วิชาภาวะผู้นำ 2/2558 : กระบวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน ว่าด้วยเรื่องบุคลิกภาพของผู้นำ


กระบวนการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตเกิดการทบทวนตัวเองว่าแต่ละคนมีบุคลิกภาพที่ดีและไม่ดีอย่างไร จากนั้นจึงนำมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วขมวดเป็นประเด็นหลัก ซึ่งก็เหมือนการชวนให้นิสิตได้ทำการ “ทบทวน” หรือ “สังเคราะห์” ตัวเองผ่านมุมมองของตัวเองเป็นหลัก โดยให้มองทั้งในมุมบวกและมุมลบ (จุดแข็ง-จุดอ่อน)




การเรียนการสอนวิชาภาวะผู้นำในวันที่ 8-9 กุมภาพันธ์ 2559 บรรยายโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ (คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ) ในประเด็น “บุคลิกภาพของผู้นำ”

การเรียนการสอนดังกล่าว เป็นการจัดการเรียนรู้ในแบบ "บันเทิงเริงปัญญา" กล่าวคือบูรณาการการบรรยายภาคทฤษฎีคู่กับการปฏิบัติการตามครรลอง “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” และเรียนรู้อย่างเป็น “ทีม”

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ




เรียนรู้ภาคทฤษฎีแบบมีส่วนร่วม


เบื้องต้น ผู้ชวยศาสตราจารย์ ดร.สุจิน บุตรดีสุวรรณ เน้นการบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับนิยามความหมายของคำว่า “ผู้นำ-ภาวะผู้นำ” และเชื่อมโยงไปยังประเด็นหลักคือ “บุคลิกภาพ” ที่ประกอบด้วยนิยามความหมาย ลักษณะที่บ่งชี้ถึงความเป็นบุคลิกภาพ เป็นต้นว่า...

  • "ผู้นำ" หมายถึง บุคคลที่สามารถชักจูง หรือชี้นำบุคคลอื่น ให้ปฏิบัติงาน สำเร็จ ตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
  • “ภาวะผู้นำ” หมายถึง ศิลปะของการใช้อิทธิพลหรือกระบวนการใช้อิทธิพลต่อบุคคลอื่น เพื่อให้มีความเต็มใจ และกระตือรือร้นในการปฏิบัติงานจนประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายของกลุ่ม



  • “บุคลิกภาพ” มาจากคำภาษาอังกฤษ “Personality” แปลได้ คือ “ความเป็นเฉพาะคนซึ่งมีรากศัพท์เดิมมาจากภาษากรีก คือ “Persona” หมายถึง “หน้ากาก”
  • “บุคลิกภาพ” คือ ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัว ของบุคคลนั้น อันหมายถึงลักษณะที่ต่างกันของแต่ละบุคคล บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นแตกต่างจากบุคคล เช่น อุปนิสัย นิสัยใจคอ ความสนใจ วิธีการปรับตัว ทัศนคติ โครงสร้างทางร่างกาย เป็นต้น




โดยส่วนตัวแล้ว ผมถือว่าการบรรยายในช่วงนี้ไม่ได้มุ่งเน้นการถ่ายทอดความรู้แก่ผู้เรียนแบบการสื่อสารทางเดียว หรือการยัดเยียดให้กับผู้เรียนแต่เพียงฝ่ายเดียว หากแต่มีการตั้งคำถาม ชวนคิดชวนคุยเป็นระยะๆ รวมถึงการ “โยนไมค์” หรือ “ปลุกเร้า” ให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็นร่วม เสมอเหมือนการอภิปรายและตอบข้อซักถามไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ

กระบวนการเรียนการสอนเช่นนี้ ไม่เพียงเสริมสร้างบรรยากาศในชั้นเรียนให้ดูคึกคักมีชีวิตชีวาและตื่นตัวเป็นระยะๆ เท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงการบ่มเพาะทักษะหลายๆ อย่างแก่นิสิต เช่น การฟัง การคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม การตอบคำถาม หรือกระทั่งทักษะการกล้าแสดงออก หรือสื่อสารอย่างสร้างสรรค์






ทฤษฎีสู่การปฏิบัติการกลุ่ม : เรียนรู้ตัวเองและเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวอย่างเป็นทีม

ภายหลังการบรรยายภาคทฤษฎีเดินทางไปได้สักระยะหนึ่ง ก็ถึงคราวเปลี่ยนหมุดหมายการจัดการเรียนรู้มาสู่ “กระบวนการ” เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้เพื่อทบทวนตัวเองและเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม

ผู้สอน และทีมผู้ช่วยสอน ดำเนินการแบ่งนิสิตออกเป็นกลุ่มๆ โดยให้แต่ละกลุ่มได้ “โสเหล่” (แลกเปลี่ยนเรียนรู้” ผ่านประเด็นการเรียนรู้ 4 ประเด็น คือ

  • ใครคือฮีโร่
  • คิดอย่างไรกับวาทกรรม “บุคลิกภาพดีมีชัยไปกว่าครึ่ง”
  • บุคลิกภาพที่ดีของนิสิต
  • บุคลิกภาพที่ไม่ดี (ไม่ควรมี) ของนิสิต




Hero : ต้นแบบในโลกแห่งความฝันและความจริง

ประเด็นของ ฮีโร่ (Hero) โดยส่วนตัวผมมองว่าเป็นกระบวนการที่ชวนให้นิสิตได้ทบทวนทุนชีวิตของตนเอง
ในอีกมิติหนึ่งเลยก็ว่าได้ ประหนึ่งการชั่งวัดให้เห็นถึงทัศนคติของนิสิตที่ยึดโยงบนฐานคิดความเชื่อและความศรัทธาต่อบุคคลต้นแบบ ซึ่งสั่งสมและเรียนรู้มาเป็นระยะๆ โดยอาจมีทั้งที่เป็นความจริงแตะต้องสัมผัสได้ หรือมีทั้งที่อยู่ในโลกแห่งความฝันที่เรียนรู้และซึมผ่านโลกแห่งนิยาย ละคร ภาพยนตร์ การ์ตูน ฯลฯ

และนี่คือส่วนหนึ่งที่ผู้เรียน (นิสิต) ได้สะท้อนฮีโร่ อันเป็นต้นแทบของนิสิต เป็นต้นว่า

  • ศาสนาและการปกครอง : พระพุทธเจ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
  • สถาบันครอบครัว : บิดามารดา พี่สาว
  • นักการเมืองและผู้นำทางสังคม : มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ อองซานซูจี ทักษิณ ชินวัตร สืบ นาคะเสถียร
  • ดารา นักแสดงและตัวละครจากสื่อสาธารณะ : แดจังกึม โนมิตะ เจมส์ จิรายุ




บุคลิกภาพนิสิต : ทบทวนและวาดฝัน

กรณีประเด็นบุคลิภาพที่ควรมีและไม่ควรมีของนิสิต คือกระบวนการที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตเกิดการทบทวนตัวเองว่าแต่ละคนมีบุคลิกภาพที่ดีและไม่ดีอย่างไร จากนั้นจึงนำมาแลกเปลี่ยนกัน แล้วขมวดเป็นประเด็นหลัก ซึ่งก็เหมือนการชวนให้นิสิตได้ทำการ “ทบทวน” หรือ “สังเคราะห์” ตัวเองผ่านมุมมองของตัวเองเป็นหลัก โดยให้มองทั้งในมุมบวกและมุมลบ (จุดแข็ง-จุดอ่อน)

เมื่อนำมารวมกันแล้ว ก็เป็นเสมือนการวางหมุดหมายร่วมกันว่าแท้ที่จริงแล้วบุคลิกภาพของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคามควรเป็นอย่างไร สอดคล้องกับปรัชญา เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ค่านิยม รวมถึงคุณลักษะที่พึงประสงค์ของนิสิตมากน้อยแค่ไหน-




และนี่คือส่วนหนึ่งที่นิสิตได้ทำการทบทวน วิเคราะห์ตัวเอง รวมถึงวาดฝันถึงบุคลิกภาพอันเป็นอุดมคติของนิสิต โดยสกัดจากประเด็นความถี่ 3-4 อันดับที่พบมากที่สุดในแต่ละกลุ่ม ดังว่า

บุคลิกภาพที่ดีของนิสิต เช่น

  • เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
  • คิดบวก (มองโลกในแง่ดี)
  • เข้ากับคนอื่นได้ดี (มีมนุษยสัมพันธ์)
  • มีความมั่นใจ และกล้าแสดงออก
  • ร่าเริงแจ่มใส มีอารมณ์ขัน
  • อ้อนน้อมถ่อมตน
  • เด็ดขาด (กล้าตัดสินใจ)
  • มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่



บุคลิกภาพที่ไม่ดี (ไม่ควรมี) ของนิสิต เช่น

  • ใจแคบ
  • ไม่ตรงต่อเวลา
  • มองโลกในแง่ร้าย
  • ไม่เคารพกติกาสังคม
  • ใจร้อน วู่วาม
  • ก้าวร้าว
  • พูดจาไม่สุภาพ
  • ไม่เปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
  • คิดมาก/ วิตกจริต
  • รับประทานอาหารเสียงดัง






มีความหมายใดในการเรียนรู้

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าประเด็นการเรียนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ในวันนี้ ประเด็นหลักก็คือเรื่องบุคลิกภาพของการเป็นผู้นำ หรือในอีกความหมายหนึ่งก็คือบุคลิกภาพที่พึงประสงค์ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งใช้กระบวนการให้นิสิตได้ระดมความคิดร่วมกัน แล้วสะท้อนข้อมูลต่อสาธารณะในครรลองของการแบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้



ว่าไปแล้วกระบวนการจัดการเรียนการสอนเช่นนี้ หากไม่นับประเด็น “องค์ความรู้” ที่ว่าด้วย “บุคลิกภาพ” ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือกระบวนการของการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้นิสิตได้รู้จัก หรือฝึกทักษะสำคัญๆ หลายประเด็น ทั้งในระดับปัจเจกบุคคลและกลุ่ม/ทีม เป็นต้นว่า

  • การทบทวน-สำรวจตัวเอง-วิเคราะห์ตัวเอง
  • การสนทนากลุ่ม–การจัดการความรู้ร่วมกัน (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)
  • การใช้เหตุผล-การรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น-การอยู่ร่วมบนความแตกต่างของผู้คน
  • การสื่อสารสร้างสรรค์ ผ่านผังความคิด การเล่าเรื่อง การบรรยาย
  • การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า (ทำงานภายใต้เงื่อนไขเวลาอันจำกัด)
  • การเป็นผู้นำ-ผู้ตาม และการเรียนรู้อย่างเป็นทีม
  • ฯลฯ



ครับ-นั่นคือมุมมองของผม ส่วนผู้เรียน (นิสิต) เรียนรู้แล้ว จะได้เข้าใจ มีองค์ความรู้และทักษะดังที่ผมกล่าวอ้าง หรือไม่ คงต้องประเมินการเรียนรู้จากนิสิต ซึ่งผมและทีมงานก็กำลังวิเคราะห์ผ่าน “ใบงาน” เป็นรายบุคคล ---

หมายเลขบันทึก: 601697เขียนเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2016 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2016 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

เยี่ยมค่ะ...ผู้นำที่ดีในปัจจุบัน ต้องฝึกทำตน "เปิดใจ" ยอมรับกับความเป็นจริง...สิ่งใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลง (ถึงแม้จะไม่ต้องการยอมรับ แต่ผู้นำจะฝืนความเป็นจริงไม่ได้)...ไม่นำอดีตมาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ควรปรับเปลี่ยนตนเองอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้เข้ากับเด็กยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดีค่ะ...

มองเห็นภาพรวมทั้งหมดว่านิสิตได้เรียนรู้อย่างไร

สอดคล้องกับเรื่องเด่นเช่นเรื่อง บัณฑิตที่พึงประสงค์ของมหาวิทยาลัย

ชอบใจกิจกรรมการเรียนการสอนแบบนี้ที่มีการปลุกเร้าให้ตอบและการโยนไมล์ตลอดเวลา

ขอบคุณมากๆครับ

ต้นทุนดี อนาคตของชาติเหล่านี้

คงเป้นความหวังของชาติบ้านเมืองได้

ต่อไปในอนาคตนะจ๊ะ

สนุกสนาน เรียนรู้จากสังคมวงในเพื่อนกัน พร้อมสู่วงใหญ่ต่อไป

ชื่นชมกระบวนการสอน-เรียนรู้ค่ะ

ครับ พี่ บุษยมาศ

ผมเชื่อเช่นนั้นเช่นกันครับ เรื่องของการเปิดใจ เป็นคุณสมบัติสำคัญที่หนุนให้ผู้นำมีวิสัยทัศน์ที่ดี
การเปิด คือคุณสมบัติพื้นฐานที่ธรรมชาติให้เรามา เป็นประตูแห่งการเติบโต หลายครั้ง ผมเองยังเปรียบเปรยว่า การอ่าน ก็คือการเปิดดวงตาแห่งการเรียนรู้ ด้วยเช่นกัน--

ขอบพระคุณครับ

ครับ ดร.ขจิต ฝอยทอง

ผมมองว่า ถามตอบ --- ชวนตอบ หรือกระทั่งโยนไมค์ให้ตอบ ให้คุย ให้แสดงความคิดเป็นกลยุทธ หรือกระบวนการพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้แบบง่ายสุดแล้ว อย่างน้อย ฝึกความกล้า อย่างน้อยผู้เรียนหลายคนก็อาจไม่กล้าหลับ เพราะกลัว "โยนไมค์" หล่นใส่กะบาล 555

ครับ พี่ มะเดื่อ

เราทำหน้าที่บ่มเพาะให้ดีที่สุดในแต่ละวัน
แต่โลกก็หมุนเร็ว เปลี่ยนผ่านในแต่ละวันด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เราป้อน หรือบ่มเพาะ คือการสร้างต้นทุนให้กับผู้เรียน
ที่สุดแล้ว ก็อยู่ที่เขาแหละครับว่าจะตกผลึกแค่ไหน
และใช้สิ่งเหล่านั้น ได้ดีแค่ไหน
เท่าทันต่อโลก แค่ไหน







ใช่ครับ พี่หมอ ธิ

ต้องเรียนตามตรงว่า ชัดเจนมาโดยตลอดที่ผมมักออกแบบกระบวนการเรียนรู้จากการเรียนรู้ตัวเองเป็นหลัก จากนั้นจึงค่อยๆ เชื่อมโยงกระบวนการสู่การเรียนรู้ แบ่งปันกับคนรอบข้างใกล้ตัว... เสมอเหมือนจำลองโลกใบใหญ่เข้ามา

จึงได้แต่หวังว่า นิสิต/ผู้เรียนจะเรียนรู้ เข้าใจ ตระหนัก และมีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ครับ

โดยเฉพาะการเรียนรู้จากเรื่องใกล้ตัว ไปสู่เรื่องรอบตัว นั่นเอง

ขอบพระคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท