Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อน้องซันเดย์อายุไม่ถึงหนึ่งขวบไร้รัฐ ..จะจัดการปัญหานี้อย่างไรดี ??


กรณีศึกษาน้องซันเดย์ : จะจัดการปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิงของเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่นอกโรงพยาบาล และพลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์อย่างไร ?

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘ ซึ่งปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&¬e_id=1...

-------------

ข้อเท็จจริง

-------------

ปรากฏข้อเท็จจริง ว่า นางทัศนีย์ คีรีปราณีต หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “คุณแม่ทัศนีย์” เป็นคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมของประเทศไทย ซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เธอได้ก่อตั้งสถานพักพิงขึ้นเพื่อดูแลเด็กวัยเยาว์ที่ถูกทอดทิ้ง ณ บ้านเลขที่ ๑๓๙ หมู่ ๙ ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง เธอดูแลเด็กที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์มาเป็นเวลากว่ายี่สิบปี ในปัจจุบัน เด็กๆ ที่คุณแม่ทัศนีย์ดูแลนั้น จำนวนหนึ่งมีความพิการอีกด้วย เด็กส่วนหนึ่งไร้รัฐโดยสิ้นเชิง เด็กส่วนใหญ่มีรัฐ แต่ไร้สัญชาติ

เมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ นายซอหม่อง ไม่มีนามสกุล ได้พาเด็กเพิ่งคลอดมามอบให้คุณแม่ทัศนีย์ ๑ คน โดยเล่าว่า เด็กถูกทอดทิ้งโดยมารดาชาวเมียนมา ซึ่งมาขอพักอาศัยที่บ้านของตน ณ บ้านไม่มีเลขที่ หมู่ ๒ ตำบลพระธาตุผาแดง อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

นายซอหม่องเล่าให้คุณแม่ทัศนีย์ฟังว่า ในช่วงเวลากลางคืนของวันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ มีหญิงสาวชาวเมียนมา อายุราว ๒๐ - ๒๕ ปี มาขอพักอาศัยอยู่กับแรงงานชาวเมียนมา โดยเธอผู้นี้เล่าว่า เดินทางมาจาก กทม. เพื่อที่จะกลับประเทศเมียนมาในวันรุ่งขึ้น นายซอหม่องเล่าว่า เขายอมรับให้หญิงคนดังกล่าวพักอาศัย โดยที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทั้งนี้ เพราะเห็นว่า เธอเดินทางมาเพียงลำพัง

แต่ในช่วงเวลาเช้าตรู่ ประมาณ ๔.๐๐ น. ของวันที่ ๒๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๘ หญิงสาวคนดังกล่าวได้ร้องขอความช่วยเหลือว่า เจ็บท้องจะคลอดบุตร แรงงานชาวเมียนมา ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านจึงไปตามหญิงชาวเมียนมาอีกคน ซึ่งอาศัยอยู่ในละแวกเดียวกัน ที่มีความสามารถในการทำคลอดเด็ก หรือที่เรียกกันง่ายๆ ว่า "หมอตำแย" ให้มาทำคลอดให้กับหญิงสาว ซึ่งได้คลอดบุตรเป็นเด็กผู้ชาย

ในวันต่อมา ในระหว่างที่หมอตำแยและเจ้าของบ้านกำลังดูแลเด็กที่เพิ่งคลอด มารดาของเด็กก็ได้หลบหนีไป โดยอ้างว่า จะไปห้องน้ำ เมื่อปรากฏชัดแล้วว่า มารดาของเด็กไม่กลับมา นายซอหม่องจึงได้พาเด็กไปมอบแก่คุณแม่ทัศนีย์ โดยอธิบายว่า ตนมีความยากจน ต้องทำงานหนัก จึงไม่อาจจะรับดูแลเด็กได้

คุณแม่ทัศนีย์จึงได้จัดการพาเด็กไปแจ้งความต่อสถานีตำรวจภูธรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อลงบันทึกประจำวัน และแจ้งความประสงค์ต่อพนักงานสอบสวนว่า ยินดีจะรับอุปการะเด็ก แล้วหลังจากนั้น จึงส่งตัวเด็กไปรับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลแม่สอด เนื่องจากเด็กมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ปรากฏผลการตรวจสุขภาพว่า เด็กมีอาการลำไส้เน่า เด็กไม่สามารถหายใจด้วยตนเอง ต้องอยู่ในตู้อบระยะหนึ่ง

หลังจากส่งเด็กให้โรงพยาบาลแม่สอดดูแล คุณแม่ทัศนีย์ก็ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวต่อสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก (พมจ.ตาก) ซึ่งโรงพยาบาลแม่สอดก็ได้มีหนังสือที่ ตก ๐๐๓๒.๒๐๑/๒๖๓๖ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ ถึงสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตาก เพื่อขอให้พิจารณาช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่

ในระหว่างที่เด็กดังกล่าวรับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลแม่สอด คุณแม่ทัศนีย์เข้าเยี่ยมเด็กเป็นประจำทุกวัน ส่วนเจ้าหน้าที่ของ พมจ.ตาก และเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลแม่สอด ก็มาเยี่ยมเด็ก และหารือการจัดการเด็กดังกล่าวกับคุณแม่ทัศนีย์

เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๘ คุณแม่ทัศนีย์ได้รับเด็กมาอยู่ในความดูแล เพราะเด็กมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น หายใจได้เอง การเลี้ยงดูเด็กดังกล่าวของคุณแม่ทัศนีย์ได้รับการสนับสนุนจาก พมจ.ตาก

เจ้าหน้าที่ พมจ.ตาก รับที่จะดำเนินการแจ้งการเกิดให้กับเด็ก แต่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จ เด็กดังกล่าวจึงยังประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง นอกจากนั้น เด็กคนนี้ยังไม่ได้รับการบันทึกจาก พมจ.ตาก ในเรื่องการรับตัวเด็กและการขึ้นทะเบียนเป็นเด็กถูกทอดทิ้งในความดูแลของ พมจ.

คุณแม่ทัศนีย์เรียกเด็กคนดังกล่าวนี้ว่า “น้องซันเดย์” และเลี้ยงดูน้องเสมือนน้องเป็นบุตรของคุณแม่ทัศนีย์เอง น้องกำลังเติบโตไปพร้อมๆ กับเด็กอีกหลายคนที่อาศัยอยู่ในสถานพักพิงทัศนีย์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

การดำเนินการของสถานพักพิงทัศนีย์เป็นไปโดยการสนับสนุน ทั้งที่เป็นตัวเงิน และมิใช่ตัวเงิน จากหน่วยงานทั้งในประเทศไทย และนอกประเทศไทย

แต่ในส่วนการดูแลสุขภาพของเด็กและเยาวชนทุกคนนั้น อยู่ในความดูแลของอาจารย์ นพ.ธวัชชัย ยิ่งทวีศักดิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลท่าสองยาง ซึ่งชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่า “คุณหมอหนึ่ง”

โรงพยาบาลท่าสองยางมีสถานะเป็นโรงพยาบาลชุมชนของรัฐไทย นอกจากนั้น โรงพยาบาลนี้ยังก่อตั้ง “คลินิกกฎหมาย” ขึ้นเป็นหน่วยงานหนึ่งของโรงพยาบาล ประกอบด้วยนักกฎหมายวิชาชีพและนักกฎหมายตีนเปล่า ทั้งนี้ เพราะคุณหมอหนึ่งตระหนักในปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดแก่ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงในพื้นที่อย่างมากมาย ดังนั้น การจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของน้องชันเดย์จึงตกเป็นภารกิจของคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางอีกด้วย

--------

คำถาม

--------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า เพื่อที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐของน้องซันเดย์ คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ? และการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นไปภายใต้กฎหมายใดบ้าง ?

--------------

แนวคำตอบ

--------------

ประเด็นคำถามเป็นเรื่องของการจัดการปัญหาการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนเพื่อเด็กที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่เยาว์วัย ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล รัฐเจ้าของดินแดนถูกกำหนดให้มีหน้าที่รับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่คนเกิดทุกคนบนดินแดนของตน อันนำไปสู่การจัดการปัญหาความไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคลโดยสิ้นเชิงให้แก่คนเกิดดังกล่าว โดยทางปฏิบัติของนานารัฐบนโลก แนวคิดและวิธีปฏิบัติในเรื่องนี้ย่อมเป็นไปตามกฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ ทั้งนี้ เว้นแต่จะกำหนดเป็นอย่างอื่น เราพบว่า หลักการการจดทะเบียนคนเกิดสำหรับคนเกิดทุกคน เป็นหลักกฎหมายสากลที่พบในกฎหมายการทะเบียนราษฎรของนานาอารยประเทศในประชาคมระหว่างประเทศ จนฟังว่า เป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

สำหรับกรณีของน้องซันเดย์นั้น จะเห็นว่า รัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์นี้ ย่อมได้แก่ รัฐไทย ซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่มีการพบตัวของน้องซันเดย์ โดยพิจารณาข้อเท็จจริง เราพบความร้ายแรงของปัญหามากขึ้น เมื่อน้องซันเดย์เป็นเด็กที่เกิดนอกโรงพยาบาล อันทำให้ไม่มีหนังสือรับรองการเกิดโดยผู้ทำคลอดที่น่าเชื่อถือ การรับรองจุดเกาะเกี่ยวระหว่างรัฐและคนเกิดจึงไม่อาจทำได้ในสถานการณ์ปกติ แม้ว่า โดยหลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรสากล จะปรากฏทางปฏิบัติทางทะเบียนราษฎรที่ชัดเจนเพื่อรับรองการเกิดสำหรับเด็กที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์ จัดเป็นทางปฏิบัติระหว่างประเทศ อันเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อป้องกันมิให้ “เด็กไร้รากเหง้า (Rootless Child)” ตกเป็น “เด็กไร้รัฐ (Stateless Child)”

ในส่วนของประเทศไทย เราจะพบต่อไปอีกว่า ประเทศไทยได้ยอมรับอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ โดยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๓๕/ค.ศ.๑๙๙๒ และมีผลบังคับใช้กับประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๕/ค.ศ.๑๙๙๒ และเราจะพบว่า ข้อ ๗ (๑) แห่งอนุสัญญานี้บัญญัติว่า “เด็กจะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และจะมีสิทธิที่จะมีชื่อนับแต่เกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ และเท่าที่จะเป็นไปได้ สิทธิที่จะรู้จัก และได้รับการดูแลเลี้ยงดูจากบิดามารดาของตน (The child shall be registered immediately after birth and shall have the right from birth to a name, the right to acquire a nationality and. as far as possible, the right to know and be cared for by his or her parents.)” แม้ประเทศไทยจะตั้งข้อสงวนที่จะปฏิบัติตามข้อ ๗ นี้ ในช่วงเวลาแรก แต่ก็มีการยกเลิกข้อสงวนนี้แล้ว

เมื่อย้อนกลับมาพิจารณากฎหมายไทยที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าด้วยการทะเบียนราษฎร เราพบบทบัญญัติแห่งกฎหมายลายลักษณ์อักษรไทยตั้งแต่ยุคต้นของการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่บนแผ่นดินไทยเพื่อป้องกันมิให้เด็กไร้รากเหง้าตกเป็นเด็กไร้รัฐหลายบทบัญญัติด้วยกัน กล่าวคือ (๑) มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙/ค.ศ.๑๙๕๖ ซึ่งมีผลในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๙ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๔ (๒) มาตรา ๑๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔/ค.ศ.๑๙๙๑ ฉบับดั้งเดิม ซึ่งซึ่งมีผลในช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๔ จนถึง พ.ศ.๒๕๕๑ (๓) มาตรา ๑๙ มาตรา ๑๙/๑ มาตรา ๑๙/๒ มาตรา ๑๙/๓ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๐/๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมีผลตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ จนถึงปัจจุบัน (๔) กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้งเด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเริ่มต้นมีผลใน พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อสนับสนุนกฎหมายของรัฐสภา ประกอบกับ (๕) ข้อ ๕๙/๑ และ ข้อ ๕๙/๒ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเริ่มต้นมีผลใน พ.ศ.๒๕๕๑ เพื่อสนับสนุนกฎหมายของรัฐสภา ด้วยเช่นกัน

สำหรับการรักษาการตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายไทยเพื่อการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเพื่อเด็กและอดีตเด็กที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์จนตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาตินั้น กฎหมายนี้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย” และเราอาจสรุปถึงแนวคิดและวิธีจัดการเพื่อเยียวยาปัญหาความไร้การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐได้เป็น ๓ สถานการณ์ ดังต่อไปนี้

สถานการณ์แรก ก็คือ กรณีของเด็กไร้เดียงสา ซึ่งถูกกำหนดให้จัดการด้วยแนวคิดและวิธีการตามมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

สถานการณ์ที่สอง ก็คือ กรณีของเด็กที่มีความรับรู้เกี่ยวกับตนเองแล้ว ซึ่งถูกกำหนดให้จัดการด้วยแนวคิดและวิธีการตามมาตรา ๑๙/๑ และมาตรา ๑๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

สถานการณ์ที่สาม ก็คือ กรณีของอดีตเด็กที่พลัดพรากจากบุพการีตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งถูกกำหนดให้จัดการด้วยแนวคิดและวิธีการตามมาตรา ๑๙/๒ และมาตรา ๑๙/๓ หากเป็นการแจ้งการเกิดย้อนหลัง และฟังได้ว่า เป็นผู้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด หรือกำหนดให้จัดการด้วยแนวคิดและวิธีการตามมาตรา ๑๙/๒ และมาตรา ๒๐/๑ หากเป็นการแจ้งการเกิดย้อนหลังและฟังไม่ได้ว่า เป็นผู้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ฟังได้ว่า เกิดในประเทศไทย

โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงของน้องซันเดย์ ประกอบกับบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้น เราจึงอาจชี้ได้ว่า กรณีของน้องซัยเดย์ย่อมเป็นกรณีของกรณีของเด็กไร้เดียงสา อันเป็นสถานการณ์แรก ซึ่งถูกกำหนดให้จัดการด้วยแนวคิดและวิธีการตามมาตรา ๑๙ ประกอบกับมาตรา ๑๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ อันทำให้เราอาจจะสรุปวิธีปฏิบัติที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องรักษาการตามสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่น้องซันเดย์พึงมี ดังต่อไปนี้

ในประการแรก เมื่อฟังได้ว่า นายซอหม่อง หมอตำแย และคุณแม่ทัศนีย์เป็นผู้พบน้องซันเดย์ ซึ่ง “เด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง” โดยผลของมาตรา ๑๙ บุคคลทั้งสามจึงมีหน้าที่ “นำตัวเด็กไปส่งและแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ซึ่งปฏิบัติงานในท้องที่ที่พบเด็กนั้นโดยเร็ว” ดังนั้น เมื่อคุณแม่ทัศนีย์ได้นำตัวน้องซันเดย์ไปแจ้งความลงบันทึกกับพนักงานฝ่ายตำรวจบนสถานีตำรวจภูธรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และแจ้งเรื่องต่อเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำจังหวัดตาก (พมจ.ตาก) แล้ว จึงสรุปว่า นายซอหม่อง หมอตำแย และคุณแม่ทัศนีย์ก็ได้กระทำการตามที่มาตรา ๑๙ กำหนดแล้ว เพื่อที่จะมีหลักฐานที่เป็นคุณแก่น้องซันเดย์

สำหรับคำแนะนำต่อคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางนั้น เราจึงต้องแนะนำให้คลินิกกฎหมายดังกล่าวติดตามขอสำเนาของเอกสารดังต่อไปนี้ (๑) บันทึกการรับแจ้งความของพนักงานฝ่ายตำรวจบนสถานีตำรวจภูธรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และ (๒) บันทึกการรับแจ้งของเจ้าหน้าที่ของ พมจ.ตาก และคลินิกกฎหมายดังกล่าวควรจัดเก็บเอกสารที่ได้มาเอาไว้ในแฟ้มที่ทำเพื่อบันทึกเรื่องราวของน้องซันเดย์อีกด้วย

ในประการที่สอง เมื่อพนักงานฝ่ายตำรวจบนสถานีตำรวจภูธรแม่สอด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งรับเรื่องของการพบน้องซันเดย์จากคุณแม่ทัศนีย์ แจ้งเรื่องต่อไปยังเจ้าหน้าที่ของ พมจ.ตาก แล้ว มาตรา ๑๙ กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งสองต้องทำ “บันทึกการรับตัวเด็กไว้” และจะต้องแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งและให้นายทะเบียนออกใบรับแจ้ง ทั้งนี้ ตามระเบียบและแบบพิมพ์ที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด บันทึกการรับตัวน้องซันเดย์จะต้องมีสองฉบับและเก็บไว้ที่เจ้าหน้าที่ผู้รับตัวเด็กหนึ่งฉบับ และส่งมอบให้กับนายทะเบียนผู้รับแจ้งหนึ่งฉบับ โดยให้มีรายละเอียดเกี่ยวกับรายการบุคคลของผู้ที่พบเด็ก พฤติการณ์ สถานที่ และวันเวลาที่พบเด็ก สภาพทางกายภาพโดยทั่วไป ของเด็ก เอกสารที่ติดตัวมากับเด็ก และประวัติของเด็กเท่าที่ทราบ และในกรณีที่ไม่อาจทราบสัญชาติของเด็กให้บันทึกข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย

ในกรณีนี้อีกเช่นกัน เราจึงต้องแนะนำให้คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางไปติดตามขอสำเนาของเอกสาร ๒ ประการ ดังต่อไปนี้ (๑) สำเนาของบันทึกการส่งตัวน้องซันเดย์จากสถานีตำรวจภูธรแม่สอด ไปยัง พมจ.ตาก ตลอดจน (๒) สำเนาบันทึกการส่งเรื่องไปยังนายทะเบียนผู้รับแจ้ง และจัดเก็บเอาไว้ในแฟ้มที่ทำเพื่อบันทึกเรื่องราวของน้องซันเดย์เอาไว้ด้วย

ในประการที่สาม มาตรา ๑๙/๒ กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องดูแลให้มีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กตามมาตรา ๑๙ ซึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ในขั้นตอนนี้ เราจึงต้องแนะนำให้คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางไปติดตามผลการพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของน้องซันเดย์ ซึ่งจะต้องทำภายใต้แนวคิดและวิธีการที่กำหนดโดย กฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งข้อ ๔ บัญญัติว่า “การพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิดตามข้อ ๒ ให้คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงของมนุษย์ และความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร รวมถึงหลักเกณฑ์การได้สัญชาติไทยหรือไม่ได้สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ โดยให้นายทะเบียนอำเภอ นายทะเบียนท้องถิ่น และนายอำเภอ พิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก และความเป็นไปได้ในการแสวงหาพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงประกอบด้วย”

สำหรับคำแนะนำต่อคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางนั้น เราจึงต้องแนะนำให้คลินิกกฎหมายดังกล่าวไปร้องขอสำเนาการพิจารณาการพิสูจน์สถานการณ์เกิดและสัญชาติของน้องซัยเดย์โดยนายอำเภอแม่สอด และจัดเก็บเอาไว้ในแฟ้มที่ทำเพื่อบันทึกเรื่องราวของน้องซันเดย์

ในประการที่สี่ ในกรณีที่ไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้ มาตรา ๑๙/๒ ก็กำหนดก็ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติและออกเอกสารแสดงตนให้เด็กไว้เป็นหลักฐาน ตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด ซึ่งระเบียบดังกล่าว ก็คือ ข้อ ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วย การจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดยข้อ ๕ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งข้อ ๕๙/๑ บัญญัติว่า

“เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในเขตพื้นที่ขอแจ้งการเกิดให้กับเด็กในสภาพแรกเกิดหรือเด็กไร้เดียงสาซึ่งถูกทอดทิ้ง ให้ดำเนินการ ดังนี้

(๑) เรียกตรวจบัตรประจำตัวผู้แจ้ง สำเนาทะเบียนบ้านของสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นซึ่งรับตัวเด็กที่ขอแจ้งการเกิดไว้ และบันทึกการรับตัวเด็ก

(๒) ตรวจรายการบุคคลในฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่า มีการแจ้งการเกิดและมีรายการบุคคลของเด็กที่ขอแจ้งการเกิดในทะเบียนบ้านหรือไม่

(๓) ออกใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร. ๑๐๐) ให้กับผู้แจ้งการเกิด

(๔) พิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กที่แจ้งการเกิดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กซึ่งถูกทอดทิ้ง เด็กเร่ร่อน หรือเด็กที่ไม่ปรากฏบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้ง

(๕) เมื่อได้รับแจ้งผลการพิจารณาจากนายอำเภอว่า เด็กที่แจ้งการเกิดเป็นผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและเป็นผู้มีสัญชาติไทย ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกสูติบัตร ท.ร. ๑ หรือ ท.ร. ๒ แล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้แจ้ง แต่ถ้าผลการพิจารณาแจ้งว่าเด็กเกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย ให้ออกสูติบัตร ท.ร. ๓ ให้แก่ผู้แจ้ง

(๖) เพิ่มชื่อเด็กที่แจ้งการเกิดเข้าในทะเบียนบ้าน ท.ร. ๑๔ หรือ ท.ร. ๑๓ แล้วแต่กรณี ของสถานสงเคราะห์หรือสถานที่ที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นซึ่งรับตัวเด็กที่ขอแจ้งการเกิดไว้

(๗) กรณีนายอำเภอแจ้งผลการพิจารณาว่าเด็กที่แจ้งการเกิดไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร และไม่ได้รับสัญชาติไทย หรือไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติของเด็กได้ ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้แก่ผู้แจ้งตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางที่เกี่ยวด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ”

สำหรับคำแนะนำต่อคลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางนั้น เราจึงต้องแนะนำให้คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางไปร้องขอเอกสาร ๓ ลักษณะดังต่อไปนี้ (๑) ใบรับแจ้งการเกิด ประเภท ท.ร. ๑๐๐ (๒) สูติบัตรประเภท ๐๓๑ และ (๓) สำเนาทะเบียนประวัติสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๓๘ ข) ในลักษณะเดียวกัน คลินิกกฎหมายประจำโรงพยาบาลท่าสองยางควรจัดเก็บเอกสารดังกล่าวไว้ในแฟ้มที่ทำเพื่อบันทึกเรื่องราวของน้องซันเดย์ และเก็บรักษาอย่างดีจนกว่าการจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของน้องจะแล้วเสร็จ

โดยพิจารณาข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ น้องซันเดย์ก็น่าจะได้รับการออกสูติบัตรประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน (ท.ร.๐๓๑) เพื่อรับรองว่า น้องเกิดในประเทศไทย และได้รับการสำรวจและบันทึกในทะเบียนประวัติประเภทบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประเภท ท.ร.๓๘ ก อันทำให้น้องมีเอกสารที่จะแสดงตนว่า เป็นราษฎรไทยประเภทหนึ่ง อันจะส่งผลมิให้น้องประสบปัญหาความไร้รัฐโดยสิ้นเชิง แต่ในส่วนของการจัดการปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายสัญชาตินั้น ก็คงจะต้องพิจารณากันต่อไป

โดยสรุป ด้วยการปฏิบัติตามที่กำหนดโดยมาตรา ๑๙ และมาตรา ๑๙/๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ตลอดจนกฎหมายลูกบทดังกล่าวมา น้องซันเดย์ก็จะได้รับการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยว่าด้วยการทะเบียนราษฎร อันจะทำให้มีสถานะเป็น “คนมีรัฐ” กล่าวคือ มีรัฐไทยเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของเด็กภายใต้อนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของเด็ก ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒ ซึ่งรองรับเพื่อปฏิบัติในประเทศไทยโดย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ และ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๐

--------------------------------------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 599130เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2016 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 มกราคม 2016 14:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท