เก็บตกเมื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (มาเยี่ยมยามถามข่าวชมรมสานฝันคนสร้างป่า)


นิสิตนักศึกษาสามารถมาใช้จริงกับการงานขององค์กร และช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับพื้นที่แต่ละพื้นที่ โดยการบูรณาการกับชุดความรู้อันเป็นปัญญาปฏิบัติของคนในชุมชนที่นิสิตไปออกค่ายฯ ไม่ใช่แบกเอาความรู้ไปใช้ตรงๆ แบบไม่คำนึงถึงฐานความรู้ของชุมชนนั้นๆ

ย้อนกลับไปยังวันที่ 30กรกฎาคม 2558 เป็นอีกวันหยุดที่ชีวิตยังต้อง“ทำงาน”

วันๆ นั้น เป็นวันที่บุคลากรจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้สัญจรแวะเวียนมาพบปะกับน้องๆ นิสิตชมรม “สานฝันคนสร้างป่า”ซึ่งบุคลากรที่ว่านั้น ประกอบด้วย คุณวันวิสาข์ สินทรัพย์ไพบูลย์(นักวิชาการสิ่งแวดล้อม) คุณอนุชา โยธี (นักวิชาการเผยแพร่) คุณเมธา ตู้เพชร(นักวิชาการเผยแพร่)



การแวะเวียนมาครั้งนี้ โดยส่วนตัวผมมองว่านี่คือกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่สำคัญมากอีกมิติคือการประเมินแผนการดำเนินงานด้วยเช่นกัน เนื่องเพราะในแต่ปีชมรมสานฝันคนสร้างป่าจะมีกิจกรรมขับเคลื่อนร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่เสมอ-อย่างน้อยก็ปีละ1 ครั้ง ทั้งในฐานะของการเข้าร่วมหรือไม่ก็เป็นเจ้าภาพจัดกิจกรรมบริการสังคมในรูปเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ครับ-ผมมองว่าการมาพบปะเช่นนี้ เป็นการมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่าการมา “กำกับ-ติดตาม” และยืนยันว่าเป็นเวทีของการประเมินผล หรือประเมินแผนผ่านแนวคิดของการจัดการความรู้และความรักมากกว่าการมากำกับติดตาม-




จัดการกันเอง : ซ่อนสัญญะการประเมินผลความเป็นนักออกแบบการเรียนรู้


ก่อนหน้านี้เล็กน้อย ผมแทบไม่แตะต้องอันหมายถึงการสั่งการใดๆ มากนักเกี่ยวกับการจัดเตรียมข้อมูล หรือสิ่งต่างๆรองรับการมาเยือนของบุคลากรจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งหมายถึงการไม่แนะนำอะไรๆ อย่างจริงจังต่อ “เจ้าหน้าที่” (พี่เลี้ยง) และ “นิสิต” (ชมรมสานฝันคนสร้างป่า)
แต่เจตนาบอกกล่าวว่าให้ลองหารือกันดูว่าจะจัดเตรียมอะไรบ้าง ทั้งในเรื่องของ “สื่อ” ที่จะพูด“สื่อที่จะมอบ” รวมไปถึงอาหารการกินและรูปแบบของเวที

ครับ-ผมแค่ตั้งประเด็นหยาบๆ หรือกว้างๆเพื่อให้เกิดพื้นที่การหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิต เพราะผมอยากรู้เหมือนกันว่าพวกเขาจะ “ออกแบบเวที” หรือ “ออกแบบกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้” นี่เช่นใดและซ่อนสัญญะอันยิ่งใหญ่ไว้เงียบๆ คือ การกระตุกให้พวกเขาได้ทบทวนถึง “ความรู้” ที่มีในตัวตนและองค์กรของพวกเขาเอง...


และนั้นยังหมายรวมถึงการซ้อนปมของการสร้างกระบวนการทำงานอย่างเป็นทีมระหว่างเจ้าหน้าที่กับนิสิตไปในตัว เสมอเหมือนวาทกรรมสอนงานสร้างทีมที่ผมเคยเปรยบ่นไว้เมื่อหลายปี คือ “พูดให้ฟังทำให้ดูอยู่เป็นเพื่อน”




หนังสือหนังหา
: จัดหามาส่งมอบ


ครั้นถึงเวลาการนัดหมาย – ผมมาถึงเวทีก่อนเวลาเล็กน้อย ประมาณว่ามาตรวจทานความเรียบร้อยเพื่อเติมเต็มบางสิ่งอย่างที่อาจจำต้องมีขึ้นซึ่งก็จริงมีบางสิ่งอย่างที่ต้องจัดเตรียมหนุนเสริมเข้ามานั่นก็คือของที่ระลึกที่ผมเลือกเอาบรรดา “หนังสือ” ต่างๆ มาให้นิสิตจัดเตรียมส่งมอบให้กับบุคลากรของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม

หนังสือที่นำมาส่งมอบให้นิสิต ส่วนใหญ่คือ “นวัตกรรมความคิดนิสิตมมส” ทั้งที่เป็นเรื่องเล่าเร้าพลังจากปลายปากกาของนิสิต เรื่องเล่าเร้าพลังที่ผมเขียนขึ้นรวมถึงบรรดาจดหมายข่าวงานวิชาการรับใช้สังคม(หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) อันเป็นวาระสำคัญๆ ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่กำลังขับเคลื่อนบนฐาน “การศึกษารับใช้สังคม” อยู่ในปัจจุบัน



ครับ-หลายต่อหลายคนบ่นพร่ำว่าทุกวันนี้คนไม่อ่านหนังสือ ทำคลิป หนังสั้นอะไรๆ จะได้ประโยชน์มากกว่าไม่ต้องเปลืองงบจัดพิมพ์เป็นเล่มๆ ทำอีบุ๊ค (E-book) ให้โหลดอ่านกันเลยดีกว่า


ใช่ครับ- ผู้หลักผู้ใหญ่หลายๆ ท่านคิดและสั่งการเช่นนั้นจริงๆแต่สำหรับผมแล้ว ผมไม่เคยละความพยายามที่จะจัดทำเป็นหนังสือรองรับไว้เสมอ มันเป็นจดหมายเหตุชีวิตและองค์กรที่แตะต้องสัมผัสได้อย่างไม่ซับซ้อนการอ่านหนังสือผ่านตัวเล่มหนังสือ ได้สัมผัสกลิ่นอายแห่งกระดาษสำหรับผมแล้วยัเป็นมนต์ขลังและพลังอย่างบอกไม่ถูก

และเอาเข้าจริงๆ หลายต่อหลายเวทีก็หนีไม่พ้นการตะกายหา “หนังสือ”มายืนยันประกอบการประเมิน หรือมอบเป็นของที่ระลึก--- (ตลกดี)




พูดในสิ่งที่ทำ ย้ำในสิ่งที่มี

เวทีดังกล่าวเริ่มต้นจากพี่ต่อ(ผอ.สุนทร เดชชัย) ผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต พบปะทักทายแบบกึ่งทางการ จากนั้นเจ้าหน้าที่ (สุริยะ สอนสุระ)เปิดวีดีทัศน์ประมวลภาพการจัดกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาฯ ให้ทุกคนได้ดูชมร่วมกันเสมอเหมือนการสร้างสรรค์บรรยากาศปูพรมเข้าสู่การเรียนรู้ร่วมกัน




ถัดจากนั้นคือการแนะนำตัวตามครรลองอย่างที่(ควร) เป็น ต่อด้วยการยกเวทีให้ “นิสิต”(พระเอกตัวจริงเสียงจริง) เป็นผู้บอกเล่า-นำเสนอเรื่องราวของตนเอง ซึ่งผมเรียกว่า “พูดในสิ่งที่ทำย้ำในสิ่งที่มี”

เบื้องต้นต้องชื่นชมว่านิสิตพยายามจัดเตรียมสื่อมาอย่างตั้งใจ ไม่ต้องประเมินว่าสื่อที่นำมาดีไม่ดีสมบูรณ์ไม่สมบูรณ์ แต่เอาเป็นว่านิสิต “ทำเอง” ก็เยี่ยมยุทธแล้ว นอกจากนั้นยังต้องชื่นชมนิสิต เพราะนิสิตบูรณาการทีมบริหารชมรมฯทั้งชุดเก่าและชุดใหม่มาอย่างอบอุ่น เพียงแต่วางหมุดหมายให้ประธานชมรมฯคนใหม่เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งเป็นการสร้างคนบนสถานการณ์จริงที่น่าสนใจไม่ใช่ย่อย

ภาพรวมการนำเสนอของนิสิตเป็นไปตามสไลด์ของนิสิต ถึงไม่เด่นชัดเป็นประเด็นแต่ก็เห็นภาพว่าทั้งปีจัดกิจกรรม/โครงการอะไรบ้าง ที่เหลือทั้งผมและผู้อำนวยการ และคนอื่นๆ ก็ทยอยเติมเต็มข้อมูลเป็นระยะๆ...




ภาพรวมเนื้อหาที่นิสิตได้สื่อสารนั้น พบว่าปีการศึกษาทั้งปี ชมรมสานฝันคนสร้างป่ามีกิจกรรมอันเป็นขนบนิยมหรือประเพณีนิยมของชมรมอยู่ไม่กี่อย่าง แต่มีความแจ่มชัดและเป็นอัตลักษณ์ที่เด่นชัดในตัวเองเสมอ อาทิเช่น กิจกรรมการสร้างฝายชะลอน้ำ กิจกรรมการปลูกป่า-บวชป่า กิจกรรมทำทางป้องกันไฟป่า การรับน้องชมรม ผ่านฐานกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับปรัชญาของชมรมโดยใช้ชุมชนเป็นห้องเรียนซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมรับน้องคู่ไปกับการบริการสังคมในแบบฉบับค่ายอาสาพัฒนา


และที่ต้องจัดประจำทุกปีกับภาคีภาคส่วนอื่นๆนั่นก็คือโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งในบางปีนิสิตจากชมรมฯเป็นเจ้าภาพเอง ขณะที่บางปีไปเป็นเพียงผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับสถาบันอื่นๆ...

กรณีดังกล่าวนี้... ผมได้สะท้อนมุมคิดของผมประมาณว่า กิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมฯถือว่าสำคัญมาก เพราะทำให้นิสิตนักศึกษาแต่ละสถาบันได้ทำงานร่วมกัน การเปลี่ยนแกนเจ้าภาพในแต่ละปี คือการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ไปตามบริบทของสถานศึกษาและชุมชนนั้นๆ ซึ่งนั่นคือโอกาสอันดีของการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความท้าทายใหม่ๆทั้งที่เป็นเรื่องการใช้ชีวิต การเรียน การทำกิจกรรมเพื่อสังคม ฯลฯ

พร้อมๆ กับการฝากฝังว่ากิจกรรมในทำนองนี้ ขอให้กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้นิสิตนักศึกษาได้ทำกันอย่างต่อเนื่องและถอดบทเรียนสู่การเผยแพร่อย่างกว้างขวางเพื่อก่อให้เกิดมรรคผลของการสร้างสรรค์สังคมร่วมกัน โดยเฉพาะในมิติด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็น “กระแสหลัก” แต่เป็น “กระแสจริง” ที่คนทุกคนต้องตระหนักและรับผิดชอบร่วมกันอย่าง “จริงจังและจริงใจ”



ความรู้สู่การปฏิบัติ : ไม่มีอะไรสำเร็จรูป

ในเวทีดังกล่าวนี้ทั้งผมและผู้อำนวยการกองกิจการนิสิต (พี่ต่อ-สุนทร เดชชัย) ไม่ได้นั่งอยู่ในห้องประชุมจนแล้วเสร็จ ไม่ใช่มีธุระที่ไหน แต่เป็นเจตนาที่จะให้นิสิตหรือกระทั่งเจ้าหน้าที่ของเราได้มีอิสระในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคลากรจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกริ่งเกรงใจกับการที่มีผมและผู้อำนวยการฯ นั่งอยู่ด้วย



ทว่าก่อนการขยับตัวออกจากห้องประชุมนั้น ผมได้สะท้อนข้อมูลให้ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้รับรู้และรับฟังประมาณว่า....


“ผมชื่นชมกิจกรรมของกรมฯ ที่นำนิสิตนักศึกษาจากสถาบันต่างๆไปอบรมและถอดบทเรียนในแต่ละปี รวมถึงการอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดทำฝาชะลอน้ำหรือเรื่องอื่นๆ เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีชุดความรู้ภาคทฤษฎีและชุดความรู้จากผู้คนต่างๆซึ่งนิสิตนักศึกษาสามารถมาใช้จริงกับการงานขององค์กร และช่วยให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ที่จะนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับพื้นที่แต่ละพื้นที่โดยการบูรณาการกับชุดความรู้อันเป็นปัญญาปฏิบัติของคนในชุมชนที่นิสิตไปออกค่ายฯ ไม่ใช่แบกเอาความรู้ไปใช้ตรงๆ แบบไม่คำนึงถึงฐานความรู้ของชุมชนนั้นๆ

ครับ-ผมพูดเช่นนั้นจริงๆ พูดเพื่อยืนยันและให้กำลังใจแก่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมว่าสิ่งที่หนุนเสริมการเรียนรู้คู่บริการของนิสิตนักศึกษานั้นมีประโยชน์จริงๆทั้งในมิติของการพัฒนาเยาวชนคนหนุ่มสาว (เยาวชนจิตอาสา) และการพัฒนาสังคมผ่านระบบและกลไกของการศึกษาในเรื่องราวอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม



หมายเหตุ : ภาพ โดย สุริยะ สอนสุริยะ

หมายเลขบันทึก: 593850เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2015 22:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2017 01:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยทำงานร่วมกับ สผ หลายโครงการ ที่บ้านช่องฟืน ปากพะยูน

นิสิตได้เรียนรู้ ลงมือทำ เป็นผู้ถูกประเมิน

ครบวงจรการเรียนรู้จริงๆ

มีดอกไม้มาฝาก เป็นกำลังใจให้กับคนทำงานจ้ะ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท