อินเดียผลิตหม่อนไหม อันดับ 2 โลก ได้ด้วยพลังสตรีส่วนใหญ่ของประเทศ


“ผมมีโอกาสไปประชุมวิชาการหม่อนไหมโลก ครั้งที่ 23 ด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) ระหว่างวันที่ 24 – 27 พ.ย. 2557 ณ รัฐกรณาฎกะ (Karanataka) เมืองบังกาลอร์ (Bangalore) หรือ ปัจจุบันเรียกว่าเมืองเบงกาลูรู (Bengaluru) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมเหมือนฝรั่งเรียกเมืองหลวงของประเทศไทยว่า แบ้งค๊อก (Bangkok) ที่เพี้ยนมาจากคำว่า บางกอก และปัจจุบันคนไทยจะเรียกเมืองหลวงของเราว่า กรุงเทพฯ”

กลับไปคุยเรื่องอินเดียต่อดีกว่านะครับ... อินเดีย : ประเทศที่มีประชากรอันดับ 2 โลก สาธารณรัฐอินเดีย มีกรุงนิวเดลีเป็นเมืองหลวง ตั้งอยู่ในทวีปเอเชียใต้ มีประชากรมากกว่า 1,222 ล้านคน (พ.ศ.2555) มากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีพื้นที่ใหญ่กว่าประเทศไทยประมาณ 6 เท่า ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก ประกอบด้วยรัฐต่าง ๆ 29 รัฐ ประชากรมีความแตกต่างทางด้านชาติพันธุ์ และวัฒนธรรม ใช้ภาษาอินดีเป็นภาษาประจำชาติ ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ นับถือศาสนาฮินดูกว่าร้อยละ 79 ศาสนาอิสลามร้อยละ 15 นอกนั้นนับถือศาสนาคริสต์ พุทธ และอื่นๆ มากกว่า 400 ศาสนา ใช้สกุลเงินรูปี (1 รูปี = 0.50 บาท) มีรายได้เฉลี่ย 170,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี

สำหรับรัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ที่ผมไปประชุมครั้งนี้ ท่านทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นศูนย์รวมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก มีบริษัทชั้นนำกว่า 30 บริษัทไปตั้งอยู่ที่เมืองนี้ แต่รัฐนี้ก็มีการทำเกษตรไม่แพ้รัฐอื่น อีกทั้งเป็นฐานการผลิตวัตถุดิบของ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ของไทย อีกด้วย

การค้าขายระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดีย

การค้าของไทยกับอินเดีย มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 100,000 ล้านบาท เป็นคู่ค้าอันดับที่ 15 ของไทย โดยไทยได้เปรียบดุลการค้าประมาณ 25,000 ล้านบาทต่อปี ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เม็ดพลาสติก เหล็ก อุปกรณ์ ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ และสินค้าที่สำคัญของอินเดียที่ไทยนำเข้าได้แก่วัตถุดิบได้แก่วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เช่น อัญมณี ผลิตภัณฑ์จากพืช

ประทศอินเดียเป็นผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะไหมอินเดียมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จากเมื่อ 40 ปีก่อน (พ.ศ.2517) ผ้าไหมอินเดียมีส่วนแบ่งในตลาดโลกเพียงร้อยละ 2 หรือราว 400 ล้านบาท ปัจจุบันผ้าไหมอินเดียส่งออกได้ถึง 30,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 10 ของการผลิตของอินเดีย ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วด้วยมีสตรีเข้ามาเกี่ยวข้องมากกว่าร้อยละ 50 เราลองมาดูพลังของสตรีอินเดียกันดูนะครับ

การพัฒนาการผลิตไหม โดยเฉพาะการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมที่เป็นต้นน้ำ ตามนโยบายของกระทรวงสิ่งทออินเดียร่วมกับคณะกรรมาธิการไหมอินเดีย (Central Silk Board) มีสตรีอินเดียมากกว่าร้อยละ 53 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาไหม ด้วยเหตุผลที่ว่า การเลี้ยงไหมไม่ต้องใช้เงินทุนมาก เวลาการทำงานก็สามารถยืดหยุ่นได้ เป็นอาชีพที่เป็นมิตรกับสตรี สามารถทำที่บ้านได้ตลอดปี มีรายได้สม่ำเสมอ อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ทำร่วมกับอาชีพอื่นได้อย่างราบรื่นกลมกลืน เรียกว่าทำไปพร้อมกันได้ เช่น การเลี้ยงวัวควาย การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงแกะ และยังเป็นกิจกรรมของการทำการเกษตรแบบผสมผสาน หรือแม้แต่ผู้มีที่ดินเป็นของตัวเองจำนวนน้อย ก็สามารถทำการเลี้ยงไหม สาวไหม การควบตีเกลียวเส้นไหม จึงทำให้ผู้หญิงอินเดียมากกว่า 4.22 ล้านคน เข้ามากี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมในการผลิตไหมของอินเดีย

วัฒนธรรมแฟชั่นผ้าไหมอินเดีย

ด้วยแผน 5 ปี ของกระทรวงสิ่งทออินเดีย ร่วมกับคณะกรรมาธิการไหมของอินเดีย ได้ดำเนินการแผนงานที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับพัฒนาสตรี โดยใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตร และเน้นให้เห็นถึงพลังของสตรีให้เกิดความเชื่อมั่นในความยั่งยืน ในการก้าวเข้าสู่อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม ผลิตเส้นไหมและผ้าไหมจำหน่าย และเมื่อเดือนกันยายน 2557 กระทรวงสิ่งทอได้จัดงานเชิดชูเกียรติสตรีอินเดียที่พัฒนาตนเองสู่การเป็นเกษตรกรก้าวหน้า ถ้าเป็นบ้านเรายุคนี้เค้าเรียกว่าเกษตรปราดเปรื่อง หรือสมาร์ทฟาร์มเมอร์ (Smart Farmer) โดยมีจำนวนมากถึง 54 คน จาก 27 รัฐ ที่ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการทำไหม อันเป็นการสร้างงาน สร้างชีวิตจากไหม

ด้วยนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่เด่นชัด สู้ผู้ปฏิบัติ ภาครัฐอย่างจริงจังเคร่งครัด ไขข้อข้องใจของเกษตรกร สู่การทุ่มเทปฏิบัติให้สัมฤทธิ์ผล ด้วยความมุ่งมั่นและเชื่อมั่นในความยั่งยืนของอาชีพ จึงทำให้พลังสตรีชาวอินเดียได้สร้างความเจริญให้แก่อุตสาหกรรมไหมของอินเดียใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศจีน และยังเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดโลกมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

ในฐานะผู้เขียนบทความฉบับนี้ จึงอยากฝากให้ภาครัฐผู้ประกอบการ และภาคเกษตรกร ได้ร่วมแรงร่วมใจกันให้เป็นพลังหนึ่งเดียว ในการสร้างไหมไทยให้คงอยู่กับประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืนสืบไป



ที่มา : วารสาร สมาคมผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปีที่ 8 ฉบับที่ 19 ประจำเดือน กรกฎาคม - ธันวาคม 2558

ผู้เขียน : นายวิโรจน์ แก้วเรือง

หมายเลขบันทึก: 596707เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2015 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2015 11:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท