางกลุ่มบางพวก อยู่มาก คำถามที่ต้องถามตัวเองให้แยะๆ คือ เราส่งต่อด้วยความรู้สึกเหยียดหยาม อย่างที่ปรากฎในข้อความหรือไม่ เพราะคนเรามักรู้เท่าทันความโกรธได้ง่ายกว่าการเหยียดหยาม แม้จะไม่เสมอไป

ที่ยากมากสำหรับคนรับสารคือ ข้อความที่กดคนอื่น หรือเหยียดหยามคนอื่น มักมาพร้อมกับข้อมูล ข้อเท็จจริง (ซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง) เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ

ถ้าใช้หลักที่ท่านอธิบายไว้ ก็ไม่ต้องไปสนใจว่า ข้อมูลข้อเท็จจริงนั้น จริงมากหรือน้อยเพียงไร ถ้าเนื้อหานำไปสู่การ ดูถูกเหยียดหยามหรือกดคนอื่นให้เลวลง ก็ไม่ควรส่งต่อ

แน่นอนว่า คนจำนวนไม่น้อย คงส่งต่อข้อความทำนองนี้ เพราะ “ เห็นด้วย” หรือ “สะใจ” กับสาระที่พยายามกดบางกลุ่มให้เลวลง

เป็นเรื่องปกตื ที่ทุกคนจะมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ หรือความคิด ความเชื่อ ไปในทางเดียวกัน

แต่คนทั่วไปที่ไม่ได้ร่วมอุดมการณ์ ควรมีอาวุธ และสร้างทักษะ ป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือ โดยไม่รู้ตัว

เรื่องที่พระพุทธเจ้า สอนไว้เมื่อ 2000 กว่าปีก่อน กลับมาทันสมัยทันที ในยุคที่พื้นที่การสื่อสารเปิดกว้าง และการส่งต่อแบบฉับพลัน (ด้วยความหวังดี) เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง

สมควรที่ อารยะชน (ผู้ไม่คิดใช้พื้นที่เป็นที่กล่าววจีไม่สุจริต) ร่วมกันนำมาปรับใช้ เพื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือ กล่าวคำหยาบ คำส่อเสียด และเป็นตัวกลางเผยแพร่ความเท็จ หรือความจริงครึ่งเดียว (ข้อหลังยากที่สุดที่จะรู้ทัน แต่ก็ต้องพยายามช่วยกัน ด้วยการอ้างอิงข้อมูลที่มีอยู่มากมาย ยากแก่การตรวจสอบ)

ถ้าช่วยกันตั้งมาตรฐานใหม่ในใจทุกคน ว่าการส่งต่อ เป็นพฤติกรรมเสี่ยงสูง ต่อการกล่าววจีทุจริต อันมีผลมากมายต่อการอยู่อย่างสร้างสรรค์ ภายใต้ความแตกต่าง

จะเกิดทักษะใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 รู้ทัน ความอยากแบ่งปัน รู้จักเลือกส่งต่อ ทำให้ข้อความที่เข้าข่ายวจีทุจริต หยุดยั้ง ที่จะก่อโทษแก่สังคม ส่วนคนใช้ social media ก็ปลอดจากภัยร้ายของโรค แบ่งปันอย่างไร้สติ

หมายเลขบันทึก: 601750เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2016 11:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นประโยชน์มากๆเลยครับ

ตอนนี้คนไม่ค่อยคิด

ส่งต่อกันตลอด

ขอบคุณคุณหมอมากๆครับ

เยี่ยมมากค่ะ ได้เตือนสติตัวเอง ขอบคุณค่ะ

ไม่ค่อยชอบส่ง แต่อ่านบางเรื่อง

พยายามเข้าใจคนส่งว่าเขาอยากให้เราอ่านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท