ปฏิรูปการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ ๒๑ ด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ว่าด้วยการทดสอบ (ที่ไม่เรียกว่าสอบ)


วิสัยทัศน์ใหม่ว่าด้วยการทดสอบคือ ทดสอบเพื่อสร้าง metacognition ให้นักเรียน/นักศึกษา เข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตน และพัฒนาวิธีการเรียนของตนเป็น เป็นการทดสอบเพื่อพูนพลัง (empower) การเรียนของนักเรียน ไม่ใช่วิสัยทัศน์การสอบในปัจจุบัน ที่ให้ผลเพิ่มความท้อแท้ในการเรียนของนักเรียน


บทความ Building the 21st Century Learner : A New Vision for Testing ลงในนิตยสาร Scientific American ฉบับเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ บอกว่าการทดสอบแบบที่วงการศึกษาใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นตัวทำลายนักเรียน โดยสร้างความเครียดที่ไม่จำเป็น และเปลี่ยนห้องเรียนเป็นห้องติวเพื่อสอบ แทนที่จะจัดการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ในความเป็นจริง การสอบมีคุณ หากจัดอย่างถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่วิธีการที่โรงเรียนในสหรัฐอเมริกา (และในไทย) จัดอยู่ในปัจจุบัน

เขายกตัวอย่างกิจกรรมที่เรียกว่า “ทบทวนความเข้าใจ” (retrieval practice) ที่มีหลักฐานมาเป็นร้อยปี ว่าช่วยการเรียนรู้ โดยที่มองมุมหนึ่ง การทบทวนความจำ ก็คือการทดสอบนั่นเอง แต่ท่าทีของครู ในกระบวนการนี้ ไม่ใช่ท่าทีของการสอบ แต่เป็นท่าทีของการช่วยให้ศิษย์ได้เรียนรู้ โดยคำอธิบาย จากศาสตร์ว่าด้วยการเรียนรู้ (cognitive science) คือ เมื่อใดที่นักเรียนทบทวนความจำด้วยการฝึกตอบคำถาม ของครู สารสนเทศหรือความรู้เรื่องนั้นจะถูกดึงจาก “ความจำระยะยาว” (Longterm Memory) ไปสู่ “ความจำใช้งาน” (Working Memory) เพื่อตอบคำถาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเข้าใจและความจำเรื่องนั้น ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เขาบอกว่า จะช่วยให้เชื่อมโยงความรู้นั้นกับเรื่องอื่นที่ไม่ได้อยู่ในคำถามดีขึ้นด้วย

การทบทวนความเข้าใจ (retrieval) โดยให้นักเรียนทำ concept map ระหว่างเรียน เทียบกับนักเรียนอีก กลุ่มหนึ่งที่เรียนโดยไม่ได้ทำ concept map พบว่านักเรียนกลุ่มทำ concept map สามารถทำแบบทดสอบ ให้ตอบข้อความรู้ได้ดีกว่า และยิ่งกว่านั้น ยังทำข้อสอบแบบเชื่อมโยงความรู้ได้ดีกว่าด้วย

เขาสรุปว่า แบบฝึกหัดทบทวนความเข้าใจ นอกจากช่วยความจำแล้ว ยังช่วยให้เกิดการเรียนรู้แบบลึก (deep learning) ด้วย

มีผลการวิจัยในนักเรียนหลายผลงาน ที่บอกว่า การทำแบบฝึกหัดทบทวนความเข้าใจ (retrieval practice) โดยการ quiz ช่วยให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้นอย่างชัดเจน จนมีการทำคู่มือครู How to Use Retrieval Practice to Improve Learning

หัวใจคือ ต้องใช้การทดสอบให้ช่วยหรือส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียน ไม่ใช่ปิดกั้นการเรียนรู้อย่างที่ เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยที่ครู/อาจารย์ต้องมีทักษะดังกล่าว โดยเคล็ดลับตัวแรกคือ อย่าเรียกว่าสอบ หรือทดสอบ ให้ใช้คำและท่าทีที่แสดงว่ากิจกรรม quiz นั้นเป็นส่วนหนึ่งของการเรียน ช่วยให้นักเรียน/นักศึกษา รู้ว่าตนเข้าใจและจดจำประเด็นหลักๆ หรือสำคัญๆ ได้แล้วหรือยัง โดยที่ นร./นศ. ตระหนักว่า กระบวนการนั้น เป็นสิ่งที่ครู/อาจารย์ ช่วยให้พื้นความรู้ของตนแน่นพอที่จะต่อยอดการเรียนรู้ไปสู่การเรียนตอนต่อไปได้ คือ นร./นศ. ตระหนักว่า การเรียนรู้ เป็นการต่อยอดความรู้ขึ้นไปเป็นขั้นๆ หากพื้นไม่แข็งแรงครบถ้วน จะต่อยอดไม่ขึ้น หรือต่อผิดๆ

นั่นคือ ครู/อาจารย์ จัด quiz เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และในกระบวนการนั้น ช่วยให้ นร./นศ. ตระหนักหรือมีสติอยู่กับ metacognition หรือกระบวนการเรียนรู้ของตน รู้ว่าตนเองเดินทางอยู่ตรงไหนของ แผนที่การเรียนรู้ที่ตนต้องการ

ย้ำว่า ครูต้องจัดให้การทดสอบ ที่เรียกใหม่ว่า quiz เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของศิษย์ อ่านแล้วผมนึกถึงบันทึก ชุด ประเมินเพื่อมอบอำนาจ

เขาอ้าง Marsha Lovett, Director, Eberly Center for Teching Excellence and Educational Innovation, Carnegie Mellon University ว่าในระหว่างเรียน นักเรียน/นักศึกษา ต้องพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า metacognition ขึ้นภายในตน พร้อมๆ กันกับการเรียนวิชา และสร้างนิสัย

metacognition หมายถึง ความสามารถในการพิจารณาวิธีเรียนรู้ของตนเอง ตระหนักในสิ่งที่ตนรู้ และไม่รู้ และสามารถใช้ความตระหนักดังกล่าว ในการจัดการ หรือปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ของตนเอง

การทดสอบที่ดี ต้องช่วยให้นักเรียน/นักศึกษา ปรับปรุงการเรียนรู้ของตนเอง ช่วยให้เกิดความมุมานะ พากเพียร เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ และมีความมั่นใจว่าตนเรียนรู้ให้บรรลุผลได้ หากอดทนพากเพียร

การสอบจึงต้องตามมาด้วยการเฉลย และต้องไม่ใช่แค่เฉลยถูกผิด แต่ต้องบอกด้วยว่าทำไมจึงถูก ทำไมจึงผิด มีคำตอบอื่นอีกไหมที่ถูกในเรื่องนั้น และต้องชักชวนนักเรียนคิดโยงไปสู่ชีวิตจริง ว่าเรื่องในข้อสอบ เชื่อมโยงสู่ชีวิตจริงอย่างไร ในกรณีของข้อสอบอัตนัย ต้องเฉลยว่าคำตอบที่ได้คะแนนเต็มต้องมีองค์ประกอบ หลักอะไรบ้างครบถ้วน ผมมีความเห็นว่า metacognition มีความสำคัญมากกว่า หรือเท่าเทียมกันกับตัวเนื้อ ความรู้ ทั้งสองกรณีสำคัญในแง่ของการเป็นบันไดเชื่อมไปสู่การเรียนรู้ต่อเนื่อง

การเฉลยคือ Constructive Feedback ตามที่ระบุไว้ ในหนังสือ ประเมินเพื่อมอบอำนาจการเรียนรู้ ครูต้องเฉลยด้วย ท่าทีเชิงบวก ไม่มีท่าทีตำหนิความผิด หรือตำหนินักเรียนที่ทำข้อสอบผิด ต่องหมั่นย้ำว่า “ผิดเป็นครู” และ หมั่นเชื่อมโยงประเด็นในข้อสอบ กับชีวิตภายหน้าของนักเรียน จะทำให้การเฉลยเป็น การ “ให้ข้อมูลป้อนกลับเชิงสร้างสรรค์” (constructive feedback)

Lovette ได้คิดเครื่องมือ ที่เขาตั้งชื่อว่า “exam wrapper” เพื่อกระตุ้นพัฒนาการของ Metacognition ของนักศึกษา โดยเมื่อตรวจคำตอบและให้คะแนนเสร็จ จะแจกกระดาษคำตอบแก่เจ้าของตำตอบพร้อม กระดาษ exam wrapper ที่มีคำนำว่า “คะแนนที่ได้รับ จะทำให้นักศึกษาเตรียมตัวเพื่อการทดสอบคราวหน้า แตกต่างจาก คราวนี้อย่างไรบ้าง เช่น เปลี่ยนแปลงนิสัยในการเรียน ฝึกทักษะสำคัญบางอย่าง ขอให้นักศึกษาเขียนอย่าง จำเพาะเจาะจง และบอกว่าอาจารย์จะช่วยอะไรได้บ้าง”

ข้อคำถามใน exam wrapper มีดังต่อไปนี้

นักศึกษาใช้เวลาเท่าไร ในการทบทวนสิ่งต่อไปนี้

  • อ่านทบทวนจดเล็กเชอร์ ........ นาที
  • ทำการบ้าน ..........นาที
  • ทบทวนสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ ....... นาที
  • อ่านหนังสือ .......นาที

จากผลการทดสอบครั้งนี้ ขอให้นักศึกษาประเมินว่า ตนเองได้คะแนนลดลงจากสาเหตุต่อไปนี้ มากน้อยเพียงไร

  • ......% จากการไม่เข้าใจหลักการ (concept)
  • ......% จากความเลินเล่อ
  • …...% จากไม่เข้าใจคำถาม
  • …...% จากเหตุอื่น (โปรดระบุ) ............................................................................... .................................................................................................................................

เป้าหมายของ exam wrapper คือ ช่วยให้นักศึกษาคิดถึงสิ่งที่ตนไม่รู้หรือไม่เข้าใจ และทำความเข้าใจ สาเหตุที่ตนจับความไม่ได้ รวมทั้งทำความเข้าใจว่าจะเตรียนตัวเรียนให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร

Lovette ได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยใช้ exam wrapper เป็นบทหนึ่งในหนังสือ Using Reflection and Metacognition to Improve Student Learning บอกว่าในหนึ่งภาคการศึกษา ผลการเรียนของนักศึกษาชั้นที่ใช้ exam wrapper ดีกว่าผลการเรียนของนักศึกษาชั้นที่ไม่ได้ใช้ exam wrapper อย่างชัดเจน และในชั้นที่ใช้ exam wrapper กว่าครึ่งของนักศึกษาบอกว่าตนได้เปลี่ยนวิธีเรียน ที่เป็นผลจากการกรอกข้อความใน exam wrapper

มีครูระดับมัธยมศึกษา (ในสหรัฐอเมริกา) เอา exam wrapper ไปใช้กับนักเรียนของตนได้ผลดี นอกจากให้ทำแบบสอบถามใน exam wrapper แล้ว ครูยังทบทวนข้อสอบและคำตอบทีละข้อ โดยมีเป้าหมาย หลัก ที่การพัฒนา metacognition ของนักเรียน คือชี้ให้เห็นว่านักเรียนยังไม่รู้อะไร ผลคือ นอกจากช่วยให้ นักเรียนตระหนักในความไม่รู้ของตนแล้ว ยังช่วยลด “ความมั่นใจตนเองเกินพอดี” (overconfidence) ของนักเรียนบางคนได้ด้วย

James Pennebaker & Samuel Gosling ร่วมกันสอนวิชาจิตวิทยา ในชั้นเรียนขนาดใหญ่ที่มหาวิทยาลัย Texas at Austin ใช้ daily quiz online ให้นักศึกษาเข้าไปตอบ และได้รับ feedback ทันทีว่าตอบถูกหรือผิด จำนวนนักศึกษา ๙๐๑ คน ผลการสอบสุดท้าย นักศึกษาได้คะแนนโดยเฉลี่ย ครึ่งหน่วยอักษร (เช่นเดิมได้ บี คราวใหม่ได้ระหว่าง บี กับ เอ) สูงกว่านักศึกษากลุ่มก่อน จำนวน ๙๓๕ คน ที่ไม่ได้ใช้ online daily quiz

ที่ก่อความฉงน และดีใจยิ่งคือ นักศึกษากลุ่มที่ผ่าน online daily quiz ในวิชาจิตวิทยานี้ ยังได้คะแนนสูงขึ้นในวิชาอื่นที่สอนโดยอาจารย์ทั้งสอง และได้คะแนนสูงขึ้นในภาคการศึกษาต่อมาด้วย สะท้อนความสำคัญของการพัฒนา metacognition ต่อผลของการเรียน

วิสัยทัศน์ใหม่ว่าด้วยการทดสอบคือ ทดสอบเพื่อสร้าง metacognition ให้นักเรียน/นักศึกษา เข้าใจวิธีการเรียนรู้ของตน และพัฒนาวิธีการเรียนของตนเป็น เป็นการทดสอบเพื่อพูนพลัง (empower) การเรียนของนักเรียน ไม่ใช่วิสัยทัศน์การสอบในปัจจุบัน ที่ให้ผลเพิ่มความท้อแท้ในการเรียนของนักเรียน

การทดสอบแนวใหม่นี้ จะสร้างทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learners)



วิจารณ์ พานิช

๑ ก.ย. ๕๘


หมายเลขบันทึก: 595581เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2015 18:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2015 23:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบบันทึกเกี่ยวกับการศึกษาของอาจารย์มากค่ะ

แต่ดิฉันมีปัญหาเรื่องความหมายศัพท์เฉพาะด้านค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท