ความสุขจากการเห็นศิษย์มีชีวิตที่ดี มีคุณประโยชน์ต่อสังคม



บทความต่อไปนี้ คงจะเป็นหนึ่งในอีกหลายๆ เรื่องราว ที่คนเป็นครูเก่า(แก่) อย่างผมมีความสุข เมื่อได้รับทราบเรื่องราว


41 ปี ชีวิตศิษย์เก่าแพทย์ มอ. :

ปฐมบทของวารสารเล่มแรก, ข่าวคณะแพทย์ฉบับศิษย์เก่า และสมาคมศิษย์เก่า

ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์

เกริ่นนำ


ผมเป็นศิษย์เก่าแพทย์ มอ.รุ่น 2 แต่เป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. เปิดรับสมัครคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยจากส่วนกลาง เนื่องจากศิษย์เก่ารุ่นหนึ่งนั้น จะคัดเลือกจากนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ที่มีผลการเรียนดี ในช่วงปีการศึกษา 2517 นั้น ทางมหาวิทยาลัยมหิดลจะไม่เปิดรับนักศึกษาแพทย์ให้เข้าคณะแพทยศาสตรศิริราชพยาบาล หรือคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยตรง แต่ทุกคนจะเรียนรวมกันก่อนในสองปีแรกกับนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงจะคัดเลือกโดยอาศัยทั้งผลการศึกษา และการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสังคมว่าใครสมควรจะได้เรียนในคณะแพทยศาสตร์ ทำให้มีนักศึกษาปี 1 ปี 2 จากมหาวิทยาลัยมหิดลจำนวนหนึ่งสมัครเอนทรานซ์ใหม่ เพื่อมาเข้าคณะแพทยศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่เปิดรับเป็นนักศึกษาแพทย์ตั้งแต่ปีแรก เช่น คณะแพทยศาสตร์ มอ. เป็นต้น ศิษย์เก่า แพทย์ มอ.รุ่น 2 จึงประกอบด้วย นักศึกษาชั้นปีต่าง ๆ จากคณะและมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งนักเรียนที่เพิ่งจบชั้น มศ.5 มาหมาด ๆ อย่างผมด้วย แต่เมื่อมาเรียนรวมกันแล้วพวกเราก็เป็นเพื่อน นศพ. มอ.ด้วยกัน และเพื่อนที่อาวุโสกว่า 1-3 ปี ก็ไม่ยอมให้ผมและเพื่อน ๆ เรียกว่า พี่ ยกเว้นที่อาวุโสมาก ๆ เช่น อดีตนักศึกษาและอดีตนักร้องวงดาวกระจุยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อย่าง นศพ.ประหยัด เล็กวิไล ที่ทุกคนพร้อมใจกันเรียกว่า “พี่หยัด” และพี่หยัดเองก็ไม่ขัดข้องแต่ประการใด

ถ้านับจากปีการศึกษา 2517 จนถึงปีการศึกษา 2558 ก็เป็นเวลา 41 ปีแล้ว นับเป็น 41 ปีของชีวิตที่ผมได้ผูกพันอยู่กับคณะแพทยศาสตร์ มอ. ในหลายบทบาท ทั้งในฐานะนักศึกษาแพทย์ อาจารย์แพทย์ ผู้บริหารคณะแพทย์ (ที่ปรึกษาคณบดีด้านการจัดการความรู้ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาบุคลากร ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ อุปนายกสมาคมศิษย์เก่า และอื่น ๆ ฯลฯ) แต่เรื่องที่จะเล่าให้ฟังในวันนี้เป็นเรื่องปีแรกของชีวิตที่ผมเข้ามาเป็นนักศึกษาแพทย์ และช่วง 3-4 ปีแรกของชีวิตที่ผมเริ่มทำงานเป็นอาจารย์แพทย์


คณะแพทย์ มอ. เมื่อ 41 ปีที่แล้ว

ยุคหลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นยุคที่ขบวนการนักศึกษาเบ่งบาน นักศึกษาส่วนใหญ่จะเป็นนักกิจกรรม ทำกิจกรรมและเข้าชมรมที่ตัวเองชอบและถนัด ในปี 2517 พี่ศิริศักดิ์ หวังธรรมมิ่ง จากคณะวิทยาศาสตร์ และพี่ นศพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ กับ พี่ นศพ.สำรวย (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นเพ็ญนภา) ทรัพย์เจริญ ได้รวมตัวกับนักศึกษากลุ่มหนึ่งก่อตั้ง ชุมนุมวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ และ คณะแพทยศาสตร์ ขึ้นเรียกย่อ ๆ ว่า ชวพ. ผลงานสำคัญชิ้นแรกของ ชวพ. คือ การช่วยกันแปลตำรา Biology ของ Keaton เป็นภาษาไทย พิมพ์โรเนียวด้วยกระดาษ A4 เย็บด้านข้างพิมพ์ปกสีขาวส้ม ในยุคนั้น นศพ.ของ มอ. คนไหนไม่เดินถือ Keaton ฉบับภาษาไทยของ ชวพ. จะถือว่าเชยมาก

ขณะเดียวกัน พี่ศิริศักดิ์ หวังธรรมมิ่ง ที่เรียนอยู่ชั้นปี 4 คณะวิทยาศาสตร์ ก็ได้จัดทำวารสารฉบับแรกของ ชวพ. ขึ้นชื่อว่า Pure and Applied Science เมื่อวารสารออกมาได้ 1 ฉบับ พี่ศิริศักดิ์ก็จบการศึกษา และได้ฝากให้ทางคณะกรรมการของ ชวพ. ชุดใหม่รับไปดำเนินการต่อ พี่ นศพ.สำรวย ทรัพย์เจริญ ที่รับมรดกเรื่องวารสารนี้มาจากพี่ศิริศักดิ์ จึงทาบทามผมให้มาเป็นบรรณาธิการของวารสารนี้แทน เพราะพี่สำรวยมีกิจกรรมอื่นมาก คือ ไปช่วยงานในสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัยด้วย ผมเองซึ่งชอบงานด้านวิชาการอยู่แล้ว จึงรับคำเชิญพี่สำรวยด้วยความเต็มใจ


ปฐมบทของวารสารเล่มแรกของคณะ : วารสารตะวัน

เมื่อผมถูกมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการ จึงได้เรียกทีมงานมาประชุมกัน แล้วเห็นว่า หากจะจัดทำวารสารเป็นแบบ Pure and Applied Science เหมือนกับฉบับแรก จะเป็นวารสารสำหรับนักวิชาการเท่านั้น แต่จะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มนักอ่านจำนวนมาก (mass readers) ได้ จึงมากำหนดกลุ่มเป้าหมายกันใหม่ สรุปได้ว่า เราจะจัดทำให้เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กับนักศึกษาปี 1 – ปี 2 เป็นหลัก เนื้อหาจึงน่าจะอ่านเข้าใจง่ายกว่าเดิม ชื่อวารสารก็น่าจะเป็นภาษาไทย ในที่สุดก็มาลงตัวกับคำว่า วารสารตะวัน หน้าปกของวารสารตะวันฉบับแรก จึงเป็นปกสีเหลือง พิมพ์เป็นรูปพระอาทิตย์ดวงโต ที่ส่องแสงจ้าอยู่บนท้องฟ้า พิมพ์คำว่า วารสารตะวันตัวใหญ่ด้วยสีแดง และใต้คำว่าวารสารตะวัน มีข้อความว่า ร้อนแรงด้วยแสงวิชาการ

เนื้อหาในวารสารฉบับแรก เท่าที่ผมจำได้จะมีบทความของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช (ขณะนั้นอาจารย์ยังไม่ได้เป็น ศ.) เรื่อง “เมื่อผมเรียนหมอ” เล่าเรื่องชีวิตอาจารย์สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ศิริราช โดยอาจารย์ทยอยเขียนมาตีพิมพ์ในวารสารตะวันเป็นตอน ๆ และเป็นบทความที่มีคนมารออ่านต้นฉบับที่ผม ก่อนจะตีพิมพ์เสียอีก หนึ่งในแฟนคลับที่มาขออ่านก่อนคือ นศพ.สมบัติ ตันโชติกุล เพื่อนแพทย์ มอ. รุ่น 2 ด้วยกันนั่นเอง

อีกบทความหนึ่งที่เขียนเป็น series ตีพิมพ์เป็นตอน ๆ คือ บทความแปลของพี่ นศพ.ธเนศ เปี่ยมสุคนธ์ ที่แปลชุดบทความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายของมนุษย์ จากหนังสือชื่อ อวัยวะของโจ โดยบทความทีตีพิมพ์ในวารสารตะวันฉบับแรก ถ้าผมจำไม่ผิดคือเรื่องปอดของโจ

และอีกบทความหนึ่งที่ผมจำได้แม่น คือ บทความของผมเองครับ เนื่องจากยุคนั้น นวนิยายวิทยาศาสตร์ที่แปลจากไอแซค อาซิมอฟ จะดังมาก มีพิมพ์ขายออกมาหลายเล่ม ผมไปเดินหาซื้อหนังสือของไอแซค อาซิมอฟ ที่ยังไม่เคยมีใครหยิบเอามาแปล (สมัยนั้นยังไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์) จำได้ว่าไปซื้อหนังสือเล่มนี้ จากห้างเซ็นทรัลซึ่งเดิมอยู่ที่วังบูรพาแต่เพิ่งมาเปิดสาขาใหม่ที่ถนนสีลมใกล้กับถนนมเหสักข์ และเป็นห้างที่หรูที่สุดของกรุงเทพฯ ยุคนั้น หนังสือเล่มนี้จะรวมเรื่องสั้นของไอแซค อาซิมอฟไว้หลายเรื่อง ผมเลือกแปลเรื่อง The Magnificent Gold และตั้งชื่อไทยว่า ทองเทียม

นอกจากบทความข้างต้นแล้ว ผมจำได้ว่ามีบทความของอาจารย์ชัยวิทย์ ศิลาวัชนานัย จาก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ และมีบทความของอาจารย์ท่านอื่น ๆ อีก 1 หรือ 2 บทความ น่าเสียดายที่วารสารตะวันฉบับแรกนี้ไม่ได้เก็บไว้เลย เพราะพิมพ์ออกมา 1000 เล่ม ขายหมดเกลี้ยง ! รู้สึกว่าจะขายเล่มละ 8 บาทเท่านั้น เนื่องจากสมัยนั้นค่าครองชีพยังถูก แม้แต่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ-เดลินิวส์ก็ขายอยู่ฉบับละ 1 บาท หรือ 1.50 บาท ก่อนจะทยอยปรับราคามาเรื่อย ๆ จนเป็น 10 บาทในปัจจุบัน

ผมใช้เวลาช่วงปิดเทอมของชีวิตนักศึกษาแพทย์ปีที่ 1 ด้วยการไปเดินหาสปอนเซอร์ให้วารสารในกรุงเทพฯ บริษัทที่ใจดีมากคือ หจก.รัชมอร์ ซึ่งขายกล้องจุลทรรศน์ให้กับคณะแพทย์ ผู้จัดการของบริษัทเป็นเพื่อนกับ อ.วิจารณ์ พานิช มอบเงินใส่ซองสนับสนุนค่าจัดพิมพ์ให้ทันที แต่คนที่ขอยากที่สุดคือเจ้าของร้านหนังสือดวงกมล ที่สยามสแควร์ ผมเดินเข้าไปแนะนำตัวเอง นำจดหมายของชุมนุมวิชาการที่ขอความอนุเคราะห์ไปยื่นให้ ท่านพูดปฏิเสธผมเสียงดังจนลูกค้าในร้านหนังสือหันมามองผมเป็นแถว

ช่วงนั้น ผมใช้เวลาช่วงกลางวันไปนั่ง ๆ เดิน ๆ อยู่ที่บพิธการพิมพ์ ซึ่งเป็นโรงพิมพ์ให้วารสารตะวัน เฝ้ารออยู่ว่าเมื่อไหร่จึงจะถึงคิวพิมพ์วารสารของเราสักที ประสบการณ์ในการทำวารสารที่ลงมือทำทุกอย่างตั้งแต่เขียนเรื่องเอง (แปลเรื่องทองเทียม) ติดต่ออาจารย์ พี่ ๆ ขอให้ช่วยเขียนบทความมาลง เดินหาสปอนเซอร์ ติดต่อโรงพิมพ์ และอ่านตรวจพิสูจน์อักษร เป็นประสบการณ์ที่มีค่า ผมยังจำความรู้สึกของตัวเองได้ว่า พลิกอ่านวารสารที่ออกจากแป้นพิมพ์ฉบับแรกด้วยความชื่นใจเป็นที่สุด และจากนั้นก็เป็นขั้นตอนสุดท้ายคือการนำทีมนักศึกษาออกไปขายวารสารตะวัน

เราเลือกเปิดขายวารสารในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน 2518 โดยขายทั้งรุ่นพี่ รุ่นน้อง รุ่นเดียวกัน ใน มอ.ก่อน จากนั้นจึงติดต่อขอรถบัสของคณะ ไปขายที่วิทยาลัยครูและวิทยาลัยประสานมิตร จังหวัดสงขลา (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยทักษิณ) จนขายได้หมดเกลี้ยง หลังจากนั้น ผมได้จัดทำวารสารตะวันต่อมาอีกสองฉบับคือ ฉบับที่ 2 และ 3 ก่อนที่ผมจะหมดวาระ

แม้ว่าตะวันจะไม่ได้เป็นวารสารแบบ medical journal อย่างเป็นทางการ ไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะแพทยศาสตร์โดยตรง และไม่ได้มีคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ มอ. เป็นกองบรรณาธิการ แต่วารสารตะวันซึ่งจัดทำโดยนักศึกษาแพทย์ในขณะนั้นก็เป็นวารสารฉบับแรกที่ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักชื่อของคณะแพทยศาสตร์ มอ. ผ่านทางชุมนุมวิชาการ (ชวพ.) และสำหรับผมแล้วประสบการณ์ในการได้จัดทำวารสารเล่มแรกให้กับคณะในนามของ ชวพ.นั้น ได้ให้บทเรียนที่คุ้มค่ากับผมเป็นอย่างยิ่ง เป็นตำรานอกห้องเรียนที่หาจากไหนไม่ได้ เป็นพื้นฐานให้กับชีวิตการทำงานของผมต่อมาในอนาคต เมื่อได้มาเป็นบรรณาธิการรองของสงขลานครินทร์เวชสาร และต่อมาได้เป็นบรรณาธิการของวารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จนปัจจุบันได้เป็นกองบรรณาธิการ, international advisory board, reviewer ให้กับวารสารต่างประเทศมากกว่า 10 เล่ม คณะแพทยศาสตร์แห่งนี้ได้ให้โอกาส, ได้ให้บทเรียน, ได้ให้ประสบการณ์ที่เลอค่า ซึ่งผมคงหาไม่ได้จากที่อื่น หากไม่ได้เข้าเรียนที่นี่

ชีวิตผมผูกพันกับคณะแพทยศาสตร์ มอ.เกือบ 40 ปี เมื่อเรียนจบปีที่ 6 แล้ว ได้ไปเป็นแพทย์ intern ที่โรงพยาบาลส่วนกลางในกรุงเทพฯ อยู่ 1 ปี และเป็นแพทย์ประจำบ้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา) อีก 3 ปี จากนั้นก็กลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. มาโดยตลอด แต่คราวนี้เป็นชีวิตของอาจารย์แพทย์ มอ.แทน


คณะแพทยศาสตร์ มอ. ใน 30 ปีที่แล้ว : เมื่อศิษย์เก่าได้เข้าร่วมทีมบริหารเป็นครั้งแรก

เช้าวันที่ 2 ธันวาคม 2528 เจ้าหน้าที่ธุรการของภาควิชาจิตเวชศาสตร์แจ้งผมว่า คณบดีคนใหม่ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) เรียกผมไปพบ ผมถามว่าเรื่องอะไรพอทราบไหม เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ทราบเหมือนกัน เมื่อไปถึง อาจารย์วิจารณ์ได้พูดกับผมว่า “อยากให้พิเชฐ มาช่วยมยุรี (หมายถึง ผศ.พญ.มยุรี วศินานุกร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ)” ความรู้สึกของผมในขณะนั้นคือตกใจมาก ! เพราะรู้สึกว่า ตัวเองเพิ่งมาเป็นอาจารย์ใหม่อยู่หมาด ๆ แม้ผมจะได้รับการบรรจุเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2525 แต่กว่าจะสอบวุฒิบัตรเสร็จสิ้น และกลับมาปฏิบัติงานที่คณะแพทยศาสตร์ มอ. ก็เมื่อกรกฎาคม 2527 แล้ว แต่ในช่วงระหว่างปี 2557-2558 นั้น ผมถูกทาบทามให้ไปร่วมทีมกับ อ.ปิติ (ผศ.ดร.ปิติ ทฤษฎิคุณ) และ อ.ช่อลดา พันธุเสนา ในการเป็นวิทยากร ปฐมนิเทศอาจารย์ใหม่ และสอน micro-teaching ให้กับอาจารย์ใหม่ของมหาวิทยาลัยอยู่หลายกลุ่ม ผมจำไม่ได้ว่าตอบอาจารย์วิจารณ์ไปอย่างไรบ้าง แต่ช่วงแรกคงตอบแบบแบ่งรับ แบ่งสู้ เพราะอีกใจหนึ่งก็คิดว่า อาจารย์วิจารณ์อาจเห็นศักยภาพ (hidden potential) บางอย่างของผม “จะให้พิเชฐ มาช่วยเรื่อง Med Ed (Medical Education – แพทยศาสตรศึกษา) เห็นอาจารย์เมืองทองชมพิเชฐอยู่ ตอนมาเข้า workshop ของคณะ”“อีกเรื่องคือ ศิษย์เก่า เพราะตอนนี้คณะก็ผลิตศิษย์เก่าไปหลายรุ่นแล้ว เดี๋ยวเรื่องนี้ไว้ค่อยคุยกันคราวหลังแล้วกัน ว่าแต่พิเชฐสนใจจะไปประชุมผู้บริหารคณะแพทย์ส่วนภูมิภาคที่ขอนแก่นอาทิตย์นี้ด้วยหรือเปล่า ถ้าจะไปด้วยกันก็ให้รีบแจ้งนะ”

นับว่า ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช เป็นคณบดีคนแรกของคณะแพทยศาสตร์ มอ.ที่ได้แต่งตั้งศิษย์เก่าให้เข้าร่วมทีมบริหารคณะแพทย์ด้วย โดยมีผมเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และต่อมาก็มีคำสั่งคณะแต่งตั้ง นพ.สมชาย จันทร์สว่าง หรือชื่อที่เพื่อน ๆ เรียกกันว่า “ช้าง” เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษด้วย ทั้งผมและช้างต่างก็เป็นศิษย์เก่าแพทย์ มอ.รุ่น 2 ด้วยกันทั้งคู่ จึงกลายเป็นว่าศิษย์เก่าแพทย์ มอ.รุ่น 2 คือ ศิษย์เก่ารุ่นแรกที่ได้เข้ามาร่วมทีมบริหารคณะแพทย์ มอ. ส่วนพี่ตันหรือ ศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง ศิษย์เก่าแพทย์ มอ. รุ่น 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองคณบดีฝ่ายวิจัย ในสมัยที่ รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ เป็นคณบดี


จาก P.O.T. สู่ Lateral thinking

สุดท้าย ผมก็ตกลงรับคำชวนจากท่านคณบดี ที่จะร่วมเดินทางไปประชุมผู้บริหารคณะแพทยศาสตร์ส่วนภูมิภาคที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นการเดินทางที่ผมไม่มีวันลืม เพราะเป็นการขึ้นเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต (ขณะนั้นคือ บดท – บริษัทเดินอากาศไทย ซึ่งบินภายในประเทศ ก่อนจะถูกการบินไทย ควบรวมในภายหลัง) ท่าทางที่ดูตื่นเต้นมากของผมคงทำให้อาจารย์อุดม (ผศ.นพ.อุดม ชมชาญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ในขณะนั้น) ดูออก อาจารย์อุดมจึงเอ่ยปากกับผมว่า “ยูมานั่งสลับเก้าอี้กันไหม ยูจะได้มานั่งติดหน้าต่างแทนผม” ผมจึงได้ย้ายไปนั่งดูก้อนเมฆกับท้องฟ้าอย่างใกล้ชิด ยิ่งดูก็ยิ่งรู้สึกว่า ตัวเราช่างเล็กเหลือเกิน เมื่อเทียบกับท้องฟ้านภากาศ และพื้นพสุธาที่กว้างใหญ่

การเดินทางไปประชุมครั้งนั้น นอกจากอาจารย์วิจารณ์และอาจารย์อุดมแล้วก็ยังมี รศ.นพ.จงดี สุขถมยา อดีตทีมบริหารของคณะเดินทางร่วมไปด้วย แต่สิ่งที่ผมและผู้เข้าร่วมประชุมทุกคน ทึ่งมากก็คือการบรรยายของอาจารย์วิจารณ์ในที่ประชุม อาจารย์ได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนการสอนในวงการแพทย์เสียใหม่เป็นการสอนที่เรียกว่าเน้นกระบวนการ (process) ไม่ใช่เน้นเนื้อหาหรือการท่องจำ เหมือนอย่างที่เคยปฏิบัติกันมา และอาจารย์ตั้งชื่อการสอนแบบนี้เป็นภาษาอังกฤษว่า P.O.T. ซึ่งมาจากคำว่า Process-Oriented Teaching เมื่อกลับมาถึงคณะแพทย์ มอ. แล้ว ผมได้เขียนสรุปย่อเรื่องนี้ส่งให้กับคุณผกามาศ สงวนไทร เพื่อนำไปพิมพ์และ โรเนียวแจกให้กับผู้เข้าประชุมคณะแพทย์ส่วนภูมิภาคในครั้งต่อไป โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ตอน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในสมัยนั้นยังไม่มีไฟล์เก็บในคอมพิวเตอร์เหมือนกับสมัยนี้ ทำให้หาต้นฉบับบทความนี้ไม่ได้อีกแล้ว คำว่า P.O.T. นี้ต่อมาได้รับการอภิปรายจากอาจารย์แพทย์หลายท่าน และหลายสถาบันจนนำไปสู่ PBL (problem-based learning) ซึ่งเป็นคำที่นานาชาติใช้กันในที่สุด

ในระหว่างนั่งเครื่องบินเดินทางกลับจากขอนแก่นนั้น ผมเรียนถามอาจารย์วิจารณ์ว่า อาจารย์คิดเรื่อง P.O.T. ได้อย่างไร อาจารย์ถามผมว่า เคยอ่านหนังสือเรื่อง Six Thinking Hats ของ Edward de Bono ไหม ผมตอบอาจารย์ตรง ๆ ว่า ไม่รู้จัก เพราะสมัยเรียนก็อ่านแต่หนังสือจิตเวช อาจารย์วิจารณ์บอกผมว่า “ตอนนี้เขาออกหนังสือเล่มใหม่ชื่อ Lateral Thinking เดี๋ยวผมจะถ่ายฝากไปให้ลองอ่านดู”

ผมเองได้มีโอกาสทำงานร่วมกับคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มอ. 3 คน โดยผมรับตำแหน่งที่ต่าง ๆ กัน คณบดีแต่ละคน (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช, รศ.นพ.กิตติ ลิ่มอภิชาต และ รศ.นพ.สุเมธ พีรวุฒิ) ได้สอนผมทางอ้อม และเป็นตัวอย่าง (model) ในแต่ละด้าน ซึ่งทำให้ผมได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้มาใช้ เมื่อได้มาบริหารองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศในภายหลัง สิ่งที่ผมได้จากอาจารย์วิจารณ์คือ การเป็นนักอ่าน นักคิด และนักเขียน ผมจึงเริ่มลงมือเขียนในระหว่างที่เป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ โดยเขียนบทความเกี่ยวกับแพทยศาสตรศึกษาอยู่หลายเรื่อง เช่น การประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งโลก : คำประกาศที่เอดินเบอระ พ.ศ.2531 ซึ่งผมเขียนด้วยลายมือ คัดตัวบรรจง ส่งจากโรงพยาบาล Royal Edinburgh Hospital ที่ผมไปเรียนอยู่โดยส่งมาถึง รศ.นพ.อดุลย์ วิริยะเวชกุล บรรณาธิการของแพทยสภาสารในขณะนั้น และยังมีบทความเรื่องการศึกษาแพทยศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน ที่ผมชวนคุณผกามาศ สงวนไทร มาเป็นผู้นิพนธ์ร่วมด้วยที่ลงพิมพ์ในสงขลานครินทร์เวชสาร


สงขลานครินทร์เวชสารกับศิษย์เก่า

ในช่วงที่ผมเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการอยู่นั้น ทางคณะแพทยศาสตร์ได้มีคำสั่งแต่งตั้งผมเป็นบรรณาธิการรองของวารสารสงขลานครินทร์เวชสารด้วย และผมต้องปฏิบัติหน้าที่แทนบรรณาธิการตัวจริง คือ รศ.นพ.สารเนตร์ ไวคะกุล อยู่ 3 ฉบับ ในช่วงที่อาจารย์ลาไปฝึกอบรมต่างประเทศ ในระหว่างที่ผมช่วยทำสงขลานครินทร์เวชสารอยู่นั้น ผมได้เปิดคอลัมน์สัมภาษณ์ครูแพทย์และสัมภาษณ์ศิษย์เก่าขึ้นในสงขลานครินทร์- เวชสารเป็นครั้งแรก โดยสัมภาษณ์ครูแพทย์นั้น ผมกับคุณผกามาศ สงวนไทร ได้สัมภาษณ์ รศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์ ส่วนคอลัมน์สัมภาษณ์ศิษย์เก่านั้น ผมเป็นผู้สัมภาษณ์ คุณสุภาพรรณ จิตต์โสภณ ช่วยถอดเทปคำสัมภาษณ์ และผมอ่านแก้ไขกับตรวจพิสูจน์อักษรด้วยตนเอง ศิษย์เก่าสามคนที่ผมได้สัมภาษณ์ลงสงขลานครินทร์เวชสารในแต่ละฉบับคือ นพ.เกรียงศักดิ์ หลิว (ขณะนั้นใช้นามสกุล หลิว และเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลระโนด), พญ.สำรวย ทรัพย์เจริญ (ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลวังน้ำเย็น) และ นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ (ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สะเรียง) น่าเสียดายที่หลังจากนั้น สงขลานครินทร์เวชสารก็ไม่ได้มีคอลัมน์สัมภาษณ์ศิษย์เก่าอีก


ข่าวคณะแพทยศาสตร์ฉบับศิษย์เก่า : ปฐมบทของการสื่อสารระหว่างคณะกับศิษย์เก่า

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จพระราชดำเนินมาเปิดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์อย่างเป็นทางการได้ไม่กี่อาทิตย์ อาจารย์วิจารณ์ก็เรียกผมไปคุยว่า อยากให้ผมมาช่วยเรื่องศิษย์เก่าด้วย โดยจะให้ผมเป็นบรรณาธิการข่าวคณะแพทย์ฉบับศิษย์เก่า และให้ผมไปหาทีมงานเองในการเตรียมเนื้อหา โดยคณะจะรับผิดชอบในการจัดพิมพ์ และจัดส่งไปให้ศิษย์เก่า ตามที่คณะมีข้อมูลอยู่ ในขณะนั้นคณะมีข่าวคณะแพทย์ที่ออกเป็นประจำอยู่แล้ว โดยมีคุณสถาพร ทัศวงศ์ เป็นบรรณาธิการ ผมจึงขอให้คุณสถาพรเข้ามาช่วยข่าวคณะแพทย์ฉบับศิษย์เก่าด้วยในฐานะบรรณาธิการรอง และให้คุณสถาพรช่วยรับผิดชอบคอลัมน์ “6 เดือนนี้ มีอะไร” เพื่อช่วยสรุปข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในคณะแพทย์ทุก ๆ 6 เดือน เพราะศิษย์เก่าจะไม่ได้รับข่าวคณะแพทย์ฉบับปกติ จึงไม่ทราบว่ามีข่าวหรือเหตุการณ์สำคัญอะไรบ้างที่เกิดขึ้นในคณะแพทย์

สำหรับหน้าปกข่าวคณะแพทย์ฉบับศิษย์เก่าฉบับแรกนั้น ผมได้อัญเชิญภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เพื่อใช้สร้างอาคารเย็นศิระที่วัดโคกนาว มาขึ้นปก และเป็นครั้งแรกที่มีการย้ายหัวหนังสือของข่าวคณะแพทย์ ที่ปกติจะพิมพ์อยู่ด้านบนของปก ลงมาอยู่ด้านล่างของปกแทน และพิมพ์เพิ่มคำว่า ฉบับศิษย์เก่าต่อท้าย

ข่าวคณะแพทย์ฉบับศิษย์เก่า กำหนดออกปีละสองฉบับ ผมรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการคนแรก และทำจนหมดสมัยที่ผมเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ โดยคณะแพทยศาสตร์ดำเนินการจัดพิมพ์เอง ใช้วิธีเรียบง่าย เย็บด้านข้างด้วยลวดเย็บกระดาษ ต่อมาในยุคสมัยที่ รศ.พญ.พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อ เป็นคณบดี ได้รื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ โดยมอบหมายให้ ผศ.นพ.สมชาย ทั้งไพศาล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษ (ต่อมาเป็นรองคณบดี) สมัยนั้นเป็นบรรณาธิการ และใช้ชื่อใหม่ว่า สารศิษย์เก่าแพทย์ มอ. จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ภายนอกคณะ รูปเล่มสวยงามตามมาตรฐานสิ่งพิมพ์ออฟเซท และคุณหมอสมชายได้ขอให้ผมช่วยเป็นกองบรรณาธิการด้วยในช่วงแรก


กำเนิดสมาคมศิษย์เก่า

ในยุคที่ รศ.พญ.พันธ์ทิพย์ สงวนเชื้อเป็นคณบดี แม้ผมจะไม่ได้ร่วมเป็นทีมบริหารด้วย แต่อาจารย์พันธ์ทิพย์ได้ฝากให้ผมดำเนินการอยู่สองเรื่อง เรื่องแรกคือ ท่านตั้งให้ผมเป็นประธานคณะกรรมการจัดการบรรยายให้ความรู้สู่ประชาชน ในบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือน เป็นประจำทุกเดือน นับเป็นการแสดงออกถึงบทบาทที่สำคัญด้านหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ มอ. คือ การให้ความรู้กับประชาชน (public education) โดยอาจารย์พันธ์ทิพย์ได้มากล่าวเปิดงานด้วยตัวเองเกือบทุกครั้ง ยกเว้นหากท่านติดภาระกิจอื่น ก็จะมอบหมายให้รองคณบดีท่านอื่น เช่น รศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ มาเปิดงานแทน

ส่วนอีกเรื่องหนึ่งคือ การสนับสนุนให้ดำเนินการจัดตั้งสมาคมศิษย์เก่าของคณะแพทย์ มอ.ให้ได้โดยเร็ว ซึ่งผมได้เรียนให้อาจารย์ทราบว่า อาจารย์กอปร์ชุษณ์ (ผศ.นพ.กอปร์ชุษณ์ ตยัคคานนท์) ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว แต่ท่านคณบดีรู้สึกว่ากระบวนการยังเชื่องช้า อาจารย์พันธ์ทิพย์ได้พูดกับผมครั้งหนึ่งว่า “หมอควรดำเนินการแทนกอปรชุษณ์ และหมอก็เป็นนายกสมาคมฯ ไปเลย” ซึ่งผมได้ตอบอาจารย์ไปว่า “เรื่องนี้อาจารย์กอปร์ชุษณ์ดำเนินการอยู่แล้ว ผมจะไปสอบถามอาจารย์ก่อนนะครับว่า ติดขัดที่ตรงไหน ส่วนเรื่องนายกสมาคมฯ นั้น ด้วยความเหมาะสม ผมเห็นว่า นายกสมาคมฯ คนแรกควรจะเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกครับ และอาจารย์วีระพล (รศ.นพ.วีระพล จันทร์ดียิ่ง) น่าจะเหมาะสมที่สุดครับ” จากนั้นผมก็ได้ติดต่อทั้งอาจารย์วีระพล และอาจารย์กอปรชุษณ์ ต่อมาอาจารย์วีระพลก็ได้ติดต่อกับอาจารย์ท่านอื่น ๆ เช่น อาจารย์ธวัช อาจารย์กรีฑา อาจารย์สมชาย ฯลฯ จนกำเนิดเกิดมาเป็นสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ มอ. ในที่สุด

ไม่น่าเชื่อว่า สมาคมศิษย์เก่าฯ นับถึงวันนี้จะมีอายุครบ 20 ปีแล้ว ในฐานะที่ผมได้อยู่ร่วมช่วยก่อตั้งสมาคมศิษย์เก่าฯ นี้ มาตั้งแต่ต้น ได้มาช่วยเป็นอุปนายกในช่วงแรก และเป็นที่ปรึกษาของสมาคมฯ ในช่วงหลังนั้น ก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่เห็นสมาคมฯ ของเราได้เจริญเติบโตก้าวหน้ามาเป็นลำดับ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาคมฯจะได้พัฒนาก้าวหน้าและเป็นจุดเชื่อมประสานระหว่างศิษย์เก่า-ศิษย์ปัจจุบัน-คณาจารย์ และผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ มอ. ต่อไปอีกตราบนานเท่านาน

41 ปี ชีวิตศิษย์เก่าแพทย์ มอ. ผมเพิ่งเล่าความหลังไปได้เพียงส่วนเดียว หรือเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น หวังว่าในอนาคตอันใกล้ ผมคงจะได้มีโอกาสมาเล่าความหลังเมื่อครั้งอดีตให้ได้ทราบกันอีกต่อไป และขอขอบคุณ ผศ.นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี มา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ ที่ได้เชิญให้เขียนเล่าความหลังในครั้งนี้



เอกสารอ้างอิง

พิเชฐ อุดมรัตน์, สุภาพรรณ จิตต์โสภณ. สัมภาษณ์ศิษย์เก่า : นพ.เกรียงศักดิ์ หลิว. สงขลานครินทร์เวชสาร 2529;4(1):85-90.

พิเชฐ อุดมรัตน์, สุภาพรรณ จิตต์โสภณ. สัมภาษณ์ศิษย์เก่า : พญ.สำรวย ทรัพย์เจริญ. สงขลานครินทร์เวชสาร 2529;4(2):188-194.

พิเชฐ อุดมรัตน์, สุภาพรรณ จิตต์โสภณ. สัมภาษณ์ศิษย์เก่า : นพ.สุเทพ วัชรปิยานันทน์. สงขลานครินทร์ เวชสาร 2529;4(3):281-286.

ผกามาศ สงวนไทร, พิเชฐ อุดมรัตน์. การศึกษาแพทยศาสตร์โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน. สงขลานครินทร์เวชสาร 2530;5(2):222-224.

พิเชฐ อุดมรัตน์, ผกามาศ สงวนไทร. สัมภาษณ์ครูแพทย์ : รศ.นพ.ทองจันทร์ หงศ์ลดารมภ์. สงขลานครินทร์เวชสาร 2530;5(2):225-228.

พิเชฐ อุดมรัตน์. บทบรรณาธิการ : แพทยศาสตรศึกษาของไทย แพทยศาสตรศึกษาของโลก. สงขลานครินทร์เวชสาร 2530;5(2):121.

พิเชฐ อุดมรัตน์. บทบรรณาธิการ : สอนให้คิด. สงขลานครินทร์เวชสาร 2530;5(3):360.


เกี่ยวกับผู้เขียน

ศ.นพ.พิเชฐ อุดมรัตน์ เป็นศิษย์เก่าแพทย์ มอ. รุ่น 2 แต่เป็นศิษย์เก่าคนแรกที่เลือกเรียนจิตเวชศาสตร์ และเป็นจิตแพทย์ ปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ ระดับ 11 อยู่ที่ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มอ. ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยติดต่อกันสองสมัย เคยเป็นนายกสมาคมจิตแพทย์อาเซียน, นายกสมาคมจิตแพทย์ของทวีปเอเชีย และจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานวิทยาลัยจิตแพทย์ของประเทศที่อยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Rim College of Psychiatrists) ในปี 2559 ได้รับการแต่งตั้งจากองค์การอนามัยโลกให้เป็นที่ปรึกษาในการทบทวน ICD-10 และพัฒนา ICD-11 เป็นคณะทำงานขององค์การอนามัยโลกในการพัฒนาเกณฑ์การวินิจฉัยกลุ่มโรคจิตใน ICD-11 ได้รับรางวัลจากสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทยถึง 3 รางวัล คือ รางวัลจิตแพทย์ดีเด่นสาขาการวิจัย (2544), จิตแพทย์ดีเด่นด้านการอุทิศตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมแก่วงการจิตเวช (2556), และรางวัลหลวงวิเชียรแพทยาคม เนื่องจากผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับของนานาชาติหรือมีผลกระทบต่อนโยบายสุขภาพจิตในระดับประเทศ (2557) ล่าสุด International Society for Bipolar Disorders (ISBD) ได้มอบรางวัล ISBD Scholar 2015 Award สาขา Leadership Category ในฐานะเป็น Chairman ของ Asian Network of Bipolar Disorder และได้เป็นผู้เสนอให้วันที่ 30 มีนาคมของทุกปีเป็นวันไบโพลาร์โลก (World Bipolar Day, WBD) ซึ่งได้มีการยอมรับอย่างกว้างขวาง จนเกิดมี website, facebook ของ WBD และมีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันดังกล่าวในหลายประเทศทั่วโลกทุกปี

........................................


ผมขอถือโอกาสแก้ไขความเข้าใจผิดเรื่องผู้จัดการบริษัทรัชมอร์ ตามในเรื่อง ว่าไม่ใช่เป็นเพื่อนกับผม แต่ท่านผู้จัดการ คือคุณอมร วีระไวทยะ ชอบพอผมมาก บริษัทนี้ขายกล้องจุลทรรศน์ Olympus และเครื่องมือ ทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ ในราวๆ ปี ๒๕๒๐ หรือหลังจากนั้นนิดหน่อย ในฐานะผู้รับผิดชอบการจัดตั้ง ภาควิชาพยาธิวิทยา ผมจึงเป็นผู้จัดซื้อครุภัณฑ์ทางห้องปฏิบัติการหลายชิ้นจากบริษัท รัชมอร์ แล้ววันหนึ่งผมก็ได้รับจดหมายสอดเช็คสั่งจ่ายชื่อผม เป็นเงินจำนวนหนึ่งราวๆ ๑ - ๒ หมื่นบาท โดยที่ตอนนั้นเงินเดือนของผมไม่กี่พันบาท ผมโทรศัพท์ไปถามคุณอมรว่าเป็นเงินค่าอะไร ท่านบอกว่าเป็นค่าตอบแทนการซื้อของ ซึ่งบริษัทจ่ายให้ตามปกติ ๑๕% โดยไม่มีการร้องขอ ท่านบอกว่า หน่วยราชการบางหน่วยเรียกร้องถึง ๓๐%

ผมได้ส่งเช็คคืน และขอเปลี่ยนเป็นขอครุภัณฑ์ฟรีให้แก่ภาควิชา โดยลงทะเบียนว่าได้รับบริจาค จากบริษัท คงเพราะเหตุนี้กระมัง คุณอมรจึงชอบพอผมมาก

ขอบันทึกไว้ว่า ศ. นพ. พิเชฐ มีความสามารถในการเขียนและพูดเด่นกว่าผมมาก มีความสามารถ ด้านเจ้าบทเจ้ากลอน ใช้ถ้อยคำไพเราะกินใจ ที่ผมทำไม่เป็น



วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ย. ๕๘

หมายเลขบันทึก: 596204เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2015 15:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2015 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท