ธรรมะสูงหนึ่งคืบ อธรรมสูงหนึ่งศอก


ธรรมะสูงหนึ่งคืบ อธรรมสูงหนึ่งศอก

สำนวนในหนังสือจีนกำลังภายในจะมีว่า "ธรรมะสูงหนึ่งเชียะ อธรรมสูงหนึ่งวา" (หนึ่งเชียะคือความยาวประมาณสิบนิ้ว) หมายความว่าทำความดีแค่ไหนก็ตาม จะมีมารจำนวนมากมายมหาศาลกว่าคอยรังควานตลอดเวลา ถึงแม้ว่าสุดท้ายความดีก็เอาชนะได้ในที่สุด แต่ระหว่างนั้นก็หืดขึ้นคอ

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ลองตัดเรื่องความดี/ความชั่วออกไปสักแป๊บนึง นำเอาเรื่อง "อารมณ์ ความรู้สึก" เข้ามาพิจารณา ถ้าเราแบ่งอารมณ์ความรู้สึกเป็นขั้ว ขั้วดีคืออารมณ์ดี และขั้วลบก็คืออารมณ์ร้าย ในระหว่างนั้นก็จะมี "เฉด" เข้มมากเข้มน้อยไป เราจะพบลักษณะที่น่าสนใจหลายประการ
๑) สมองจดจำเรื่องอารมณ์ลบได้ง่ายกว่า มากกว่า และยาวนานกว่าอารมณ์เรื่องบวก
๒) สมองถูก imprint หรือจับติดแน่นกับอารมณ์ลบได้มากกว่า อารมณ์บวกจะติดๆ หลุดๆ ลอยมาแปะแล้วสะกิดนิดเดียวก็หลุดลอยไป แต่ถ้าเป็นอารมณ์ลบมาติดจะยากแก่การลบ หรือสลัดให้หลุด
๓) เมื่อสมองถูกจับด้วยอารมณ์ลบ จะ "จม" ลงไปได้ง่ายกกว่าอารมณ์บวก อารมณ์ลบไม่เพียงแต่จะติดง่าย ติดแน่น แต่ถ้ากอดรัดฟัดเหวี่ยง ดึงดูดพลังงานของ host ที่มันเกาะอยู่ เหมือนอยู่บนทรายดูด โคลนดูด
๔) อารมณ์ลบประการหนึ่งถ้าจับมากพอ นานพอ และแน่นพอ จะสามารถดึดดูดอารมณ์ลบอื่นๆอีกมากมายมาผสมโรงด้วย ตัวอย่างที่ classic มากคือ จากภาพยนต์เรื่อง Star War ภาคหนึ่ง (หรือภาคสอง.... ไม่แน่ใจ) ตอนที่โยดาสัมภาษณ์อนาคิน สกายวอคเกอร์ว่าจะให้ โอบีวัน เคนโนบีฝึกเป็นอัศวินเจได้หรือไม่

โยดา "เจ้ากลัวอะไร?"
อนาคิน "ไม่เห็นจะเกี่ยวอะไรกับฝึกเจไดเลย!"
โยดา "เกี่ยวสิ เกี่ยวกับทุกอย่างเลย เพราะความกลัวทำให้เกิดความโกรธ ความโกรธทำให้เกิดความเกลียด ความเกลียดนำมาซึ่งความทุกข์!"

อารมณ์ลบพื้นฐานคือ "ความกลัว" ความกลัวจะฉุกลากเอาพลังงานลบอื่นๆมาด้วย เพราะความกลัวดึงเอา "ความปลอดภัย" ออกไปจากชีวิต เพราะเรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราก็จะเกิดความโกรธ โกรธมากๆเข้าก็จะเกลียด อารมณ์ลบเหล่านี้มีคุณสมบัติคือ "สามารถ feed หรือให้อาหารตัวมันเอง เติบโตจากการกัดกินตัวมันเองได้" (เป็น ideal thermodynamic condition!!!) ไม่เหมือนกับอารมณ์ด้านบวก ที่เราต้องหาเชื้อเพลิงคือเรื่องราวดีๆมาป้อน มาทำให้มันเติบโตตลอดเวลา หยุดเมื่อไรก็ใช้หมดไปเมื่อนั้น แต่อารมณ์ลบ เราสามารถจะทิ้งมันไว้ในถาดเพาะเชื้อ เผลอแป๊บเดียวก็เติบโตออกมาล้นถาด

นอกจากนี้ความกลัวยังทำให้เราไม่กล้าออกไปแสวงหาความจริงอื่นๆ เรื่องราวจากมุมมองอื่นๆ เพราะเราเกิดความ insecure ที่จะออกไปข้างนอก เราจะอยู่ท่ามกลางเสียงที่ตอกย้ำเรื่องเดิมๆ เรื่องที่เรากลัวเดิมๆ เรื่องที่เราโกรธเดิมๆ เรื่องที่เราเกลียดเดิมๆ และเรื่องที่เราอยู่ในความทุกข์เดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จมลึกลงไป ลึกลงไป

ในการสร้างเสริมสุขภาพถึงได้ยากกว่าที่เราคิด

ทั้งๆที่สินค้าที่เราขายคือ good health และสิ่งที่เราต่อต้านคือ bad health แต่การที่มนุษย์มีความกลัว คือ รู้สึกไม่มั่นใจ ไม่ปลอดภัย (insecure) มนุษย์ชอบที่จะอยู่กับโลกหลอกตนเอง กินเหล้าแล้วสบายใจ เฮฮาไร้สาระ หรือได้จินตนาการได้เป็นโน่น เป็นนี่อย่างที่ใจปราถนา และที่สำคัญที่สุดคือได้ "หลบหนีจากโลกแห่งความจริง" ไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

โอสถรักษาและป้องกัน

มียาแก้ หรือยาป้องกันไหม? ข่าวดีก็คือมีเหมือนกัน มีเยอะด้วย และหาไม่ยากนัก แต่ว่าปัญหาคือบางทีตัวความกลัว ความโกรธ ความเกลียดที่อาจจะทำให้มันยาก หรือมองไม่เห็น หรือเข้าไม่ถึง
๑) ความรู้ ความรู้เป็น antedote สำคัญสำหรับความไม่รู้ ความไม่รู้หรือรู้ผิด (อวิชชา) เป็นรากเหง้าที่มาของความกลัว หลายๆเรื่องเรากลัวเพราะเรามโนไปเอง แต่พอรู้ว่าอะไรเป็นอะไรก็หมดความกลัว เรื่องผีฟังดูน่ากลัว แต่พอได้ยินรอบสอง รอบสาม ก็หมดกลัว
๒) empathy ความมีคนเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ และรับรู้ความรู้สึกของเรา อันนี้เป็นพลังงานที่หยิบยืมมากจากคนอื่น
๓) สติและการรับรู้ (mindfulness and awareness) อารมณ์ทุกชนิดนั้น ทันทีที่เราสามารถบอกกับตัวเองได้ว่า "เรากำลังรู้สึก" อะไรอยู่ อารมณ์นั้นจะสงบลงทันทีไปกว่าครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นทุกข์มากๆ สุขมากๆ พอเรา "เห็น" ก้อนอารมณ์เหล่านี้ มันจะลดความพลุ่งพล่านดาลเดือดลงในฉับพลันทันที

อุปสรรคที่ยากที่สุดคือ ถ้าเรายอมสยบต่อความกลัว ความโกรธ และลึกซึ้งลงไปถึงสยบต่อความเกลียดชังแล้ว โอสถทั้งสามขนานต้องการกระสายยาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือ "ความรักและเมตตา" อันจะเกิดได้ยากมาก ถ้าเราถูก overwhelming ท่วมท้นด้วยอารมณ์ลบ หากขาดกระสายยาคือความรักและเมตตาไปแล้ว เราจะไม่สามารถมอบความรู้ ไม่สามารถจะ empathy หรือไปมองจากอีกด้าน อีกฝั่งได้เลย และเราจะพลอยขาดสติไปด้วย

ธรรมถึงได้สูงหนึ่งเชียะ อธรรมถึงได้สูงหนึ่งวา

น.พ.สกล สิงหะ
เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพฤหัสบดีที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๐ นาฬิกา ๒ นาที
วันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 597049เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 10:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2015 10:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท