กระพี้กับแก่น symbol vs virtue


กระพี้กับแก่น symbol vs virtue

มนุษย์มีสมองที่ซับซ้อน เรามีสมองชั้นต้นบงการควบคุมส่วนที่ทำให้ "อยู่รอด" เรามีสมองชั้นกลางที่บงการและควบคุมส่วนที่ทำให้ "อยู่ร่วม" และเรายังมีสมองส่วนหน้าที่พัฒนาซับซ้อนที่สุดทำให้เราสามารถ "อยู่อย่างมีความหมาย" มนุษย์จึงจำเป็นต้องพัฒนาการสื่อสารให้สามารถสื่อได้ซับซ้อนใกล้เคียงกับ สิ่งที่ประสบ รู้สึก และจินตนาการให้มากที่สุด นอกเหนือจากส่วนที่เป็นรูปธรรมที่สัมผัสจับต้องได้แล้ว ที่ยากกว่าก็จะเป็นส่วนที่เป็นนามธรรม ความรู้สึก หรือในระดับลึกกว่านั้นได้แก่ มิติทางปรัชญา ความเชื่อ และจิตวิญญาณ

ดังนั้น "ภาษาพูด" จึงถูกตกแต่งด้วยสัมผัส rhyme and rhythm กลายเป็นบทกวี เสริมปรุงด้วยท่วงทำนองเสียงสูงต่ำเป็นภาษาดนตรีที่สั่นสะเทือนอารมณ์ได้ ลึกล้ำนุ่มนวล การใช้ body เสริมกับภาษาเป็นท่าร่ายรำแสดงพลังงานด้านต่างๆ ความรุนแรง ความอ่อนช้อย อ่อนโยน ความสุข ความเศร้า ฯลฯ และที่สุดก็มีการสร้าง "สัญญลักษณ์ และพิธีกรรม" ต่างๆนานาเพื่อให้มีความหมายครอบคลุมในมิติพิเศษที่ความเป็นมนุษย์สามารถมี ประสบการณ์ได้

สัญญลักษณ์สื่อถึง "คุณค่าที่ลึกซึ้ง" เสมอ

เวลาที่เราใช้สัญญลักษณ์ได้อย่างถูกต้อง เราจึงควรรำลึกถึง "ความหมายที่สัญญลักษณ์นั้นถูกสร้างมาทดแทน" เสมอ ขณะที่เราใช้จึงจะสัมผัสกับคุณค่าที่ทำให้เรากำลังกล่าวถึง

ผมนึกถึงภาพยนต์เรื่องหนึ่งชื่อ American President ที่ไมเคิล ดักกลาส เล่นเป็นประธานาธิบดี และแอนเน็ต เบนนิ่งแสดงเป็นผู้เชี่ยวชาญการลอบบี้ที่กลายมาเป็น President's girlfriend มีฉากหนึ่งที่ฝ่ายผู้ร้ายพยายามจะกระพือข่าวด้านลบของนางเอกเพื่อให้กระทบ กับประธานาธิบดีด้วยการเอาคลิปในอดีตตอนที่นางเอกเป็นนักศึกษาและกำลัง ประท้วงรัฐบาล มีการเผาธงชาติ (การเผาธงชาติดูเหมือนจะเป็นการกระทำผิดกฏหมายในหลายๆประเทศ) ประธานาธิบดีออกมาตั้งคำถามว่า " จริงหรือที่การต้องไม่เผา ไม่แตะต้องธงชาติคือการรักชาติที่แท้จริง หรือว่าการรักชาติที่แท้จริงนั้น ต้องคำนึงถึงทำไมเราต้องรักชาติ และเมื่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมันขัดขวางกับเหตุผลนั้นอาจจะต้องถึงกับเผา ธงชาติที่ไม่ได้กำลังเป็นตัวแทนของคุณค่านั้นๆอีกต่อไป " (ทำนองนี้ ผมลืมประโยคจริงๆไปแล้ว)

ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกสัญญลักษณ์มากมาย จนบางที มีบ้างไหม ที่เราลืมไปว่าที่สัญญลักษณ์นั้นๆมันทรงคุณค่าเหลือเกิน ไม่ได้เป็นเพราะวัสดุ รูปร่าง หรือความใหญ่โตอลังการ์ของสิ่งนั้นแต่อย่างใด แต่หากเป็นเพราะ "เรื่องราวที่สัญญลักษณ์นั้นๆเป็นตัวแทน" ต่างหาก? และหากเราจะต้องต่อสู้ ปกป้อง หวงแหน ก็ไม่ใช่ต่อสู้ ปกป้อง หวงแหน ตัววัสดุ รูปร่าง และความใหญ่โตอลังการของสิ่งนั้น แต่ต้องต่อสู้ ปกป้อง หวงแหนคุณค่าและเรื่องราวที่สิ่งนั้นๆเป็นตัวแทนจึงจะถูกต้อง?

ถ้าหากเราเข้าใจในเรื่องนี้ เราจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลากับการปกป้องสัญญลักษณ์มากเกินไป และหันไปใช้เวลามากขึ้น ถามตนเองว่าทำไมสัญญลักษณ์นั้นๆถึงสำคัญ สำคัญต่อตัวเรา สำคัญต่อสังคม สำคัญต่อชุมชน ฯลฯ ในพลวัตรการเปลี่ยนแปลงที่เกิดเร็วมากขึ้นเรื่อยๆ วัสดุสิ่งของจะเปลี่ยนแปลง แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ อะไรที่เป็นคุณงามความดี อะไรที่เป็น virtue ของเราในขณะนั้น

และแทนที่จะไปทะเลาะเบาะแว้งตีกันเพื่อก้อนอิฐ ปูน ป้าย กระดาษ เราอาจจะได้ตั้งคำถามว่า " คุณค่าที่นำเสนอนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ กำลังถูกคุกคามให้เสื่อมหรือไม่ เรามาถึงจุดๆนี้ได้อย่างที่คุณค่าความดีงามที่สัญญลักษณ์เหล่านั้นเคยสื่อ เคยศักดิ์สิทธิ์ กลายเป็นตัวตลก กลายเป็นหัวหลักหัวตอ ที่มีแต่คนเยอะเย้ยถากถาง ความน่าเชื่อถือและศักดิ์ศรีมันเสื่อมไปตั้งแต่เมื่อไร เพราะใคร และเพราะอะไร "

บางทีคำถามเหล่านี้เท่านั้น ที่จะนำมาซึ่งคำตอบและการที่เราจะธำรงรักษาคุณค่าบางอย่างสืบต่อไปได้

สกล สิงหะ
หน่วยชีวันตาภิบาล ร.พ.สงขลานครินทร์
วันพุธที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๑๕ นาฬิกา ๑๒ นาที
วันขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะแม

หมายเลขบันทึก: 595220เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2015 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2015 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท