711. "Appreciative Inquiry"


เรียนรู้ศาสตร์ OD ผ่าน "สามก๊ก" ตอนที่ 41

ช่วงนี้มีคนถามผมหลายคน ติดๆกันว่า Appreciative Inquiry มันคืออะไร แล้วมันทำอย่างไร ที่สำคัญมันดีอย่างไร ตอบที่ละคำถามนะครับ Appreciative Inquiry (AI) คือกระบวนการสืบค้นสิ่งดีๆ ร่วมกันของคนในองค์กร เพื่อในสิ่งดีๆ ที่ได้ไปขยายผลสร้างความสำเร็จให้มากยิ่งขึ้น โดยมีสมมติฐานว่า ทุกคนทุกระบบล้วยมีสิ่งดีๆ ซ่อนเร้นที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบเดินไปด้วยดี และกำลังรอการค้นพบอยู่

AI ประกอบด้วยกระบวนการค้นหาสิ่งดีๆ ร่วมกัน ผ่านกระบวนการตั้งคำถามเชิงบวก หรือสังเกตหาปรากฏการณ์เชิงบวก (Discovery) เมื่อค้นพบแล้วคนจะเห็นโอกาสว่าจะเอาสิ่งดีๆ นั้นไปทำอะไร แก้ปัญหาอะไร หรือไปสร้างคุณค่าแบบไหน ไปจนถึงการสร้างวิสัยทัศน์องค์กรเลย (Dream) ต่อมาก็มาช่วยกันวางแผนขยายผล สร้างฝันให้เป็นจริง (Design) แล้วลงมือปฏิบัติ วัดผล ปรับปรุง แล้วก็หมุนวงจรไปเรื่อยๆ จนแก้ปัญหาได้ สร้างฝันจนเป็นจริงโดยสมบูรณ์

เราจะเห็นว่าในยุคสามก๊ก เล่าปี่ก็ทำ AI ครับ คุณจะเห็นเล่าปี่เห็นปัญหาราชวงค์ฮั่นล่มสลาย บ้านเมืองวุ่นวาย อยากแก้ปัญหานี้ อยากสถานาราชวงค์ฮั่นขึ้นมาใหม่ เล่าปี่เริ่มมองหาสิ่งดีๆ รอบตัว หันไปหันมา ก็ไปเจอเตียวหุย กวนอู ซึ่งเป็นยอดฝีมือที่กล้าหาญ จริงจัง มีอุดมการณ์ทั้งคู่ (Discovery) เมื่อเห็นจุดแข็งก็เห็นโอกาสแล้วว่าจะกอบกู้ราชวงค์ฮั่นให้สำเร็จ (Dream) ต่อมาก็พากันวางแผนออกแบบกัน (Design) เช่นการสาบานเป็นพี่น้อง การระดมทุน แล้วการไปร่วมรบกับโจรโพกผ้าเหลือง (Destiny) ตรงนี้เองคุณจะเห็นว่า เมื่อเริ่มขยับขยายสร้างความฝัน ทั้งสามคนก็จะเริ่มเจอโอกาสที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันก็เจออุปสรรคใหญ่ขึ้น แต่คุณก็จะเห็นว่าเมื่อทำตามความฝันและใช้จุดแข็งเป็นทุน มันจะมีทุนต่อทุนไปเรื่อยๆ เกิดการค้นพบ ต่อยอด ขยายผลไปเรื่อยเป็นวงจร แม้แพ้บ้างบางครั้ง แต่ก็ลุกขึ้นมาใหม่ได้ เกิดความเข็มแข็งที่มากขึ้น ที่สุดก็ประสบความสำเร็จ

ลองมาดูตัวอย่างในเมืองไทย ล่าสุดสองสามสัปดาห์ก่อน ผมไปทำ AI Workshop ให้โรงพยาบาลยโสธร วันนั้นผมทำ AI Workshop มีคนเข้าประมาณสามสิบคน โจทย์ที่นั่นคือต้องการสร้างนวัตกรรม ผมเลยเริ่มถามว่า “อะไรคือสิ่งที่คุณภาคภูมิใจที่สุด” ลองดูเรื่องราวของพยาบาลท่านหนึ่งชื่อพี่โอ พี่โอมาจากโรงพยาบาลป่าติ้วว เป็นลูกศิษยย์ AI ของผมเอง พี่โอมาร่วมงานในวันนั้น

พี่โอเล่าเรื่องที่ภาคภูมิใจที่สุดของพี่ว่า “ลูกสาวพี่เกิดมาเป็น LD (Learning Disabilities) ลำบากมาก ป. 3 นี่ยังต้องเดินทางมาหาหมอที่ขอนแก่น เพื่อหัดพูด หัดสื่อสารอยู่เลย แต่ก็คอยเฝ้าสังเกต ก็เริ่มเห็นลูกชอบนับเลข เลยเกิดความหวัง จากนั้นเลยพาไปเรียนคุมอง ลูกก็เริ่มดีขึ้น เรียนได้มากขึ้น ตอนหลังลูกชอบไปร้านหนังสือไปซื้อซึโดคุ (ปริศนาตัวเลขแบบญี่ปุ่น) ตอนนั้นมีเต็มบ้านเลย จนตอนนี้เรียนม.6 สอบได้ Top ในวิชาเลข ฟิสิกส์ เคมี ตอนนี้กำลังจะไปสอบเข้าวิศวะแล้วค่ะ” ชัดไหมครับ ลองวาดเป็นวงจร AI ได้ดังนี้

คุณเห็นอะไรที่เหมือนกันไหมครับ เล่าปี่กับคุณแม่พยาบาล

เจอปัญหา เจอความท้าทายที่หนักหนานสาหัสเช่นกัน แต่ก็เริ่มสังเกต ค้นหาสิ่งดีๆ เรื่องดีๆ จากคนรอบตัว ก็เริ่มเจอสิ่งดีๆ ที่แม้ดีอย่างริบหรี่ ก็ไม่สนใจครับ เล่าปี่และพี่พยาบาลเห็นความหวังทันที แล้วก็เริ่มขยายผล ไม่รอช้า ทั้งสองเริ่มเจอความสำเร็จ เริ่มเรียนรู้ แล้วต่อยอดไปเรื่อยๆ ที่สุดเล่าปี่ก็ได้เป็นฮ่องเต้ ส่วนพี่พยาบาลผู้นั้นก็สร้างประวัติศาสตร์เช่นกัน

คนเราจะสร้างอาณาจักรสวรรค์ หรืออนาคตของลูกที่ดูริบหรี่มากๆ ทำได้ทั้งนั้นครับ กระบวนการคล้ายๆกันด้วย คือเริ่มจากเรื่องดีๆ ที่จะชี้ทางให้เราเห็นโอกาสความเป็นไปได้ แล้วเราลุยไปเลยครับ ไม่ต้องพร้อมมาก ที่สุดเราจะเริ่มเจอความสำเร็จ ที่ก็จะกลายเป็นทุนต่อทุน สร้างความสำเร็จที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ

นี่ไงครับการทำ AI อย่างง่าย เป็นของจริงเลย เริ่มจากมองหาเรื่องดีๆ เจอแล้วรีบเอามาขยายผล

นี่ผมตอบมาสองข้อ ข้อสามมันดียังไง คุณตอบด้วยตัวเองเลยครับ เพราะชัดอยู่แล้ว

ถ้าให้ผมตอบอีก ก็จะตอบว่า เราสามารถสร้างความสำเร็จได้จากสิ่งที่เรามาอยู่ จะคิดไกลแค่ไหนก็ได้ AI สามารถช่วยใหเ้คุณแก้ปัญหาที่ดูมันเป็นไปไม่ได้ โดยใช้ทรัพยากรที่คุณมีอยู่ ต่อยอดไปเรื่อยๆ

คุณไม่ต้องรอใคร ไม่ต้องคิดถึงจังหวะ หรือความพร้อมใดๆ เพราะเมื่อคุณเจอสิ่งดีๆ แม้เพียงเล็กน้อย AI ถือว่าคุณพร้อมแล้ว สร้างฝันได้เลย ดีไหมครับ ผมว่าดีมากๆ

วันนี้พอเท่านี้ เพียงเล่าให้ฟัง ลองเอาไปพิจารณาดูนะครับ

ท่านที่สนใจลองดู Clip เรียนรู้เรื่อง AI ของผมเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ



หมายเลขบันทึก: 597402เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015 11:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2015 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบใจการทำงาน


ได้แนวคิดดี


ฝากทักทายคุณพยาบาลชลัญธรด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท