ควรผลิตแพทย์แบบเดียวหรือหลายแบบ



การประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ระหว่างวันที่ ๑๔ - ๑๖ กันยายน ๒๕๕๘ น่าจะมีประเด็นร้อนที่สุดคือ ควรผลิตแพทย์แบบเดียว (single track) อย่างที่ทำอยู่ในปัจจุบัน หรือควรผลิตหลาย track ซึ่งในเอกสารประชาพิจารณ์ (ที่นี่) ระบุไว้ ๓ แบบ คือ (๑) เน้นไปทำงานในระบบบริบาลปฐมภูมิ (๒) เน้นเพื่อฝึกอบรมต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง (๓) เน้นไปเป็นนักวิจัย

ตอนผมไปร่วมประชุม พอเอ่ยเรื่องการผลิตแพทย์ ๓ track ก็มีผู้ท้วงทันที ว่าไม่ใช่ การผลิตแพทย์ตามที่ พูดกัน ยังมีสมรรถนะพื้นฐานเหมือนกัน เป็นแพทย์ประเภทเดียวกัน เป็นเพียงมีสมรรถนะเสริมที่แตกต่างกัน ๓ แบบ

ไม่ว่าจะมองอย่างไร การผลิตแพทย์ในประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิม จะมีความแตกต่างหลากหลาย มากขึ้น เพื่อวางพื้นฐานการทำงานในต่างหน้าที่ ต่างบริบท แต่ละหน้าที่ต่างก็มีความสำคัญ และสามารถเป็น “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้ทั้งสิ้น

องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้หลายปีแล้ว ว่าน่าจะพิจารณาการผลิตแพทย์ที่มีสมรรถนะบางประเภท แตกต่างกัน สำหรับไปทำงานในต่างบริบท โดยมีเป้าหมายเพื่อการกระจายแพทย์ ไปทำงานในพื้นที่ห่างไกล และเพื่อมีแพทย์ไปทำงานด้านการวิจัย ไม่ใช่มุ่งเป็นแพทย์ทางคลินิกเฉพาะทางเท่านั้น

เอกสารประกอบการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ “มีจุดมุ่งหมายหลักที่จะปรับเปลี่ยนการศึกษาแพทยศาสตร์เพื่อนำไปสู่การผลิตแพทย์สู่สังคมแห่งความ หลากหลาย (Transforming Medical Education for Diverse Society)” ก็บอกเจตนารมณ์ชัดเจน ว่าหลักสูตรแพทยศาสตร์ต้องมีความหลากหลาย

การประชุมนี้มีการเตรียมการมาก มีคณะกรรมการวิชาการชุดที่ ๑ วิเคราะห์ความหลากหลายของ ระบบสุขภาพ ชุดที่ ๒ วิเคราะห์ความหลากหลายของสถาบันผลิตแพทย์ ชุดที่ ๓ ศึกษาเรื่องแพทย์สำหรับ ชุมชน ชุดที่ ๔ ศึกษาเรื่องแพทย์สำหรับงานวิชาการและวิจัย ชุดที่ ๕ เรื่องแพทย์สำหรับการบริบาลระดับ ก้าวหน้า อ่านรายงานแล้วเห็นแนวโน้มที่จะผลิตแพทย์ที่มีความหลากหลาย

มีตัวอย่างการผลิตแพทย์แนวพิเศษ จำนวนน้อย ที่ทำอยู่แล้วในหลายโรงเรียนแพทย์ เช่นโครงการ เพชรชมพู ของจุฬาฯ โครงการ PhD – MD ของมหาวิทยาลัยมหิดล โครงการนวเมธีของศิริราช

ตัวอย่างในต่างประเทศมีมากมาย ที่น่าสนใจที่สุดสำหรับผมคือของ The Leiden Medical School ใช้วิธีจัด Extra Track แก่นักศึกษาจำนวนน้อย ที่มีความถนัด ชอบ และต้องการเตรียมตนเองไปทำงานเฉพาะ เช่น The Excellence Track สำหรับไปเป็นนักวิจัย โดยใช้เวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๐ จากหลักสูตรปกติ ในการทำวิจัย ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษา, The Epidemiology Track สำหรับไปเป็นนักวิจัยคลินิกและระบาดวิทยา โดยเข้าเรียนรายวิชาระบาดวิทยา ๑๒ สัปดาห์เพิ่มจากหลักสูตรปกติ หรืออาจทำปริญญาโทด้านระบาด วิทยาคลินิกควบคู่ไปกับการเรียนแพทย์, Biomedical Science Track คล้ายๆ ระบาดวิทยา แต่เรียนด้าน วิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เพื่อออกไปเป็นนักวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน

ในสหรัฐอเมริกา มีหลักสูตร Joint Degree มากมายและหวือหวา เช่น MD – MPH, MD – JD (ร่วมกับคณะนิติศาสตร์), MD – MBA (ร่วมกับคณะวิทยาการจัดการ), MD – M. Div(ร่วมกับคณะเทววิทยา)

สรุปได้ว่า การศึกษาแพทยศาสตร์ไทยมีความหลากหลายเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่การสอบกลางที่จัดโดย กสพท. จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ ต้องรอดูต่อไปอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีความแตกต่างหลากหลายเพียงใด การศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศไทยมีเกณฑ์ขั้นต่ำของแพทยสภากำกับอยู่ คนที่จะได้รับใบรับรองวิชาชีพ เวชกรรมต้องผ่านการสอบที่แสดงว่าผ่านมาตรฐานขั้นต่ำนี้

ในการประชุมช่วงเช้าวันที่ ๑๕ กันยายน ระหว่างนั่งฟังการนำเสนอและอภิปรายประเด็นที่ ๓ การผลิตแพทย์เพื่อให้มีความสามารถในการให้การบริบาลทางการแพทย์ในระดับปฐมภูมิ ทั้งในชนบท และในเขตเมือง ทำให้ผมเข้าใจว่า บริบาลระดับปฐมภูมิไม่ใช่บริบาลโดยแพทย์ทั่วไปล้วนๆ ต้องเชื่อมโยงกับบริบาลโดยแพทย์เฉพาะทางด้วย หรือกล่าวในมุมกลับว่า บริบาลระดับปฐมภูมิจะมี คุณภาพแท้จริง ต้องการการสนับสนุนจากแพทย์เฉพาะทางด้วย

มุมมองต่อระบบบริบาลสุขภาพ และต่อระบบวิชาชีพ เป็นระบบที่ซับซ้อนยิ่ง มองแยกส่วน จะได้ภาพที่ไม่สมจริง ทำงานแบบแยกส่วน ก็จะไม่ได้ระบบบริบาลที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

ท่านที่สนใจเอกสารประเมินสถานภาพการศึกษาแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ดูได้ ที่ http://www1.si.mahidol.ac.th/education/si/index.php/using-article/extensions/components/content-component/article-categories/77-icon-size-100x70/512-ประชาพิจารณ์-ร่าง-ข้อเสนอแนะของการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ-ครั้งที่-9.html


วิจารณ์ พานิช

๑๕ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 596229เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 07:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2015 07:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท