​การจัดการสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานในท้องถิ่น


​การจัดการสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐานในท้องถิ่น

14 มกราคม 2559

สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย [1]

รัฐสวัสดิการคืออะไร

ประเด็นที่น่าสนใจในรัฐสมัยใหม่ปัจจุบันคือ “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) [2] หรือ “การจัดการสิทธิสวัสดิการขั้นพื้นฐาน” ตามความหมายแบบชาวบ้านเป็นเสมือน “รัฐในอุดมคติ” ที่ทุกประเทศพยายามจะไปให้ถึง เพื่อการดูแลประชาชนคนในชาติของคนให้อยู่ดีมีสุข โดยการแบ่งสรรปันส่วนทรัพยากรจากคนที่ร่ำรวยกว่า คนที่มีงานทำ คนที่มีสถานะทางสังคมที่สูงกว่า ได้เปรียบกว่าคนอื่น ไปสู่คนที่ยากจน คนที่ตกงาน คนที่เสียเปรียบหรือด้อยโอกาสกว่า จัดการผ่านระบบการเก็บภาษี ระบบการสมทบทุน ระบบการอุดหนุนจากรัฐ หรือด้วยระบบอื่นใดก็ตาม เพื่อกระจายทรัพยากรความมั่งมีให้เฉลี่ยไปสู่คนในชาติที่เสียเปรียบหรือด้อยโอกาสกว่า ให้มีความเท่าเทียมกัน ซึ่งหมายถึงการจัดการในสิทธิสวัสดิการของคนในท้องถิ่น เพื่อเป็นหลักประกันให้ทุกคนได้รับสวัสดิการขั้นพื้นฐานจากรัฐอย่างทั่วถึง เท่าเทียมกัน นั่นเอง

การจัดรัฐสวัสดิการสากล

รูปแบบการจัดรัฐสวัสดิการต่างประเทศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจสังคม และภูมิหลังความเป็นรัฐชาตินั้น มีอยู่ 3 รูปแบบ ดังนี้ [3]

(1) รัฐสวัสดิการแบบเสรีนิยม สิทธิทางสังคมมีค่อนข้างจำกัด เพราะต้องผ่านการตรวจสอบคัดกรองจากรัฐ คนจนมีสวัสดิการสูง มีกฎเกณฑ์ขอความช่วยเหลือที่เข้มงวด ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร (อังกฤษ)

(2) รัฐสวัสดิการแบบอนุรักษ์นิยม เครื่องมือที่ใช้เป็นหลักประกันอิงอยู่กับสถานภาพทางสังคม มีใจกว้างเผื่อแผ่ให้ความช่วยเหลือสวัสดิการแก่ข้าราชการ เน้นความแตกต่างของสถานภาพทางสังคม รัฐจะเข้าไปช่วยเหลือก็ต่อเมื่อความสามารถในการรับความช่วยเหลือจากครอบครัวถูกใช้จนหมดสิ้นแล้ว ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี

(3) รัฐสวัสดิการแบบครอบคลุมในทุกด้าน ยึดหลักความเป็นสากลในสถานภาพที่เท่าเทียมกันของบุคคล คนในทุกระดับชนชั้นถูกนำเข้าสู่ระบบการให้ประกันสังคมที่เป็นสากล รัฐจะเป็นผู้แบกรับภาระที่สำคัญทั้งหมดในการให้บริการทางสังคม ประเทศที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ค ฟินแลนด์ (กลุ่มสแกนดิเนเวียน)

กรณีศึกษารัฐสวัสดิการในประเทศสวีเดน [4]

สวีเดน เป็นรัฐสวัสดิการแบบครอบคลุมในทุกด้าน เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญสิทธิขั้นพื้นฐานบนความเสมอภาคของชายหญิง ถือเป็นรูปแบบ “รัฐในอุดมคติของสังคมประชาธิปไตย” ดุลภาพผ่านตัวแทนทางสมาพันธ์และตัวแทนที่เป็นพรรคการเมืองและสหภาพต่างๆ มีระบบพรรคการเมืองที่มีเสถียรภาพมากที่สุด ผู้หญิงมีบทบาททางการเมืองในรัฐสภาสูงถึง 42.7% (ปี 1998) มีเงินทุนสำหรับการยังชีพอย่างเพียงพอเพื่อประกันความยากจน ผู้สูงอายุได้รับการคุ้มครองผ่านเงินบำนาญพื้นฐาน มีประกันการเจ็บป่วย ชราภาพ มีการจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับก็จะเลือกเรียนต่อในอาชีวะและมัธยม และศึกษาต่อในระดับ อุดมศึกษา 30-35% รวมทั้งจัดการศึกษาด้านอาชีพให้แก่คนงาน กลุ่มศาสนิกชน และการฝึกอาชีพต่อเนื่องแก่ผู้ต้องการเข้าสู่อาชีพใหม่

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

“รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ บทบัญญัติว่าด้วย “สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนหรือพลเมือง” ถือเป็นบทสำคัญ เพราะเป็นการลดความแตกต่าง สร้างความเท่าเทียมกันของบุคคล โดยสร้างการคุ้มครองในสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนได้รับบริการทางสังคมจากรัฐอย่างเต็มภาคภูมิ เท่าเทียมกันที่เป็นมาตรฐาน ฉะนั้น ในช่วงกระแสการร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันจึงสำคัญยิ่ง

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เช่น รัฐควรจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชนกลุ่มใดบ้าง และจะจัดบริการโดยวิธีใด ได้มากน้อยเพียงใด มีราชการส่วนใดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่น และเป็นไปตามหลักสากล เหมือนอย่างเช่นนานาอารยประเทศหรือไม่อย่างไร รวมถึงการตรากฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ระบบการจัดเก็บภาษีเพื่อการสมทบ หรือการสมทบทุนจากผู้รับบริการหรือจากผู้ประกอบการ แน่นอนว่าบทบัญญัติต่าง ๆ ดังกล่าวได้เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 มาแล้ว และอาจมีบางกระแสว่า คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้นำบทบัญญัติเดิมที่ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” [5] มาบัญญัติไว้ในร่างใหม่ก็ตาม

ท้องถิ่นกับการมีส่วนร่วมในการจัดระบบสวัสดิการสังคม

แน่นอนว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ถือเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญที่ให้บริการสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน เพราะท้องถิ่นถือเป็น “จุดตายจุดเกิดของประชาชน” ประชาชนต้องอยู่ที่ท้องถิ่น และเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งตายไป [6] ฉะนั้น ท้องถิ่นจึงมีหน้าที่โดยตรงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “ระบบสวัสดิการสังคม” [7] ดังที่บัญญัติไว้ให้เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นในการจัดให้บริการแก่กลุ่มบุคคลได้แก่ “เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส” [8] ซึ่งในความหมายโดยรวมจะหมายถึงกลุ่มบุคคลทั่ว ๆ ไป ที่เรียกว่าเป็น “รากหญ้า” [9] ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคม

ตัวอย่างการบริการสวัสดิการของท้องถิ่นไทย

แบ่งได้ 2 รูปแบบ (1) รูปแบบจัดบริการให้ครบทุกคน เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ (2) รูปแบบจัดบริการให้เฉพาะคนจนหรือคนเฉพาะกลุ่ม เช่น โครงการบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพคนพิการ เบี้ยยังชีพผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น

โครงการจัดสวัสดิการสังคมดังกล่าวเหล่านี้จะมีอยู่หรือไม่เพียงใด เป็นสิ่งที่คนท้องถิ่นที่อยู่ใกล้กับประชาชน จำเป็นต้องศึกษาพยายามหาคำตอบให้แก่ประชาชนในกลุ่มเป้าหมาย หากมีการเรียกร้อง ร้องขอ หรือสอบถาม ถือเป็นกลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานอยู่ในระดับรากหญ้า ใกล้ชิดประชาชน มีตัวแทนของประชาชนเป็นผู้บริหาร อปท. เป็นผู้บังคับบัญชาไม่ว่าจะเป็น เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.)

ข้อพิจารณาสำหรับประเทศไทย

ปัจจุบันการจัดรัฐสวัสดิการในประเทศไทยทำได้ดีในระดับหนึ่ง มีข้อเสนอเพื่อให้ดียิ่งขึ้นดังนี้ (1) การนำประชาชนทุกกลุ่มให้เข้าสู่ “ระบบผู้ประกันสังคม” (2) ระยะแรกรัฐสมทบกองทุนด้วยจำนวนเงินทุนที่มากพอ และเมื่อมีกลุ่มบุคคลเข้าสู่ระบบการประกันสังคมมากขึ้น ก็จะหักเงินจากผู้ประกันตนเหล่านั้น เมื่อบุคคลเข้าสู่ระบบการในระยะเวลาที่นานขึ้นก็จะมีเงินกองทุนที่เพิ่มมากขึ้นสามารถจัดสวัสดิการสังคมที่ดีขึ้นได้ (3) ต้องมีการประกันรายได้ขั้นต่ำให้เท่ากับอัตราค่าครองชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งหมด (4) รัฐต้องแก้ไขการจัดเก็บภาษีเป็นอัตราก้าวหน้า เพิ่มภาษีรายได้ส่วนบุคคล ภาษีมรดก เพื่อเป็นรายได้ในการจัดบริการสวัสดิการสังคม (5) รายได้เสริมที่สำคัญในการจัดบริการสวัสดิการสังคมส่วนหนึ่งคือ เงินสมทบจากผู้ประกอบการ หรือนายจ้าง ที่หักในอัตราก้าวหน้า

ปัญหาที่พบในปัจจุบันได้แก่ ปัญหาผู้เสียภาษีมีน้อยกว่า มีการไม่เสียภาษี หรือลบเลี่ยงภาษี รวมทั้งการทุจริตในระบบภาษีโดยเฉพาะผู้ประกอบการ หน่วยธุรกิจ บริษัท ห้างร้าน ห้างหุ้นส่วน เสียภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้รัฐขาดรายได้ส่วนนี้ไปมาก (1) ควรมีมาตรการเข้มงวดตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ ว่าหน่วยธุรกิจผู้ประกอบการได้หลบเลี่ยงภาษีเพียงใดหรือไม่ เช่น ข้อสงสัยในกิจการของบริษัทฯ ที่มีงบดุลขาดทุนมานานหลายปี แต่ก็ยังสามารถเปิดธุรกิจอยู่ หรือกรณีที่บริษัทฯ มีที่ปรึกษาเป็นผู้มีความรู้ทางภาษีเป็นคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือที่ปรึกษาคอยชี้แนะหลีกเลี่ยงระบบภาษี เหล่านี้ ทำให้รัฐขาดรายได้ภาษีส่วนนี้ไปเป็นจำนวนมาก (2) แรงงานต่างชาติที่ผิดกฎหมายต้องนำเข้าสู่ระบบทั้งหมด และให้มีการเสียภาษีเช่นเดียวกับคนไทยที่มีรายได้ เพราะ เงินที่ส่งกลับของแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายเหล่านี้ กลับไปสร้างความมั่งคั่งให้แก่ประเทศแม่ แต่การบริการสาธารณะหรือการสวัสดิการสังคมของเรากลับต้องแบกรับภาระการรักษาพยาบาล (3) ควรมีมาตรการในการเก็บค่ารักษาพยาบาลชดเชยจากบุคคลต่างด้าวที่มิได้อยู่ในระบบภาษีของไทย เพราะการบริการด้านสาธารณสุขของประเทศเพื่อนบ้านมีมาตรฐานที่ด้อยกว่าของไทย คนต่างด้าวจึงนิยมมาใช้บริการสาธารณสุขของไทยตามโรงพยาบาลชายแดน เช่น รพ.แม่สอด ที่มีสถิติการรักษาพยาบาล การคลอดบุตรของคนต่างด้าวที่มากกว่าคนไทย ที่ส่วนใหญ่จะเก็บค่ารักษาพยาบาลจากคนต่างด้าวที่มาใช้บริการสาธารณสุขไม่ได้ ตามหลักสิทธิมนุษยชน

บทสรุป

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หากให้ความสำคัญในการจัดสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน โดยการบัญญัติหลักประกันในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และการจัดระบบการจัดเก็บภาษีอากรรายได้เข้าสู่รัฐไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างครอบคลุมเหมาะสม รวมทั้งการส่งเสริมให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่ดีต่อชาติบ้านเมือง ไม่หลีกเลี่ยงภาษี มีการจ่ายชำระภาษีอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อมีเงินมีรายได้แล้วปัญหาหลักต่างๆ ก็จะลดลงและหมดสิ้นไป “รัฐในอุดมคติก็จะเกิดขึ้น” โดยมีส่วนราชการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอำนวยการและบริหารจัดการ ซึ่งหน่วยงานหนึ่งที่สำคัญในพื้นที่นั้นก็คือ อปท. นั่นเอง



[1] Ong-art saibutra & Phachern Thammasarangkoon, Municipality Officer & สรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2559 ปีที่ 66 ฉบับที่ 22900 หน้า 10, การเมืองท้องถิ่น & หนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 63 ฉบับที่ 18 วันศุกร์ที่ 15 – วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2559, หน้า 80, เจาะประเด็นร้อน อปท.

[2] welfare เป็นแนวคิดหนึ่งของ “สังคมนิยม” (Socialism) มีความหมายครอบคลุมถึง สวัสดิการในทางเศรษฐศาสตร์ (economic welfare) และสวัสดิการสังคม (social welfare) ปัจจุบันธนาคารโลกใช้คำว่า “โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม” หรือ “คปส.” เป็นแนวคิดเสรีนิยมใหม่ เพื่อแทนคำว่า “สวัสดิการสังคม” จุดประสงค์ของ คปส. คือ การช่วยเหลือคนจนให้อยู่รอดในภาวะที่ต้องสูญเสียรายได้ และยังสรุปอีกว่า คปส. เป็นกลไกพื้นฐานปัจจัยหนึ่งของยุทธศาสตร์การลดปัญหาความยากจน ส่วนอีกสองปัจจัยคือความเติบโตทางเศรษฐกิจและการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์,

ดู บิ๊กตู่ ยก สังคมนิยม ช่วยปท.พัฒนา ฝากศธ.ปลุกคนใช้สิทธิ์ประชามติ อย่าแพ้เมียนมา, 16 มกราคม 2559, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1452928757

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวในพิธีการงานวันครูแห่งชาติเมื่อ 16 มกราคม 2559 ตอนหนึ่งว่า “... เศรษฐกิจวันนี้ตกไปหมด เพราะเรามีเรื่องความขัดแย้ง ข้อกฎหมายที่แก้ไขไม่ได้ เราต้องการแค่ประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว ประเทศที่เขาเจริญหลายประเทศ เขาเป็นสังคมนิยมทั้งนั้น เราต้องเดินหน้าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาภายใน ไม่ต้องให้มีการบังคับกระบวนการต่างๆ ให้ทุกคนช่วยกันคิด...”

& ดู ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ. “บทสังเคราะห์ภาพรวมการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย”, พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนธันวาคม 2546, บ.แอดิสันเพรส โปรดักส์ จำกัด, น. 1 - 6, http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/social_welfare/09.html

แนวคิดคำว่า “ประกันสังคม” (social insurance) และ “สวัสดิการสังคม” (Social Welfare) เป็นคำที่มีมาก่อนคำว่า “ความมั่นคงทางสังคม” (social security) สวัสดิการสังคมในเยอรมัน หากจะจัดเป็นกลุ่มสวัสดิการจำแนกได้ 3 กลุ่ม คือ 1. บริการสังคม (social services) ได้แก่ การบริการการศึกษา สาธารณสุข และที่อยู่ อาศัย และส่งเสริมช่วยเหลือเยาวชน 2. สังคมสงเคราะห์ หรือ การสงเคราะห์ประชาชน (social assistance) คือ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ที่ช่วยเหลือ ตัวเองไม่ได้ ซึ่งในเยอรมันมีรัฐบัญญัติการสนับสนุนช่วยเหลือสังคม (Federal Social Support Act) ว่าด้วยข้อกำหนด้านการช่วยเหลือบุคคลที่จำเป็นต้องช่วยเหลือ (support for needy) 3. ประกันสังคม (social insurance) ซึ่งเริ่มจากการประกันสุขภาพ เมื่อปี ค.ศ.1883 และพัฒนามาตามลำดับ ขยายไปสู่การประกันด้านอื่นๆ คือ การคลอดบุตร การสงเคราะห์บุตร ทุพพลภาพ ชราภาพ การตาย และการว่างงาน

[3] Thomas Meyer, อนาคตของสังคมประชาธิปไตย, แปลโดย สมบัติ เบญจศิริมงคล, มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2550

& ทัศนีย์ ลักขณาภิชนชัช, “การใช้ทรัพยากรในงานสวัสดิการสังคม”, พิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม 2545, สมชายการพิมพ์, น. 13 – 16, http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/social_welfare/03.html

เจมส์ มิดซ์ลี่ย์ (James Midgley) ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The Field of International Social Welfare ว่า บริการสังคมใหญ่ๆ (“big five” social services) ที่สถาบันรัฐสวัสดิการนิยมจัดให้มีขึ้น ได้แก่ 1. โครงการประกันรายได้ เช่น การประกันสังคม (Social Insurance) และการประชาสงเคราะห์ หรือการช่วยเหลือทางสังคม (Social Assistance) 2. บริการสุขภาพ (Health Services) 3. โครงการทางการศึกษา (Educational Programs) 4. ที่อยู่อาศัย (Housing) 5. บริการสังคมสงเคราะห์ หรือบริการสังคมปัจเจกบุคคล (Social work Services or Personal Social Services)

& ระพีพรรณ คําหอม. “สวัสดิการสังคมกับสังคมไทย” Social Welfare in Thai Society, พิมพ์ครั้งที่, 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2549, บ.พริกหวานกราฟฟิค จํากัด, น. 1 – 5,

ปัจจุบันและอนาคตได้ พยายามปรับตัวใหม่ในลักษณะของสวัสดิงาน (Workfare) แทน ขณะเดียวกันรัฐก็จําเป็นต้องใช้นโยบายการจัดวางระบบเครือข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) ที่ครอบคลุมคนทุกคนในสังคม เพื่อเป็นมาตรการรองรับปัญหาการว่างงานสูงในอนาคตเช่นกัน การจัดบริการสวัสดิการสังคมเฉพาะกลุ่มผู้ด้อยโอกาสทางสังคมแบบสงเคราะห์เฉพาะหน้าเริ่มถูกจํากัดวงให้เล็กลง

& รูปแบบสวัสดิการรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order Model) 3 รูปแบบ คือ 1. สวัสดิการกระแสหลัก(ภาคบังคับ) 2. สวัสดิการกระแสรอง(ทางเลือกที่เกิดขึ้นจากศักยภาพ) 3. สวัสดิการท้องถิ่น(กระจายอำนาจให้ท้องถิ่น), http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-1/social_welfare/02.html

& รายงานการดําเนินโครงการบริการวิชาการโครงการจัดสวัสดิการทางสังคม ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2555, 7 – 8 กันยายน 2555 ณ ห้องประชุมน้อยสีป้อ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ โดย สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, หน้า 5, http://research.pcru.ac.th/service/pro_data/files/55-148-00.pdf

รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงของสังคมไทยใน 4 รูปแบบ คือ 1. รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมตามพื้นที่ (Area - based) เป็นการจัดสวัสดิการสังคมในรูปแบบของพื้นที่เป็นฐาน เช่น ทางภูมิศาสตร์ 2. รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมตามวิธีการ (Methods) เป็นรูปแบบนี้ให้ความสําคัญกับวิธีการให้บริการทางสังคมสงเคราะห์ระดับจุลภาค เช่น เฉพาะราย กลุ่มชนและชุมชน 3. รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมในลักษณะของการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) รูปแบบนี้เป็นการสร้างกระแสใหม่ กระแสทางเลือกของสังคมต่อการจัดสวัสดิการ 4. รูปแบบการจัดสวัสดิการสังคมโดยสถาบัน (Institutional - based) เป็นการจัดสวัสดิการที่รัฐเชื่อว่า รัฐควรแทรกแซงการจัดสวัสดิการให้กับประชาชน โดยใช้โครงสร้างอํานาจของรัฐทําหน้าที่จัดระบบ

[4] สมบัติ เบญจศิริมงคล (แปล), อนาคตของสังคมประชาธิปไตย, 2550, อ้างแล้ว, หน้า 264

Huntford, Roland (1971) : Wohlfahrtsdiktatur. Das Schwedische Modell. Frankfurt : Ullstein.

Menningen, W. (1971) : Ungleichheit im Wohlfahrtsstaat. Der Alva-Myrdal-Report der schwedischen Sozialdemokraten. Reinbek : Rowohlt.

& ดู ธนิทธิ์ ลอยพิมาย, “สวีเดน รัฐสวัสดิการในอุดมคติ”, ในในวารสารประกันสังคม ปีที่ 16 ฉบับที่ 1 มกราคม - กุมภาพันธ์ 2553, ประกันสังคมในต่างแดน: ตอนที่ 3, 10 พฤศจิกายน 2553, http://tanitsan.exteen.com/20101110/entry-2

[5] มาตรา 4 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เหตุผลที่ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไม่นำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ถ้อยคำดังกล่าวเป็นถ้อยคำที่มีบัญญัติไว้ในบทบัญญัติของ กติกาสัญญา และกฎบัตรระหว่างประเทศ ที่นานาอารยประเทศได้รับรองและยึดถือปฏิบัติกันอยู่แล้ว ได้แก่ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights หรือ UDHR), www.mfa.go.th/humanrights/images/stories/book.pdf หรือ อาทิ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR), www.prd.go.th/ewt_dl_link.php?nid=90721& ดู “ร่างรัฐธรรมนูญ13หมวด261มาตรา”, 12 มกราคม 2559, http://www.komchadluek.net/detail/20160112/220357.html

[6] ดู “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ Voice TV”, 13 มีนาคม 2555, https://www.youtube.com/watch?v=gzAtRtUdZbQ & “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน และโรงทาน”, วิถีทุน : จุมพฏ สายหยุด, กรุงเทพธุรกิจ, 26 มิถุนายน 2546 (พิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกในสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ปีที่ 11 ฉบับที่ 10 ตุลาคม 2516), http://www.puey.in.th/index.php/บทความ-ป๋วย-อึ๊งภากรณ์/5-จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน-และโรงทาน

[7] ดู สรณะ เทพเนาว์, หนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม 2558 คอลัมน์การเมืองท้องถิ่น หน้า 10 ‪‎บทความพิเศษ & สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 62 ฉบับที่ 37 วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม - วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558, เจาะประเด็นร้อนอปท., หน้า 80, & สรณะ เทพเนาว์, การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมที่เหมาะสมกับประเทศไทย, 28 พฤษภาคม 2558, http://www.gotoknow.org/posts/590619

[8] พระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ.2546 และ ข้อกำหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ว่าด้วยการกำหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นผู้รับบริการสวัสดิการสังคม พ.ศ. 2555, หน้า 17 - 41 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 173 ง ราชกิจจานุเบกษา 16 พฤศจิกายน 2555, http://www.m-society.go.th/article_attach/1363/2081.pdf

ข้อ 4 บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายที่เข้าข่ายสมควรได้รับบริการสวัสดิการสังคมจากองค์การสวัสดิการสังคมตามข้อกําหนดนี้ ประกอบด้วย (1) กลุ่มเด็กและเยาวชน (2) กลุ่มผู้หญิง ครอบครัวและผู้ถูกละเมิดทางเพศ (3) กลุ่มผู้สูงอายุ (4) กลุ่มคนพิการ (5) กลุ่มชุมชนเมือง คนจนเมือง คนเร่ร่อน (6) กลุ่มแรงงานข้ามชาติและแรงงานต่างด้าว (7) กลุ่มแรงงานนอกระบบ (8) กลุ่มคนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ (9) กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยเอดส์และผู้ได้รับผลกระทบ (10) กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลและกลุ่มชาติพันธุ์ (11) กลุ่มคนไทยในต่างประเทศ (12) กลุ่มผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และ (13) กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

& คำว่า “ผู้ด้อยโอกาส” ตามศัพท์ภาษาอังกฤษมีอยู่หลายคำ ได้แก่ ด้อยโอกาส [v.] have no chance, ด้อยโอกาส [adj.] disadvantaged ; underprivileged, ผู้ด้อยโอกาส [n. exp.] underprivileged ยกตัวอย่างเช่น

English-Thai: Longdo Dictionary (UNAPPROVED version -- use with care )

disadvantaged child (n phrase ) เด็กด้อยโอกาส, outreach (adj) ด้อยโอกาส, underprivileged children (n ) เด็กด้อยโอกาส, underprivileged ด้อยโอกาส, vulnerable group (n ) กลุ่มผู้ด้อยโอกาส

[9] คำว่า “รากหญ้า” ที่เรานำมาใช้ นำมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษ grassroots ซึ่งหมายถึง สามัญชน คนธรรมดา ประชาชนนั่นเอง และต่อมามีการจำกัดว่าคนรากหญ้าต้องด้อยโอกาส

หมายเลขบันทึก: 599503เขียนเมื่อ 13 มกราคม 2016 22:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2020 15:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท