การผลิตครูใน ศตวรรษที่ 21 : มุมมองเชิงวิพากษ์


การผลิตครูใน ศตวรรษที่ 21 : มุมมองเชิงวิพากษ์

มนุษย์มีพัฒนาการหลายยุคสมัย สิ่งสำคัญที่สุดที่ผลักดันพัฒนาการคือ การเรียนรู้ การเรียนรู้เกิดจากความสนใจ การศึกษาที่เป็นหลักของมนุษยชาตินั่นก็คือ การศึกษาที่เกิดจากความสนใจส่วนตัวของมนุษย์ (Informal Education) ผสมผสานไปการเรียนรู้ทางสังคมหรือการขัดเกลาทางสังคม ที่พ่อแม่ หรือสังคมต่าง ๆ ถ่ายทอดให้ (Non formal Education)สิ่งเหล่านี้มี ตั้งแต่มนุษย์อาศัยอยู่ในถ้ำ และเกิดการค้นคิดเรื่องการไฟ และได้ออกมาอยู่เป็นชุมชน เนื่องมาจากความอ่อนแอของตัวมนุษย์เอง จึงอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน และสรรสร้างอารยธรรมมาตั้งแต่ยุคหาของป่าล่าสัตว์ ไปจนถึงการทำเกษตรกรรม ที่คิดค้นอุปกรณ์การเกษตรจากการถลุงแร่ออกมาได้ ทำให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ในการผลิต และก่อให้เกิดรัฐต่อมา เนื่องมาจากอยู่อย่างยาวนานในชุมชน การอบรมและการถ่ายทอดวัฒนธรรมก็ยังไม่เป็นรูปแบบเท่าไรนัก แม้ว่าโรงเรียนจะได้ถูกกล่าวถึงในกรีกอยู่บ้าง แต่ก็เน้นการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ผลิตนักปรัชญา เช่น อคาเดมี ของ เพลโต โดยใช้สิ่งที่เรียกกว่า “มนุษยศาสตร์” ( Human Science) ต่อมาเมื่อถึงยุคกลางก็มีการศึกษาที่เรียนกันในโบสถ์ เน้นความเชื่อในยุคกลาง แต่ก็เน้นในระดับมหาวิทยาลัย และเมื่อสังคมวิวัฒนาการไปถึง ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ และเกิดยุคสว่าง (Enlightenment)

เมื่อเกิดการปฏิวัติเขียว และปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกิดระบบทุนนิยมขึ้นมา เกิดการแบ่งแยกงานทำ โรงเรียนที่เป็นการศึกษาในระบบ(Formal Education)ปัจจุบันก็เกิดจากตรงนั้น เกิดครูที่เป็นอาชีพขึ้นมา พร้อม ๆ กับการแยกเด็กออกจากครอบครัว ด้วยการที่คนในวัยทำงานแต่เดิมได้ทำงานแต่ในบ้าน จึงกลายเป็นคนใช้แรงงานคนในโรงงานอุตสาหกรรม โรงเรียนก็พยายามสร้างให้คล้ายกับโรงงานอุตสาหกรรม เป็นนัยแห่งการผลิตซ้ำอุดมการณ์ของระบบทุนนิยมให้ดำรงอยู่ต่อไป
วิชาชีพครูเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร สันนิษฐานว่า น่าจะเกิดมาพร้อมกับสถาบันโรงเรียน ที่ระบบทุนนิยมสร้างขึ้นมาเพื่อสร้างระบบแรงงานป้อนให้กับทุนนิยม พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ (2536) ได้กล่าวถึงระบบโรงเรียนในยุโรปตั้งขึ้นในศตวรรษที่ 19 โดยเฉพาะที่อังกฤษ ได้มีการตรากฎหมาย ในการช่วยเหลือการศึกษาในปี 1832 และในปี 1839 จึงมีการตั้งสถาบันฝึกหัดครูขึ้น จนกระทั่งปี 1870 จึงการตรากฎหมาย เพื่อให้มีการศึกษาของชาติ ตั้งแต่เริ่มต้น จนถีงระดับสูง มีการกำหนด โรงเรียนแบบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ โรงเรียนชนชั้นสูง สอนภาษาอังกฤษ สอนภาษาละติน สอนวิชาวิศวกรรม โรงเรียนลำดับต่อมาคือโรงเรียนชนชั้นกลาง และสุดท้ายคือโรงเรียนของชนชั้นกรรมาชีพ โดยกำหนดให้เด็กอายุตั้งแต่ห้าถึงสิบสามปี ได้รับการศึกษาทั้งชายหญิง ส่วนในฝรั่งเศส สร้างระบบโรงเรียนในปีคศ. 1806 มีโรงเรียนประถมศึกษา ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะสงฆ์ ส่วนมัธยมก็ถูกบริการจัดการโดยเทศบาล ส่วนในอเมริกาจัดตั้งประมาณเมื่อปี 1642 เป็นการบังคับให้ไปโรงเรียน โดยโรงเรียนในอเมริกา ประกอบด้วยโรงเรียนวัด โรงเรียนของคนจน โรงเรียนการกุศล
ซึ่งอเมริกาถือว่ามีการศึกษาขั้นพื้นฐานก่อนที่อื่น ความเป็นสถาบันของยุคทันสมัยจึงเกิดขึ้นในยุคนี้ สำหรับในประเทศไทยแล้ว ระบบโรงเรียนเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่ก็เป็นระบบโรงเรียนสำหรับชนชั้นสูง เอาไว้ผลิตข้าราชการ และต่อมาก็มีการฝึกหัดครูครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2446 ชื่อว่า โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์พระนคร และเกิดโรงเรียนฝึกหัดครูฝั่งตะวันตก และก็มีการสร้างจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีการฝึกหัดครูอยู่ในคณะครุศาสตร์ และ มีการเปิด วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร ซึ่งใช้องค์ความรู้ในการฝึกหัดครูซึ่งนำเข้าหลักสูตรและวิธีการสอนจากต่างประเทศ เช่นเดียวกับของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ระเบียบสังคมและระบบการศึกษา เป็นสิ่งที่คู่กันไป การศึกษาแต่เดิมเป็นการศึกษาตลอดชีวิต(Life long Learning) เป็นการศึกษาเพื่อนำเอาไปใช้ในชีวิต ไม่มีการวัดประเมินเพื่อรับใบประกาศนียบัตร ระเบียบของสังคมสมัยใหม่ คือโลกแห่งทุนนิยมโลกาภิวัตน์ มีระเบียบสังคมมีสารัตถะเพื่อผลิตสินค้า กระจายสินค้า และบริโภคสินค้า ระบบการศึกษาจึงเป็นไปเพื่อแรงงานในการผลิตสินค้า และนักบริโภคสินค้า ที่มีคุณค่าในฐานะสัตว์เศรษฐกิจ โรงเรียนและสถาบันในการพัฒนามนุษย์จึงกระทำการในลักษณะที่สอดคล้องกัน คือการศึกษาเป็นธุรกิจในการรับรองเพื่อรับประกาศนียบัตรมากขึ้น การผลิตแรงงานเพื่อป้อนระบบทุนนิยมอาศัยคุณค่า ความเชื่อ และความสัมพันธ์ทางอำนาจชุดหนึ่ง เพื่อผลิตแรงงานในลักษณะเฉพาะด้าน เช่น คนที่จะแพทย์จะต้องจบจากสถาบันการแพทย์ของรัฐในประเทศไทย และประเทศอื่นที่ประเทศไทยรับรองเท่านั้น คนที่จบด้านการศึกษาจะต้องจบจากสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองจากสถาบันทื่ได้รับการรับรอง เมื่อรับรองจึงได้ใบรับรอง จึงประกอบอาชีพได้ จากระบบความศักดิ์สิทธิ์ของการรับรองจึงมีผู้ที่ปลอมใบรับรองและมีคดีความอยู่จำนวนมาก มีปรากฏทั้งระดับพื้นฐาน จนไปถึงระดับอุดมศึกษา

ครูเป็น ปัญญาชนของรัฐ (Organic Intellectual) เป็นปัญญาชนเพื่อรักษาระบบ ในโครงสร้างมีหน้าที่เพื่อค้ำยันระบบและโครงสร้างอำนาจที่เป็นอยู่ให้ดำเนินต่อไป ดังนั้นการผลิตครูจึงมีการสร้างจิตสำนึกและอุดมการณ์ที่สอดคล้องกับระบบโครงสร้างอำนาจ ในกระบวนการผลิตจึงมีการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจ แตกต่างกันในหลากหลายระดับ ในระดับแรกได้ผ่าน วาทกรรมการพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่สร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจ และจัดพื้นที่ทางกาย และทางความคิด เพื่อส่งต่อให้สถาบันผลิตครูที่เป็นลักษณะเฉพาะด้าน เมื่อเข้าสู่ระบบอุดมศึกษา กระบวนการถ่ายทอดวัฒนธรรมความเชื่อ ที่ผลิตความสัมพันธ์ทางอำนาจ จะเริ่มต้นจากการรับน้อง ซึ่งก็ผลิตซ้ำความคิดความสัมพันธ์ที่ได้รับมาจากระดับขั้นพื้นฐานมาแล้วต่อเนื่อง ตลอดจนสถาบันผลิตครูได้สร้าง ระบบวินัย ในเฉพาะสาขาแต่ละสาขา คุณค่าและจริยธรรมบางอย่าง เช่น ผลิตซ้ำคุณค่าของชนชั้นกลาง และ ชนชั้นสูง จะเห็นได้จากการสวมใส่เสื้อผ้าราคาแพง ๆ การใช้ปากการาคาแพง ๆ เพื่อสร้าง “สัญญะ” อะไรบางอย่างที่สอดคล้องกับรัฐและระบบทุนนิยม ที่เหนือกว่าประชาชน หรือสร้างแบบอย่างในการปฏิบัติที่สอดคล้องกับเป้าหมายของสังคม กระบวนการผลิตซ้ำมาถึงบทสุดท้ายก็คือ เมื่อการควบคุมวินัยตามสาขาวิชา ผ่านกระบวนการวัดและประเมินผล ที่มีอำนาจในการจำแนกมนุษย์ออกเป็นหลาย ๆ แบบ เพื่ออธิบายถึง สมรรถภาพที่ไปได้กับรัฐและระบบทุนนิยม จัดประเภทเป็นตัวเลข หรือ ตัวอักษรสูงต่ำ ก็สะท้อนถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจอยู่เช่นกัน ระบบเนื้อหาวิชาในการผลิตครูหยุดนิ่งและไม่เคลื่อนไหวมานานแล้ว อันเนื่องมาจากชุดความรู้ที่ไม่ต้องตรวจสอบอีกแล้ว หรือไม่มีใครกล้าตั้งคำถามอีกแล้ว เป็นเช่นเดียวกับวัฒนธรรมรัฐชาติ ที่เน้นความเป็นหนึ่งเดียว วิธีคิดใหม่ ๆ ที่นำเสนอเช่น ความหลากหลายทางปัญญาของมนุษย์แปดอย่าง ของโฮวาร์ด การ์ดเนอร์ ก็จะถูกตีความลดบทบาทเป็นเพียงวิธีสอนประการหนึ่ง วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ปฎิฐานนิยม ได้ถูกให้คุณค่าในการศึกษาที่เป็นกลาง ปราศจากอคติ เมื่อจบการศึกษาจากสถาบันและการควบคุมวินัยเรียบร้อยแล้ว จึงเข้าสู่วิชาชีพซึ่งมีวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางอำนาจ ที่แน่นหนากว่า เป็นวัฒนธรรมของระบบโซตัสแบบใหม่ ที่มีวัฒนธรรมแบบระบบอุปถัมป์แบบไทย ๆ เอาไว้เป็นต้นแบบผลิตซ้ำเป็นตัวอย่างความสัมพันธ์ทางอำนาจ ด้วยระบบการศึกษาแบบเงินฝากธนาคาร มีการต่อต้านการเสวนา ใช้วัฒนธรรมในการสั่งการตามลำดับขั้นแทน สำหรับผู้ที่เคยชินความสัมพันธ์ทางอำนาจ ตั้งแต่ตนเองได้เรียนรู้จากครอบครัว การศึกษาขั้นพื้นฐาน และอุดมศึกษา จึงคิดว่าวัฒนธรรมเช่นนี้เป็นเรื่องปกติ ที่ระบบคุณค่าของยุคโมเดิร์นมักให้คุณค่ากับสถาบันมากกว่าตัวคน จากภาพตัวแทน (representation) ที่ได้นำเสนอมาเป็นแบบแผนวัฒนธรรมแบบเหมารวม ในระบบพื้นที่หนึ่ง ๆ ซึ่งฟูโกต์ได้อธิบายถึง การที่วาทกรรมเข้าครอบงำถึงร่างกายใต้บงการ (docile body) นั่นแสดงหมายถึงแบบแผนวัฒนธรรมแบบเหมารวมเช่นกัน แต่ก็ยังมีปัจเจกบุคคลบางคน (Agency)ใช้วาทกรรมรอง เข้าต่อสู้ช่วงชิงกับวาทกรรมหลักได้ อย่างน้อยก็เจ้าของทฤษฎี คือ ฟูโก้ ได้สร้างวาทกรรมรอง เพื่อเข้าช่วงชิงความรู้และอำนาจ สร้างและสถาปนาอำนาจใหม่ขึ้นมาได้เช่นกัน


การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และผู้คนในยุคศตวรรษที่ 21 มีผู้คนหลากหลายมากขึ้น การจัดประเภทของคนที่อธิบายและจัดประเภท พัฒนาการของกลุ่มคน ได้แก่คำอธิบายชุด Generation วินิฉัย รังสิตานนท์ (2557) ได้อธิบายว่า การจัดบุคคลตามช่วงอายุ ได้แบ่งรุ่นดังต่อไปนี้ คือ 1. Lost Generation คือ คนที่เกิดในช่วงปี 2426 – 2443 คนรุ่นนี้เสียชีวิตไปหมดแล้ว เหตุการณ์สำคัญคือ เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง 2. Greatest Generation หมายความถึงคนที่เกิดปี 2444 จนถึง 2467 คือยุคก่อสงครามโลกครั้งที่สอง นัยยะของยุคนี้ก็คือ ผู้คนจะเป็นทางการมากที่สุด มีแบบแผนเดียวกัน เชื่อมั่นในรัฐบาล อำนาจรัฐ 3. Sillent Generation หมายถึง คนที่เกิดตั้งแต่ปี 2468 ถึง 2488 เป็นช่วงสงครามโลกพอดี คนต้องลำบาก ทำงานหนัก เคร่งครัดต่อระเบียบแบบแผน โครงสร้าง มีความเป็นชาตินิยม และ จงรักภักดีต่อองค์กรธุรกิจ เป็นยุคผู้หญิงออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้น 4. Baby Boomer หมายถึงคนเกิด 2489 -2507 ในยุคนิ้มีคนเกิดจำนวนมาก เพราะคนเสียชีวิตไปเยอะ เพื่อสร้างแรงงานให้กับระบบทุนนิยม คนกลุ่มนี้จึงเป็นคนที่มีชีวิตเพื่อการทำงานในระบบทุนนิยม เคารพโครงสร้างทางสังคม อดทนและ ทุ่มเทให้กับการทำงาน พยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นเจ้าคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมและมีตำแหน่งอยู่ในระดับสูง ประหยัด อดออม รอบคอบ และระมัดระวังเป็นคนที่เคร่งครัดในขนบธรรมเนียมประเพณี 5. Generation X หมายถึงคนที่เกิด 2508 -2522 เป็นคนที่เกิดในโลกที่มั่งคั่งแล้ว เติบโตมาด้วย วีดีโอเกม คอมพิวเตอร์ และทีวีขาวดำ ส่วนใหญ่มักทำงานแล้ว ชอบทำอะไรง่าย ๆ ให้ความสำคัญและสมดุลระหว่างการทำงานกับครอบครัว มีแนวคิดการทำงานรู้ทุกอย่าง ทำงานได้ทุกอย่างด้วยตัวเอง ไม่พึ่งพาใคร มีความคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบ จึงมีความยืดหยุ่นในการปรับตัวกับวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป 6. Generation Y เกิดในปี 2523 – 2540 ยุคที่เทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเป็นตัวของตัวเองสูง คนกลุ่มนี้ชอบทำงานเป็นทีม มีความสามารถด้านไอซีที ใช้เครื่องมือสื่อสารได้ทุกชนิด คนรุ่นนี้ต้องการคำชม ทำงานไม่ค่อยอดทนนัก 7. Generation z เกิดในปี 2540 –ปัจจุบัน เกิดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศท่วมทับ ออนไลน์ทุกชั่วโมง ต้องการคำตอบหรือฟีดแบ็ค การรับฟัง และความเข้าใจในยุคสมัย จากโครงสร้างของ Generation นี้ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันของแต่ละ Generation เช่นผู้ที่ทำหน้าที่ผลิตครูเป็นคนในยุค Baby Boom มักจะมองมโนทัศน์ของคนที่จะมาเป็นครูแตกต่างจาก Generation X Y Z ในขณะเดียวกัน Generation XYZ ก็มองผู้คนยุค Baby Boomber เป็นผู้คนตกยุคสมัย ติดยึดกับความคิดเก่า ๆ นอกจากนั้นแล้วความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้ครู กับ ครูยุคใหม่ ก็เกิดความขัดแย้งไม่ลงรอยกัน ความสัมพันธ์ระหว่าง Generation ที่แบ่งกันตามยุคสมัย เป็นความแตกต่างหลากหลายระดับแรก ๆ ที่สถาบันในยุคโมเดิร์นไม่อาจใช้ชุดความคิดเดียว ในการอธิบาย ปฏิบัติการ โดยปราศจากความเข้าใจในความแตกต่าง


ความแตกต่างหลากหลายของผู้คนที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นความแตกต่างในช่วงอายุ ซึ่งจะอธิบายเชิงซ้อนได้หนึ่งรอบ คือมนุษย์ในแต่ละช่วงอายุมีความแตกต่างด้านความเป็นอยู่นิสัยใจคอ อันเนื่องมาจากประวัติศาสตร์แห่งยุคของเขาที่ต้องเผชิญกับสภาพอันแตกต่างหลากหลายเช่นสงคราม การเข้าสู่เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นการผลิตครูในยุคของผู้คนที่มีความแตกต่างกันใน Generation ได้อย่างไร ความแตกต่างเชิงซ้อนรอบที่สอง นอกจากนั้นแล้วความแตกต่างระหว่างเพศสภาพ อันเป็นที่มาของความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน อคติและความไม่เป็นธรรม ความแตกต่างหลากหลายเชิงซ้อนรอบที่สาม คือ ความแตกต่างหลากหลายของสภาพร่างกายมนุษย์ ในยุคหนึ่งวิทยาลัยครูไม่รับคนพิการเข้าเรียนครู โดยให้เหตุผลว่า บุคลิกภาพไม่เหมาะสำหรับความเป็นครู หรือวิชาชีพอัยการ ผู้พิพากษา ก็ไม่รับผู้พิการเข้าทำงาน โดยให้เหตุผลว่า บุคลิกภาพไม่เหมาะสำหรับอาชีพ ทำให้ความแตกต่างหลากหลายทางด้านร่างกายได้เกิดอคติ และไม่ได้เปิดพื้นที่ในการพัฒนา ความแตกต่างหลากหลายที่มีความซับซ้อนรอบที่สี่ คือ ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ที่มีตัวอย่างคลาสสิคในตะวันตก คือเรื่องของชาติพันธุ์ผิวขาว กับผิวดำ มีความซับซ้อนทางความสัมพันธ์ทางอำนาจ มีการสร้างพื้นที่ในการต่อรอง สามารถต่อรองหลายอย่างได้สำเร็จ ได้แก่ การศึกษาแบบ Multiculture education ตลอดสิทธิต่าง ๆ หลากหลาย สำหรับในประเทศไทยแล้ว ชาติพันธ์ที่วัฒนธรรมรองหลายที่กำลังนิยามตัวเองต่อรองพื้นที่ทางสังคม ได้แก่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง กำลังต่อรองให้ได้เขตพัฒนาพิเศษของชนพื้นเมือง ซึ่งจะรวมถึงสิทธิในการจัดการศึกษาแบบของตัวเองด้วย ความแตกต่างหลากหลายที่มีความซับซ้อนรอบที่ห้า คือ ความแตกต่างหลากหลายในศาสนาและลัทธิความเชื่อ ที่เป็นศาสนาระหว่างศาสนาประจำชาติ กับ ศาสนาอื่น ๆ เช่นคริสต์ อิสลาม และความเชื่อในลัทธินิกายที่แตกต่างจากกระแสหลัก ในศาสนาพุทธได้แก่ ขบวนการสันติอโศก ขบวนการภิกษุณีไทย ตลอดจนลัทธิความเชื่อย่อย ๆอีกมากมาย ที่แตกต่างหลากหลาย ที่มีความขัดแย้งกันแล้วได้แก่ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความแตกต่างหลากหลายรอบที่หก ได้แก่ความแตกต่างหลากหลายด้านเศรษฐกิจ ที่ถูกกุมโดยศูนย์กลางอำนาจที่เป็นคนรวยไม่กี่ตระกูล กับคนจำนวนหลากหลายทางชนชั้นเศรษฐกิจ ความแตกต่างหลากหลายรอบที่เจ็ด คือ ความหลากหลายทางด้านลีลาชีวิต ได้แก่ กลุ่มคนเพศที่สาม ความแตกต่างหลากหลายด้านปัญญาของมนุษย์ อันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สมองไม่เท่ากัน ทำให้เกิดความแตกต่างและถนัดที่ไม่เท่ากัน ได้แก่ คนที่ถนัดด้านตรรกะตัวเลข คนที่ถนัดด้านภาษา คนที่ถนัดด้านดนตรี คนที่ถนัดด้านศิลปะ คนที่ถนัดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย คนที่ถนัดด้านมนุษยสัมพันธ์ เป็นต้น ซึ่งดูผิวเผินแล้วเหมือนจะเป็นปกติธรรมดา แต่หมายถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจโดยตรงกับวาทกรรมการศึกษา กระแสหลัก ที่ถูกครอบงำโดยระบบทุนนิยมวิทยาศาสตร์ได้สถาปนาการศึกษาที่ยก ปัญญาด้านตรรกะวิทยาศาสตร์ ขึ้นมาเป็นหลักแห่งยุคสมัยแล้วกีดกันปัญญาด้านอื่น ๆ ออกไป ตลอดจนกีดกันเด็กพิเศษและเด็กที่ถนัดแบบอื่น ๆ ไปอยู่ชายขอบของการพัฒนา ความแตกต่างหลากหลายที่ซับซ้อนทำให้เกิดอัตลักษณ์ ที่หลากหลายของผู้คนที่ยุคศตวรรษที่ 21


ยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่รวมของความผิดพลาดและวิกฤติที่เป็นผลจากยุคโมเดิร์น ได้แก่การพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การขุดเอาทรัพยากรของโลกมาใช้เพื่อสร้างกำไรสูงสุด ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ความขัดแย้งของผู้คนที่ได้รับผลกระทบจาก ปัญหาสิ่งแวดล้อม กับผู้ที่ทำลายลายสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายทุนโลกาภิวัตน์ การผลิตสินค้าที่สร้างหีบห่อที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม การที่โลกร้อนขึ้น และส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อมนุษย์ จึงมีวาทกรรมเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ที่จะไปตั้งรกรากใหม่บนดาวอังคาร หรือดวงจันทร์ การศึกษาที่เป็นผู้ส่งเสริมความคิดแบบโมเดิร์น ผลิตผู้คนให้เห็นด้วยกับสถาบันหลักแห่งยุคโมเดิร์น ผลิตวาทกรรมคุณภาพทางการศึกษาที่เน้นการควบคุมคนในโรงงานอุตสาหกรรม วิกฤติทางปัญญาอีกประการหนึ่งในยุคนี้คือ ไม่มีใครที่คิดค้นพบสิ่งที่ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อันเกิดจากการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยนี้เลย ความยุ่งเหยิง (Chaos) ทางสังคม เกิดขึ้นทุกปริมณฑล และจะทวีความรุนแรงขึ้นในภายภาคหน้าจนควบคุมไม่ได้ ตัวอย่างเห็นได้ชัดก็คือความขัดแย้งทางการเมืองของไทย ที่ไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้ในอนาคต
กระแสสิทธิมนุษยชน อันเป็นผลมาจากปรัชญา มนุษยนิยม (Humanism) ทำให้การศึกษามีการก่อกระแสสิทธิต่าง ๆ ได้แก่ การเรียกร้องให้มีการศึกษาที่หลากหลายในประเทศไทย ได้แก่ การเรียกร้อง การจัดการศึกษาโดยครอบครัว การจัดการศึกษาโดยชุมชน ศูนย์การเรียน ผู้คนและประชาชน เริ่มออกมาแสดงนิยามการศึกษา เช่นโจน จันได ได้ออกมาแสดงนิยามการศึกษาคือจะต้องง่าย และพึ่งตนเองได้ โดยมีภาคปฏิบัติการเป็นชีวิตจริงของเขาเอง กลุ่มขบวนการการเรียนรู้ตลอดชีวิต นำเสนอให้ใช้การศึกษาที่มีในตัวมนุษย์ (Informal Education) เข้าแทนที่ การศึกษาในระบบ (Formal Education) เพราะเห็นว่าการศึกษาในระบบมีอำนาจเพียงการออกใบรับรองเท่านั้น กระบวนการเรียนรู้ทั้งหลาย เกิดจากการศึกษาที่มีในตัวมนุษย์(Informal Education) ที่สาระสำคัญอยู่ที่ความสนใจส่วนตัวของมนุษย์นั่นเอง นอกจากนั้นกระแสโรงเรียนทางเลือกอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โรงเรียน สัตยาไส โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนทางเลือกแนวต่าง ๆ ต่างก็สร้างนิยามทางการศึกษาใหม่ ๆ ทั้งสิ้น การนำเสนอความแตกต่างหลากหลาย เพื่อแสดงตัวตนและอัตลักษณ์ทางการศึกษา ในฐานะวาทกรรมรอง เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับสิ่งที่เป็นทางเลือกของสังคม นอกจากนั้นแล้ว โลกาภิวัตน์ได้นำเสนอ ทักษะศตวรรษที่ 21 (21st Century Skills) วิจารณ์ พานิช (2555. ) ได้อธิบายบอกถึงทักษะศตวรรษ 21 ไว้ว่า

ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21ที่ทุกคนจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต คือ การเรียนรู้ 3R x 7C
3R คือ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้), และ (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น)
7C ได้แก่
Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์)
Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ)
Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้) “

จากวาทกรรมทักษะศตวรรษที่ 21 ได้บ่งบอกการเปลี่ยนแปลงจากครูเป็นศูนย์กลาง จากเนื้อหาเป็นศูนย์กลาง นำไปสู่ ทักษะและความสามารถของผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เมื่อมองเป้าหมายนั่นก็คือกลับไปหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต นั่นก็คือ การศึกษาที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ (Informal Education ) นั่นเอง แต่จะไม่กล่าวถึงตัวมนุษย์ที่หลากหลาย แต่ก็มองเห็นความสามารถของมนุษย์หรือตัวผู้ มากกว่า ตัวอำนาจของผู้สอนในศตวรรษที่แล้ว มีลักษณะเป็นมนุษยนิยมมากขึ้น แต่ตัวสถาบันการศึกษา ก็มีอำนาจเช่นเดิม แต่เพิ่มอำนาจให้ผู้เรียนที่เห็นได้ชัดคือ การมอบหมายการประเมินให้ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินผลการเรียนของตัวเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้สิ่งที่เรียกว่า “องค์ความรู้” ของศึกษาศาสตร์และการฝึกหัดครู ควรจะเป็นเช่นไร นั่นคือคำถามที่สำคัญ ในยุคนี้สิ่งที่เรียกว่าตัวองค์ความรู้มีมากมาย แบบจำลองทางการศึกษามีมากมาย สามารถสืบค้นได้ทางสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้ในพริบตา สิ่งสำคัญที่สุดคือท่าทีต่อ “องค์ความรู้ “ มากกว่า หมายความว่า สิ่งที่เรียกว่าความรู้เฉพาะด้านเช่น ศาสตร์การสอน (pedagogy) ต้องมีท่าทีเป็นการโค้ช (Coaching) ศาสตร์การสอนแต่เดิมเป็นวาทกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่าครูและผู้เรียน ในฐานะที่ผู้เรียนไม่รู้อะไร ครูมีหน้าที่เติมความรู้เหมือนการโยนขยะลงถัง หรือแบบธนาคารเงินฝากของเปาโล แฟร์ (Freire,2005) มาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ ที่เป็นในแนวราบมากขึ้น นำศักยภาพของผู้เรียนมากขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้จากการออกแบบการเรียนรู้แบบสานเสวนาที่เปาโล แฟร์ (Freire,2005) ได้นำเสนอไว้ เกี่ยวกับความรักในตัวผู้ร่วมเสวนา การนำเสวนาด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งได้ถูกพัฒนามาอยู่ในหลายรูปแบบ หนึ่งในรูปแบบนั้น ได้แก่ กลุ่มจิตปัญญาศึกษา(Contemplative education)ดูใน ปราณี อ่อนศรี (2557)ที่นำเสนอเรื่อง “การสานเสวนา” Dialogue และการโค้ช เพื่อการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ (Transformation) ด้วยการใช้ปัญญาร่วม (Collective wisdom) ตลอดจนกระบวนทัศน์ การเปลี่ยนแปลงแบบตัว U ของ Scharmer (2007) ที่เน้นการฟังไม่ตัดสินและใช้ใคร่ครวญภายใน ซื่งเป็นองค์ความรู้ใหม่ ที่มีความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้นแล้วองค์ความรู้ด้าน Critical Pedagogy มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการถอดรื้อการศึกษาเพื่อแสวงหาความจริง และเป็นหนึ่งในทักษะศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญในการออกแบบกระบวนการใหม่ ซึ่งในศตวรรษหน้า ศึกษาศาสตร์ ควรจะเป็น ศาสตร์ของมวลชน ที่มวลชนทุกระดับสามารถเข้าถึง และนำองค์ความรู้ไปใช้ได้เอง แทนที่จะถูกผูกขาดไว้เพียงแค่การสร้างปัญญาชนของรัฐ ซึ่งอัตราการจ้างงานเริ่มลดน้อยลงไปทุกที จุดยืนที่อยู่เคียงข้างมวลชนประชาชนที่นำไปใช้ในบ้านเรียน(Home School) ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน (community leaning center) ในลักษณะที่ไม่ผูกขาดอำนาจ ความจริง ไว้ที่รัฐแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้นการผลิตครูในยุคศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไร ? คำตอบในมิติที่หนึ่ง คือสถานภาพของครูที่เป็นปัญญาชนของรัฐต้องลดน้อยถอยลงไปตามการจ้างงานของรัฐ เนื่องจากมีการผลิตจำนวนมากมายหลายสถาบัน แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชนก็ผลิตร่วมด้วย เมื่อเป้าหมายในศตวรรษที่ 21 ที่ต้องการให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้ความเป็นครูเปิดกว้างขึ้นที่ผู้คนหลากหลายสามารถเป็นครู และเข้าถึงสิ่งทีเรียกว่า “องค์ความรู้แห่งความเป็นครู” ได้ทุกที่ ทุกเวลา และจากความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ทำให้กระบวนการที่พยายามจะจัดการศึกษาเฉพาะกลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มลีลาชีวิต กลุ่มผู้พิการ กลุ่มปัญญาแปดด้าน ที่พยายามสร้างพื้นที่ทางสังคมในการต่อรองให้เกิดการยอมรับใน อัตลักษณ์ ตัวตนที่หลากหลาย ต้องมีการเปิดกว้างให้ปัญญาชนของกลุ่ม ได้เข้าถึงทรัพยากรที่เรียกว่า “ศึกษาศาสตร์” และการฝึกหัดความเป็นครู ต้องจัดให้แม้แต่เด็กมัธยมที่ต้องการสอนสิ่งต่าง ๆ ให้กับน้อง ก็ต้องสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนเป็นครูได้ ศิษย์ของคณะศึกษาศาสตร์จึงไม่ใช่เพียงแค่ครูที่ผูกขาดโดยรัฐอีกต่อไป แต่เป็นประชาชนทุกกลุ่มที่สามารถเข้ามาใช้ทรัพยากรทางสังคมชุดนี้ได้ รวมทั้งการเชื่อมโยงภูมิปัญญาท้องถิ่นได้มีโอกาสได้แสดงตัว แสดงคำตอบทางวิชาการ ตลอดจนอนุรักษ์องค์ความรู้อื่นที่ถูกกีดกันในยุคโมเดิร์นออกไปทั้งสิ้น คำตอบในมิติที่สอง คือมุมมองของครูที่เป็นปัญญาชนของรัฐก็ตาม หรือปัญญาชนฝ่ายประชาชน ก็ตาม มุมมองในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นมุมมองของมนุษย์นิยม (Humanism) ที่มุ่งปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ทางอำนาจทางการศึกษา จะต้องมองเห็นความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ต้องมีมุมมองที่ไม่ใช่แบบตาบอดสี ความแตกต่างหลากหลายที่เกิดขึ้นของมนุษย์ ครูที่เป็นปัญญาชนของรัฐหรือของประชาสังคม จะต้องมีความเข้าใจ ในความแตกต่างทางการศึกษาและจัดการศึกษารายบุคคล การจัดการศึกษารายบุคคลจะต้องสะท้อนการมีครูที่หลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะสร้างศักยภาพ ตามความถนัด ซี่งไม่สามารถสร้างได้ในองค์กรของรัฐ ดังนั้นการผลิตปัญญาชนของประชาสังคมที่แตกต่างหลากหลาย เข้าเป็นครูจึงตอบสนองต่อความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ เข้าแทนที่สถานศึกษาในปัจจุบันที่ไม่เข้าใจมนุษย์ เห็นมนุษย์เป็นแค่ object ทางความสัมพันธ์ทางอำนาจ ในมิติที่สามครูที่เป็นปัญญาชนของรัฐ และปัญญาชนของประชาสังคม (civil society) จะต้องกระบวนการศึกษาที่ถูกกดทับ หรือถูกทำให้หายไป หรือเสื่อมความสำคัญ เช่น การศึกษาด้วยความสนใจส่วนตัวของมนุษย์ (Informal Education) และการศึกษานอกระบบ(Non formal Education) ในฐานะวาทกรรมรองของยุคโมเดิร์น ขึ้นมาเถลิงอำนาจ แทนทีการศึกษาในระบบ(Formal Education) ซึ่งการศึกษาทั้งสองระบบนี้ในยุคโมเดิร์น ผู้คนที่แตกต่างหลากหลายได้ใช้มันในการนิยามตัวเองทางการศึกษาที่แสดงถึงความแตกต่างหลากหลาย ขึ้นเป็นการศึกษาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ถ่ายทอดได้ หรือแม้แต่จะประสาทปริญญาบัตรก็ยังได้ ดังเช่นการพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตกิติมศักดิ์ ให้กับพะตี จอนิ โอโดเชา ปัญญาชนของขาวกะเหรี่ยง ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มิติที่สี่ ครูที่เป็นปัญญาชนของรัฐหรือปัญญาชนของประชาสังคม จะต้องใช้กระบวนการวิชาการที่เป็นวาทกรรมรองเข้ายึดครองอำนาจหลัก ๆ ของการศึกษาในระบบ ได้แก่ กระบวนการวัดและประเมินผล ทุกระดับ โดยสร้างมาตรฐานการวัดและประเมินผลที่สอดคล้องกับ ผู้คนที่หลากหลาย สติปัญญาเฉพาะด้านที่หลากหลายของมนุษย์ เมื่อมนุษย์ใช้สติปัญญาด้านที่ตัวเองชอบหรือถนัด ก็จะทำเกิดผลงานอันยอดเยี่ยม เกิดสมรรถนะที่ต้องการ แม้จะเลือกไปทำงานกับองค์กรไหน ไม่ว่าทุนนิยมหรือชุมชน ก็จะไปรอด เพราะมีสมรรถภาพ มากกว่า มีใบรับรอง เนื่องจากคาดการณ์ต่อไปได้ว่าการผลิต “ใบรับรอง” มีความเฟ้อมาก เมื่อมีให้เลือกจำนวนมาก สิ่งที่จะต้องตัดสินก็คือ สมรรถภาพที่แท้จริง ผู้คนที่ผ่านการฝึกในทางเฉพาะด้านมีความรักและความถนัดในสิ่งนั้น ๆ ย่อมรังสรรค์งานได้ดีกว่า มีความคิดสร้างสรรค์มากกว่า

โดยสรุปแล้ว ในทรรศนะของผู้เขียน มีมุมมองต่อ “ศึกษาศาสตร์” ในฐานะสถาบันของสังคม ที่ผู้คนสามารถมาใช้ทรัพยากรทางวิชาการที่หลากหลาย ซึ่งมีหน้าที่ผลิตครูซึ่งถ้าบทบาทเดิมมีความจำกัดก็คือ ผู้ศึกษาเป็นแค่ปัญญาชนของรัฐที่มีความต้องการเพิ่มพูนวิทยฐานะ ซึ่งมีความจำเป็นจะต้องผลิตวิชาชีพครูให้กับประชาสังคมด้วย อันเนื่องมาจากการดำรงอยู่อย่างหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์ ลีลาชีวิต สถานภาพ ตลอดจนสติปัญญา ตลอดจนการเรียกร้องสิทธิของชุมชน สิทธิของคนพิการ สิทธิของชาติพันธ์ สิทธิของกลุ่มลีลาชีวิต สิทธิของสตรี สิทธิของเด็กพิเศษ ทำให้การศึกษา ณ ปัจจุบันมีการเปิดกว้างมากขึ้น เช่น มีการทำกรอบของการศึกษาของครอบครัว การศึกษาของศูนย์การเรียนชุมชน ฯลฯ ทำให้การจัดการศึกษาให้กับคนที่หลากหลาย ไม่สามารถใช้โรงเรียน ซึ่งมีขอบเขตจำกัดเนื่องมาจากการออกแบบในยุคโมเดิร์นหรือยุคทันสมัยผูกติดกับวิทยาศาสตร์และครองความเป็นเจ้ามานาน (Hegemony) ทำให้ขาดความยืดหยุ่นทั้ง อุดมการณ์และวิถีการปฏิบัติ ซึ่งประชาสังคมจะช่วยเติมเต็มให้กับการศึกษาที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งในอนาคตกระแสการบ่าไหลของโลกาภิวัฒน์ทำให้การศึกษาต้องถูกบังคับเปิดกว้างมากขึ้น วาทกรรมและพื้นที่การต่อรองของคนแตกต่างหลากหลายจึงสามารถจัดการศึกษาเองได้ วิชาการทางศึกษาศาสตร์ซึ่งเป็นวาทกรรมชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้น จึงสามารถปรับเปลี่ยนให้แตกต่างหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อมนุษย์ที่หลากหลาย มากว่าวิชาการเทคนิควิทยาการทางอำนาจเฉพาะด้านที่ทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษาทางปัญญา ที่ตัดสินความโง่ ฉลาด ของคน ผ่านเทคนิควิชาการของตนเองเท่านั้น

บรรณานุกรม

พิมพ์พรรณ เทพสุเมธานนท์ (2536) ประวัติศาสตร์การศึกษา เอกสารบรรยายรายวิชา มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ปราณี อ่อนศรี (2557.) จิตปัญญาศึกษา: การศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ในศตวรรษที่ 21, วารสารพยาบาลทหารบก ปีที่ 15 ฉบับที่ 1 (มค –เมย)

วิจารณ์ พานิชย์ (2555.) วิถีการสร้างการเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงษ์

วินิจฉัย รังสิชนานนท์ (2557.) Modern management ,เอกสารประกอบการอบรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

Freire, Paulo (2005.) Pedagogy of the oppress , 30Th edition the continuum international plubishing

Scharmer C.O ( 2007.) Theory U Leading from the Future as it Emerges The Social technology of Presensing, MIT Cambridge

ปรับปรุงจากบทความ การวิพากษ์การผลิตครูในศตวรรษที่ 21 : มุมมองพหุวัฒนธรรมเชิงวิพากษ์

หมายเลขบันทึก: 596067เขียนเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 07:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2015 07:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท