Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ครอบครัวของประภาพร...ครอบครัวของคนสัญชาติไทยในมาเลเซีย


กรณีศึกษานางประภาพร : ประเด็นสำคัญทางกฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวของหญิงสัญชาติไทยซึ่งคู่สมรสเป็นคนสัญชาติมาเลเซียและมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศมาเลเซีย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๘

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10153732730173834

-----------

ข้อเท็จจริง[1]

------------

ใน พ.ศ.๒๕๕๗ นางประภาพรซึ่งมีสัญชาติไทย ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายบาดาวีซึ่งมีสัญชาติมาเลเซีย เขา การจดทะเบียนสมรสทำในสถานกงสุลมาเลเซียประจำประเทศสหรัฐอเมริกา บุคคลทั้งสองพบรักกันในขณะที่กำลังศึกษาต่อในประเทศสหรัฐอเมริกา

นางประภาพรเกิดในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ จากบิดาและมารดาซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย นางประภาพรมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนสัญชาติไทย เธอจึงถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐไทย

ส่วนนายบาดาวีเกิดในประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ.๒๕๒๕ จากบิดามารดาซึ่งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย นายบาดาวีมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย เขาจึงถือเอกสารรับรองตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐมาเลเซีย

นับแต่การสมรสจนถึงปัจจุบัน นางประภาพรและนายบาดาวีตั้งบ้านเรือนอยู่ในประเทศมาเลเซีย เพราะบุคคลทั้งสองประกอบธุรกิจซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย

ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นางประภาพรมิได้ร้องขอบันทึกชื่อของตนในทะเบียนราษฎรของประเทศมาเลเซีย นางประภาพรยังมีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยและถือหนังสือเดินทางที่ออกโดยรัฐบาลไทย เธอได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายมาเลเซียว่าด้วยคนเข้าเมือง

ในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๘ นางประภาพรและนายบาดาวีมีบุตรชายด้วยกัน ๑ คน อันได้แก่ “เด็กชายเมธาวี” ซึ่งเกิดในประเทศมาเลเซีย นายบาดาวีได้แจ้งการเกิดของเด็กชายเมธาวีในทะเบียนราษฎรของประเทศมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แต่นางประภาพรยังมิได้แจ้งการเกิดของเด็กชายเมธาวีในทะเบียนราษฎรของประเทศไทยแต่อย่างใด

ขอให้สังเกตว่า เด็กชายเมธาวีย่อมมีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตจากมารดาโดยผลของมาตรา ๗ (๑) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งบัญญัติว่า บุคคลที่เกิดจากบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือมารดาเป็นคนสัญชาติไทย ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด แต่เมื่อเด็กชายเมธาวียังไม่ถูกบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรไทยในสถานะคนสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามมาตรา ๓๖ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ เขาจึงไม่อาจได้รับเอกสารแสดงสถานะคนสัญชาติไทยที่ออกโดยรัฐไทย กล่าวคือ บัตรประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยบัตรประชาชน และหนังสือเดินทางคนสัญชาติไทย

--------

คำถามที่ ๑

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า นางประภาพรมีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศใดบ้าง ? เพราะเหตุใด ? [2]

------------

แนวคำตอบ

------------

โดยพิจารณาธรรมชาติของหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอำนาจอธิปไตยของรัฐ บุคคลธรรมดาซึ่งมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายเอกชนอาจมี “จุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริง (Real Connecting point) กับรัฐใดรัฐหนึ่งได้ใน ๒ ช่วงเวลา กล่าวคือ

ในขณะที่เกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงอย่างแท้จริงกับรัฐใน ๓ ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของถิ่นที่เกิด (๒) รัฐเจ้าของสัญชาติของบิดา และ (๓) รัฐเจ้าของสัญชาติของมารดา

ต่อมา ภายหลังการเกิด เอกชนอาจมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงอย่างแท้จริงกับรัฐใน ๒ สถานะ กล่าวคือ (๑) รัฐเจ้าของสัญชาติของคู่สมรส และ (๒) รัฐซึ่งมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับเอกชนโดยข้อเท็จจริง กล่าวคือ (๑) มีภูมิลำเนาอยู่ในรัฐเป็นระยะเวลานานพอที่จะมีความกลมกลืนกับสังคมของรัฐนั้นได้ (๒) มีครอบครัวเป็นบุคคลที่มีสัญชาติของรัฐนั้นได้ (๓) ทำคุณประโยชน์ให้กับรัฐนั้น และ (๔) อาศัยอยู่ในดินแดนที่รัฐได้มาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาเขตแห่งรัฐ

จึงสรุปได้ว่า นางประภาพรมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับ ๓ รัฐ กล่าวคือ

ในประการแรก นางประภาพรมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยทั้งโดยหลักบุคคลและหลักดินแดน จะเห็นว่า นางประภาพรมีจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับประเทศไทยโดยหลักสืบสายโลหิตจากบิดาและมารดา ทั้งนี้ เพราะเธอมีบิดาและมารดาเป็นคนสัญชาติไทยในขณะที่เกิด นอกจากนั้น จะเห็นอีกว่า นางประภาพรมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศไทยโดยหลักดินแดนทั้งนี้ เพราะเธอเกิดในประเทศไทย จะเห็นว่า จุดเกาะเกี่ยวดังกล่าวทั้งสองหลักมีลักษณะเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดและเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงกับรัฐไทยเช่นกัน

นอกจากนั้น เราจะพบข้อเท็จจริงว่า จุดเกาะเกี่ยวระหว่างประภาพรและประเทศไทยดังกล่าวทำให้นาง ประภาพรมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย อันทำให้ประภาพรมีสิทธิในเอกสารพิสูจน์ตนที่ออกโดยรัฐไทย และมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนในประเทศไทย

ในประการที่สอง นางประภาพรมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงกับประเทศมาเลเซียโดยหลักบุคคลจะเห็นว่า จุดเกาะเกี่ยวในประการนี้เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงภายหลังการเกิดกับประเทศมาเลเซีย ด้วยว่า นายบาดาวีซึ่งเป็นสามีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย และเด็กชายเมธาวีซึ่งเป็นบุตรชายของนางประภาพรและนายบาดาวีก็เป็นคนที่ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย แม้มีมารดาเป็นคนสัญชาติไทย ขอให้ตระหนักว่า จุดเกาะเกี่ยวในประการนี้ก็เป็นจุดเกาะเกี่ยวที่แท้จริงภายหลังการเกิด จะเห็นว่า จุดเกาะเกี่ยวอันนี้เองที่ทำให้เธอได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายมาเลเซียว่าด้วยคนเข้าเมือง

โดยสรุป นางประภาพรจึงตกเป็นบุคคลธรรมดา/มนุษย์ที่มีลักษณะระหว่างประเทศ กล่าวคือ ระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ซึ่งมี “สอง” รัฐเจ้าของตัวบุคคล

--------

คำถามที่ ๒

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล นางประภาพรยังมีสถานะเป็นราษฎรไทยหรือไม่ ? หากเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจะถอนชื่อของเธอออกจาก ท.ร.๑๔ โดยอ้างเหตุที่เธออาศัยอยู่จริงในประเทศมาเลเซีย การกระทำของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ? [3]

------------

แนวคำตอบ

------------

จะเห็นว่า ปัญหาสถานะความเป็นราษฎรไทยเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น ปัญหานี้ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐคู่กรณี ซึ่งก็คือ กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรของประเทศไทย อันได้แก่ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

โดยหลักกฎหมายการทะเบียนราษฎรซึ่งพัฒนาในรัฐไทย สิทธิในความเป็นราษฎรไทยของคนสัญชาติไทยเป็นไปภายใต้มาตรา ๒๙ ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น และมาตรา ๓๖ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า “ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) ไว้ทุกบ้านสำหรับผู้มีสัญชาติไทยและคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร

จะเห็นว่า ฐานแห่งสิทธิในความเป็นราษฎรไทยมิได้ขึ้นอยู่กับการอาศัยอยู่จริงในประเทศไทย แต่ขึ้นอยู่กับสิทธิอาศัยในประเทศไทย เมื่อบุคคลมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร บุคคลก็จะมีสิทธิอาศัยในลักษณะถาวรในประเทศไทย ซึ่งคนสัญชาติไทยย่อมมีสิทธิอาศัยถาวรตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ในขณะที่คนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรย่อมมีสิทธิอาศัยถาวรตามกฎหมายคนเข้าเมือง สิทธิในความเป็นราษฎรไทยประเภทคนอยู่ถาวรจึงเป็นไปตามฐานแห่งสิทธิดังกล่าว เมื่อบุคคลยังไม่เสียไปซึ่งสถานะสัญชาติไทยหรือสถานะคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยจะถอนชื่อของบุคคลดังกล่าวออกจาก ท.ร.๑๔ มิได้

นอกจากนั้น เมื่อเราพิจารณาข้อกฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลในปัจจุบัน กล่าวคือ มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ที่บัญญัติว่า “การได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๙ มาตรา ๑๒ หรือมาตรา ๑๒/๑ การเสียสัญชาติไทยตามหมวด ๒ หรือการกลับคืนสัญชาติไทยตามหมวด ๓ ให้มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัว” เราพบว่า การเสียสัญชาติไทยย่อมเกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศการเสียสัญชาติไทยในราชกิจจานุเบกษา และการประกาศดังกล่าวก็จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีเหตุให้เสียสัญชาติไทยดังปรากฏในมาตรา ๑๓ – ๒๒ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ การประกาศไม่อาจเกิดขึ้นตามอำเภอใจของใครเลยก็ตาม

เมื่อไม่ปรากฏมีการประกาศให้นางประภาพรเสียสัญชาติไทย และการไปอาศัยในต่างประเทศ ก็มิใช่เหตุในการถอนสิทธิในสัญชาติไทยของคนสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักสืบสายโลหิตของนางประภาพร

ดังนั้น เมื่อนางประภาพรจึงยังมีสถานะเป็นราษฎรไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยไม่อาจถอนชื่อของเธอออกจาก ท.ร.๑๔ โดยอ้างเหตุที่เธอไม่อาศัยอยู่จริงในประเทศไทย หากมีการกระทำดังกล่าว การกระทำนี้ย่อมมิชอบด้วยกฎหมาย อันทำให้นางประภาพรอาจฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่อศาลปกครองเพื่อเพิกถอนการกระทำนั้น และหากฟังว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเจตนาทำให้เกิดความเสียหายแก่นางประภาพร เธอก็อาจฟ้องเจ้าหน้าที่ดังกล่าวต่อศาลอาญาได้

---------

คำถามที่ ๓

---------

หากศาลไทยกำลังพิจารณาประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายที่ดินในประเทศอินโดนีเซียระหว่างนางประภาพรซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและนายอัสสมุซึ่งมีสถานะเป็นคนสัญชาติอินโดนีเซียในทะเบียนราษฎรของรัฐอินโดนีเซีย

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ศาลไทยจะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดความสามารถของนางประภาพรในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามข้อเท็จจริง ? เพราะเหตุใด ? [4]

-------------

แนวคำตอบ

-------------

ในกรณีที่มีการกล่าวอ้างความเป็นระหว่างประเทศของสัญญาซื้อขายที่ดิน ศาลไทยจึงต้องนำเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลมาใช้ในการพิจารณาความสามารถของบุคคลดังกล่าว ซึ่งกฎหมายนี้ก็รับรองให้ใช้กฎหมายขัดกันของรัฐที่มีการกล่าวอ้างนิติสัมพันธ์ เว้นแต่กรณีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในเมื่อมีการกล่าวอ้างความสามารถของนางประภาพรในประเทศไทย จึงจะต้องใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ในการเริ่มพิจารณานิติสัมพันธ์ ซึ่งกรณีที่พิจารณามิใช่กรณีความสามารถโดยทั่วไปอันตกอยู่ภายใต้มาตรา ๑๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ แต่เป็นเรื่องของความสามารถที่จะทำนิติกรรมอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์แล้ว กรณีจะต้องพิจารณาตามมาตรา ๑๐ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งกำหนดว่า "ในกรณีที่เป็นนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ความสามารถของบุคคลที่จะทำนิติกรรม เช่นว่านั้นย่อมเป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่" จึงต้องแปลความว่า ในกรณีที่เกี่ยวกับนิติกรรมอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ จะต้องพิจารณาความสามารถของนางประภาพรภายใต้กฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่ เมื่อปรากฏว่า ที่ดินตามสัญญาซื้อขายนั้นตั้งอยู่ในประเทศประเทศอินโดนีเซีย ความสามารถของนางประภาพรจึงต้องพิจารณาภายใต้กฎหมายขัดกันอินโดนีเซีย อันเป็นกฎหมายแห่งถิ่นที่ทรัพย์นั้นตั้งอยู่

จะเห็นว่า ศาลไทยจึงต้องพิจารณากฎหมายขัดกันอินโดนีเซีย ซึ่งก็ชี้ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่เพื่อกำหนดความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน ขอให้ตระหนักว่า โดยหลักกฎหมายขัดกันสากล ประเด็นใดๆ ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายแห่งถิ่นที่อสังหาริมทรัพย์ตั้งอยู่

แต่อย่างไรก็ตาม ศาลไทยจะใช้กฎหมายอินโดนีเซียภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องนำสืบเนื้อหากฎหมายนี้ได้จนศาลพอใจ (มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑) และกฎหมายนี้จะถูกใช้ตราบเท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนไทย (มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑)

--------

คำถามที่ ๔

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า หากมีประเด็นขึ้นต่อศาลไทย ศาลนี้จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการกำหนดความสัมพันธ์ทางครอบครัวระหว่างนายบาดาวี นางมาลา และเด็กชายบาดามัน ? เพราะเหตุใด ? [5]

-------------

แนวคำตอบ

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล จะเห็นว่า เพื่อพิจารณาปัญหาเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ในทางครอบครัวระหว่างนายบาดาวี นางมาลา และเด็กชายบาดามัน ศาลไทยจะต้องเริ่มต้นพิจารณากรณีภายใต้กฎหมายขัดกันของรัฐเจ้าของศาล อันได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว กล่าวคือ ระหว่างบุคคลที่เป็นบิดา มารดา และบุตร จึงเป็นนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ

ในการพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในครอบครัว กล่าวคือ ระหว่างบุคคลที่เป็นบิดา มารดา และบุตร ตกอยู่ภายใต้มาตรา ๓๐ วรรค ๑

โดยมาตรา ๓๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ กฎหมายที่มีผลบังคับปัญหาสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ก็คือ กฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคลที่เป็นบิดา ซึ่งในข้อเท็จจริงนี้ ก็คือ กฎหมายมาเลเซียเพราะนายบาดาวีบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติมาเลเซีย

ในลำดับต่อไป ศาลไทยก็จะต้องใช้กฎหมายขัดกันมาเลเซีย ซึ่งเป็นกฎหมายในตระกูล Common Law ดังนั้น โดยใช้กฎหมายขัดกันนี้ กฎหมายที่มีผลบังคับปัญหาสิทธิและหน้าที่ระหว่างบิดามารดากับบุตรชอบด้วยกฎหมาย ก็คือ กฎหมายของรัฐเจ้าของภูมิลำเนาของบุคคล กฎหมายขัดกันมาเลเซียจึงชี้ให้ใช้กฎหมายแพ่งสาระบัญญัติครอบครัวมาเลเซีย มิใช่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย ในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างนายบาดาวีบิดา นางมาลามารดา และเด็กหญิงมารูโกะบุตรสาว หากมีการพิสูจน์กฎหมายมาเลเซียจนศาลไทยพอใจ (มาตรา ๘ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑) และการพิสูจน์ว่ากฎหมายมาเลเซียไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน (มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑)

--------

คำถามที่ ๕

---------

จากข้อเท็จจริงเดียวกับข้อที่ผ่านมา โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า ในกรณีที่มารดาจะพาเด็กชายเมธาวีมาเยี่ยมตาและยายในประเทศไทย เขาจะต้องร้องขอวีซ่าเพื่อการเดินทางเข้ามาในประเทศไทยหรือไม่ ? เพราะเหตุใด ?[6]

-------------

แนวคำตอบ

-------------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล สิทธิในการเข้าเมืองย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของรัฐเจ้าของดินแดนซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี ทั้งนี้ เพราะเรื่องการเข้าเมืองเป็นเรื่องตามกฎหมายมหาชนย่อมเป็นไปภายใต้กฎหมายมหาชนภายในของรัฐเจ้าของดินแดน ซึ่งเป็นรัฐคู่กรณี แต่อย่างไรก็ตาม รัฐที่เกี่ยวข้องอาจจะมีการกำหนดเป็นอย่างอื่น

ในข้อเท็จจริงนี้ กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณี ก็คือ กฎหมายไทยว่าการเข้าเมือง ในปัจจุบัน บทกฎหมายหลัก ก็คือ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จึงต้องใช้กฎหมายนี้พิจารณาปัญหาการเข้าเมืองไทยของ เด็กชายเมธาวี

โดยหลักกฎหมายว่าด้วยการเข้าเมือง การเข้าเมืองของคนชาติเป็นสิทธิที่เด็ดขาด ในขณะที่การเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นสิทธิที่มีเงื่อนไข จะเห็นว่า บทบัญญัติใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ก็ยอมรับแนวดังกล่าวเช่นกัน โดยผลของมาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ คำว่า “คนต่างด้าว” หมายถึงบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย และคำว่า “คนเข้าเมือง” หมายถึงคนต่างด้าวเท่านั้น เมื่อเด็กชายเมธาวีมีสัญชาติไทย เขาจึงมิใช่คนต่างด้าวและคนเข้าเมือง เขาจึงมีสิทธิเข้าเมืองโดยไม่มีเงื่อนไข

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีการร้องขอเพิ่มชื่อเด็กชายเมธาวีในทะเบียนราษฎรไทย รัฐไทยจึงยังไม่มีโอกาสรับรองสิทธิในสัญชาติไทยให้แก่เด็กชายเมธาวี แม้เขาจะมีสิทธิในสัญชาติไทย และอาจใช้สิทธิได้โดยพลัน แต่หากเขาไม่ใช้สิทธิในสัญชาตินี้ เขาจึงยังไม่ได้รับการรับรองว่า มีสถานะเป็นคนสัญชาติไทย โดยผลต่อไป เด็กชายเมธาวีจึงถูกถือว่า “คนต่างด้าว” โดยมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ จนกว่าจะพิสูจน์ความเป็นผู้ทรงสิทธิในสัญชาติไทย

ดังนั้น มารดาจึงควรจะต้องดำเนินการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยเสียก่อนต่อสถานกงสุลไทยในประเทศมาเลเซีย เพื่อที่จะดำเนินการทำหนังสือเดินทางตามกฎหมายไทยเพื่อแสดงความเป็นคนสัญชาติไทยให้แก่ เด็กชายเมธาวี หรือหากมิได้มีการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยให้แก่เด็กชายเมธาวี เขาก็อาจจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยใช้หนังสือเดินทางตามกฎหมายมาเลเซียในสถานะคนสัญชาติมาเลเซีย ในกรณีนี้ เธอก็จะต้องร้องขออนุญาตเข้าเมืองตามมาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้อนุญาตการเข้าเมืองสำหรับคนต่างด้าวทั่วไป การพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยสำหรับเด็กชายเมธาวีเพื่อการรับรองสิทธิที่จะเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทยอาจทำได้ในประเทศไทยอีกด้วย

โดยสรุป สิทธิเข้ามาในประเทศไทยของเด็กชายเมธาวีย่อมเด็ดขาดและไม่มีสิ้นสุดตราบเท่าที่ยังไม่เสียสิทธิในสัญชาติไทย แต่อาจมีปัญหาในการพิสูจน์สิทธิในช่วงเวลาที่ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองหากไม่มีเอกสารรับรองสถานะคนสัญชาติไทย กรณีของเด็กชายเมธาวีจึงเป็นตัวอย่างของกรณี “คนต่างด้าวเทียม”

--------

คำถามที่ ๖

---------

โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ถามว่า จะต้องใช้กฎหมายของประเทศใดในการพิจารณาปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยของนายบาดาวี ? เพราะเหตุใด ? นายบาดาวีมีข้อเท็จจริงอันทำให้ได้รับสัญชาติไทยหรือไม่ ? [7]

-----------

แนวคำตอบ

-----------

ประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นเรื่องสิทธิในสัญชาติไทย ซึ่งโดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กรณีเป็นเรื่องของสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทย ดังนั้น กรณีจึงตกอยู่ภายใต้กฎหมายมหาชนของรัฐคู่กรณีในนิติสัมพันธ์ จะเห็นว่า เมื่อกรณีเป็นเรื่องของสิทธิในสัญชาติไทย รัฐคู่กรณีจึงได้แก่ รัฐไทยซึ่งเป็นเจ้าของสัญชาติ

โดยพิจารณากฎหมายสัญชาติไทย การกำหนดปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยย่อมเป็นไปตามกฎหมายที่มีผลในขณะที่บุคคลมีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐเจ้าของสัญชาติ เมื่อปรากฏว่า นายบาดาวีร้องขอมีสิทธิในสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๕๓ กฎหมายที่มีผลกำหนดปัญหาสิทธิในสัญชาติไทยที่มีผลในช่วงเวลานี้ ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕, พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๔๑ และ พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๕๕

เราพบว่า นายบาดาวีจึงไม่มีข้อเท็จจริงอันเป็นจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับประเทศไทย จึงไม่มีโอกาสที่จะได้มาซึ่งสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่จะเห็นว่า นายบาดาวีมีความสัมพันธ์อย่างแท้จริงกับประเทศไทยภายหลังการเกิด กล่าวคือ นายบาดาวีสมรสตามกฎหมายกับหญิงสัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๕๗ จึงสรุปได้ว่า นายบาดาวีมีจุดเกาะเกี่ยวอย่างแท้จริงภายหลังการเกิดกับประเทศไทยตั้งแต่นั้นมา

แต่จะเห็นว่า กฎหมายไทยก่อนการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติไทยในวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ มิได้รับรองสิทธิในสัญชาติไทยของสามีต่างด้าวของหญิงสัญชาติไทย การยอมรับสิทธิดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๑ โดยผลของมาตรา ๑๑ (๔) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

การแปลงสัญชาติไทยตามมาตราดังกล่าวเป็นการแปลงสัญชาติในสถานะของคนต่างด้าวที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประเทศไทยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว มิใช่ในสถานะของคนต่างด้าวทั่วไปตามมาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งกำหนดให้คนต่างด้าวทั่วไปที่ต้องการแปลงสัญชาติเป็นไทย อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ ถ้ามีคุณสมบัติ ๕ ประการดังต่อไปนี้ (๑) บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ (๒) มีความประพฤติดี (๓) มีอาชีพเป็นหลักฐาน (๔) มีภูมิลำเนาในราชอาณาจักรไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี (๕) มีความรู้ภาษาไทยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

ในสถานะของคนต่างด้าวที่มีความสัมพันธ์เป็นพิเศษกับประเทศไทยซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วตามข้อกำหนดของมาตรา ๑๑ กฎหมายไทยรับรองสิทธิร้องขอแปลงสัญชาติภายใต้เงื่อนไขพิเศษ กล่าวคือ ไม่จำเป็นต้องมีภูมิลำเนาเป็นเวลา ๕ ปี ในประเทศไทย ก่อนร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย และไม่จำเป็นต้องมีความสามารถพูดและฟังภาษาไทยได้ กฎหมายกำหนดคุณสมบัติเพียง ๓ ประการ กล่าวคือ (๑) บรรลุนิติภาวะแล้วตามกฎหมายไทยและตามกฎหมายที่บุคคลนั้นมีสัญชาติ (๒) มีความประพฤติดี และ (๓) มีอาชีพเป็นหลักฐาน

ดังนั้น การที่นายบาดาวีมีภริยาสัญชาติไทยทำให้เขาร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยง่ายขึ้น จะเห็นว่า การไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทยต่อเนื่องมาจนถึงวันยื่นขอแปลงสัญชาติเป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี หรือการไม่มีความรู้ภาษาไทยมิใช่ข้อจำกัดในการร้องขอสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติของนายบาดาวีอีกต่อไป

แต่อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติก็ยังเป็นอำนาจดุลยพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอยู่ต่อไป และความเป็นคนสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติจะเริ่มต้นต่อเมื่อได้ประกาศคำสั่งอนุญาตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในราชกิจจานุเบกษา (มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘)

-------------------------------------



[1] เป็นกรณีศึกษาซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องจริงหลายกรณีที่หารือเข้ามายังโครงการบางกอกคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในช่วง ๗ ปีหลัง และใช้เพื่อการวัดผลความรู้ในการสอบปลายภาคในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในภาคการศึกษาที่ ๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ นอกจากนั้น ยังใช้ในการเรียนการสอนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในหลายมหาวิทยาลัย

[2] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒

[3] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ ภาคที่ ๒

[4] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๔๘ ภาคที่ ๒

[5] ข้อสอบปลายภาคในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๗ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันเฉียงเหนือ

[6] ข้อสอบในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปีการศึกษา ๒๕๕๔ ภาคที่ ๒

[7] ข้อสอบปลายภาคในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล ภาคที่ ๒ ของปีการศึกษา ๒๕๕๗ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

หมายเลขบันทึก: 597196เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2015 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท