008_Ownership ความเป็นเจ้าของความรู้


วันที่ 22 ตค.2558

มาฝึกตนที่ รร.เพลินพัฒนา ได้ยินคำนึงแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ คือคำว่า Ownership หรือความเป็นเจ้าของความรู้

ที่ รร.พยายามจะสร้างปัจจัยต่างๆเพื่อให้ทั้งครูและนักเรียน เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของความรู้นั้น และเชื่อว่า เมื่อมีความรู้สึกนี้แล้ว จะเป็นแรงผลักดันให้ผู้เรียนสามารถเก็บเกี่ยวความรู้ที่เหลือได้เอง ไม่ว่าจะเป็นการค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองก็ดี หรือจะเป็นการแบ่งปันความรู้นั้นๆไปสู่ผู้อื่นก็ดี

Ownership คืออะไรหนอ

สำหรับศตวรรษหน้านี้ ทางวงการศึกษา เชื่อว่า เราไม่จำเป็นต้องเตรียมความรู้ทั้้งหมดให้ผู้เรียนอีกต่อไปแล้ว เพราะความรู้เหล่านั้นสามารถหาเพิ่มเติมได้เองจากแหล่งต่างๆมากมาย แต่เราจำเป็นต้องเตรียมทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองให้กับผู้เรียนต่างหาก (life long learning, self direct learning) เพื่อให้เขาสามารถหาเติมความรู้ที่เขาต้องการได้เอง

เทียบง่ายๆ ก็คือ เราไม่ต้องเตรียมอาหารให้ผู้เรียนอีกต่อไป แต่เราจะสอนทักษะการคิดเมนูอาหาร, ทักษะค้นหาวัตถุดิบ, ทักษะการเลือกวัตถุดิบที่เหมาะ และสร้างอาหารขึ้นมาได้เหมาะสมกับบริบทของตน ดังนั้นไม่ว่าเขาจะหิวอะไรขึ้นมาในอนาคต เขาจะสามารถสร้างอาหารขึ้นมาได้ตรงกับความต้องการของเขาเองได้เลย

Ownership มีรากฐานประกอบจากสี่ส่วน ได้แก่

  1. เจตคติ (Aptitude แปลไทยว่าความถนัด) หรือพูดง่ายๆคือ ความชอบ ซึ่งก็มีความชอบหลายระดับ ตั้งแต่ สนใจ, ชอบ, พอใจ, หลงใหล หรือไปให้ลึกซึ้งก็คือ ฉันทะ ในอิทธิบาท 4 และลึกไปถึง สมาทาน
  2. ความขยันหมั่นเพียร (Perseverance) ที่จะทำสิ่งๆนั้น หรือความสามารถในการกำกับตนเองที่จะเลือกทำแต่สิ่งๆนั้น
  3. ความสามารถในการฟื้นฟูตนเอง/ความยืดหยุ่น (Resilience) หรือความสามารถในการที่เมื่อล้มแล้ว สามารถลุกขึ้นมาเองได้ เพราะในอนาคตนี้ เราทุกคนมีโอกาสที่จะล้มได้บ่อยขึ้นมากๆ หากแต่เรามีทักษะการฟื้นฟูตัวนี้ เราก็จะสามารถลุกขึ้นมายืนได้เอง และยังกล้าที่จะลุยต่อไป ไม่ติดใจ ไม่เสียใจ จนเลิกไปกลางทาง
  4. การพิจารณาไตร่ตรองตนเอง (Metacognition) เป็นการพิจารณาตนเอง ไตร่ตรองและประเมินวิธ๊การของตนเอง หรือ วิมังสา

การสร้างความเป็นเจ้าของความรู้ ให้กับผู้เรียน จึงต้องวางแผนและเตรียมปัจจัยทุกวิธีทาง ให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกตั้งแต่ง่ายๆสุด คือ "ชอบ" แล้ววงล้อแห่งการเรียนรู้ก็จะเริ่มหมุนไปตามปัจจัยส่งเสริมเหล่านั้น


แล้วคณิตศาสตร์ มันเป็นยาขมชัดๆ...


แน่นอนว่า ครูสอนเลข ก็ต้องหยิบความชอบเลขของตนเอง มาแยกส่วน หาความสวยงามจากคณิตศาสตร์ และนำความสวยงามเล็กๆน้อยๆเหล่านั้นหยิบยื่นมาสู่ผู้เรียน เพื่อให้เด็กที่ไม่ชอบเลขเลย ยังสามารถรู้สึกดีกับเลขได้บ้าง...แม้จะเป็นครั้งคราว

เริ่มต้นจึงควรทำให้ผู้เรียนรู้สึกดี กับคณิตศาสตร์ ในแต่ละคาบ (อย่าทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ จนไปถึงเกลียดคณิตศาสตร์)

เกือบทุกคาบที่นี่ เราจึงนำคณิตศาสตร์มาสอดแทรกลงในกิจกรรม การละเล่นต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนคุ้นเคย ไม่รู้สึกว่าเลขเป็นเรื่องไกลตัว หรือรู้สึกว่า เลขเป็นเรื่องที่เรียนไปก็ไม่ได้ใช้หรอก

ยกตัวอย่างในคาบแรก ของประถม 6 เราเรียนเรื่องการจัดเรียงลำดับ และการจัดกลุ่ม

เราจึงจัดกิจกรรมวิ่งเปรี้ยว ทีมละ 5 คน เพื่อให้เด็กทดลองจัดเรียงลำดับการวิ่งของตนเองและเพื่อนๆในทีม ดูว่าเราสามารถจัดเรียงทีม 5 คนของเราได้กี่วิธีบ้าง

ส่วนในเรื่องการจัดกลุ่ม เราจะให้เด็กเลือกลูกอมรสต่างๆ 2 รส จากทั้งหมด 5 รส แล้วท้าทายว่าเด็กๆสามารถเลือกลูกอมได้ทีละ 2 รส ได้ทั้งหมดกี่แบบ ใครเลือกเสร็จ มารับลูกอมเป็นของรางวัล

แหม...แจกกันขนาดนี้ ต้องชอบคณิตศาสตร์กันบ้างล่ะน่า


หมายเลขบันทึก: 596642เขียนเมื่อ 24 ตุลาคม 2015 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2015 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท