วิชาการกับธุรกิจหลอกลวงวิชาการ


บทความเรื่อง Recent scandals in the realm of science research call into question the validity of some published work ลงพิมพ์ในนิตยสาร Time ฉบับวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ บอกเราว่าธุรกิจรับทำผลงานวิจัย ในต่างประเทศก็ไม่เบา

เขาบอกว่า มีโฆษณาในประเทศจีน ว่าหากคุณมีเงิน ๕ แสน (บาท) คุณจะเป็น first author ของผลงานวิจัยคุณภาพสูงด้านมะเร็งได้ โดยคุณไม่ต้องเหนื่อยยากใดๆ เพราะผู้ให้บริการจะรับเป็นธุระทั้งหมด โฆษณานี้ถูกนำมาเปิดโปงโดยวารสาร Science ในปี 2013

เพราะแรงกดดันให้ต้องมีผลงานวิจัย จึงจะมีความก้าวหน้าในมหาวิทยาลัย หรือในโรงพยาบาลมีชื่อ จึงเกิดธุรกิจบริการทำผลงานวิชาการ ซึ่งหมายถึงการปลอมแปลงผลงานโดยบริษัทให้บริการ และมีคนซื้อบริการ ทั้งหมดนั้นเป็นอาชญากรรมทางวิชาการ

เมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ บริษัท Springer ยักษ์ใหญ่ของบริษัทตีพิมพ์วารสารวิชาการ ประกาศว่า กำลังจะประกาศยกเลิกบทความวิจัยที่ตีพิมพ์ไปแล้ว (retraction) ๖๔ รายการ เนื่องจากพบความ ผิดปกติในกระบวนการ peer review หลังจากประกาศถอนไป ๔๓ บทความในปลายปี ๒๕๕๗ โดยที่ในช่วงสองสามปีแรกของ ศตวรรษที่ ๒๑ อัตรายกเลิกบทความตกราวๆ ปีละ ๓๐ แต่ในปี 2011 ปีเดียว ประกาศยกเลิกไป ๔๐๐ ตัวเลขบอกเราว่า อาชญากรรมทางวิชาการเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

มีคนตั้งเว็บไซต์ Retraction Watch บอกรายชื่อนักวิทยาศาสตร์ที่มีอัตรา retraction สูงสุด ผู้ที่ติดอันดับ ๑ ชื่อ Yoshitaka Fujii ที่มีจำนวน retraction สูงถึง ๑๘๓ เรื่อง

ทั้งหมดนี้นำไปสู่ความตระหนักในจุดอ่อนของกระบวนการ peer review ที่หา reviewer ยาก เขาบอกว่าแต่ละปีทั่วโลกมีการตีพิมพ์บทความวิจัย/วิชาการ ๑.๘ ล้านบทความ มีวารสารกว่า ๒๘,๐๐๐ รายชื่อ เฉพาะบริษัท Sringer มี ๒,๐๐๐ วารสาร เพราะหา reviewer ยาก บางครั้งผู้เขียนต้นฉบับเองช่วยเสนอชื่อ reviewer เปิดช่องให้เสนอพรรคพวก หรือคนที่ช่วยเหลือกัน เป็น reviewer วารสาร Nature บอกว่า มีผู้เสนอต้นฉบับลงตีพิมพ์คนหนึ่งเสนอชื่อตนเอง ตอนยังไม่แต่งงาน เป็น reviewer

ผู้พิมพ์วารสารจับได้ว่ากระบวนการ review ต้นฉบับมีปัญหา นำไปสู่การ retract บทความ เพราะจับได้ว่า e-mail address ของ reviewer เป็น address ปลอม

ต้นเหตุหนึ่งมาจากการบริหารงานแบบ outsource คือบริษัทตีพิมพ์วารสาร outsource การ review ต้นฉบับให้บริษัทอื่นรับไปทำ คือการ review ต้นฉบับเป็นธุรกิจ

ยังมีบริษัทธุรกิจอีกพวกหนึ่ง รับจ้างช่วยเหลือนักวิจัยในด้านการช่วยปรับปรุงภาษา และคำแนะนำอื่นๆ รวมทั้งแนะชื่อ reviewer ธุรกิจสองกลุ่มนี้เมื่อมาบรรจบกัน โอกาสเกิดการ review แบบไม่เข้มข้นทางวิชาการ ก็เกิดขึ้น

เหล่านี้เป็นสัญญาณว่า กติกาเลื่อนชั้นในวิชาชีพ ด้วยการนับจำนวนผลงานตีพิมพ์ เน้นในวารสารใน ๒๐% บน ที่มี impact factor สูง เป็นแรงกดดันให้มีการทำผิด และมีบริการแบบมิจฉาชีพดังกล่าว

วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๕๘ ผมไปร่วมงาน 2nd Engagement Thailand Annual Conference ที่สงขลา ไปพบบริการช่วยเหลือที่จัดโดย สกว. ดำเนินการโดย รศ. ดร. ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย และพัฒนา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บริการรับปรึกษานำงานวิจัย ABC งานบริการวิชาการแก่สังคม สู่การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ เป็นบริการช่วยเหลือฟรี และน่าชื่นชมมาก


ป้ายระบุการให้บริการ


ความรู้เกี่ยวกับ ISI


รศ. ดร. ชิตณรงค์กำลังแสดงวิธีค้นให้ ผศ. ดร. ไมตรี อินทร์ประสิทธิ์ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มข. ดู



วิจารณ์ พานิช

๓๐ ส.ค. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595659เขียนเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2015 13:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท