"เป็นมนุษย์อย่างไร"


เป็นมนุษย์อย่างไรให้สมบูรณ์


๑) เป็นไปตามธรรมชาติ

๒) เป็นไปตามกฎหมาย

๓) เป็นไปตามกรรม

๔) เป็นไปตามปรัชญา

๕) เป็นไปตามศาสนา

------------------------

สัตว์ทั่วโลกมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ๔ อย่างคือ กิน เสพ นอน กลัว สัตว์ทุกชนิดเกิดมาต้องอาศัยอาหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงให้ร่างกายอยู่รอด เพื่อที่จะสร้างเผ่าพันธุ์และขยายสายพันธุ์ของตนสืบไป เมื่อกิน เมื่อเสพแล้ว สัตว์ก็ต้องการพักผ่อน เพื่อสะสมพลังงานในการสร้างกิจกรรม ในการกิน การเสพต่อไป โดยไม่มีสิ้นสุด จนกว่าจะตาย

อีกอย่างหนึ่งที่สัตว์ทุกชนิดมีเหมือนกันทุกสายพันธุ์คือ ความหวาดกลัว ทั้งสัตว์ป่า และสัตว์น้ำ หรือบนอากาศ ล้วนมีความหวาดกลัวทั้งสิ้น ดังนั้น พวกเขาจึงสร้างสรรค์แหล่งที่อยู่ หาที่อยู่ ที่หลบภัยตามที่อยู่นั้นๆ เช่น สัตว์ป่าก็มีรู มีรัง มีโพรง มีถ้ำ มีที่บัง ที่หลบซ่อน เพื่อรักษาชีวิตของตน นอกจากนี้ สัตว์ป่ายังถูกกระตุ้นให้สร้างอาวุธหรือสร้างความสามารถบางอย่างมาเพื่อปกป้องตัวเองด้วย เช่น เขา เขี้ยว กรงเล็บ พิษ ลาย สี ความเร็ว เป็นต้น

สาเหตุที่บรรดาสัตว์ต่างๆ เหล่านั้นสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อตัวเอง ก็เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ และได้สร้างสรรค์ให้โลกสวยงามและสมดุลต่อไป นั่นคือ ลักษณะที่มนุษย์เรียกว่า สัตว์โลก แล้วมนุษย์เป็นสัตว์หรือไม่ แตกต่างจากสัตว์อย่างไร และมีอะไรเป็นเครื่องสนับสนุนความเป็นมนุษย์

คำว่า “สัตว์” (Being) แปลว่า ข้อง คือข้องในกระแสอวิชชา ตัณหา อุปาทาน จนไม่รู้ที่จะไปข้างหน้า ตาจึงบอด ทำให้เดินทางไปไหนไม่ไกล จึงวนเวียนอยู่ในกระแสวังวนแห่งวัฏฏะนี้ เช่น สัตว์เดรัจฉานที่ไม่สามารถพัฒนาไปสู่ความเป็นสัตว์ประเสริฐได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขที่ตายตัวของตนเอง ตั้งแต่เกิด ดังนั้น จึงมีมนุษย์เท่านั้น ที่จะสามารถพัฒนาไปสู่เส้นทางอริยมรรคได้ ถ้ามนุษย์เกิดมาแล้วแต่ไม่สามารถพัฒนาตัวเองไปสู่ขั้นอริยะที่สูงไปกว่าสัตว์โลก มนุษย์ก็เป็นได้แค่ชื่อเรียก แต่เนื้อแท้เป็นได้แค่ “คน” เท่านั้น

สิ่งที่มนุษย์ติดอยู่ในฐานะ ”คน” (Man) และจะกลายเป็นเหมือนลักษณะสัตว์โลกทั่วๆ ไปคือ ลักษณะ ๔ อย่างที่กล่าวข้างต้นนั้น ตรงกันข้าม ถ้าเราขัดเกลา ลดละ ฝึกหัด ฝึกฝนตนเองให้ห่างไกลหรือให้น้อยลงเรื่อยๆ เราก็จะเข้าไปสู่กระแสเส้นทางคำว่า “มนุษย์” (Human being) ด้วยเหตุนี้ ท่านพุทธทาสจึงเตือนนิสัยคนเมืองที่รุ่งเรืองด้วยการกิน การแสวงหาความสุขทางกามารมณ์ และมุ่งแสวงหาเกียรติยศ ตำแหน่ง ศักดิ์ศรี จนไม่มีเวลาที่จะขัดเกลาตัวเองและไม่รู้จักตัวเองดีพอ ซึ่งลักษณะของมนุษย์เมืองที่กล่าวนี้คือ สัญชาตญาณของสัตว์มนุษย์ ซึ่งไม่ต่างจากสัตว์มากนัก

ดังนั้น ทำอย่างไรเราจึงจะสร้างสรรค์และทำตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ พระพุทธศาสนามีคำตอบในหลักการนี้ โดยมุ่งเน้นที่พัฒนาด้านจิตใจ ซึ่งสัตว์ไม่มีคุณสมบัตินี้เท่ามนุษย์ มีตัวอย่างคือพระอริยสงฆ์ที่ท่านมุ่งพัฒนาด้านความเจริญทางจิตวิญญาณด้วยการฝึกสมถะและวิปัสสนา เช่นท่านพุทธทาสได้แต่งตำราที่เกี่ยวข้องกับการสร้างมนุษย์ให้สมบูรณ์เรียกว่า “คู่มือมนุษย์” (Handbook of Human Being) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเกิดมา เราก็เชื่อว่าเราเป็นมนุษย์ทันที เป็นคนทันที ซึ่งเป็นไปตามสมติกันเท่านั้น มิได้เป็นด้วยคุณสมบัติจริงๆ แล้วอะไรที่รับรองเราว่าเป็นมนุษย์ละ ในที่นี่ขอประมวลไว้ ๕ ฐานคือ-


๑. เป็นมนุษย์ตามธรรมชาติ ในแง่กายภาพแล้ว มนุษย์และสัตว์ที่เกิดมาไม่แตกต่างกัน เนื่องจากว่า ต้องอาศัยสสารหรือธาตุสำคัญในการสร้างกายภาพขึ้นมา และอาศัยธาตุเหล่านี้หล่อเลี้ยงให้เจริญเติบโตด้วย ที่แตกต่างที่ตรงที่สายพันธุ์หรือเผ่าพันธุ์เท่านั้น ดังนั้น เผ่าพันธุ์ สายพันธุ์ ประเภทของสัตว์คือ คุณสมบัติที่แตกต่างกัน เช่น สัตว์บก สัตว์น้ำ สัตว์อากาศ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะที่อยู่อาศัย และสิ่งที่แตกต่างไปกว่านั้นคือ ดีเอ็นเอ รูปทรง สัญเพศ ลักษณะนิสัย เป็นต้น

สัตว์นั้นโดยทั่วไปมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ๔ ฐาน ที่กล่าวแล้ว แต่สัตว์ที่เรียกว่า มนุษย์นั้น แตกต่างไปจากสัตว์โดยทั่วไปในแง่ รูปร่าง รูปทรง มีพฤติกรรม (การคิด การพูด การทำ) ที่เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นไปตามธรรมลักษณ์ของตนเองโดยแท้ กระนั้น ลักษณะเหล่านี้ ก็ไม่อาจบอกได้ว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจาก มีสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่แสดงออกคล้ายมนุษย์เช่นกัน จึงสรุปไม่ได้ว่า คุณสมบัติเหล่านี้ เป็นเครื่องชี้วัดว่า เป็นมนุษย์ได้ไม่สมบูรณ์

๒. เป็นมนุษย์ตามกฎหมาย การเป็นมนุษย์ ตามธรรมชาตินั้น ไม่มีกฎหมายรับรอง นอกจากหลักฐานในตัวมันเอง เมื่อเกิดแล้วจึงไม่อาจได้รับการคุ้มครองและรับรองตามนิติรัฐได้ ด้วยเหตุนี้ มนุษย์เกิดมาจึงต้องได้รับการคุ้มครอง การรับรอง การลงทะเบียนจากรัฐ เพื่อให้รู้ ให้ทราบจำนวน ปริมาณ เพื่อการบริหาร จัดการภายหลังได้สะดวกขึ้น ดังนั้น มนุษย์ ที่เกิดมา จึงต้องได้รับรองจากกฎหมายตามรัฐธรรมของประเทศ หรือของรัฐนั้นๆ อย่างทั่วถึง เมื่อใครก็ตาม มีบุคคลที่เกิดมา ต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ทางราชการให้เป็นบุคคลที่ถูกรับรองตามทะเบียนราษฎร์ เพื่อจะได้รับรองการเป็นพลเมืองของประเทศนั้นด้วยการออกบัตรประจำตัวประชาชนให้

การเป็นมนุษย์ลักษณะนี้ เป็นไปตามกฎหมายของประเทศเรียกว่า รัฐธรรม เช่น รัฐธรรมของไทยฉบับปี ๔๐ มาตรา ๔ บอกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ย่อมได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้ มนุษย์ยังต้องได้รับการรับรองจากกฎอื่นๆ เช่น ระเบียบ วินัย มารยาทประเพณี วัฒนธรรมของสังคมนั้นๆ ด้วย เพื่อให้รู้และให้ประพฤติตนเป็นไปตามลักษณะของมนุษย์ที่เจริญขึ้น มีระเบียบวินัยที่ดีงามขึ้น

กระนั้นก็ตาม การแสดงออกหรือการประพฤติเช่นนี้ ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เนื่องจากว่า สัตว์ที่ถูกจับมาขัง ให้อยู่ในกรอบ อยู่ในกฎ หรือฝึกฝนได้นั้น ก็ไม่อาจกล่าวได้เป็นสัตว์ที่พัฒนาได้ มนุษย์ก็เช่นกัน แม้จะมีกฎหมายรับรอง มีระเบียบวินัยรับรอง ก็ไม่อาจบอกได้ว่า มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

๓. เป็นมนุษย์ตามกรรม การที่มนุษย์เกิดมา แล้วแสดงพฤติกรรมต่างๆ ได้นั้น ไม่ได้แปลว่า เป็นมนุษย์เพราะมีเครื่องบ่งชี้ว่า แสดงออกได้ สัตว์ก็มีพฤติกรรมเช่นนี้เช่นกัน การแสดงออกของมนุษย์มี ๓ ทางคือ ทางกายภาพ เช่น การใช้มือ เท้า ลำตัว ศีรษะ ฯ ในการแสดงออก เพื่อจุดประสงค์ของตนเอง และเพื่อคนอื่น สิ่งอื่น เมื่อแสดงออกทางกายดังกล่าวนี้ ย่อมมีผล ๒ ทางคือ ทางลบและทางบวก หรือดีกับชั่ว ทางวาทกรรม เช่น การใช้ภาษา ใช้เสียง ฯ เพื่อสะท้อนความต้องการของตน หรือเรียกร้อง บอกล่าว สั่งสอน ด่า ตำหนิคนอื่น ซึ่งจะมีผล ๒ ทางเช่นกัน และทางจิตภาพ เช่น การคิด การจินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึก ฯ เมื่อแสดงออกไปย่อมมีผลต่อตนเองและคนอื่นด้วย

การกระทำหรือการแสดงออกทั้ง ๓ ทางนี้ เรียกว่า “กรรม” (Action) แปลว่า การกระทำหรือการแสดงออก การแสดงออกดังกล่าว สัตว์ส่วนใหญ่ก็แสดงออกเช่นกัน สิ่งที่ทำให้สัตว์มนุษย์แตกต่างกันคือ จิตสำนึกหรือจิตวิสัยต่อตนเอง สิ่งอื่น หรือคนอื่นได้ว่า สิ่งนั้น บุคคลนั้น เราควรแสดงออกหรือมีปฏิสัมพันธ์อย่างไร หรือมีสิ่งที่เพิ่มน้ำหนักให้เราคิดอย่างรอบรอบหรือละเอียดสุขุมมากขึ้นอะไรบ้าง เพื่อสะท้อนถึงจิตสำนึกหรือความรับผิดชอบในกรรมของตนคือ ศีลธรรม จริยธรรมนั่นเอง

ศีลธรรม จริยธรรม จะบอกให้รู้ว่า กรรมที่ทำนั้น เหมาะสมหรือไม่ ควรทำหรือไม่ควรทำ ถ้ามนุษย์มีจิตสำนึกดังกล่าว จะเพิ่มคุณสมบัติความเป็นมนุษย์มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายถึงให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ เป็นเพียงสามารถแยกแยะได้ว่า กรรมที่ทำนั้น เป็นสิ่งดี หรือไม่ดี อันจะเป็นพื้นฐานในความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ให้สูงหรือเจริญต่อไป เพราะยังขาดตัวสติและปัญญาอยู่

๔. เป็นมนุษย์ตามปรัชญา มนุษย์ทุกคนเกิดมามีศักยภาพมาพร้อมในตัว ตั้งแต่เกิด แต่ไม่ใช้ศักยภาพนี้ให้เต็มที่ จึงทำให้มนุษย์มีพัฒนาการที่แตกต่างกัน ตามฐานะ ตามโอกาส ตามเงื่อนไขของตนในสังคมนั้นๆ และทำให้มนุษย์ไม่รู้ว่าตนเองมีศักยภาพข้างใน เพราะไม่ได้ฝึกฝน ขัดเกลา พัฒนาตนเองให้ถึงที่สุด ในวิถีชีวิตของการดำรงชีวิต เราได้ใช้เหตุผล ใช้ภาษา ใช้ทัศนะ ความคิดเห็น แสดงออกต่อเหตุการณ์ต่างๆ หรือเข้าใจในหลักการของธรรมชาติอย่างพื้นๆ ธรรมดา เช่น คิดตามฤดูกาล เหตุผลของบุคคลอื่น หรือหลักวิชาการ ความรู้ กิจกรรมต่างๆ ได้ ยกตัวอย่าง เรารู้ว่า จะกิน จะนอน จะเดิน จะนั่ง จะพูดอย่างไร จะหาอาหารอย่างไร เรารู้ว่ามีอะไรอันตรายบ้าง เราเข้าใจคนอื่นพูด เราโต้แย้ง หรือให้ความเห็นกับคนอื่นได้ เป็นต้น

ลักษณะดังกล่าวคือ พื้นฐานเหตุผลง่ายๆ พื้นๆ ของมนุษย์ เนื้อหาเหตุผลที่ซับซ้อนและลุ่มลึกไปกว่านี้ ปรากฏในหลักปรัชญา ที่มุ่งสอนกันในระดับที่ลึกซึ้งถึงระบบการคิด การใช้เหตุผลของมนุษย์ที่ละเอียดอ่อน มีระบบกลไก ที่เป็นขั้นตอน โดยเฉพาะในวิชาปรัชญา และศาสนา ที่มักจะกล่าวถึง การคิด การแสวงหาความจริงที่เหนือปรากฏการณ์ของโลกสสาร เป็นการแสวงกาความรู้ที่เหนือธรรมดา เช่น นักปรัชญามักจะแสวงหาความจริงที่สูงสุด ความจริงเกี่ยวกับจิต พระเจ้า แก่นแท้ของชีวิต โลก ความเป็น ความตาย เจตจำนง ยกตัวอย่าง เพลโต มองว่า จิต มี ๓ ลักษณะคือ

๑) ภาคตัณหา เป็นภาคที่กระตุ้นให้มนุษย์มีความอยาก ดิ้นรน ขวนขวาย แสวงหา เพื่อสนองตนเอง ๒) ภาคเมตตา เป็นภาคที่พัฒนาตนเองให้เกิดความสมดุล ประนีประนอม คือ ไม่สุดโต่ง แต่ให้เป็นไปลักษณะกลางๆ

๓) ภาคเหตุผล คือภาคที่แสดงถึงเหตุผลที่รับรองตนเองตามหลักการธรรมชาติหรือหลักการที่คิดอย่างรอบคอบ เป็นการใช้ศักยภาพในปัญญาของตนให้เป็นผล บนพื้นฐานของตนเอง

ในเวลาต่อมานักจิตวิทยาคนหนึ่งชื่อ ซิกมันด์ ฟรอยด์ กล่าวว่า มนุษย์มีฐานจิต ๓ ระดับคือ

๑) จิตระดับสัตว์ (ID) เป็นจิตที่มุ่งตอบสนองความต้องการของตนเอง โดยไม่สามารถยังยั้งได้ เป็นสัญชาตญาณดิบที่ยังไม่ได้ถูกขัดเกลา

๒) จิตระดับปุถุชน (Ego) คือ จิตที่ถูกกระตุ้นตามแรงอำนาจฝ่ายต่ำ ถ้าจิตขาดปัญญาหรือเครื่องควบคุม จิตนี้ก็จะไหลไปตามอำนาจนั้นได้ง่าย จึงทำอะไรเพื่อสนองตัวเองทั้งสิ้น เหมือนปลาที่ไหลไปตามกระแสน้ำฉันนั้น แต่ถ้าจิตนี้ถูกธรรมควบคุมจิตนี้ก็จะมีคุณธรรมปรามกิเลสได้เช่นกัน

๓) จิตระดับอริยะ (Superego) คือ จิตที่เหนือทั้งสองนั้น และเป็นจิตที่มีคุณธรรม ที่สามารถควบคุม IDและEgoได้ เป็นจิตที่ถูกฝึกมาอย่างมั่นคงและมีศักยภาพในตัวเองอย่างดี เหมือนจิตของอริยบุคคล


ดังนั้น ความเป็นมนุษย์จึงอยู่ที่การใช้เหตุผล การใช้ปัญญา การแยกแยะ วิเคราะห์หาเหตุ หาผลในสรรพสิ่งให้เห็นที่มา ที่ไปได้ นั่นหมายถึง การเข้าใจสรรพสิ่งให้เป็นไปตามหลักธรรมชาติของมัน มิใช่เพราะความเชื่อ ความคิด จินตนาการ หรือหลักการของใคร กระนั้นก็ตาม มิได้หมายถึงว่า มนุษย์เรียนรู้หลักปรัชญาได้แล้ว เข้าใจสรรพสิ่งดีแล้ว จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างทันที หลักปรัชญาจะเป็นเครื่องสนับสนุนให้สติ ปัญญาของมนุษย์ละเอียด รอบคอบ มีความลุ่มลึกในฐานะมนุษยภาวะ คือ มองเห็นเหตุ เห็นผล อันจะเกิดขึ้นแก่ตนเอง ซึ่งเป็นเพียงการใช้หลักการอย่างหนึ่งเท่านั้น ยังไม่สามารถทำให้มนุษย์ “เป็น” (Becoming) มนุษย์ให้ไปสู่ความเป็น อริยะ” Noble Being) ได้

๕. เป็นมนุษย์ตามศาสนา มาถึงความเป็นมนุษย์ตามทัศนะของศาสนาต่างๆ ว่าเป็นอย่างไร คำว่า มนุษย์ มาจาก ๒ คำคือ มน แปลว่า จิต + อุษย แปลว่า เหนือ สูง งาม มนุษย์ที่เกิดมานั้น ไม่ได้หมายถึงเป็นมนุษย์ตามนัยนี้ทันที หากแต่เป็นไปตามหลักที่กล่าวแล้วข้างต้นนั้น กระนั้น ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบตามทัศนะของพระพุทธศาสนาในนัยของคำนี้ (มนุษย์) แม้แต่ศาสนาต่างๆ ก็เช่นกัน ในศาสนาต่างๆ มีทัศนะหรือมีหลักในการสร้างพฤติกรรมของมนุษย์แตกต่างกันดังนี้

๑) ศาสนาพราหมณ์ สอนว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างของพระพรหม ถูกพระพรหมกำหนดมาให้เป็นมนุษย์ มนุษย์จึงต้องผูกพันกับสายใยต่อพระพรหมโดยการบวงสรวง เซ่นไหว้ บูชา เพื่อพัฒนาจิตหรือความใกล้ชิดกับพระพรหมนี้ให้ต่อเนื่อง โดยหลักการ ถูกวางไว้ในคัมภีร์พระเวท ศาสนิกของพราหมณ์จึงต้องทำพิธีกรรมตามหลักการนั้น (อาศรม) เพื่อให้บรรลุถึงโมกษะคือ เข้าถึงโมกขธรรม อันเป็นแดนสิ้นสุดของวัฏฏะนั่นเอง

แต่ทีนี้ มนุษย์มิได้มีปัญญาหรือมีศักยภาพเหมือนกันทุกคน เพราะสัตว์โลกส่วนใหญ่ล้วนเต็มไปด้วยอวิชชา ยิ่งตกอยู่ในโลกมายา ยิ่งทำให้สัตว์โลกนั้น มีดวงตาที่มืดบอดไปด้วย จึงยากที่จะหาทางกลับไปสู่ปรมาตมันเดิมของตนได้ จึงเป็นเหตุให้สัตว์โลกเกิดเวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏฏะสงสารอย่างไม่รู้กี่ภพ กี่ชาติ

ดังนั้น การที่ศาสนาพราหมณ์สอนให้มนุษย์ถึงเป็นมนุษย์ที่แท้ จึงยากยิ่ง เพราะต้องสละโลก สละชีวิตเพื่อบรรลุโมกขธรรม แต่ในโลกนี้ ดูเหมือนกระแสสัตว์โลกยุคปัจจุบัน ล้วนตกอยู่ในกระแสบริโภคนิยมและยังเชื่อในอำนาจของพรหมลิขิตอยู่ การสร้างความเป็นมนุษย์ได้ยากเข้าไปอีก

๒) ศาสนาคริสต์ สอนว่า มนุษย์จะต้องรักกันเป็นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดเป็นภราดรภาพในโลก และมุ่งสอนให้เชื่อมั่นว่า “พระเจ้ารักเรา” อย่างแท้จริง จึงทำให้มนุษย์เอาใจผูกติดกับพระเจ้าอยู่เสมอ จนละเลยศักยภาพในตัวเองไป กลายเป็นคนอ่อนแอ อ้อนวอน ไหว้วอนแต่พระเจ้า อีกประการหนึ่ง ในคัมภีร์ปฐมภาคของไบเบิ้ลได้กล่าวถึง การกำเนิดของมนุษย์คู่แรกคือ อาดัมและอีวา ที่ถูกสาปจนบาปติดตัวมาตั้งแต่เกิด จนกลายเป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ทั่วโลก

สะท้อนให้เห็นว่า มนุษย์เกิดมามีบาปติดตัวมา จึงต้องเชื่อฟังพระเจ้า และไถ่บาปตนเองให้หมดไปด้วยการเชื่อมั่นในพระเจ้า ในความรัก แต่ไม่ได้บอกวิธีการทำจิตให้ถึงที่สุด บอกแต่เพียงให้ประพฤติตามบทบัญญัติ ๑๐ ประการเท่านั้น กระนั้น ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ปฏิบัติตามนั้นจะพ้นความเป็นโลกวิสัยหรือปุถุชนวิสัยได้ เมื่อตายลงก็จะได้เข้าสู่อาณาจักรของพระเจ้าอย่างถาวร

๓) พระพุทธศาสนา การเป็นมนุษย์มาจากธรรมชาติ โดยมีองค์ประกอบ ๓ อย่างคือ ๑) มีจิตวิญญาณ มากำเนิด ๒) มีแผ่นดินเป็นสสารร่างกาย ๓) มีระบบประสาท (สมอง) ที่ทำงานให้เกิดความรู้สึก นึกคิด จนนำไปสู่การกระทำให้เกิดเป็นลักษณะสัตว์โลก และลักษณะมนุษย์ จากนั้นจึงเกิดเป็นฐานรองรับในการสร้างสรรค์กิจกรรม พฤติกรรม การแสดงออก การกำหนดเจตจำนงให้แน่วแน่ต่อไป

อย่างไรก็ตาม แม้มนุษย์จะมีร่างกายที่สมบูรณ์ โดยมีอวัยวะครบก็ตาม มิได้แปลว่า จะเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เนื่องจาก มนุษย์ยังมีอำนาจฝ่ายต่ำหรือกิเลส ตัณหา อวิชชา เป็นสมบัติมูลฐานที่ผลักดันให้สัตว์มนุษย์ดำเนินไปตามกลไกของมันหรือให้เป็นไปในแต่ละวัน และสอดคล้องกับสัญชาตญาณข้างใน มนุษย์จึงตกเป็นเหยื่อของมัน จนมืดบอด และไม่รู้ว่าเส้นทางที่ขัดเกลาจิตใจตนเองให้สะอาดหมดจดได้จึงทำให้มนุษย์เป็นมนุษย์แบบครึ่งคน ครึ่งมนุษย์

หลักการของพระพุทธศาสนาที่สอนให้มนุษย์ฝึกฝนตนเองให้กลายเป็นผู้เจริญ ผู้ประเสริฐนั้นมีขั้นตอนดังนี้

๑) ศีล เป็นขั้นตอนด่านแรกที่จะนำพามนุษย์ให้รู้จักการรักษาพฤติกรรม ให้อยู่ในกรอบ ระเรียบ ที่สวยงาม ไม่ใช้เสรีภาพจนเกินไป เป็นบันไดที่จะปรามกิเลสอย่างหยาบๆได้ ซึ่งจะนำไปสู่การฝึกฝนตนเองให้เข้มข้นขึ้นไปอีก

๒) สมาธิ (สมถะ) เป็นขั้นตอนด่านที่สอง ที่จะกำหนดจิต อารมณ์ให้แคบลง ให้สงบลง มิให้ฟุ้งซ่าน ซัดส่ายไปมา และทำให้จิตเข้มข้นขึ้นอันจะเป็นช่องทางไปสู่การตริตรอง การเห็นรากจิต หรือสภาพจิตที่แท้จริงของตนได้ เนื่องจากจิตนั้น ถูกละเลย ถูกครอบงำจากสิ่งต่างๆ หรือเยื่อใยของโลก จนตัวเราไม่สามารถเห็นแกนจิตของตนได้อย่างหมดจด เมื่อเราเห็นจิตตนเองได้ชัด เราจึงจะตระหนักรู้ในชีวิต จิตใจ แก่นสาร และองคาพยพทั้งหมดของตนได้ นั่นหมายถึง เราจะเห็นความจริงของกฎธรรมชาติและลักษณะของจิตได้

๓) วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นขั้นตอนที่ละเอียดที่สอนให้มนุษย์รู้เท่าทันจิต อารมณ์ จากผลของการมีกายภาพ ที่เป็นฐานให้เกิดการรับรองการรับรู้ ความรู้สึก นึกคิด จนเกิดเป็นพลสารหรือข้อมูลสารมากมาย จนกลายเป็นคลังให้เกิดการสร้างสรรค์จิตขึ้น และเกิดผลลัพธ์คือ อารมณ์ เจตสิก ตามมา ดังนั้น หน้าที่ของมนุษย์คือ รู้ปรากฏการณ์ที่อุบัติขึ้นอย่างละเอียดในทุกอณูขณะของอิริยาบถของตนเองว่า เกิดอะไรขึ้น สุข ทุกข์ เฉยๆ ว่างเปล่า ตื้น ลึก หนา บาง อย่างไรในสภาวารมณ์ต่างๆ การกำหนดรู้เช่นนี้ จะเป็นพื้นฐานให้มนุษย์สามารถจับเอาสิ่งที่เป็นจริงของปรากฏการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมาได้ และสามารถแยกแยะ วิเคราะห์ แล้วปล่อยวางได้ เมื่อมนุษย์ฝึกตนเองได้ละเอียดเช่นนี้ได้จนเคยชินและชำนาญ จะทำให้เกิดการรู้เท่าทันของโลกภายนอกและโลกภายใน ที่เกิดปะทะกันอยู่ตลอดเวลาได้

นี่คือ คุณสมบัติของมนุษย์ ที่เรียกว่า มนุษย์ที่สมบูรณ์ เมื่อกล่าวโดยสรุปโดยหลักพอประมวลได้ดังนี้ ๑) มีศีลเป็นเบื้องต้น ๒) มีการฝึกสมาธิในท่ามกลาง และ๓) มีการฝึกวิปัสสนาในที่สุด ผลลัพธ์คือ เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ โดยมีธรรมวิหารเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงคือ พรหมวิหาร ๔ และมี สติ ปัญญา เป็นแกนของการรับรู้ อยู่เห็น เป็นจริง ในกรอบของอริยะชีวิต

ในทางตรงข้าม อะไรทำให้มนุษย์ไม่เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์คำตอบ “มี๓ ขาด ๒ คือ ๑) มีโลภอย่างไม่หยุดยั้ง (โลภ) จนไม่รู้ขอบเขตของโลภของตน จนกลายเป็นความอยากที่ไร้จุดหมาย ท่านเปรียบเหมือนเปรตนั่นเอง ๒) มีความโกรธ (โกรธ) เป็นเจ้าเรือนหรือมีแรงพยาบาทเป็นฐาน จนไม่รู้ศักยภาพของมัน จนทำให้เกิดความประมาทได้ง่าย หรือหมิ่นเหม่ต่อความตาย ท่านเปรียบเหมือนสัตว์ร้าย ๓) ไม่รู้ความจริง (อวิชชา) (ในสรรพสิ่ง) ในกรอบที่กว้าง และในกรอบที่แคบคือตัวเอง (จิต) จนหลงตัวตน หลงโลก หลงในกิจกรรมของโลก และหลงมายาในใจของตน อันเป็นเป็นเหตุให้ห่างจากการพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริงได้ ๔) ขาดสติ คือ ไม่รู้สึกในกิริยาการ และพฤติกรรม ๓ ด้านดีพอ จึงหลงใหลตามโลกนิยม จนไม่รู้ว่า อะไรจริง อะไรเป็นจริง ในตัวตน และ๔) ไม่รู้ความจริงอย่างรอบคอบ รอบด้าน คือ ปัญญา สัตว์โลกนั้นมีสัญชาตญาณนำพาไป ส่วนมนุษย์นั้นมีปัญญาเป็นเครื่องนำพาไป

ดังนั้น ถ้ามนุษย์มี ๓ ขาด ๒ ดังกล่าวนี้ ย่อมไม่อาจเรียกได้ว่า เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ลักษณะที่สมบูรณ์ของมนุษย์ตามหลักพุทธลักษณ์คือ “ที่จิต” ที่มีลักษณะสะอาด สว่าง สงบ เรียกว่า “พุทโธ” เหมือนดั่งที่ท่านพุทธทาสกล่าวเป็นกลอนไว้ว่า

“เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง

เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน

ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แต่เพียงคน

ย่อมเสียที ที่ตน ได้เกิดมา

ใจสะอาด ใจสว่าง ใจสงบ

ถ้ามีครบ ควรเรียก มนุสา

เพราะคิดถูก พูดถูก ทุกเวลา

เปรมปรีดา คืนวัน สุขสันต์จริง”

--------------๑๔/๙/๕๘--------------

หมายเลขบันทึก: 594843เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2015 22:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กันยายน 2015 22:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เป็นมนุษย์ เป็นได้ เพราะใจสูง

เหมือนหนึ่งยูง มีดี ที่แววขน

ถ้าใจต่ำ เป็นได้ แค่เพียงคน

ย่อมเสีย ทีที่ตน ได้เกิดมา

ฯลฯ

ของ ท่านพระธรรมโกศาจารย์ (พุทธทาสภิกขุ))


I read quickly once and came to read again and got stuck on this [...สัตว์ทั่วโลกมีลักษณะที่เหมือนกันอยู่ ๔ อย่างคือ กิน เสพ นอน กลัว...]. I looked up dictionaries for กิน and เสพ and found no differences in meaning of the 2 words (apart from กิน is Thai and เสพ is Pali/Sanskrit). Please explain.

ท่านลืมศาสนาอิสลามไปน่ะครับ ถ้าใส่ครบทุกศาสนาก็จะดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท