พัฒนาอาจารย์ และพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา ให้ทันโลก



วันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๕๘ มีการสัมมนาทิศทาง และแผนดำเนินงานของ ควอท. (สมาคมเครือข่าย การพัฒนาวิชาชีพอาจารย์และองค์กรระดับอุดมศึกษาแห่งประเทศไทย)

เมื่อเริ่มประชุม ท่านนายก ควอท. ท่านใหม่ (โปรดดูจากเว็บไซต์) กล่าวปรารภ เรื่อง ภารกิจของ ควอท. ซึ่งเน้นพัฒนาอาจารย์ และพัฒนาสถาบัน แล้วท่านก็โยนมาให้ผมให้ความเห็น ว่า ควอท. ควรมียุทธศาสตร์ การทำงานอย่างไร

ผมเสนอมุมมองภาพใหญ่ต่อที่ประชุมว่า ในสภาพปัจจุบัน อุดมศึกษาทั้งระบบก้าวไม่ทันโลก (ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก) ทั้งๆ ที่ ที่จริงเรามีความก้าวหน้า แต่ความก้าวหน้าของเราช้ากว่าโลก

และที่ผมตั้งข้อสงสัยคือ ในเชิงระบบ และกระบวนทัศน์ เรากำลังงมงายอยู่กับกระบวนทัศน์ที่ล้าหลัง ตกยุค หรือกล่าวแรงๆ เป็นกระบวนทัศน์ที่ตกยุคหรือเปล่า ในวันนั้นผมไม่ได้พูดโดยใช้ถ้อยคำแรงอย่างนี้ แต่สาระก็ไปในทำนองเดียวกัน

ผมกลับมาคิดที่บ้าน ว่าการพัฒนาอาจารย์ที่ ควอท. ทำอยู่คือพัฒนาด้านทักษะในการจัดการเรียน การสอน ซึ่งทำได้ดีทีเดียว แต่ทักษะส่วนที่ขาดที่สุดของอาจารย์คือทักษะในการโค้ชนักศึกษาให้เรียนรู้ จากการปฏิบัติงานในภาคชีวิตจริงทำงานจริง (real sector) และตัวพลังขับเคลื่อนความก้าวหน้าของอุดมศึกษา ที่แท้จริง อยู่ตรงนี้ .... การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานในภาคชีวิตจริงทำงานจริง ทั้งของนักศึกษา และของอาจารย์

หากข้อวิเคราะห์ในย่อหน้าบน เป็นความจริง การที่ ควอท. มุ่งพัฒนาอาจารย์ตามแนวเดิม ก็เป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” หรือเป็นการ “ค้นหากุญแจที่หล่นหายที่ใต้เสาไฟ” และอาจมีผลลบยิ่งกว่านั้น คือส่งสัญญาณ ว่าการพัฒนาอาจารย์ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ พัฒนาทักษะในห้องเรียน ซึ่งผมว่าผิด

หากเห็นด้วยกับแนวความคิดนี้ ควอท. ก็ดำเนินการได้ไม่ยาก เพราะ รศ. ดร. บัณฑิต ทิพากร อดีตนายก ควอท. ดำเนินการ WIL (Work-Integrated Learning) ที่ มจธ. อยู่แล้ว การคิดหลักสูตรพัฒนาอาจารย์ แนวโค้ชการเรียนรู้จากการทำงาน ไม่น่าจะยากเกินเอื้อม หรือ มจธ. อาจมีอยู่แล้ว

อุดมศึกษาที่ก้าวทันโลก คืออุดมศึกษาที่ร่วมเรียนรู้ไปกับภาคการผลิต ภาคธุรกิจ ภาคการพัฒนา ภาคชีวิตจริง เน้นเรียนจากการปฏิบัติงานจริง แล้วได้ความรู้ที่ลุ่มลึกและเชื่อมโยง พร้อมกับได้ทักษะ แห่งศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งเกิดสมรรถนะสำคัญ ๓ อย่าง คือ จิตสาธารณะ ความสามารถในการเรียนรู้ และปรับตัว และ ทักษะวิชาชีพ (โปรดดูแนวคิดของ Charles W. Eliot อดีตอธิการบดีผู้ปฏิรูปมหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด ระหว่างปี ค.ศ. 1869 – 1909 ที่นี่) โดยที่ทั้ง “ทักษะแข็ง” และ “ทักษะอ่อน” ได้จากกระบวนการ ทำงาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม (socialization) ระหว่างการทำงาน การพัฒนาอาจารย์ที่ท้าทาย ควอท. คือพัฒนาทักษะในการจัด “ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม” ในกระบวนการทำงานเพื่อเรียนรู้ดังกล่าว

ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าว จะนำไปสู่การตั้งโจทย์และทำวิจัย และการตั้งโจทย์แล้วทำงานบริการวิชาการ การเรียนการสอนจะไม่แยกส่วน ออกจากการวิจัยและการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยก็จะมี Social Engagement อย่างแท้จริง



วิจารณ์ พานิช

๒๑ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596742เขียนเมื่อ 27 ตุลาคม 2015 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2015 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท