​ชีวิตที่พอเพียง : ๒๔๗๙. ไปลอนดอนครั้งที่สามในแปดเดือน ๒. เที่ยว National Portrait Gallery



เช้าวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ผมเช็คอินโรงแรม Thistle Trafalgar Square เวลา ๙ น. เศษๆ คงเพราะผมอีเมล์ มาบอกเขาล่วงหน้าว่าขอเข้าห้องระหว่างเวลา ๙.๐๐ - ๑๐.๐๐ น. ผมจึงได้ห้องเลย คราวนี้ได้ห้อง ๔๓๕ ซึ่งรู้สึกว่าเล็กกว่าห้อง ที่พักคราวที่แล้ว (ซึ่งอยู่ชั้น ๙) นิดหน่อย ตามที่เล่าไว้ ที่นี่ ซึ่งในตอนนั้นเป็นเดือนธันวาคม เป็นฤดูหนาว แต่คราวนี้เป็นฤดูร้อน จึงได้อากาศดี แดดจ้า สมใจ

อาบน้ำ, เขียนอีเมล์, ตอบอีเมล์, ดาวน์โหลด App National Gallery ลง iPad, และกินอาหารเที่ยง (ที่สาวน้อยเตรียมมาให้จากบ้าน) เสร็จเวลาประมาณ ๑๑.๓๐ น. ก็เดินไปชมภาพวาดที่ National Portrait Gallery ที่อยู่ตรง Trafalgar Square

แดดจ้า อากาศดี อุณหภูมิราวๆ ๒๐ องศาเซลเซียส คนจึงมาเที่ยวที่ Trafalgar Square กันเนืองแน่น และมีนักแสดงบนทางเท้ามาให้ความสนุกสนานกันมากมาย ทั้งนักดนตรี นักเล่นกล และนักแต่งตัวเป็นตัวการ์ตูน ซึ่งหากินกับเด็ก ที่มาถ่ายรูปด้วย และพ่อแม่ก็ให้ค่าตอบแทน

National Portrait Gallery ไม่เก็บค่าเข้าชม และมี Audio-Visual Guide ให้เช่าราคา ๓ ปอนด์ โดยต้องเอาบัตรอะไรก็ได้ ให้เขาเก็บไว้ จะคืนเมื่อเราเอาเครื่องไปคืนเขา ผมใช้บัตรเครดิต เขาก็ยอม

ได้เล่าแล้ว ที่นี่ ว่าพิพิธภัณฑ์ในอังกฤษถูกรัฐบาลห้ามเก็บค่าเข้าชม และให้งบประมาณไม่พอใช้ พิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย จึงต้องหาวิธีหาเงินเอามาชดเชยให้ดำเนินการได้ ที่นี่จึงมีภัตตาคาร ที่เรียกว่า Portrait Restaurant ทั้งที่ชั้น Ground และชั้น ๓

เช่า ออดิโอไกด์เสร็จ เขาก็ให้ แผนที่บอกการจัดแสดงมาเป็นแผ่นพับ ๑ แผ่น และบอกให้ขึ้นบันไดเลื่อนสูงลิบ ขึ้นไปข้างบน ไปดูภาพวาดเริ่มต้นตั้งแต่สมัยโบราณไล่ลงมาข้างล่างจนถึงสมัยปัจจุบัน

เริ่มจากภาพวาดสมัยราชวงศ์ทิวดอร์ (๑๔๘๕ - ๑๖๐๓) ซึ่งก็เป็นภาพพระเจ้าแผ่นดิน ราชวงศ์ และนักการเมือง ที่มีอิทธิพลหรือมีชื่อเสียง ตามด้วยสมัยราชวงศ์สจ๊วร์ต (๑๖๐๓ - ๑๗๑๔) และยุคกบฏและปฏิรูป (๑๗๑๔ - ๑๘๓๗) เราได้เห็นว่าสังคมอังกฤษมีการเอาชีวิตส่วนตัวด้านลบของพระเจ้าแผ่นดิน ที่เป็นความจริง ออกมากล่าวถึงได้อย่างเปิดเผย

ช่วงการเมืองยุ่งๆ ก็เป็นการรบแย่งราชบัลลังก์กันระหว่างเจ้าคนละสาย มีศาสนาคริสต์คนละนิกายถือหางคนละฝ่าย และมีอยู่ช่วงหนึ่งมีคนสามัญขึ้นมาปกครองประเทศ แล้วในที่สุดก็สงบในรัชสมัยควีนวิกตอเรีย ที่อังกฤษรุ่งเรืองสูงสุด เป็นจ้าวโลก

ผมเอาเอกสารแผ่นปลิวและแผ่นพับกลับมาที่โรงแรม มาอ่านและสังเกต พบว่าพิพิธภัณฑ์นี้ทำงานเชื่อมโยงกับชีวิตคน นำเอาภาพที่แสดงเรื่องราวในประวัติศาสตร์มาเสนอในเว็บไซต์ประจำวัน อย่างวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ที่ผมกำลังเขียนบันทึกนี้ เว็บไซต์ของ NPG ขึ้นช่อง Today’s the Day บอกว่าวันที่ ๑๗ กรกฎาคม เมื่อ ๑๐๐ ปีก่อน Emmeline Pankhurst ชุมนุมเรียกร้องสิทธิสตรี ซึ่งดูรายละเอียดได้ ที่นี่ ผมลองเข้าไปในเว็บไซต์ของเขา คลิกตามรายละเอียดไปเรื่อยๆ ได้เห็นรูปและรายละเอียดเกี่ยวกับขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีสมัยร้อยปีก่อนมากมาย

สะท้อนภาพการทำงานของพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ที่เชื่อมโยงการเก็บของเก่า เข้ากับเรื่องราว และใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการนำออกทำประโยชน์ ให้ความรู้แก่สังคม ผมคิดว่า NPG มีประโยชน์ต่อนักศึกษาสายศิลปะมาก

ปราชญ์ในสมัยศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๖ ที่เป็นบุคคลในดวงใจของผมคือ Sir Thomas More (1478-1535) ผู้เขียนหนังสือ ยูโทเปีย ผู้ยึดมั่นในหลักการ ยอมหักไม่ยอมงอ จึงถูกพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ กล่าวหาว่าทรยศ และถูกพิพากษาให้ตัดศีรษะ ๔๐๐ ปีให้หลัง ศาสนาคาทอลิกตั้งให้เป็นนักบุญ ซึ่งผมว่าไม่ต้องมีใครตั้งท่านก็เป็นนักบุญอยู่แล้ว ส่วนคนบาปคือพระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ แต่พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๘ ก็ได้ทำประโยชน์แก่ประเทศอังกฤษเหลือคณา หากไม่มีพระองค์ ก็จะไม่มีศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกัน และจะไม่มีเซอร์วิลเลียม ออสเลอร์ ที่ผมจะเขียนถึงต่อไป

ช่วงศตวรรษที่ ๑๘ เป็นยุคสงครามกลางเมือง รูปคนดังก็ย่อมเกี่ยวข้องกับสงครามกลางเมือง พอเข้าศตวรรษที่ ๑๙ คนดังที่สุดคือควีนวิกตอเรีย และเหล่าเสนามหาอำมาตย์

แต่ในต้นศตวรรษที่ ๑๘ เขามีรูปของ Ayuba Suleiman Diallo ที่เป็นคนจากอัฟริกาตะวันตก และเคยตกเป็นทาส มาแสดงด้วย ในฐานะนักปราชญ์มุสลิม

ในศตวรรษที่ ๒๐ คนดังที่สุดหนีไม่พ้นเซอร์ วิลเลียม เชอร์ชิลล์ ที่เรารู้จักกันดี และที่ผมแปลกใจคือ มี เซอร์ พอล แม็คคาร์ทนีย์ นักประพันธ์เพลงแห่งวง เดอะบีทเทิ่ล ด้วย คนดังค่อยๆ เปลี่ยนจากนักรบ มาเป็นนักการเมือง และนักการแสดง แต่ที่น่าสนใจคืออังกฤษเขายกย่องนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์มาตลอด

ที่ชั้นล่างสุด เป็นรูปคนดังในยุคร่วมสมัย ภาพนักวิทยาศาสตร์เป็น เซอร์พอล เนิร์ส นักพันธุศาสตร์รางวัลโนเบล กับ Stephen Hawking ผมแปลกใจที่ไม่เห็นภาพของวัตสันและคริกเป็นนักวิทยาศาสตร์คนดังในศตวรรษที่ ๒๐ ที่เป็นหุ่น มองแต่ไกลเหมือนคนจริงๆ คือ Sir Tim Berners-Lee ผู้สร้าง World Wide Web

ที่ชั้นล่าง มีการจัดแสดงผลงานที่ได้รับรางวัล BP Portrait Award เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัทธุรกิจกับหอศิลป์ ที่น่าชื่นชมมาก



วิจารณ์ พานิช

๑๘ ก.ค. ๕๘

ห้อง ๔๒๕ โรงแรม Thistle Trafalgar Square



หมายเลขบันทึก: 593669เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 17:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2015 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท