เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง : ๒๔. ละลายความคิดเหยียดเชื้อชาติ



บันทึกชุด “เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ๒๖ ตอน ชุดนี้ ตีความจากหนังสือ Transformative Learning in Practice : Insight from Community, Workplace, and Higher Education เขียนโดย Jack Mezirow, Edward W. Taylor and Associates ตีพิมพ์เมื่อ ค.ศ. 2009

ภาค ๔ ของหนังสือ เป็นเรื่องการใช้ TL สร้างความเป็นชุมชนและการเปลี่ยนแปลงสังคม ประกอบด้วยบทที่ ๑๗ - ๒๓

ตอนที่ ๒๔ นี้ ได้จากการตีความบทที่ 23 Challenging Racism in Self and Others : Transformative Learning as a Living Practice เขียนโดย European-American Collaborative Challenging Whiteness

สรุปได้ว่า บทนี้เป็นการเล่าประสบการณ์ร่วมกันของคน ๖ คน ที่มีประสบการณ์การใช้ CI (Collaborative Inquiry) ต่อเนื่องเป็นเวลากว่า ๗ ปี เพื่อทำความเข้าใจ และเปลี่ยนตัวเองในเรื่อง สำนึกเหยียดเชื้อชาติ ที่แฝงอยู่ลึกมากในจิตใต้สำนึก โดยใช้เครื่องมือต่างๆ นำเอาจิตใต้สำนึกของตน ออกมาทำความเข้าใจ และเพื่อเปลี่ยนแปลงตนเอง การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงตนเองในเรื่องที่อยู่ลึกมาก ในระบบสังคมเช่นนี้ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง หรือเป็น means มากกว่าเป็นผลลัพธ์ (end)

ตอนนี้เป็นเรื่องของการใช้ Collaborative Inquiry (CI) ในต่างบริบทจากตอนที่แล้ว ในขณะที่ตอน ที่แล้วเขียนโดยทีม “คุณอำนวย” ที่ทำงานเอื้อโอกาสการเปลี่ยนแปลงให้แก่ผู้อื่น แต่ตอนนี้ทีมผู้เขียนเอง เรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงภายในของตนเอง ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ซ่อนอยู่ลึกมาก

เขามอง CI เป็นรูปแบบหนึ่งของ action research (AR) โดยมองว่า AR เป็นเครื่องมือที่ดีของการเรียนรู้ สู่การเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ (self-identity) ของตนเอง เรื่องราวในบทนี้ เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงอัตลักษณ์ ของตนเอง ในเรื่องที่ฝังอยู่ลึกมากในสังคมคนขาว คือเรื่องถือตัวว่าตนดีกว่า เหยียดหยามคนเผ่าพันธุ์อื่น และจัดระบบต่างๆ ในสังคมในลักษณะเอื้อประโยชน์ต่อคนขาวมากกว่า โดยไม่รู้ตัว


สำนึกคนขาวสูงส่งกว่าในฐานะโลกทัศน์แห่งความหมาย

โลกทัศน์ของคนขาวเกี่ยวกับเชื้อชาติ คือ “สำนึกคนขาวสูงส่งกว่า” แม้สังคมอเมริกันจะเป็นสังคม หลากหลายเผ่าพันธุ์ และหลากหลายวัฒนธรรม ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

เขาบอกว่า “สำนึกคนขาวสูงส่งกว่า” (white supremacist consciousness) กับ “คนที่เชื่อว่าคนขาวสูงส่งกว่า” (white supremacist) แตกต่างกัน “คนที่เชื่อว่าคนขาวสูงส่งกว่า” เป็นบุคคล ส่วน “สำนึกคนขาวสูงส่งกว่า” เป็นระบบความเชื่อ เป็นการเหยียดผิวเชิงระบบ ที่ซ่อนหรือฝังลึกอยู่ในวิถีปฏิบัติ ของคนในสังคม จนไม่รู้สึกตัว

มีผู้เสนอว่า สำนึกคนขาวสูงส่งกว่า จำแนกได้เป็น ๓ แบบ

  • เชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ ว่าคนขาวสูงส่งกว่าจริงๆ
  • ปฏิบัติแบบซ่อนเร้น โดยปฏิเสธการถือสีผิว หรือปฏิเสธการมีอำนาจเหนือ ที่มีอยู่ตามปกติในสังคม
  • ปฏิเสธสำนึกคนขาวสูงส่งกว่า และเข้าร่วมขบานการต่อต้านสำนึกคนขาวสูงส่งกว่า แต่ตนเองปฏิบัติไปในทางที่ถือว่าตนสูงส่งกว่าคนผิวสี ด้วยความไม่รู้

เพื่อให้เกิดการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ต้องมีกระบวนการเพื่อหนุนให้บุคคลตระหนัก หรือแจ่มชัด ในโลกทัศน์ ดังกล่าว เพื่อจะได้ทดแทนด้วยโลกทัศน์ใหม่ ที่เหมาะสมกว่า กระบวนการดังกล่าว วิธีการหนึ่งคือ CI


CI ในฐานะปฏิบัติการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง

ในกระบวนการ CI สมาชิกกลุ่มเล็กๆ ร่วมกันเรียนรู้ประเด็นที่สนใจหรือให้ความสำคัญร่วมกัน โดยเรียนรู้จากประสบการณ์ นำประสบการณ์ของสมาชิกแต่ละคนมาตั้งคำถามเพื่อทำความเข้าใจลึกๆ ร่วมกัน โดยในบทนี้เน้นที่กิจกกรมย่อยของ CI สามกิจกรรม คือ (๑) การทำวงจรซ้ำๆ ของ การปฏิบัติ และการใคร่ครวญสะท้อนคิด (๒) ใช้วิธีการเรียนรู้จากประสบการณ์ส่วนตัวแบบขยาย (๓) การเรียนรู้เป็นกลุ่ม

วิธีการเรียนรู้แนวปัญญาญาณแบบขยาย (extended epistemology) ประกอบด้วยกิจกรรม ๔ แบบคือ

  • เรียนจากประสบการณ์ตรง (experiential)
  • เรียนจากการนำเสนอ (presentational)
  • เรียนจากการเสนอข้อคิดเห็น (propositional)
  • เรียนจากการปฏิบัติ (practical)

วิธีการเรียนรู้เหล่านี้ ใช้มิติด้านอารมณ์ ปัญญาญาณ และจินตนาการ

การเรียนเป็นทีม ทำให้เกิดการสร้างความรู้ที่ซับซ้อนร่วมกัน เปิดทางไปสู่การทำความเข้าใจมิติใหม่ๆ สร้างความหมายใหม่ๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ ผ่านการตั้งคำถามที่อ่อนไหวต่อความรู้สึก เปิดช่องทางไปสู่ การเรียนรู้ หรือเข้าใจความหมายที่ซ่อนเร้น


เปลี่ยนสำนึกของตนเองเกี่ยวกับผิวขาวและปฏิบัติการ

ผู้เขียนเป็นนักการศึกษาผิวขาว ๖ คน ที่ทำงานในต่างบริบทของชุมชน และสถาบัน มาเรียนรู้ร่วมกันเดือนละครั้ง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เพื่อเปลี่ยนสำนึกของตนเองเกี่ยวกับสำนึกคนขาวสูงส่งกว่า โดยใช้ CI เป็นเครื่องมือ โดยฉายภาพการเปลี่ยนแปลงใน ๓ ช่วงเวลา


1998 : เห็น คนขาวที่ดี” ในฐานะมิตรและศัตรูภายใน

ในเบื้องต้นทีมผู้เขียนตระหนักว่า เพื่อแสดงตนเป็น “คนขาวที่ดี” (ไม่เหยียดผิว) ตนจึงพยายามแยกตัว ออกจากคนขาวที่ไม่สนใจหรือไม่ประสีประสาเรื่องการแบ่งแยกผิวในสังคม (อเมริกัน) โดยตราว่า คนเหล่านั้นเป็น “คนขาวที่ไม่ดี” ซึ่งเมื่อนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ก็ตระหนักว่า เป็น “สำนึกสูงส่งกว่า” อีกแบบหนึ่ง

ในช่วงเวลาดังกล่าว ทีมเรียนรู้นำประสบการณ์พบปะพูดคุยกับผู้คน ที่อ้างตัวว่าเป็นคนขาว ที่ไม่เหยียดผิว เอามาตีความแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน เปรียบเทียบกับความรู้สึกและพฤติกรรมของตนเอง ทำให้เข้าใจมายาของ “คนขาวที่ดี” มากขึ้นเรื่อยๆ


2002 : เรียนรู้ตนเองมากขึ้น ในฐานะคนขาว

จะเห็นว่าสมาชิกกลุ่มเรียนรู้ทั้ง ๖ ใช้เวลาต่อเนื่องนานหลายปีในการปฏิบัติไปเรียนรู้ไป ในช่วงที่สองนี้ เน้นการเก็บข้อมูลของตนเอง และนำเสนอต่อเพื่อนร่วมกลุ่ม เพื่อ “ขุด” ตนเองให้ลึกยิ่งขึ้น อาศัยการนำข้อมูลเหตุการณ์ในชีวิตของตนเอง มาใคร่ครวญสะท้อนคิดออกมาเป็นชิ้นงานศิลปะ แล้วนำเสนอต่อเพื่อนๆ ทำให้ได้พลังของ การเรียนรู้โดยการนำเสนอ (presentational learning)

รายละเอียดในหนังสือบรรยายเรื่องราวของสมาชิกแต่ละคนที่ได้จาก “เทคนิคประวัติชีวิต” (life history methodoly) ที่มี ๔ ขั้นตอน คือ (๑) กำหนดประเภทของเรื่องราว ที่มีผลต่อสำนึกความเป็นคนขาว (๒) กำหนดวัสดุที่จะใช้แทนแต่ละประเภทของเรื่องราว ที่ง่ายที่สุดคือใช้สี เช่นสี Post-It สีเขียว แทนเรื่องราวประเภท ก สีเหลืองแทนเรื่องประเภท ข เป็นต้น (๓) เอา Post-It เรียงเป็นภาพต่อ เพื่อตอบคำถาม เช่นตอบคำถามว่า ปัจจัยอะไรบ้าง ที่มีผลต่อความเข้าใจในปัจจุบันของข้าพเจ้า ในเรื่องผิวขาว เชื้อชาติ และการเหยียดผิว (๔) นำภาพต่อ หรือสื่อทัศน์อย่างอื่น สื่อสารแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในกลุ่ม

ผลคือ สมาชิกกลุ่มสามารถนำเรื่องราวในชีวิตของตนเอง มาแลกเปลี่ยนได้ลึกมากขึ้นมาก ค้นพบสำนึกเหยียดผิวของตนเองได้มากขึ้น ซึ่งหมายความว่า ค้นพบจุดอ่อนของตนเอง ที่ยังแก้ไม่ตก


2005 : การเป็นคนขาวที่ดี เป็นกระบวนการ ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย

๗ ปีให้หลัง หลังจากผ่านกระบวนการ และเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย คณะผู้เขียนก็ค้นพบหลักการ “ความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่งยวด” (critical humulity) ซึ่งเขานิยามว่า หมายถึงปฏิบัติการที่เปิดกว้างต่อการ ค้นพบว่าความรู้ของตนเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้ทั้งหมด และความรู้ของตนเองมีสภาพวิวัฒนาการ อยู่ตลอดเวลา คนเราใช้ความรู้ที่ไม่สมบูรณ์นั้นในการดำรงชีวิตอยู่ในโลก คณะผู้เขียนร่วมกันตั้งคำถามเพื่อ ใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างจริงจัง กับตนเอง ถึงความสำเร็จและความล้มเหลว ในการปฏิบัติการอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างยิ่งยวดนั้น

เมื่อผู้เขียนคนหนึ่งเผชิญสถานการณ์ที่มีการเหยียดผิว และนำมาแลกเปลี่ยนกับทีมเรียนรู้ จึงมีการนำ สถานการณ์นั้นมาจำลองบทบาท (role-play) ว่าผู้เผชิญสถานการณ์น่าจะแสดงบทอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่งยวด ในสถานการณ์นั้น อย่างไร ซึ่งเมื่อนำการแสดงบทบาทจำลองมาใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างยิ่งยวด ก็พบว่า การแสดงบทบาท ยังเป็นลักษณะที่แสดงความเหนือกว่าของตนเอง หรือมีลักษณะที่ต้องการการยอมรับ จากคนผิวสี และเมื่อใคร่ครวญไตร่ตรองร่วมกันมากเข้า ก็เกิดความรู้สึกว่า ในการแสดง “ความเป็นคนขาวที่ดี” นั้นเอง มี “ความเป็นคนขาวที่เลว” แฝงอยู่

คือมีความตั้งใจดี แต่พฤติกรรมที่แสดงออกไป ก่อผลตรงกันข้าม คือทำให้คนผิวสีรู้สึกว่าตน ถูกปฏิบัติต่อไม่ใช่ในฐานะคนที่เท่าเทียมกัน

ปัญหาของความรู้สึกว่า ตนเป็น “คนขาวที่ดี” คือทำให้ไม่เรียนรู้และปรับปรุงตนเอง


สนธิพลังระหว่าง ปฏิบัติตามด้วยใคร่ครวญสะท้อนคิด, ญาณวิทยาภาคขยาย, และการเรียนเป็นทีม

กระบวนการเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลงของคณะผู้เขียนทั้ง ๖ คน ตามหัวข้อที่แล้ว สรุปได้ว่า เป็นการสนธิพลัง (synergy) ระหว่างพลัง ๓ ประการ คือ (๑) วงจรซ้ำๆ ของการปฏิบัติตามด้วยการใคร่ครวญ สะท้อนคิด (๒) ญาณวิทยาแบบขยาย คือใช้วิธีเรียน ๔ แบบที่ใช้แบบเชื่อมโยงกัน ได้แก่ เรียนจากประสบการณ์ตรง เรียนจากการนำเสนอ เรียนจากการเสนอข้อคิดเห็น และเรียนจากการปฏิบัติ (๓) การเรียนเป็นกลุ่ม

ยิ่งเรียนรู้ร่วมกันนานเข้า เกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน การเปิดใจต่อกันในการเรียนทั้ง ๓ แบบดังกล่าว ทำให้การเรียนรู้มีพลังสูงมาก


ไตร่ตรองสะท้อนคิด

ผู้เขียนบอกว่า ยิ่งฝึกให้มีสำนึกต่อ “นิสัยที่เคยชินทางความคิด” (habit of mind) ก็ยิ่งทำให้ผู้เขียน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ว่าตนเองมี จิตใต้สำนึกที่ซ่อนอยู่ลึกมาก เมื่อคิดย้อนกลับไปในปี 1998 ตนคิดว่า ตนมีความคิดแบบทวิลักษณ์ (dualistic) แยกขั้วคนขาวที่ดี กับคนขาวที่ไม่ดี และมองว่าคนขาวที่ไม่ดี เป็นด้านมืดที่แฝงอยู่ลึกๆ ภายในตนเอง

ผู้เขียนบอกว่า กระบวนการร่วมกันเขียนบทความนี้เป็นวงจรของการกระทำ ตามด้วยการใคร่ครวญ สะท้อนคิด ต่อทั้งการปฏิบัติ และต่อการคิดของตน และในการเขียนบทความนี้ กลุ่มผู้เขียนก็ได้ตระหนักว่า ความสัมพันธ์แบบชุมชน (community) ที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันและกัน มีความสำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ ในมิติที่ลึก ด้วยเครื่องมือ CI

การเขียนบทความนี้เอง ช่วยให้กลุ่มผู้เขียนเข้าใจ “การเรียนรู้จากการนำเสนอ” (presentational knowing) ในมิติที่ลึก ว่าการนำเสนอที่เร้าอารมณ์ และนำเสนอด้วยอารมณ์และความรู้สึก เช่นโดยเรื่องเล่าเร้าพลัง โดยศิลปะ การเคลื่อนไหว และการแสดง มีพลังยิ่ง


วิจารณ์ พานิช

๓ มี.ค. ๕๘

ห้อง ๑๗๑๑ โรงแรม Grand Copthorn, สิงคโปร์


หมายเลขบันทึก: 593922เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 16:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2015 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท