​จิตตปัญญาเวชศึกษา ๒๓๕: การแจ้งข่าวร้าย การบอกความจริง (Part I)


การเรียนแพทย์จะมีชั่วโมงเวชจริยศาสตร์ (Medical Ethics) อยู่ตลอดหลักสูตร หนึ่งในหัวข้อนั้นคือ การแจ้งข่าวร้าย (Breaking bad news) และการบอกความจริง (Telling the Truth) ซึ่งดูเผินๆ เหมือนกับไม่มีอะไร ทำไมต้องมาอยู่ในหัวข้อจริยศาสตร์ จริยธรรมอะไรด้วยล่ะ? แต่เมื่อไรก็ตามที่เราทำงานกับมนุษย์ ซึ่งมีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด สิ่งที่มีผลกระทบต่อตัวตนจากการกระทำ (และการไม่กระทำ) จะมีระลอกไปกระทบต่อความสุข/ทุกข์ของคน ของครอบครัว ของชุมชน และของสังคมไปด้วยเสมอ ตรงนี้ "จริยธรรม" "คุณธรรม" จึงต้องเข้ามา

ข่าวร้ายทางการแพทย์มีความแตกต่างจากข่าวร้ายในสาขาอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งที่ทุกๆคนรู้สึก "ใกล้ชิด" มากที่สุด คือร่างกายของเรา ความรู้สึกของเรา อันเป็นต้นกำเนิดของ "ชีวิตที่มีความสุข" คือ การมี การเป็น และการสามารถทำอะไรต่อมิอะไรได้ (I have, I am and I can) ในขณะที่ข่าวร้ายวงการอื่นๆ เช่น หุ้นตก รถติด คิดเลขไม่ออก ลอกเพื่อนไม่ได้ ฯลฯ อาจจะทำให้ชีวิตขาดความสะดวกสบายไประยะหนึ่ง แต่ข่าวร้ายทางการแพทย์ การเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นมะเร็ง เป็นคนพิการ เรื่องเหล่านี้จะเข้าไปเปลี่ยนความหมายของสุขภาวะกำเนิด (ฉันมี ฉันเป็น ฉันสามารถ) โดยตรง บางอย่างก็ชั่วคราว บางอย่างก็อย่างถาวร

ถ้ามันร้ายมากก็ไม่บอกได้ไหม?

การรับข่าวร้ายโดยไม่ทันเตรียมตัว ก็จะทำให้ชีวิตเสียกระบวนไป เรากำลัง "เล่า" ชีวิตที่ปกติของเราอย่างนี้ดีๆ หมอมาจากไหนก็ไม่ทราบมา "ป่วนเรื่องเล่า" ของเราให้เสียหายกระเจิดกระเจิงไปหมด บางทีมาป่วนแล้วก็เล่าต่อไปไม่ออก เล่าต่อไปมันตัน มันอึดอัดขัดข้องใจ ปัจจัยเดิมๆที่เคยเชื่อมโยงกัน เสริมกัน ประคองกัน มาพังทลายเพราะเรื่องใหม่ เพราะกระบวนใหม่ ขอไม่รู้เรื่องก็แล้วกัน จะได้ยังคงเล่าเรื่องเดิมต่อไปได้ ชีวิตมันน่าจะโอเคกว่ากันเยอะเลย ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ว่าจะเกิดขึ้น แต่ก็ยังมีปัญหาอีกประการหนึ่งอยู่ดี

คือจะเล่า หรือไม่เล่า จะบอก/ไม่บอก แต่ผลของข่าวร้ายนั้นๆจะกระทบกับชีวิตแน่ๆ เพราะมันดำเนินต่อไปไม่ว่าคนที่เป็นจะทราบหรือไม่ก็ตาม ประเด็นอยู่ที่ว่าแม้ว่าเราจะหวังให้ชีวิตเราราบรื่นเพียงไร ก็ไม่มีเหตุผลใดๆจะไม่ตระเตรียมการไว้ "ถ้ามันเกิดไม่ราบรื่น" (We may hope for the best, but we also should prepare for the worse) ถ้าเราไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเป็นอะไร เราจะมีผลกระทบอะไรต่อไป ฯลฯ พอมันเกิดขึ้นมาจริงๆ คราวนี้แหละที่จะยากกว่าเดิมเป็นทวีคูณ บางทีมองไม่ได้เลยทีเดียวว่าผลเลวร้ายที่เกิดขึ้นจากการได้ยินข่าวร้าย กับการที่ไม่ทราบข่าวร้ายและชีวิตมันหักเหไปจากข่าวร้ายนั้นในที่สุด แบบไหนจะดีกว่ากัน

ประเภทหนึ่งก็จะบอกว่า ไม่ต้องรู้มันหรอก มันอาจจะไม่มีอะไร ตอนนี้ขออยู่ไปแบบไม่รู้นี่แหละ จำเป็นจริงๆค่อยบอก จะได้มีเวลาอยู่กับ "ข่าวดี" (คือไม่รู้ข่าวร้าย) ได้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้

ประเภทหนึ่งก็อาจจะบอกว่า บอกๆมาเถอะ มันต้องผิดปกติอะไรแน่ๆ จะได้รู้แล้วรู้รอดกันไปว่าเป็นอะไรกันแน่

แต่ละคนไม่เหมือนกัน เดายากมากว่าใครเป็นแบบไหน ถ้าเดาก็ต้องถามตัวเองว่า เราจะเดาถูกหรือเดาผิดมากกว่ากัน และเพราะอะไร? ลองถามตัวเองดูก็ได้ นึกถึงคนที่เรารู้จักดีที่สุดสักคนหนึ่งขึ้นมาในใจ ถามตัวเองว่า เรารู้ไหมว่าไอ้คนนี้น่ะ เค้ารับรู้ข่าวร้ายแล้วจะคิดยังไง รู้สึกยังไง และจะทำไงต่อ หรือนึกอีกทีก็ได้ว่า ใครที่เราคิดว่าเรารู้จักดีที่สุด แล้วถามตัวเองต่อไปว่า ใครคนนั้นจะทราบไหมว่าถ้าเรารับข่าวร้าย เราจะคิดยังไง รู้สึกยังไง และอยากจะทำยังไงต่อ ถ้าเราไม่มั่นใจในคำตอบทั้งสองข้อ ก็ขอให้ระวังให้ดี "ก่อนที่จะไปเดาคำตอบของใครก็ไม่รู้ ที่เราไม่เคยรู้จักเขามาก่อนเลย"

ไม่ว่าจะแบบไหนก็ตาม มันอาจจะพลิกโผ พลิกผล ไปในทางที่คาดไม่ถึงทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราจะต้อง "เตรียมตัวให้ดี" เพื่อจะให้โผมันไม่พลิกขนาดคว่ำกระดาน เอาพอแก้ไขได้ พอประคองต่อไปได้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

คนบางคนก็เปรียบเทียบว่า "ถ้าชีวิตเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง มีหลายบท หลายตอน เวลาหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคนั้นโรคนี้ ไม่ได้เพียงแค่ทำการวินิจฉัยนะ แต่หมอน่ะกำลังเริ่มต้นเขียน "บทใหม่" ลงไปในหนังสือชีวิตเล่มนี้ เป็นบทที่ไม่ได้เชื้อเชิญ เป็นบทที่ไม่อยากจะได้ ไม่อยากจะอ่านต่อ ไม่อยากจะเขียนต่อ ดังนั้นถ้าไหนๆหมอจะเขียนให้ได้แล้ว สิ่งเดียวที่ขจะขอร้องก็คือ --กรุณาเขียนให้มันดีๆหน่อยนะ ช่วยเมตตาด้วยเถอะ--"

การบอกข่าวร้ายจะมีเรื่องราวตามมาเยอะ หลายๆเรื่องเต็มไปด้วยความทุกข์ หลายเรื่องก็สุดจะทนทาน และครั้งสำคัญที่สุดก็คือครั้งแรกนี่แหละที่จะบอกได้ครั้งเดียวให้ดีที่สุด ไม่มีเวลาซ้อม ไม่มีเวลาจะฝึก ดังนั้นคนที่จะแจ้งข่าวร้าย ควรจะเป็นคนที่เก่งที่สุด เหมาะสมที่สุด อย่าให้เด็กเมื่อวานซืน ไม่รู้เห็นผลกระทบของเรื่องราวที่กำลังจะทำเป็นคนบอก อย่าเอาคนไข้และญาติมาเป็นเครื่องมือฝึกฝนเด็ดขาด เรื่องที่ร้ายประมาณนี้ ให้นักเรียนเรียนด้วยการสังเกตจะดีที่สุด

บอกยังไงเอาไว้ต่อภาคสอง

น.พ.สกล สิงหะ
บ้านพักแพทย์ พ.๓๑ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
วันศุกร์ที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๙ นาฬิกา ๒๔ นาที
วันขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 596283เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2015 21:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ตุลาคม 2015 21:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท