พิธีบรรจุพระพุทธรูปและพระไตรปิฎกลงองค์เจดีย์(5)


บรรยากาศโดยรอบบริเวณงานพิธีในช่วงพักกลางวันนั้น มีสีสรรความสวยงาม ที่แสดงออกถึงวิถึชีวิตของคนพม่า คนมอญ ที่พวกเขาดำรงชีวิตอยู่ในแต่ละวันออกมาให้เห็นหลายมุมมอง อาทิเช่น วัฒนธรรมการกินหมากของคนพม่า เป็นต้น วัฒนธรรมการกินหมากของคนพม่านี้ จากการพูดคุยไปมาระหว่างคนพม่า พวกเขาเล่าให้ฟังว่า มันเป็นประเพณีวัฒนธรรมของคนพม่าที่มีมาช้านานแล้ว หากมีแขกมาเยี่ยมเยือนถึงบ้าน สิ่งที่พวกเขาจะส่งต่อให้กันนั่นก็คือสิ่งนี้ และพวกเขายังบอกอีกว่า คนพม่าแทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ที่กินหมาก พวกเขาเรียกการกินหมากนี้ว่า "กวินหย่า" ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจเลยว่า ทำไมคนพม่าถึงปากแดงกันนัก เหตุเพราะกินหมากนี่เอง

..

ภาพถ่าย : การเรียงใบพลูที่ทาด้วยปูนขาวและโรยด้วยสมุนไพรต่าง ๆ วางขายเป็นคำ ภายในบริเวณงานพิธี

..

นอกเหนือจากการวางหมากพลูขายกันเป็น คำ ๆ แล้ว ก็ยังมีภาพการเดินจับจ่ายซื้อหาของกินระหว่างบุคคลในครอบครัว รวมถึงภาพของการต่อรองซื้อขายผ้าพาดบ่าของผู้หญิงชาวพม่า กรรมการคนหนึ่งได้บอกกับผู้เขียนว่า ผ้าห่มพาดบ่านี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้หญิงพม่า เพราะทุกครั้งที่พวกเธอเข้าวัดทำบุญฟังเทศน์ พวกเธอจะต้องมีผ้าพาดบ่าของเธอไปด้วยทุกครั้ง ผ้าพาดบ่านี้ ผู้เขียนมองเห็นว่าคล้าย ๆ ผ้าพันคอกันหนาวที่คนไทยใช้กัน ความกว้าง ความยาว และความหนา ของผ้าพาดบ่านี้ก็ใกล้เคียงกันกับพ้าพันคอที่ถักด้วยไหมพรมญี่ปุ่นเป็นก้อน ๆ ที่คนไทยใช้กันมากในวันที่มีอากาศหนาวเย็น และผู้เขียนเห็นต่ออีกว่า หากในค่ำคืนของการเข้าวัดฟังพระเทศน์ของคนพม่าแล้ว ผ้าพาดบ่านี้ก็ยังให้ความอบอุ่นต่อร่างกายได้เป็นอย่างดี แต่หากว่าเป็นเวลาในตอนกลางวันที่มีแสงแดดจัด ผ้าพาดบ่านี้ก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็นที่บังแสงแดดให้พวกเธอได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

..

ภาพถ่าย : บรรยากาศภายในงานพิธี ของช่วงพักกลางวัน ที่ได้เห็นวิถีชีวิตของคนพม่า คนมอญ ที่พวกเขาอยู่กัน ด้วยการพูดคุยระหว่างกัน เดินซื้อหากินและข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก่อนที่พิธีจะเริ่มอีกครั้งในช่วงบ่าย

..

บรรยายกาศช่วงเวลานี้ ผู้เขียนมองดูแล้วคิดว่า ตัวเองเหมือนเดินอยู่ในหมู่บ้านของคนมอญ คนพม่าอย่างไงอย่างงั้นเลยทีเดียว เพราะเนื่องจากว่า ภายในงานพิธีโดยเฉพาะช่วงกลางวันแบบนี้ คนไทยที่มีอยู่ไม่มากนักต่างก็ทยอยกันเดินทางกลับไปพักผ่อนที่บ้านของตัวเองกันแล้ว เนื่องจากเห็นว่า พิธีสำคัญนั้นได้เสร็จสิ้นไปตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว

การได้เดินดูบริเวณภายในงานโดยรอบ ทำให้ผู้เขียนได้เห็นมุมชีวิตของคนพม่า คนมอญ ในอีกแง่มุมหนึ่ง นอกเหนือไปจากพิธีการในงาน

..

-

ภาพถ่าย : ภาพของผู้เขียนกับน้องสาว(ที่อาสาเป็นช่างภาพถ่ายรูปในงานพิธีครั้งนี้) ขณะเดินดูวิถีชีวิตของคนมอญ คนพม่าในการหาซื้อของกินและจับจ่ายซื้อของในบริเวณงานพิธี(ช่วงพักกลางวัน)

..

2. ช่วงที่ 2 ช่วงบ่าย พิธีการในช่วงที่สอง ก็เริ่มต้นขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น ในการนี้..พระทนดาละและพระป๊อบปาลามมะ พระภิกษุสงฆ์พม่าท่านได้พูดคุยกับเหล่าพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมงานในพิธี พร้อมกับแจ้งขั้นตอนพิธีการในช่วงบ่ายทั้งหมดว่าเป็นอย่างไร?

..

ภาพถ่าย : พระทนดาละ และพระป๊อบปะลามมะ ชี้แจงขั้นตอนการวางพระพุทธรูปลงองค์เจดีย์ในช่วงที่สอง ของพิธีการ

..

สามารถสรุปความได้คร่าว ๆ ดังนี้ คือ

1) จะมีการรับบริจาคแก้ว แหวน เงิน ทอง โดยมีพระภิกษุสงฆ์พม่าเป็นผู้รับบริจาค เพื่อนำไปเป็นเครื่องสักการะบูชาภายในองค์เจดีย์

2) พุทธศาสนิกชน สามารถถวายปัจจัยเป็นพุทธบูชา และนำพระพุทธรูปหินหยกขาวที่ได้รับนั้นไปประดิษฐานไว้ในองค์เจดีย์ต่อไป

3) หลังจากบรรจุพระพุทธรูปและสิ่งของมีค่าต่าง ๆ ไว้ในองค์เจดีย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะนิมนต์พระสงฆ์ชาวพม่าเป็นผู้ทำการปิดองค์เจดีย์

ใจความที่สรุปมานี้ผู้เขียนได้รับทราบจากกรรมการท่านหนึ่ง ที่ได้เข้ามาเรียนชี้แจงให้ผู้เขียนทราบ ก่อนที่พิธีการจะเริ่มขึ้นจริง

..

ภาพถ่าย : พระปินิยาวันทา พระภิกษุสงฆ์พม่า รับบริจาคสิ่งของมีค่า ที่พุทธศาสนิกชนร่วมบริจาคถวายเป็นเครื่องสักการะบูชาภายในองค์เจดีย์

..

ในช่วงบ่ายนั้น เริ่มจากพระสงฆ์พม่าท่านได้เดินออกมารับบริจาค แก้วแหวน เงินทอง สิ่งของมีค่าต่าง ๆ ที่จะนำไปเป็นเครื่องสักการะบูชาภายในองค์เจดีย์ การเดินรับบริจาคครั้งนี้ ผู้เขียนได้เห็นแบบเดียวกันทั้งในช่วงเช้าและช่วงบ่าย สิ่งของมีค่าที่ได้รับมานั้น มีทั้ง กำไล สร้อยคอ สร้อยข้อมือ ต่างหู แหวนหรือแม้กระทั่งนาฬิกาข้อมือที่พวกเขาเหล่านั้นสวมใส่ อีกทั้งยังมีธนบัตรไทย และเหรียญกษาปณ์ของไทยอีกเป็นจำนวนมาก

ในการครั้งนี้นี่เอง ที่ผู้เขียนได้ถือโอกาสดังกล่าวเป็นมูลเหตุจุงใจเพื่อที่จะได้ร่วมทำบุญทำกุศลอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการถวาย"โถลายคราม" เพื่อมใช้บรรจุสิ่งของมีค่าต่างๆ เก็บไว่ในองค์เจดีย์ ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

..

ผู้เขียนได้เห็นการเดินต่อแถวยาวของพุทธศาสนิกชน ที่ต่างคนต่างอุ้มพระพุทธรูปหินหนกขาวองค์น้อยไว้ในอุ้งมือของแต่ละคน ด้วยท่าทีอันสงบ และตัวผู้เขียนเองก็ทำเช่นนี้

..

ภาพถ่าย : บรรยากาศการบรรจุพระพุทธรูปลงองค์เจดีย์ในช่วงบ่าย

หมายเลขบันทึก: 599887เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2016 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2016 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สาธุ อนุโมทนาบุญค่ะ

คุณแสงแห่งความดี เขียนบันทึกที่เหมาะสมทันยุคสมัยกับการเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน จริง ๆ ค่ะ ทำให้เราเข้าใจชาวเมียนมาร์ และ ชาวมอญ ได้ดีขึ้นด้วย

ขอบคุณค่ะ

อีกนิดนะคะ หมากของชาวเมียนมาร์ที่ถ่ายภาพมานี้ เป็นปูนขาวนะคะ เป็นความนิยมหรือเปล่าคะ

หยั่งราก ฝากใบเขียนเมื่อ 13 วันที่แล้ว

อีกนิดนะคะ หมากของชาวเมียนมาร์ที่ถ่ายภาพมานี้ เป็นปูนขาวนะคะ เป็นความนิยมหรือเปล่าคะ

..

สวัสดีครับ คุณหยั่งราก ครับ

ปูนขาวนี้ เป็นปูนขาวที่ใช้กินหมาก..เป็นปูนขาวที่ทำมาจากเปลือกหอยที่เผาไฟจนร่วน ไม่ใช่ปูนขาวสำหรับงานก่อสร้างครับ

ส่วนปูนกินหมากบ้านเรา เท่าที่ทราบเค้าจะใส่ขมิ้น สีจึงเป้นเช่นนั้น ครับ

..

ขอบคุณ คุณยาย และพี่ใหญ่มากนะครับ

พิธีบรรจุมีหลายตอนครับ อยากทราบต้องติดตามให้ครบนะครับ

ขอบพระคุณดอกไม้กำลังใจที่มอบให้ครับ

  • โอ๋-อโณ
  • หยั่งราก ฝากใบ
  • นงนาท สนธิสุวรรณ
  • มนัสดา
  • จารย์แจ๊ค

อนุโมทนาสาธุ ... ในผลบุญด้วยจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท