​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๓ : การศึกษาเกิดได้จาก "ตนเอง" เท่านั้น


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๕๓ : การศึกษาเกิดได้จาก "ตนเอง" เท่านั้น

ศึกษา หรือ สิกฺขา มีความหมายน่าสนใจ คำว่า สิกฺขา คือ ส แปลว่า "ตนเอง" กับคำว่า อิกฺขา แปลว่ารู้หรือทำให้รู้ ลาสิกขาก็คือขอลาไปทำให้ตนเองเกิดการเรียนรู้ นัยยะที่สำคัญคือ ไม่มีใครจะ "ทำให้คนอื่นรู้" ได้ เพราะกระบวนการรู้เป็นเรื่องส่วนตัว ผัสสะทั้งห้า สฬายตนะทั้งหก เป็นเรื่องจำเพาะบุคคล

การเรียนนั้นจึงขึ้นกับผู้เรียนเป็นสำคัญ ว่าจะเรียนหรือไม่เรียน นอกจากนั้นเนื้อหาที่จะเรียนก็ยังขึ้นกับผู้รับรู้เอง ว่าจะตีความเช่นไร ใช่ว่าจำเป็นต้องตีความเหมือนที่คนสอนจะตั้งใจเสมอไป ผมเคยจัดสอนแสดงการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติที่มีปัญหาเวลาจะจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล ว่ามีปัญหาทั้งเรื่องการดูแลตนเอง การหาคนมาดูแล เรื่องครอบครัว ที่ทำงาน ฯลฯ โดยใช้ครูแสดงและผู้ป่วย/ญาติจำลอง ทำประมาณ ๒๐ นาที ถามนักเรียนที่นั่งสังเกตอยู่เป็นวงรอบๆว่าเมื่อสักครู่นี้เห็นอะไร นักเรียนคนหนึ่งตอบว่า "เห็นอาจารย์พยายามไล่คนไข้กลับบ้านอยู่ แต่ไม่สำเร็จ!!!"

ครูถึงกับมีอึ้ง แต่ข่าวดีก็คือ เราได้มานั่งคุยกันต่อว่าที่แต่ละคนเห็นและรับรู้นั้นคืออะไร เป็นมาอย่างไร

เดี๋ยวนี้มีรูปแบบการเรียนรู้มากมาย วิธีการเรียนรู้ใหม่ๆก็ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด วิธีใหม่ใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป แต่ก็คิดค้นกันขึ้นมาจากการล้มเหลวในอดีต (ของใหม่ก็สามารถล้มเหลวได้อย่างมากมาย มากกว่าของเก่าก็มี) จากเดิมมีแต่บรรยาย lecture ครูคือ "ผู้รู้ (มาก)" มาถ่ายทอดส่วนที่ตนเองรู้ และอนุมานว่าเด็กยังไม่รู้แต่ควรจะรู้ ก็ได้ผลดีในระดับหนึ่ง เพราะสมัยก่อนความรู้มันซ่อนเร้น หรือยากที่นำมารวบรวม โชคดีที่มีผู้อุตสาหะไปเรียนมา ไปอ่านมา ค้นคว้ามาเล่าให้ฟังกันถึงที่

แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป

เพราะองค์ความรู้ถูกจัดและรวบรวมมาเก็บไว้ในรูปแบบที่ง่ายในการเข้าถึงมากขึ้น สมัยก่อนถ้าอยากจะเห็นการรำไท้เก๊กเต็มรูปแบบ อาจจะต้องเดินทางไปเมืองจีน เดี๋ยวนี้ search หาใน Google หรือ YouTube ก็มีให้เห็นได้เยอะแยะ อาจจะลดความ classic ลงไปพอสมควร แต่ก็สำคัญที่อยู่ที่ "มันไม่ได้ยากอย่างแต่ก่อน" กระบวนการสอนจึงต้องปรับเปลี่ยนไป จากครูผู้รู้เนื้อหา มาเน้นที่ครูผู้รู้วิธีจะเรียน แต่จัดบรรยากาศและพลังงานในการเรียนรู้ให้อุดมคติที่สุด

และในเรื่องนี้ คติเดิมก็ยังใช้ได้ คือ "ฉันทาคติ" นั้นสำคัญในการทำงานให้ลุล่วง สำเร็จ

ในฐานะที่เคยนำเอากระบวนการเรียนแบบปฏิบัติมาใช้ สิ่งสำคัญก็คือ วิธีการเรียนใดๆก็ตาม โดยไม่มีข้อยกเว้น ถ้านักเรียนไม่อยากเรียนก็จบตรงนั้น ไม่ได้แปลว่านักเรียนจะไม่ได้เรียน เพราะจริงๆแล้วคนเราเรียนรู้ตลอดเวลา แต่ในบริบทที่คนไม่อยากจะเรียนแต่ต้องมานั่งเรียนอยู่นั้น สิ่งที่เรียนอาจจะเป็นเรียนรู้เรื่องความทุกข์ ความไม่พอใจ ความโกรธ ความเกลียดชัง ฯลฯ แทนที่จะเรียนในเนื้อหาต่างๆที่นำมาเสนอ จะถูกอารมณ์อีกแบบมา take over สาระสำคัญของชีวิตในช่วงนั้นไป

เทคโนโลยีการเรียนในปัจจุบันจึงเน้นที่ student-centred เรียนเมื่อนักเรียนพร้อมมากขึ้น ไม่ใช่เรียนเมื่อครูพร้อม

ครูจะต้องเรียนรู้ "เทคนิก" ในการนำเข้าสู่บทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือแรงจูงใจ หรือการเกิดฉันทาคติว่าสิ่งนี้น่ารู้ สิ่งนี้น่าเรียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะนักเรียนต่างก็มี background แตกต่างกันไป ในการจัด workshop ที่เคยทำมา เงื่อนไขประการแรกสุดที่เรามักจะบอกกับคนจัด (หรือคนที่เชิญให้เราไปจัด) ก็คือ "ขอให้เอามาแต่คนที่สม้ครใจเรียนเท่านั้น" เพราะความสำเร็จในอดีตใดๆที่อาจจะเคยได้ยินมาว่าเราทำแล้วมันดี มันอะไรก็ตาม ล้วนเป็นเพราะเหตุผลสำคัญข้อนี้คือ "คนมานั้น อยากจะมาเรียน"

ถามว่า ๑๐๐% ไหม ก็ไม่ มีหลายครั้งหลายหนที่คนมาก็เพราะถูกสั่้งให้มา หรือบังคับให้มา ถามว่าสำเร็จไหมแบบนั้น ก็ขอตอบว่า "ถ้า...."
"ถ้าเรานำเข้าสู่การเรียนโดยมีฉันทาคติได้"
"ถ้าคนที่มาตัดสินใจอยากจะลองดู ทั้งๆที่ตอนแรกอาจจะไม่สนใจ"
"ถ้า block ต่างๆที่อยู่ในใจถูกปลดออกไปได้ ซึ่งส่วนใหญ่ คนเรียนต้องเป็นคนปลดเอง คนอื่นไปปลดให้ไมได้อยู่แล้ว"
"ถ้าเรา "ศรัทธา" ในวิธีการของ student-centred จริงๆ และขณะนั้น เรากำลังมุ่งมั่นทำ "เพื่อเขา" จริงๆ จะมีส่วนช่วยอย่างมาก เพราะ power of authenticity หรือพลังแห่งความจริงใจนั้น เป็นการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด

สำหรับสอนนักศึกษาแพทย์นั้น ผมมีอุบายส่วนตัวที่จะใช้ก็คือ ผมไม่ได้สอนเพื่อคนอื่น เพื่อประชาชน หรือเพื่ออะไรใคร แต่ผมกำลังจินตนาการว่า ถ้าหากจะมีหมอสักคนในอนาคตมาดูแลผมก่อนตาย ดูแลคนที่ผมรัก ดูแลลูกของผม ครอบครัวของผม ผมอยากจะให้หมอคนนั้นเป็นอย่างไร และในขณะนี้ ผมอาจจะมีส่วนในการทำให้เกิด "หมอคนนั้น" ขึ้นมา ฟังดูอาจจะไม่เหมือน "ทำเพื่อเขา" มากนั้น แต่ผมก็เชื่อจริงๆว่าหมอแบบนี้จะเป็นหมอที่มีชีวิตที่มีความสุขจริงๆ

ก็ work บ้าง ไม่ work บ้างนะ

ก็เลยไม่เคยคิดจะการันตีว่าหลักสูตรแบบไหนดีที่สุด work ที่สุด เราไม่ควรจะการันตีอะไรที่การันตีไม่ได้อยู่แล้ว เพราะการการันตีมันใกล้เคียงกับความอหังการ ความหลงตัวเอง และติดมานะ อันเป็นข้อที่ ๗ ของสังโยชน์ ๑๐ อุปสรรคในการตื่นรู้

น.พ.สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๕๙ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๑๗ นาที
วันแรม ๔ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 600049เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2016 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มกราคม 2016 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท