จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๑ : สามเสียงอุปสรรคต่อจิตตื่นรู้ Part II เสียงแห่งความคลางแคลงใจ (Voice of Cynicism)


จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๔๑ : สามเสียงอุปสรรคต่อจิตตื่นรู้ Part II เสียงแห่งความคลางแคลงใจ (Voice of Cynicism)

นักวิชาการหรือผู้ที่ฝึกไม่ด่วนตัดสินมาดีพอ จะได้รางวัล bonus คือการ Open Mind การเปิดความคิด สามารถจะรับรู้สิ่งใหม่ๆได้ ซึ่งถ้าเราหมกมุ่นวนเวียนแต่สภาวะ I in Me ไปนานๆ เราจะไม่มีอะไรใหม่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เพราะจะใช้ paradigm เก่าในการแปลทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิตเราโดยตลอด ทุกสิ่งทุกอย่างเป็น routine ทุกสิ่งทุกอย่างคือเหมือนเดิม แต่ในสายวิชาการจะเห็นได้ชัดว่า มี "fact ใหม่ๆ" เกิดขึ้นตลอดเวลา และเราก็จะเปลี่ยนวินิจฉัยไปตาม fact ที่เพิ่มขึ้นมานี้เองตลอดเวลาด้วย นักวิชาการจะสามารถเปลี่ยนมุมมองแบบ subjective คือตามอารมณ์ (อัตตวิสัย) ไปเป็น objective (ภาววิสัย) ได้ เอาเรื่องราวเหตุการณ์ข้อมูลมาวางบนโต๊ะ ไม่เอาตัวลงไปคลุกวงใน ก็จะสามารถคิดวิเคราะห์อะไรต่อมิอะไรได้โดยไม่เอาอารมณ์เป็นใหญ่ เปลี่ยนระดับจาก I in Me มาเป็น I in It (ฉันในมัน)

แต่การไม่นำเอาอารมณ์มาใช้เลย บางทีก็ไม่ดีเหมือนกัน !!! โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำงานสายบริการสุขภาพ ซึ่งเรื่องราวทุกเรื่องมาจากรากฐานของความทุกข์และความสุข

การสื่อสารของมนุษย์นั้นซับซ้อน และมีวัตถุประสงค์ไม่ได้เพียงแค่ "ส่งผ่านข้อมูล" ให้จบเท่านั้น เราอาจจะสื่อสารเพื่อบอกให้ทราบว่าเรากำลังคิดอะไร หรืออยากจะบอกให้ทราบว่าเรากำลัง "รู้สึกอย่างไร" ทุกข์ สุข เป็นห่วง กลัว หวัง ลังเล ไม่แน่ใจ สนุก หวาดเสียว ขยะแขยง โกรธ เกลียด ฯลฯ อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะถูกสื่อออกมาแบบไม่ชัดเจน เพราะในความเป็นสัตว์สังคม เราอยากจะให้เกิดความ "เสถียร" ของบรรยากาศการสื่อสารให้มากที่สุด ดังนั้นโดยมารยาทก็ดี หรือโดยสังคมก็ดี อารมณ์ทั้งบวกและลบในประสบการณ์ที่เรากำลังเกิดขึ้น จะถูก "ปรุงแต่ง" ก่อนที่จะสื่อออกไปให้คนรับรู้ เพื่อที่จะ "รักษาบรรยากาศ" ที่ว่า ความยากก็คือบางทีปรุงแต่งไปแล้ว ก็เกิดการ "แปลผิด" ได้เพราะคนแปลไม่ได้นึกไปถึงขนาดนั้น

มีลูกชายพาพ่อที่เกิดอุบัติเหตุรถชนกันมาที่ห้องฉุกเฉิน แล้วแพทย์ต้องพาไปผ่าตัดเพราะมีภาวะเลือดออกในช่องท้อง สุดท้ายก็ไม่สามารถจะช่วยชีวิตได้ แพทย์ออกมาแจ้งข่าวร้ายให้กับลูกชายที่เดินกระวนกระวายอยู่หน้าห้องผ่าตัด ว่าคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้วบนเตียงผ่าตัด เพราะภาวะเลือดออกมาเกินไปกว่าที่เราจะช่วยอะไรได้
ลูกชายนิ่งอึ้งไปพักนึง ก่อนจะเงยหน้าขึ้นมาถามหมอว่า "ถ้าผมพาคุณพ่อมาเร็วอีกสักนิด คุณพ่อจะรอดไหมครับหมอ?"
เป็นคำถามที่เรียบง่าย แต่อาจจะตอบยาก
แบบที่หนึ่ง อาจจะตอบว่า "ถ้ามาเร็วกว่านี้อีกสักนิด อาการไม่มากเท่านี้ ความดันโลหิตเริ่มต้นดีกว่านี้ เสียเลือดไปน้อยกว่านี้ severity injury score (คะแนนความรุนแรงจากการบาดเจ็บ) ก็จะน้อย อัตราการรอดชีวิตอาจจะเปลี่ยนไป 12.5%"
แบบที่สอง อาจจะตอบว่า "หมอก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ"
แบบที่สาม อาจจะตอบว่า "ไม่ช่วยหรอกครับ ยังไงๆก็บาดเจ็บมาก"
แต่ที่น่าคิดก็คือ ลูกชายถามเช่นนั้นเพราะอะไร?
ถ้าถามเพราะอยากจะรู้ปัจจัยอะไรบ้างที่มีผลต่อการพยากรณ์โรค การตอบแบบที่หนึ่งก็จะตรงกับสิ่งที่คนถามอยากจะรู้ แต่เราจะพบว่านี่คือการตอบแบบ academic แบบวิชาการ ถ้าคุณหมอตอบแบบนี้ในห้องสอบปากเปล่ากับอาจารย์แพทย์ก็คงจะได้คะแนนดี แต่นั่นไม่น่าจะเป็นเหตุผลของลูกชายที่ถามแบบนี้?
แบบที่สองก็คงจะไม่ได้เพิ่มอะไรให้กับลูกชายมากนัก หมอตอบไปตามความเป็นจริง (ของหมอ คือ ไม่รู้)
แบบที่สามดูเหมือนหมอจะเห็นใจ เดาว่าลูกชายจะรู้สึกผิด ก็เลยตอบไปเช่นนั้น ซึ่งแบบที่สามนี้อาจจะตรงกับสิ่งที่ลูกชายกำลัง "รู้สึก" มากที่สุด คือ "ที่พ่อเค้าตายไปนั้น เค้าเป็นคนผิดหรือไม่ เพราะพามาช้าเกินไป" การตอบแบบที่สามอาจจะช่วยเยียวยาให้ได้บ้าง
หรือหมออาจจะตอบไปว่า "เท่าที่หมอสังเกตเห็น คุณเดินรอคอยอยู่หน้าห้องผ่าตัดอยู่ตลอดเวลาด้วยความกระวนกระวาย ตอนมาถึง ร.พ.ก็เป็นคนประคับประคองคุณพ่อขึ้นบนเตียง หมอบอกกับตัวเองว่าคุณคงจะรักคุณพ่อคุณมาก"
ซึ่งตอบแบบนี้ ดูเหมือนจะไม่ได้เกี่ยวกับคำถามอะไรเลย แต่ทว่า อาจจะเป็นคำตอบที่ "ตรง" กับความรู้สึกที่ลูกชายอยากจะได้ เพราะความรู้สึกผิด รู้สึก guilt นั้น ลูกชายกำลังต้องการการเยียวยา ต้องการคนที่ sensitive ต้องการคนที่ empathy เห็นอกเห็นใจ ต้องการคนที่รับรู้ว่าเขากำลังทุกข์ ไม่เพียงทุกข์เพราะพึ่งเสียพ่อไปจากอุบัติเหตุ แต่ยังทุกข์ทับถมว่าเป็นเพราะเขาหรือไม่ที่ทำให้พ่อต้องตาย

หน้าที่แพทย์ไม่ใช่เป็นเพียง fact transferer หรือ data transferer คนถ่ายทอดข้อมูลเท่านั้น แต่หน้าที่แพทย์คือ healer หรือ "ผู้เยียวยา" เราควรจะตอบแบบไหน?

บางทีแพทย์อาจจะเผลอคิดว่า เราเป็น "นักวิชาการ" อยู่ในห้องวิจัย ห้องสอบ เท่านั้น แต่สนามทำงานที่แท้จริงของแพทย์คือ healing หรือการเยียวยาความทุกข์ของคน ซึ่งความทุกข์ของคนเป็นสิ่งที่หลายมิติ ทุกข์กาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ ดังนั้น การรักษาสภาพ I in It หรือแค่ดูเนื้อหาไปตามข้อมูลอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพอที่จะใช้เยียวยา การชี้แจงถ่ายทอดแบบไร้จิตวิญญาณ ไร้อารมณ์ ไม่มี empathy อาจจะถ่ายทอดข้อมูลได้ครบ ได้ถูกต้อง แต่ก็อาจจะพร่องด้านการเยียวยา ด้านการประคับประคองอารมณ์และจิตใจของคนฟัง

ทำอย่างไร นักวิชาการจึงการก้าวข้าม I in It ไปอีกระดับหนึ่งคือ I in You?

Voice of Cynicism เสียงแห่งความคลางแคลงใจ

https://www.gotoknow.org/posts/153506

เสียงแห่งความคลางแคลงใจเกิดขึ้นเมื่อเราเอาแต่ protect ปกป้องข้อมูลที่จะต้องใช้ "ใจ" ในการรับรู้ การรับข้อมูลแบบ ภาววิสัย หรือแบบนักวิชาการที่ไม่เอาอารมณ์มาเกี่ยวข้อง อาจจะทำให้เราครองสติได้ง่ายก็จริง แต่มนุษย์สามารถที่จะมีสติได้ทั้งๆที่ และโดยที่ เรากำลังรับรู้อารมณ์ความรู้สึกไปด้วย ด้วยสาเหตุบางประการที่แพทย์ที่ไม่ได้ฝึกการ train อารมณ์มาเป็นอย่างดี จะรู้สึกว่าอะไรก็ตามที่ไม่ได้ใช้ cognitive intelligence ความฉลาด ความรู้มาก ที่เป็น safe zone ของเขาแล้ว เขาก็จะเกิดความไม่อยากทำ ไม่อยากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่คุ้นชินนั้นๆ

Cynicism ความคลางแคลงใจเป็นการปกป้องใจ โดยใช้ความคิดมากลบเกลื่อน มาเป็นเกราะกำบัง บ่อยครั้งที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วยการ "ให้ความหมาย" ว่าเราหวังดี เราทำไปเพราะมีเหตุมีผล แต่อาจจะลืมไปว่า เราก็สามารถจะ "ทำร้ายผู้คนทั้งๆที่เราหวังดี" ไปด้วยก็ได้ การที่เราจะแก้ตัวปาวๆว่าเราไม่เคยมีเจตนาจะทำร้ายความรู้สึกใคร ไม่ได้ทำให้ความรู้สึกเจ็บปวด หรือทุกข์ของคนที่รับนั้นหายไป เราเดินเข้าไปพูดจากับคนที่กำลัง depressed เศร้าซึมด้วยความเมตตาว่าเค้าคงจะเหงา แต่ถ้าตอนนั้น เขาอยากจะอยู่คนเดียว สิ่งที่เราทำอาจจะทำให้ยิ่งทุกข์มากยิ่งขึ้น หรือตรงกันข้ามกัน เราไม่อยากจะเข้าไปหา ไปรบกวนในตอนนั้น แต่คนที่ทุกข์อาจจะต้องการกำลังใจจากใครสักคนหนึ่งอยู่ การที่เราไม่เข้าไป ก็จะทำร้ายเขาอยู่ได้เช่นเดียวกัน

จะแก้ไข ป้องกันได้อย่างไร?

เหมือนกับที่เราใช้ suspension of assumption เป็นเครื่องมือจัดการ voice of judgment เราก็มีเครื่องมืออีกชุดหนึ่งในการจัดการ voice of cynicism ได้ นั่นคือ empathy and compassion

ความเห็นอกเห็นใจและความรักความเมตตา (Empathy and Compassion)

เมื่อเราเปิดใจ จากการฝึกทักษะดูแลหัวใจของเราให้ดีมาก่อน จะเกิดศรัทธาในความงดงามของมนุษย์ ว่าเนื้อแท้แล้วคนเราทุกคนเป็นคนดี หรือต้องการเป็นคนดี คนเราทุกคนมีความรักและเมตตาที่จะมอบให้กันและกัน คนที่ทุกข์มาเจอเรานั้น คงจะมีเหตุผลอะไรบางประการที่ทำให้เราทั้งสองต้องมาเกิดปฏิสัมพันธ์กัน ความเห็นอกเห็นใจ ความรักและเมตตา เกิดจากสมองคนละส่วนกับความคิด ตรรกะ และความฉลาด ความรู้มาก หรือความทรงจำ นักวิชาการจะใช้สมองซีกซ้ายเยอะในการตกผลึกความทรงจำ เรียบเรียง flow of thought โดยใช้ตรรกะ แต่ในส่วนอารมณ์ความรู้สึกและจินตนาการให้ความหมายกับสิ่งที่เป็นนามธรรม นั้น ต้องใช้สมองส่วน limbic system และสมองซีกขวา

การจะปลูกทักษะแห่งความรัก ความเมตตานั้น ก็เหมือนกับการ train กล้ามเนื้อ ฝึก body ฝึกสมองด้านความจำ ด้านตรรกะ ก็คือ "ต้องฝึกบ่อยๆ" ต้องหมั่นรดน้ำ แต่ด้วยน้ำใจ ด้วยความรัก ด้วยความเมตตา อันมีพื้นฐานอันดับแรกคือการรับฟังความทุกข์ของเขาให้ได้ การมองเห็นความทุกข์ของเขาให้ได้เป็นอันดับแรก คือการเห็นอกเห็นใจ การ empathy นั่นเอง

หากทำได้ เราก็จะเลื่อนระดับ จาก I in It ลงไปถึงระดับ I in You (ฉันในเธอ) ได้ เราจะเลื่อนระดับจาก Open Mind มาเป็น Open Heart ได้

(มีต่อ Part III เสียงแห่งความกลัว Voice of Fear)

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๑ นาฬิกา ๓๒ นาที
วันขึ้น ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 597272เขียนเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤศจิกายน 2015 10:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าจะมีการฝึกฝนเยอะๆ นะคะ

ทำงานpalliative care บางทีก็ติดขัด ว่าควรจะพูดอะไรอย่างไ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท