(117) 3 ตัวป่นอิ่ม!


วันนี้มีผู้ป่วยชายวัยรุ่นรายหนึ่งมารักษาฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ขณะขึ้นนอนบนเตียงบำบัด เธอมีอาการตัวสั่นเบาๆ ดิฉันประเมินว่าเธอมีสติ และพยายามควบคุมตนเองไว้ จึงช่วยเบี่ยงเบนความสนใจเธอโดยชวนพูดคุยระหว่างจัดท่าบำบัด

..

วันก่อนดิฉันมีโอกาสนั่งจิบกาแฟคนเดียว จึงเป็นโอกาสให้ ได้ทบทวนตนเองเงียบๆ บ้าง .. คุณสามีในฐานะผู้ปกครองไม่มารับกลับเสียที อ่านนิตยสารเล่นดีกว่า ..

นิตยสาร IMAGE ฉบับธันวาคม 58 มีบทความหนึ่ง กล่าวถึง ความสำคัญของการสื่อสาร ตอนหนึ่งว่า ภาษากายสื่อสารได้ดีกว่าคำพูด ในกระบวนการสื่อสารนั้น คำพูดทำงานเพียง 7 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เป็น 7 เปอร์เซ็นต์ที่สำคัญมากเพราะเป็นการให้ข้อมูลล้วนๆ เลย นอกนั้นเป็น ‘underline’ เป็นน้ำเสียง 38 เปอร์เซ็นต์ อีก 55 เปอร์เซ็นต์เป็นภาษากาย ถือว่าสำคัญมาก

ดิฉันนึกถึง บทความเรื่อง ‘(80) บรรยากาศ 'สุมหัว' ของ 'คนมีไฟ!' (https://www.gotoknow.org/posts/578942) เขียนถึงประเด็น 'การสร้างบรรยากาศการปฏิบัติงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ' ของหน่วยรักษาด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive Therapy: ECT) ที่เราเรียกกันขำๆ ว่า 'คนมีไฟ' วันนี้ดิฉันมีภาค 2 บรรยากาศการสื่อสารของกัลยาณมิตรแบบ ‘underline’ มาเล่าให้ฟังอีกค่ะ

ทีมรักษาด้วยไฟฟ้า เป็นทีมแบบสหวิชาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์ ทันตแพทย์ อย่างละ 1 คน พยาบาลจิตเวช 3-4 คน และเจ้าหน้าที่ที่เราฝึกมาอย่างดีอีก 6 คน โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ให้บริการรักษาด้วยไฟฟ้ามานานเกือบ 70 ปีแล้ว ผู้ป่วยไม่เคยได้รับอันตรายจากการรักษาเลยแม้แต่ครั้งเดียว

ถึงกระนั้น ผู้ป่วยก็ยังรู้สึกหวาดกลัว !!

เพราะการรักษาด้วยไฟฟ้ามีนิคเนมหรือชื่อน่ากลัวที่ตรึงใจ ลบออกไปไม่ได้ว่า “ช็อตไฟฟ้า” ซึ่ง ‘เรา’ มีความตระหนักถึงความวิตกกังวลนี้ดี จึงทำโครงการพัฒนาเพื่อลดความกลัวอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาได้ผลดีสามารถลดความกลัวของผู้ป่วยลงได้ แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ เพราะเมื่อผู้ป่วยเก่าที่ทำความเข้าใจกันอย่างดีแล้วกลับบ้านไป ก็ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เข้ามารับการรักษาเรื่อยๆ จึงมีแนวคิดจะศึกษาต้นเหตุที่แท้จริงเพื่อตัดไฟตั้งแต่ต้นลม (ปัจจุบันดิฉันกำลังศึกษาเชิงคุณภาพแบบโครงการนำร่องเพื่อให้ได้ Evidence-based ที่จะศึกษาวิจัยเชิงลึกต่อไป)

วันนี้มีผู้ป่วยชายวัยรุ่นรายหนึ่งมารักษาฯ เป็นครั้งที่ 2 แล้ว ขณะขึ้นนอนบนเตียงบำบัด เธอมีอาการตัวสั่นเบาๆ ดิฉันประเมินว่าเธอมีสติ และพยายามควบคุมตนเองไว้ จึงช่วยเบี่ยงเบนความสนใจเธอโดยชวนพูดคุยระหว่างจัดท่าบำบัด

ดิฉัน “ชื่อเธอ มีตัวอักษร 3 ตัว ไม่มีสละ วรรณยุกต์ สั้นดีนะ แปลว่าอะไรจ๊ะ”

ผู้ป่วย “แปลว่าสะอาด บริสุทธิ์ครับ”

เธอยิ้มอย่างภาคภูมิใจในชื่อของตนเอง เจ้าหน้าที่คนที่ช่วยจัดท่าบำบัดจึงหยอกล้อบ้าง “ตัวเหม็นๆ หน้าดำๆ นี่นะ” (ฮา) .. ทุกคนหัวเราะพร้อมกัน

ผู้ป่วยอธิบายต่ออย่างอารมณ์ดีว่า “มันสะอาดที่ใจครับ จิตใจบริสุทธิ์”

ดิฉันจึงชื่นชมผู้ป่วยเชิงหยอกล้อว่า “นี่ ให้รู้ซะบ้าง ว่าคุยอยู่กับใคร!”

จู่ๆ ผู้ป่วยก็โพล่งออกมาว่า “3 ตัวป่นอิ่ม”

ดิฉันเป็นคนกรุงเทพฯ หรือคน ‘ปากไทย’ ค่ะ ก็ถึงกับอึ้งไป แต่ไม่ชอบยอมแพ้ ตัดพ้อผู้ป่วยว่า “เธอเล่นใช้ภาษาอีสานมาดวลกับหมอหรือ!!”

พวกเราทีมรักษาด้วยไฟฟ้า รวมทั้งผู้ป่วยด้วย จึงได้หัวเราะเสียงดังพร้อมกันอีกรอบ

การสนทนาจบลงแล้ว จัดท่าบำบัดเสร็จพอดี แต่คุณหมอ (ปากไทย) ของเรายังไม่จบ ทำสีหน้างงๆ กระซิบถามดิฉันเบาๆ

หมอ “เขาพูดว่าอะไรนะ” (ฮา..)

ดิฉัน จึงทำหน้าที่เป็นล่ามแปลให้ฟังว่า “ชื่อเธอมี 3 ตัวอักษร เธอเปรียบเทียบว่า มันก็มากพอจะนำไปทำป่น (ชื่ออาหารพื้นบ้านอีสาน) กินกับข้าวได้อิ่มหนึ่งค่ะ” คุณหมอ พยักหน้าเข้าใจ แล้วเสนอว่า

หมอ “ถ้าอย่างนั้นผมจะเพิ่มไฟให้ด้วยเลย”

ดิฉันเห็นด้วยค่ะ “เข้าท่า พอดีสุก ไม่ต้องกินดิบ” (ฮา)

เพิ่งรู้ว่าคุณหมอปากไทยท่านนี้ นอกจากรูปหล่อ บุคลิกดี ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างมีสไตล์ เป็นที่น่าหลงใหลของสาวๆ แล้ว ยัง ‘หัวไว อารมณ์ดี’ อีกด้วย

งานนี้ผู้ป่วยถึงกับลืมกลัว ลืมตัวสั่น!

หรือเราไม่จำเป็นต้องศึกษาหา Evidence-based อะไรให้ยุ่งยากแล้วกระมัง!


หมายเลขบันทึก: 600066เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2016 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กันยายน 2016 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ดีจังเลยครับ

มีโอกาสได้คุยแบบกันเอง

ขอบคุณมากครับ

Thank you for this enjoyable and valuable lesson. I bet that patient no longer has 'hang-up' about getting further treatments. The mindset has been smoothened, the fear lifted and only the outcome is now the main interest.

Maybe many good points can be delivered in the same way -- not quite an AI way, but very effective!

" ป่น " อาหารอีสาน แซ่บ ๆ

แต่ยังสงสัยว่า " 3 " ตัวที่เอามา " ป่น" นี่น่ะ

ทีตัวอะไรบ้าง จึงป่นแล้ว อิ่ม 555555


เข้าใจนะคะว่าคุณมะเดื่อหยอกเย้า แต่มันกระตุ้นให้อยากบอก แต่บอกไม่ได้ เอาเป็นว่า มีตัวอักษร 3 ตัวต่อกันนะคะ ฮา..

๕ ๕ ๕ พี่เล่าได้สนุกมากค่ะ

เคยเห็นแต่ในหนังค่ะ...ใส่ไฟคน...(น่ากลั้ว)..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท